Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18-19 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมูลนิธิชุมชนอีสาน จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน : กรณีการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้น


 


โครงการดังกล่าวทำให้ "ประชาไท" มีโอกาสไปสัมผัสพื้นที่ชุ่มน้ำที่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่จัดการโดยองค์ความรู้ที่มาจากชาวบ้านเอง รวมทั้งได้ฟังบรรยายงานวิชาการจากชาวบ้านในพื้นที่


 


สิ่งที่ติดใจอันดับแรกคือในพื้นที่ การจัดการน้ำที่ใช้เงินน้อยกว่าเม็กกะโปเจคน้ำมหาศาลของรัฐบาลโดยชาวบ้านไม่กระทบและทรัพยากรไม่พินาศ


 


ที่บุ่งทามหนองแค-สวนสวรรค์ มีระบบการจัดการน้ำที่ใช้เงินเพียง 107 บาทต่อพื้นที่ชลประทาน 1 ไร่ โดยระบบดังกล่าวมาจากการทำความเข้าใจในระบบไหลเวียนของน้ำตามธรรมชาติและฤดูกาลรวมทั้งรู้จักคุณสมบัติของดินจึงทำให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อย


 


ที่ต้องลงทุนก็เครื่องสูบน้ำเท่านั้น ส่วนการจัดการหรือกักเก็บก็คำนวณจากร่องน้ำกุด เป่งต่างๆ ที่พบในพื้นที่ โดยใช้ความรู้จากประสบการณ์และการถ่ายทอดของบรรพบุรุษ


 


ขณะเดียวกันรัฐกำลังมีระบบการจัดการน้ำในพื้นที่นี้ โดยการสร้างเขื่อนในโครงการ "โขง ชี มูล" บริเวณดังกล่าวจะมี "เขื่อนหัวนา" ผุดขึ้น ซึ่งตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่รอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนใช้จริง (ทำไมไม่ศึกษาก่อนก็ไม่ทราบได้)


 


เท่าที่ทราบจากการพูดคุยกับชาวบ้านทำให้รู้เพิ่มว่า หากเขื่อนหัวนาเริ่มกักเก็บน้ำเมื่อไร พื้นที่บุ่งทามหนองแค-สวนสวรค์จะถูกน้ำท่วมจนหมด และกระทบชาวบ้านมากมาย แค่ที่หนองแคสวนสวรรค์ก็ประมาณ 187 ครัวเรือน


 


และหากพิจารณาบทเรียนจากการจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนในพื้นที่ห่างไปเพียง 2-3 กิโลเมตร ที่เป็นที่ตั้งเขื่อนราษีไศล พบว่าค่าลงทุนในการจัดการน้ำถึง 2500 บาทต่อไร่ และหากอ้างตามข้อมูลในบทความ "เขื่อนราษีไศล บทเรียนแห่งอกุศลนโยบาย" แล้วจะพบว่าต้องใช้เงินจริงในการจัดการน้ำที่สูงถึง 100,000 บาทต่อไร่ !!!


 


ผลกระทบของเขื่อนราษีไศลก็ทำให้ "ป่าบุ่งป่าทาม" พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปด้วย


 


จึงน่าแปลกใจจริงๆว่าทำไมรัฐจึงชอบลงทุนสูงและทำลายธรรมชาติ


 


นอกเหนือจากการจัดการน้ำ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการจัดการความรู้ของชาวบ้าน ราวสิบปีก่อนคนเมืองอาจรำคาญที่ต้องเจอ "ม็อบ" ที่เคลื่อนตัวมาชุมนุมเรียกร้องในเมืองหลวงและดูถูกว่าเป็นคนบ้านนอกไม่มีความรู้ ดีแต่ใช้พวกมากเข้ากดดัน


 


แต่ตอนนี้แกนนำและพวกเขาเหล่านั้นบางคนได้ผันตัวมารวบรวมความรู้จากชุมชนเพื่อหาทางกันจัดการพื้นที่ของตัวเองอย่างมีทิศทางภายใต้การรองรับด้วยฐานความรู้ทางวิชาการในนาม "นักวิจัยไทบ้าน" ซึ่งแม้แต่นักวิชาการในสถาบันการศึกษายังต้องหันมาสนใจ ส่งเสริม แนะนำและสนับสนุน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและไม่เป็นภาระของรัฐบาล


 


แต่ที่ผ่านมารัฐเองดูจะไม่สนใจเท่าใดและมุ่งหน้าที่จะพัฒนาแบบตามใจอำนาจตัวเองต่อไป


 


ผา กองธรรม นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า ทำงานวิจัยเรื่องผักทามที่กำลังหายไปในปัจจุบันและเยาวชนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักและสนใจ งานวิจัยจะช่วยรณรงค์ชุมชนตรงนี้และอาจมองในเรื่องการตลาดได้ คือทำให้เป็นผักแก้จน


 


"เดี๋ยวนี้ผักทามเหลือน้อย ที่พอเห็นมากหน่อยก็ที่กุดเป่งซึ่งชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชน ซึ่งทำให้ผักทามสมบูรณ์มากขึ้นด้วย"


 


ส่วน นายพุฒ บุญเต็ม กล่าวถึงงานวิจัยเรื่ององค์ความรู้ในการจัดการป่าทามชุมชนในลุ่มน้ำมูนตอนกลางว่า รัฐมักมีแนวคิดในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโดยการเอาที่ที่ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์มาทำเป็นอ่างเก็บน้ำซึ่งกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านมาก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้รักษาพื้นที่ป่าทามบนลุ่มน้ำมูนตอนกลางที่มีความสมบูรณ์สูงไว้ให้ได้


 


"เรารู้ในเชิงนโยบายของรัฐ แต่ที่ผ่านมาเราขาดแผน เวลารวมกลุ่มเรียกร้องจนเขายอมพบ แล้วให้อธิบายเราก็แพ้กลับมาเพราะขาดฐานความรู้ไปยันกับเขา จึงกลับมทบทวนศึกษาวิจัยกันตามความถนัด และมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา


 


"เราได้ลงไปศึกษาใน 4 พื้นที่ ได้แก่ป่าทามกุดเป่ง ดงภูดัน โนนน้ำเกลี้ยง โนนยาง จึงพบว่าแต่ละพื้นที่มีการจัดการต่างกัน บางที่พระมีบทบาท บางที่ อบต.มีบทบาท ก็ต่างกันไป บทเรียนดังกล่าวทำให้เห็นขั้นตอนวิธีการเก็บข้อมูล วิธีการคุยกับชาวบ้านในแต่ละแห่ง เรียนรู้กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อการจัดการป่าทาม"


 


นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น ที่ปรึกษาชาวบ้านจากสกว. กล่าวว่า การหันมาทำงานวิจัยของชาวบ้านจะทำให้เกิดชุดความรู้ในชุมชน หลายโครงการสามารถสร้างสำนึกในชุมชนได้มากขึ้นเช่น ควาย ผัก ป่า น้ำ


 


นอกจากนี้การทำงานวิจัยของชาวบ้านเองยังทำให้เกิดความกลมเกลียวในชุมชน เพราะงานศึกษาจะสร้างจากกลุ่มหรือจากม็อบไม่ได้ทุกฝ่ายจึงต้องมาคุยกันในเรื่องที่ศึกษามากขึ้น


 


"งานวิจัยทำให้เกิดการพัฒนาที่มีทิศทางจากชุมชน ทั้งการจัดการป่า การจัดการน้ำ หรืออื่นๆ เป็นการเรียกร้องชุมชนเองว่าควรทำอะไรหากรัฐไม่ช่วย ต่อไปที่ต้องมองคือทำการศึกษาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจัดการโดยองค์การชุมชนเป็นหลัก เพราะฐานสำคัญในการจัดการทรัพยากรต้องมีเรื่องราวของชุมชนด้วย" นายบุญเสริฐ กล่าวเสริมนักวิจัยไทบ้าน


 


บัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอาวุโส กล่าววิจารณ์หลังจากร่วมติดตามลงพื้นที่วิจัย และฟังแนวความคิดของนักวิจัยไทบ้านว่า "ไทบ้านไม่ใช่ทำงานวิจัยไม่เป็นแต่มีเงื่อนไขเยอะ อะไรๆก็บอกว่าเป็น ม็อบ"


 


จากนั้นบัณฑร จึงอธิบายต่อว่า การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมีการจัดการโดยคน 2 พวกคือ พวกรัฐ กับพวกชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาเป็นการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรัฐซึ่งชาวบ้านต่อต้าน และที่ผ่านมาชาวบ้านก็ขาดความรู้ที่จะไปคัดค้านแต่ตอนนี้ชาวบ้านได้เรียนรู้เยอะและมีการจัดการของตัวเอง


 


อย่างไรก็ตามการต่อสู้เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากระดับการเมือง การต่อต้านเขื่อนราษีไศลเป็นการจัดการทางโครงสร้างอำนาจที่มาจากปรัชญาการจัดการระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่ต่างกัน ที่ผ่านมาก็ต้านรัฐไม่ได้เลย เพราะปรัชญาของรัฐคือ ไม่เอื้ออาทร ไม่พอเพียง


 


ดังนั้นการต่อสู้จึงจำเป็นต้องมีต่อไป ยิ่งหากมองในแง่สิทธิด้วยแล้วจะเห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิชาวบ้านเยอะแยะไปหมด ต่อไปปรัชญาการต่อสู้ทางนโยบายต้องเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาพูดด้วย


 


ประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมาเห็นได้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือการเดินขบวน อีกแบบคือการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรมโดยจัดการพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมจากข้างล่าง


 


"การต่อสู้เรื่อสิทธิคงไม่มีหมาตัวไหนประทานมาให้ เพื่อให้นโยบายเป็นจริงต้องนิยามคำว่ามาจากประชาชนให้ชัด ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะเป็นอย่างนี้ต่อไป


 


"ที่เห็นในตอนนี้ชาวบ้านได้ทำการการต่อสู้นอกเหนือจากวิธีการเดินขบวน โดยมีการศึกษาและจัดการจากข้างล่างแต่ยังไม่ได้วางยุทธศาสตร์ซึ่งยุทธศาสตร์แรกต้องวางไปที่เยาวชน ณ ปัจจุบันเด็กไม่รู้จักองค์ความรู้ในพื้นที่ ต่อไปตรงนี้จะตายตามคนแก่ไป


 


"เด็กเองก็มี 2 แบบ คือแบบที่ไม่ยอมรับรู้ กับแบบที่รับรู้แต่ไม่เห็นด้วย ตรงนี้ต้องหาวิธีเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ใช่เรื่องที่คนแก่มาพูดกันปากเปียกปากแฉะ ต้องให้ชัดว่าตรงนี้เป็นวิถีชีวิตของเขา


 


"ผมไม่เชื่อว่ารัฐปกป้องประชาชนได้ในโลกาภิวัตน์ แต่เชื่อว่าความเข้มแข็งที่มาจากข้างล่างที่บริสุทธิ์ ตรงนี้มีให้เห็นที่ทามมูน มันทำให้เห็นแสง


 


สุดท้ายการต่อสู้บนพื้นที่ทามมูนคงต้องเอาคนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มาคุยกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นโยบายและยุทธศาสตร์เริ่มมาถูกทางและต้องทำคู่กันไป"


 


ตอนนี้เราคงเห็นแล้วว่าชาวบ้านเริ่มเข้มแข็งขึ้นแล้ว มีความรู้ขึ้นแล้ว จัดการตัวเองได้แล้ว เหลือเพียงแต่รัฐเท่านั้นว่าจะยอมคายอำนาจออกมาแล้วร่วมกันเดินไปพร้อมกับประชาชนหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net