Skip to main content
sharethis


 








ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 


0 0 0


 


ปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งลงเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งแรก ผงาดกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้เกือบกึ่งหนึ่ง และสามารถร่วมกับพรรคการเมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งในระบบใหม่ที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540


 


ไม่ถึงเดือนนับจากนั้น พรรคไทยรักไทยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำการควบรวมพรรค กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง กระนั้นสิ่งที่เขาทำต่อจากนั้นภายใต้การเมืองเรื่องตัวเลขก็คือการควบรวมพรรคต่อไป จนถึงระดับที่ฝ่ายค้านไม่มีจำนวนเสียงพอที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้


 


ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้นายกฯเป็นศูนย์กลางในการบังคับบัญชาและรุกแก้ปัญหาทั้งระดับในประเทศและนอกประเทศ


 


สิ่งที่เขาทำควบคู่กันไปก็คือการเร่งผลักดันนโยบายประชานิยมที่ได้หาเสียงไว้ออกไปอย่างเคร่งครัดรีบเร่ง สร้างภาพความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ด้วยเศรษฐกิจสองแนวทาง สังคมนิยมกับรากหญ้า และทุนนิยมกับอุตสาหกรรม กลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่เรียกขานกันว่า "ทักษิโณมิกส์" ให้หลายประเทศได้ศึกษา


 


ได้ผล เพียงช่วงเวลาไม่กี่เดือน เขาก้าวออกจากนายกรัฐมนตรีที่ผู้คนระแวงแคลงใจจากความร่ำรวยภายในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นนายกฯขวัญใจ ที่ผู้คนยินดีออกมาเดินขบวนเรียกร้องกดดันให้เขาหลุดจากข้อหาซุกหุ้น หรือจงใจปกปิดทรัพย์สินซึ่งเป็นคดีอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ


 


ทันทีที่เขาก้าวออกจากบ่วงคดี ภายใต้การเมืองเรื่องตัวเลขที่พรรคไทยรักไทยแข็งแกร่ง ภายใต้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ภายใต้พันธมิตรกลุ่มทุนอันแข็งแกร่ง และภายใต้แรงสนับสนุนรักใคร่หลงใหลของประชาชน เขาทำการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรงบประมาณจากการใช้หน่วยงานเป็นตัวตั้ง มาเป็นภารกิจและนโยบายเป็นตัวตั้ง (แน่นอนย่อมมีงบกลางที่ไม่ต้องแจงรายละเอียดอยู่ในการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย) ทำการปฏิรูประบบราชการ ด้วยการจัดกลุ่มหน่วยงานใหม่


 


ผลคือ อำนาจพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาลของไทยคือ "พรรคข้าราชการ" ต้องอ่อนเปลี้ยไร้อำนาจต่อรอง และไม่เหลือทางเลือกอื่น คือหากไม่สวามิภักดิ์ก็จงทำหน้าที่ของตนอย่างปราศจากข้อผิดพลาด


 


นโยบายและโครงการต่างๆ ถูกขับเคลื่อนออกมา ในแบบที่เรียกว่า วิน-วิน หรือ WIN-WIN หนึ่งคือ ประชาชนดูเหมือนได้ประโยชน์ หนึ่งคือ พลพรรคไทยรักไทยได้ประโยชน์ หากไม่เป็นผลโดยตรง ก็ให้มีผลราวกับ "การตีเมืองขึ้น" กลุ่มทุนใดไม่สวามิภักดิ์ จะถูกกระหน่ำด้วยสารพัดนโยบายและมาตรการ นับตั้งแต่จัดระเบียบสังคม ต้านบริษัทสุราเข้าตลาดฯ  หรือการใช้งบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐอุ้มบางรายการ บีบบางรายการ


 


กลไกตำรวจ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กลายเป็นกลไกหลักที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมปล่อยวางในมือผู้ไม่ไว้ใจ เพราะมันได้ทำหน้าที่ได้อย่างทรงพลังที่สุด ผ่านนโยบายปราบปรามยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล ฯลฯ แม้กระทั่งใช้มันเพื่อกำราบธุรกิจสื่อสารมวลชนไปจนถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน


 


ในขณะที่ด้านนิติบัญญัติถูกควบคุมแทรกแซง ส.ส.ในพรรคหมดอำนาจต่อรอง ส.ว. ถูกซื้อ หรือไม่ก็ไม่มีพลังพอที่จะทำหน้าที่ เช่นเดียวกับองค์กรอิสระทุกองค์กร เกือบทุกองคาพยพล้วนแต่แอบอิงศูนย์กลางอำนาจ ไม่ก็สวามิภักดิ์ ไม่ก็เป็นคนของพรรคไทยรักไทยด้วยกันทั้งสิ้น


 


เพียงช่วงไม่ถึง 4 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำประเทศคนไหนทำได้มาก่อน กลายเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นอำนาจชนิดล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน ตราบจนกระทั่ง…


 


กลางปี 2548 ในรัฐบาลทักษิณ 2 ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ในขณะที่เสียงแห่งความเงียบอันน่าพรั่นพรึงของความกลัวกระจายไปทั่วและค่อยๆ กินลึกแทรกซึมทุกอณูของสังคม เสียงนักวิชาการ ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน ไร้ผล ผู้วิเคราะห์หลักรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" สนธิ ลิ้มทองกุล กลับเปิดฉากกระหน่ำวิจารณ์รัฐบาล กระทั่งนำความแปลกใจมาสู่ผู้ชมรายการว่าเหตุใด รายการที่เชียร์รัฐบาลรายการนี้ จึงพลิกบทบาทจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้


 


สนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ใช่เถ้าแก่ในความหมายเดิมๆ ไม่เพียงแต่จบปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ University of California at Los Angeles,California,U.S.A. (พ.ศ.2512) ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ Utah State University,Utah,U.S.A. (พ.ศ.2515) เขายังนำวิธีบริหารธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาบริหารธุรกิจสื่อสารมวลชน และทำให้สิ่งพิมพ์เล็กๆ จากนิตยสารกรุงเทพ 30 เปลี่ยนมาเป็นนิตยสารผู้จัดการ แตกหน่อเป็นผู้จัดการรายสัปดาห์ จนมาออกเป็นผู้จัดการรายวัน และกลายเป็นค่ายสำนักพิมพ์ที่โดดเด่นที่สุดของเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อเขานำหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ สู่แนวหน้าการรบเพื่อประชาธิปไตย ดาหน้าเข้าใส่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร


 


ความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่ เขาทุ่มเทแทงข้างต้านรัฐบาลสุจินดา ผู้สืบทอดอำนาจ รสช.แบบหมดหน้าตักเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศศักดาของหนังสือพิมพ์ สื่อที่ รสช. ประมาท ไม่ควบคุมหลังการรัฐประหารว่า ยังคงเป็นสื่อที่ทรงพลัง แม้ไม่มีเสียงพูด ไม่มีภาพเคลื่อนไหว


 


บทบาทของผู้จัดการภายใต้การบริหารของสนธิ หลังเหตุการณ์นองเลือดปี 2535 โดดเด่นอย่างยิ่ง คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่า สำนักพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้อาชีพที่ต้องกัดก้อนเกลือทำงานด้วยใจรัก ยกระดับให้กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่มีค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ


 


ในวันนั้นถนนเกือบทุกสายวิ่งเข้าหาผู้จัดการ ด้วยงานที่ขยายขึ้น เงินเดือนที่ให้สูง ผลคือทุกค่ายทุกสำนักต่างทยอยปรับฐานเงินเดือน และอาชีพผู้สื่อข่าวก็กลายเป็นอาชีพยอดฮิตในคณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัย ขณะที่ผู้จัดการกลายเป็นตักศิลาบ่มเพาะคนวิชาชีพนี้ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง สยามรัฐ หรือ มติชน ทำได้


 


แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น


 


ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจลูกใหญ่จะมาเยือนในปี 2540 เครือผู้จัดการเป็นยักษ์ด่านแรกที่พิสูจน์ความแรงของมรสุมลูกนั้น และมีบทลงเอยที่ยักษ์สิ่งพิมพ์สำนักนี้ต้องล้มลงอย่างน่าใจหาย อาณาจักรผู้จัดการที่แผ่กว้างจากธรรมศาสตร์จรดป้อมพระสุเมรุ ตลอดทางถนนพระอาทิตย์ หดแคบเหลืออยู่เพียงสำนักงานเล็กๆ ในตรอกที่เคยเป็นสำนักงานนิตยสาร กรุงเทพ 30


 


สนธิเคยให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่ตนเองก่อตั้ง ครั้งถูกพลพรรคไทยรักไทยแฉกลับ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ว่า


 


"ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ผม วิจารณ์ธารินทร์มากในเรื่อง ปรส. โกรธผมไม่มีดี เอาตรงนี้มาบีบผม มาฟ้องให้ผมคลานเข้าไปหาเขา ให้นครหลวงไทยมาบีบ ตอนนั้นคนบริหารก็คือสมโภชน์ จันทรานุกูล คนของคุณธารินทร์ ก็เหมือนเคสเดียวกับนายกฯ (ทักษิณ) ฟ้องผม ผมก็ไม่ยอม ไปสู้คดีในศาล ศาลเห็นผมไม่มีเงินจริงก็ให้ผมล้มละลาย ผมไม่มีหนี้แล้ว แล้วคุณมาแฮร์คัตอะไรหนี้ผม


 


"ฟังลอจิกตรงนี้ดีๆ นะ ผมล้มละลายไปแล้วผมมีหนี้อะไร เจ้าหนี้ทุกคนต้องไปรุมทึ้ง กับกรมบังคับคดี ผมออกมาแล้ว ผมไม่มีหนี้"


 


ขณะที่ใครหลายคนชื่นชมการนำของสนธิเพื่อเผชิญหน้ากับทักษิณ นี่คงเป็นอีกมิติทางธุรกิจที่จะรู้จักสนธิมากขึ้น หากลองพิจารณาลอจิกตรงนั้นให้ดีๆ


 


ไม่ว่าอย่างไร จากวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงช่วงไม่กี่ปี สนธิก็นำพาผู้จัดการกลับมาใหม่ จะเป็นความบังเอิญหรือไม่ไม่ทราบได้ ขณะที่พรรคไทยรักไทยรุ่งโรจน์ สนธิและผู้จัดการก็ค่อยๆ ฟื้นตัว เกิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ มีช่องรายการฟรีทีวีที่แตกหน่อมาจากช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ เพียงแต่ต้องอาศัยการรับสัญญาณผ่านดาวเทียม


 


จนกระทั่งกลางปี 2548 ที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกมาวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก และเดือนกันยายนก็ถูกคณะกรรมการ อสมท. ยกเลิกรายการในฐานพาดพิงเบื้องสูง กรณีแต่งตั้งรักษาการสมเด็จพระสังฆราช ผลคือ ประเด็นคุกคามสื่อ และพาดพิงเบื้องสูงว่าด้วย "พระราชอำนาจ" กลายเป็นประเด็นหลักที่สนธิใช้ขับเคลื่อนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนกลายเป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมอยากดูมากที่สุด และกลายเป็นม็อบเสื้อเหลืองที่มีผู้เข้าร่วมนับแสนคนที่สวนลุมพินีนานหลายสัปดาห์


 


เหตุผลใดที่ทำให้รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกมาวิจารณ์และยืนตรงข้ามกับรัฐบาล ยังคงเป็นความลับดำมืดทางการเมือง เช่นเดียวกับเหตุผลที่ทำให้ ผู้จัดการฟื้นตัวและได้มาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์นั่นเอง


 


สนธิกล่าวถึงตัวเองว่า "ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ผมพูดกับเด็กรุ่นหลังตลอดเวลา พวกนักข่าวว่า ผมสู้ให้พวกคุณทั้งนั้น เมื่อวันหนึ่งที่คุณทำงานได้อย่างสะดวกสบาย มีสิทธิ เสรีภาพ เสี้ยวหนึ่งของความคิด คุณคิดถึงผมก่อนแล้วกัน ไม่ต้องมาเป็นหนี้บุญคุณผม ผมไม่ต้องการ


 


"คนชอบไปคิดไปเลยเถิด ชอบไปตีสมการ คิดอย่างโน้นอย่างนี้ จิ๊กซอว์ไม่มี ไม่มีจริงๆ  อย่าไปอ่านสนธิให้ลึกซึ้งมากเกินไป มีอยู่แค่นี้เอง"


 


ไม่ว่าจะอย่างไร คนพันธุ์นี้ก็ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับที่เป็นอยู่ในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คู่ชกคู่นี้จึงเหมาะสมราวกับ ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ และน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อสนธิ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงความคาดหวังในการปรับท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยคำตอบที่ว่า "คุณคิดว่าเสือน่ะ มันจะมีเสือมังสวิรัติหรือเปล่า?"


 


อย่างไรก็ตาม ภายใต้การขับเคลื่อน ม็อบเสื้อเหลือง เขาได้นำพาประเด็นพระราชอำนาจเขยิบสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่เขาและคอลัมนิสต์คนสำคัญในเครือเฝ้าปูฐานทางวิชาการให้กับผู้อ่านมานานหลายปีก่อนหน้านี้


 


และแม้ว่ารายการเมืองไทยรายสัปดาห์และเขาจะลดทอนความแรงไปแล้ว แต่ประเด็นปฏิรูปการเมืองจะกลายเป็นประเด็นหลักในปี 2549 ที่บีบและกดดันทักษิณอย่างทรงพลังได้ต่อไป


 


ปี 2548 จึงเป็นปีที่มิอาจไม่จารึกชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ อย่างน้อยคำของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงค์ ที่ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" น่าจะยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด


 


"ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยสร้างความกลัวให้ตัวเอง ไม่ใช่กลัวรัฐบาลอย่างเดียวนะ ผมว่ากลัวทุกอย่าง เช่นกรณีเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมานี่ หลายคนพูดว่ามันมีการทุจริตอย่างโจ่งครึ่มมากๆ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านเอง แต่พรรคฝ่ายไม่กล้าขยับทำอะไรเลย เพราะคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และเราทุกคนสร้างความกลัว กลัวนั่นกลัวนี่ไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ จากม็อบสนธิก็คือ ช่วยลดความกลัวที่เราสร้างให้ตัวเองลงไปได้มากๆ"


 


 


………………………………………………………….


 


 







"สนธิ" ที่คนยังไม่รู้จัก


(ผู้จัดการรายวัน 9 ธันวาคม 2548)


 


          สนธิ ลิ้มทองกุล เปิดใจ ความสัมพันธ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แค่รู้จักกันในฐานะคนในวงการ ไม่ใช่เพื่อนสนิท ไม่เคยขอให้ช่วยอะไร ยอมรับว่าโง่ ที่หลงไปเชียร์ในสมัยแรก บัดนี้ตาสว่างแล้วว่าไม่มีเสือตัวไหนที่ไม่กินเนื้อ เผยเบื้องหลัง ที่มาของทีวีผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และกรณีแบงก์กรุงไทย


          มีคนเขามองว่าคุณสนธิออกมาครั้งนี้


          เพราะไม่สมประโยชน์เรื่องเอเอสทีวี


          เรื่องเอเอสทีวี ต้องเข้าใจก่อน สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วคือ พันตำรวจเอกรวมนคร ทับทิมธงไชย เขาเป็นเจ้าของบริษัท บีทีวี อาร์เอ็นที เขามากับผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ แล้วบอกว่า ท่านอธิบดี กรมประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นคือคุณสุชาติ สุชาติเวชภูมิ ได้ให้สัมปทานทีวีผ่าน ดาวเทียม เขาก็บอกว่าจะมีทีวี 11/1-9 เขาได้สัมปทานมาแล้ว ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เขาต้องการว่าจ้างผมให้มาทำข่าวให้เขาแบบเครือข่าย 24 ชม.


          ผมคิดว่าวงการนี้ผมไม่เคยเข้า ก็เลยจะลองเข้าดู เขาบอกว่าผมไม่ต้องลงทุน ให้เอาคนมาแล้วก็เขามีเครื่องไม้เครื่องมือให้ แต่ผมว่าไม่ไหว ผมทำอะไร ผมไม่ต้องการยืมจมูกคนอื่นมาใช้ ผมบอกว่าถูกต้องตามกฎหมายไหม เขาบอกว่าถูกต้องตามกฎหมาย พี่ไม่ต้องห่วงอะไร เซ็นสัญญาระหว่างผมกับพี่ ส่วนผมกับกรมประชาสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องของผมกับกรมประชาสัมพันธ์ ก็ปรากฏว่าเขาเอาสัญญาของกรมประชาสัมพันธ์มาให้ดู อ้าวตายละ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เซ็นชื่อมา ผมก็เลยทำสัญญาต่อเป็นลูกช่วงเขา ทำข่าวให้เขา โดยเขาจ่ายรายเดือนให้ผม


          ทำอยู่สักพักหนึ่งก็มีกติกาเข้ามาเยอะ ห้ามพูดเรื่องนี้ ให้ระวังเรื่องนั้น คือ เหมือนเดิม ผมก็เลยอึดอัดใจ ผมก็บอกพันตำรวจเอกรวมนคร เอาอย่างนี้ผม ถอยดีกว่า คุณทำเอง ช่วงหลังทางรัฐบาลก็บีบเขาให้ตัดผม เป็นคนรับลูกช่วงทำข่าว ห้ามบอกว่า ของสิบเอ็ดนิวส์วัน เริ่มวิจารณ์รัฐบาลมากเกินไป พันตำรวจ เอกรวมนคร บอกว่าเขาจะใช้ช่องนี้มาทำข่าวเฉลิมพระเกียรติ อ้าว ...ก็เรื่องของคุณ ผมก็ถอยออกมา ผมลงทุนเครื่องมือแล้วเลยทำเป็นช่องนิวส์วันต่อ แล้วผมก็เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมกับต่างประเทศ แล้วก็ขายคอนเทนต์ให้กับเมืองนอก เขาก็ไปอัปลิงก์ที่เมืองนอก


          ทำไมถึงเกิดเรื่อง


          พวกนั้นเขาซี้ซั้วต่า พูดอะไรก็บอกขัดประโยชน์ ผมก็แค่รับจ้างเท่านั้นเอง แล้วเหมือนกับกรณีเหยียนปินที่ว่าผมขอความช่วยเหลือจากเขา แล้วไม่ได้ ซึ่ง ผมยังไม่รู้จักเขาเลย ล่าสุดออกมาพูดว่าผมต้องการสมัคร ส.ว. ผมว่าเขาสติแตกไปแล้ว เขาพยายามหาความชอบธรรมที่เขาจะกล่าวหาผมได้เท่านั้นเอง


          เรื่องแบงก์กรุงไทย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคุณวิโรจน์ นวลแข ที่แฮร์คัตหนี้ให้ และคุณสนธิใช้แบงก์กรุงไทยเป็น แหล่งเงิน


          ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับแบงก์กรุงไทยทั้งสิ้น เพราะเป็นปัญหาของคุณวิโรจน์ กับคุณชายปรีดิยาธร (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) เท่านั้นเอง ไม่ใช่หน้าที่ของผม ผมจะไปยุ่งอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องโกหกที่หน้าด้านที่สุด


          ความใกล้ชิดกับ วิโรจน์มีจริง แต่คนที่เอาวิโรจน์เข้ามาคือ สมคิด จาตุ-ศรีพิทักษ์ เพราะสมคิดเคยทำงานกับวิโรจน์มาก่อน สมคิดเป็นที่ปรึกษาภัทร-ธนกิจ ก็เป็นคนของวิโรจน์ วิโรจน์เป็นคนเก่ง


          ข้อที่ 2 การกู้เงินแบงก์กรุงไทยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน กู้โดยมีที่ดิน มี ทุกอย่าง กู้แล้วบางส่วนก็คืนไปแล้ว มีทั้งหุ้นค้ำประกันแล้วก็ขายหุ้นทิ้ง ไม่ได้วิเศษอะไร ไม่ได้มี อะไรทั้งสิ้น


          ข้อที่ 3 ส่วนที่คุณชายปรีดิยาธรลงโทษคุณวิโรจน์ ผมออกมาสู้ให้คุณ วิโรจน์ในฐานะเพื่อน ผมไม่เคยเข้าพบนายกฯ ไม่เคยขอความช่วยเหลือ คุณต้องรู้ว่านายกฯเป็นคนอย่างไร ผมไม่เคยไปขออะไรเขานิดเดียว ผมไม่มีแฮร์คัต


          ภาระหนี้สินที่มีกับกรุงไทยเท่าไร


          มีอยู่ 100 กว่าล้านบาท ในนามบริษัท เขาฟ้องอยู่ตอนนี้ เหตุผลเพราะอำนาจทางการเมืองทำให้เขาต้องฟ้อง เขาตักตวงกันหมด ทั้งที่เราชำระมาตลอด ทั้งดอกเบี้ย เขายกเลิกสัญญาโฆษณามา 2-3 เดือน ตั้งแต่ผมมีเรื่องกับเขา เมื่อก่อนก็ราบรื่นดี ภายหลังที่เราโดนตัดวงเงิน ผมก็แลกเช็คไปเรื่อยๆ ก็มีอินเวสเตอร์หลายคนเขาเห็น ก็อยากมาลงทุนกับผมด้วย


          ยกตัวอย่างกรุงไทยมีลงโฆษณาลงกับเราถึงธันวาคม เดือนนี้เขาก็ถอดโฆษณา ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ก็ถอนหมด เรียกร้องค่าเสียหายได้ไหม ผมไม่ใช่คนนิสัยแบบนั้น


          แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ปอยู่ในแผนฟื้นฟู อยู่ใต้อำนาจศาล เจ้าหนี้ กับลูกหนี้มาปรึกษากัน ยื่นเสนอต่อศาล เมื่อศาลอนุมัติเป็นอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป ที่มีผู้ถือหุ้นอยู่เยอะแยะไปหมด


          เรื่องของผม ล้มละลายเมื่อ ปี 2542 ในยุคคุณธารินทร์ นิมมานเหมินต์ ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์แกล้งผมล้มละลายเพราะผมไปค้ำประกันเงินกู้บริษัทเอ็มกรุ๊ป 6 พันกว่าล้าน เจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้งหลายก็มี ธนาคารนครหลวงไทย กสิกรไทย ทหารไทย ธนาคารทั้งนั้น ซึ่งผมโดนธนาคารนครหลวงไทยตอนนั้น ธารินทร์สั่งให้ฟ้องผม จากยอดหนี้หุ้นกู้เพียงร้อยกว่าล้าน จากพันกว่าล้านตรงนั้น ก่อนหน้านั้นผมกำลังเจรจากับธนาคารกสิกรไทย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด ผมทำสัญญาจะจ่ายหนี้คืน กี่ปีๆ ก็ว่าไป ถึงขั้นตะบันน้ำกินอยู่ก็ยังต้องใช้คืนหนี้


          ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ผม วิจารณ์ธารินทร์มากในเรื่อง ปรส. โกรธผมไม่มีดี เอาตรงนี้มาบีบผม มาฟ้องให้ผมคลานเข้าไปหาเขา ให้นครหลวงไทยมาบีบ ตอนนั้นคนบริหารก็คือสมโภชน์ จันทรานุกูล คนของคุณธารินทร์ ก็เหมือนเคสเดียวกับนายกฯฟ้องผม ผมก็ไม่ยอม ไปสู้คดีในศาล ศาลเห็นผมไม่มีเงินจริงก็ให้ผมล้มละลาย ผมไม่มีหนี้แล้ว แล้วคุณมาแฮร์คัตอะไรหนี้ผม ฟังลอจิกตรงนี้ดีๆ นะ ผมล้มละลายไปแล้วผมมีหนี้อะไร เจ้าหนี้ทุกคนต้องไปรุมทึ้ง กับกรมบังคับคดี ผมออกมาแล้วผมไม่มีหนี้


          ผมไม่มีหนี้ส่วนตัว เป็นของบริษัททั้งหมด อยู่ในแผนการปรับโครงสร้าง หนี้ มูลหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้คือ 2 พันล้าน แล้วเขาก็ลดหนี้และแปลงหนี้เป็น ทุน และกรุงไทยเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ ซึ่งยอดหนี้ที่มีอยู่ในกรุงไทยน้อยมาก


          หุ้นแมเนเจอร์ฯจะเข้าตลาดได้ไหม


          เราอยู่ในแผนฟื้นฟู เดินตามแผนทุกอย่าง สามารถชำระดอกเบี้ย ออกจากรีแฮบโกประมาณปีหน้า และไม่รู้ว่าจะออกได้หรือเปล่า มีคำสั่งลึกลับ ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด แต่มีการเมืองเข้ามาแทรก คุณสมบัติเราถึงจุดหนึ่งคงหลุดได้แน่นอน แต่ถ้าการเมือง ยังเป็นแบบนี้ผมขอถอนดีกว่า แล้วผมก็จะหาพรรคพวกส่วนตัว ที่เชื่อมั่นในตัวผมมาลงทุน ผมขี้เกียจที่จะให้ใครมาเทกโอเวอร์ผม หากการเมืองยังเกเร ยังใช้ระบบอันธพาล แนวโน้มเป็นอย่างนั้นสูง มันเป็นอยู่แล้ว ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ก็เพิกถอนไป


          ตอนนี้ก็มีคนมาเสนอเต็มไปหมด คนดีๆ ทั้งนั้น ไม่ได้มาแบบซ่อนรูป ซ่อนร่างแบบไพบูลย์ (ดำรงชัยธรรม) มีเจ้าของกิจการที่มีอยู่ 5 ล้าน 10 ล้าน ที่มีอยู่ 40-50 คน พร้อมจะใส่เข้ามาทันที เขาชอบในความกล้าหาญของผม เขาบอกว่าเมืองไทยต้องมีสื่อแบบนี้


          เราไม่ต้องการให้ใครมาครอบงำ จุดยืนของผมอยู่ตรงนี้ และผมก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนจากตรงนี้ไป


          คุณสนธิเคยสนิทกับคุณทักษิณ


          คนเข้าใจผิดว่าผมสนิทกับทักษิณ ถ้าคุณสนิทกับใครสักคน ต้องรู้จัก สามีภรรยาของเขา ไปไหนด้วยกัน รู้ว่าลูกกี่ขวบ ผมกับทักษิณรู้จักกันในฐานะ คนรู้จักกันเฉยๆ คนเข้าใจผิดกันหมดเลย ผมไม่เคยกินข้าวกับคุณทักษิณเป็นการส่วนตัว นอกจากตอนที่เขาเป็นนายกฯใหม่ๆ ไปกินที่บ้านพิษณุโลก 1-2 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือว่า ที่เขาทำแบบนี้ถูกไม่ถูกเท่านั้นเอง บ้านเขาผมไม่เคยไป ที่ทำงานเขาผมไม่เคยไป ลูกเขาผมยังไม่รู้จัก


          ตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร เป็นเรื่องคล้ายๆ ถ้าผมทำอย่างนั้นดีไหม เขาเป็นคนชอบโยนหินถามทาง ทำนองว่า ถ้าคนนี้เข้ามากินตำแหน่งนี้คุณว่า อย่างไร อะไรทำนองนี้ 1.ลูกเขาแต่ละคนผมไม่เคยเจอ 2.ไม่เคยกินข้าวเย็นกับเขา 4-5 ปี ไม่มีอะไรซึ่งกันและกันเลยแม้แต่นิดเดียว แต่รู้จักกันในวงการ


          รู้จักตอนนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ถูกรสช. ไล่ออกจากประเทศ เป็นผู้ลี้ภัยไปอยู่สวีเดน ตอนนั้นผมยังถูกกับคุณเฉลิมอยู่ ผมสงสารว่าไปอยู่สวีเดน ห้องเล็กๆ ไปอยู่กัน 4-5 คน พ่อ แม่ลูก และได้ข่าวว่าเป็นอัมพฤกษ์ ตอนนั้นไม่มี ใครรู้ว่า รสช.จะจบเร็ว ผมก็บอก คำนูณ (สิทธิสมาน) บอกคำนูณ เอาเงิน 5 แสน บาท หรือ 2 หมื่นเหรียญ บินไปให้คุณเฉลิม ตอนนั้นผมมีตังค์ ทำเพื่อเพื่อน


          ผมเจอคุณทักษิณ ตอนนั้นที่รร.ปริ๊นเซส ผมก็ถามว่า คุณทักษิณผมเอาเงินไปให้คุณเฉลิม คุณจะช่วยออกบ้างไหม เพราะผมเห็นว่าเขา เคยไปวิ่งเต้นเรื่องดาวเทียม เรื่องไอบีซี กับเฉลิม และก็กำลังวิ่งเต้นเรื่องดาวเทียมกับพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. คุณทักษิณตอบหน้าตาเฉยว่า "ให้มันทำไม มันหักหลังผม ผมให้มันมามากแล้ว"


          เขามองว่าถูกคุณเฉลิมหักหลังเรื่อง ให้ไอบีซีเขา แล้วทะลึ่งไปให้ไทยสกาย กับ คีรี กาญจนพาสน์ ไม่ได้ผูกขาดเจ็บใจตรงนี้


          เบื้องหลังไทยสกาย เฉลิมมาเล่าให้ฟังว่า พลเอกชาติชาย เรียกเขาไปพบ แล้วบอกเสี่ยเม้ง (มงคล กาญจนพาสน์) พ่อของคีรี เคยเป็นลูกน้องพ่ออั๊ว เขามาของานชิ้นหนึ่งที่ อสมท ให้เขาหน่อย เฉลิมเลยให้ไทยสกายไป


          ผมไปซื้อบริษัทไออีซี จากปูนซิเมนต์ไทย ผมซื้อมาในราคาทุน และปั้นบริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมเห็นว่าเขาน่าที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ผมได้ ก็เรียก เขามาให้ซื้อหุ้นบางส่วนไป ในราคาพาร์ 10 บาท ตอนนั้นอันเดอไรต์ 250 บาท แต่มาภายหลังเขาก็ไม่ได้เข้ามาจอยด้วย เขาเข้ามาเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งแล้วก็ออกไป เพราะเขาขยายงานเอไอเอส แล้วเขาก็ขายหุ้นไออีซีทิ้งไป ได้กำไร 400 กว่าล้าน แล้วผมเคยไปเอาอะไรจากเขา..


          ข่าวออกมาทำนองว่าคุณสนธิไปขอความช่วยเหลือ


          ผมไปขออะไรเขา เท่าที่ฟังเขาก็ไม่ใช่เพื่อนที่ดี ในตอนแรก ต้องจับประเด็นให้ถูก ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรก ตอนปี 2544 ผมกับเขาไม่คบหาสมาคมกัน อาจารย์สมคิดพยายามให้ผมกับทักษิณคืนดีกัน ผมไม่ชอบวิธีการพูดจาของเขา วิธีการที่เขาโอ้อวด และการที่เขาเคยเป็นรอง นายกฯ สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แล้วเขาก็โม้ไปต่างๆ ผมก็ไม่สน ทางใครทางมัน


          ทีนี้คุณต้องจำไว้อย่างหนึ่ง ตอนที่เขากำลังจะเข้ามาต่อสู้ทางการเมือง เผอิญ ผมสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็เลยต้องกลายเป็นแนวร่วมไปโดยปริยาย แม้แต่สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังยอมรับเลยว่า ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งคราวนั้น 50% มาจากฝีมือผม เขาก็มองว่าผมเป็นแนวร่วม


          ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เขาอุตส่าห์ประสานงานมาขอพบผม ผมก็คิดว่าไม่เห็นเสียหายอะไร ก็เลยไปกินก๋วยเตี๋ยวบ้านผม เจ็ดวันก่อนเลือกตั้ง ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งอยู่ศาลาหน้าบ้าน ไม่มีสิทธ์เข้ามานั่งกินด้วยหรอก


          เขาบอกว่าเรื่องราวต่างๆในอดีต หวังว่าผมเข้าใจเขา คนอื่นไปพูดหาว่าเราผิดใจกัน เขาบอกว่า มาเล่นการเมืองแน่นอน เขาตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว เขาไม่ต้องการอะไรแล้ว เขาจะเสียสละทั้งหมดเพื่อชาติบ้านเมือง เขาบอกเขาเบื่อแล้ว ผมก็หลงโง่ไปเชื่อเขา ผมว่าก็ดีนะ ผมดันทะลึ่งเอามาตรฐานผมไปวัด เพราะมาตรฐานผมกับเขามันคนละเรื่องเลย ผมบอกว่าโอเคงั้นผมสนับสนุนคุณ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเข้าไปปีแรกเขาโดนเรื่องซุกหุ้น ความที่ผมสงสารเขา ผมเห็นใจ เขา คิดว่า เจตนาเขาดี ก็บอกว่า ช่างมันเถอะ ยกเว้นเรื่องพวกนี้ไป ให้โอกาสเขาทำงานบ้าง ก็เห็นว่าผมแบ็กเขาตลอดในปีแรก เพียงเพื่อให้เขาพ้นคดี


          เขาเริ่มทำงานจริงปี 45 ปีนั้นเป็นปีที่เขาจัดทัพ ย้ายคนโน้น ย้ายคนนี้ ย้ายเกริกไกร จีระแพทย์ ย้ายคนทำงานที่ไม่สนองเขา เขาย้ายหมด ผมก็ยังมองโลกในแง่ดี ว่า เมื่อเป็นผู้บริหารแล้วลูกน้องไม่ทำตาม ก็มีสิทธิ์ย้ายได้ ผมก็ยังซัปพอร์ตเขาอยู่


          พอเริ่มเข้าปีที่ 3 ปี 2546 ผมเริ่มเข้าไปทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์


          มันมีที่มา ที่ไป แต่ก่อนเป็นเมืองไทยรายวัน คนทำคือ ลูกน้องของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ชื่อชิน อัมพรรัตน์ เคยอยู่ช่อง 7 ไพโรจน์สนิทกับสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และสนิทกับสรจักร เกษมสุวรรณ ผอ.ช่อง 9 ตอนนั้น ก็เลยไปขอ เวลาช่อง 9 มา เผอิญจังหวะนั้น ทักษิณต้องการกำจัดคนอย่างเช่น เจิมศักดิ์ เอย สุทธิชัย เอย ออกไป ก็เลยไปบี้ให้ชินตั้งบริษัทชื่อไลฟ์ไทยแลนด์


          ทีนี้ ไพโรจน์ไม่มีที่ทำงาน ก็มาเช่าอยู่ตึกข้างหน้านี้ ผมก็ให้เช่า ทีนี้ตอนทำ สัญญาต้องมีคนค้ำประกัน ปรากฏว่าไพโรจน์ขอให้ผมเซ็นสัญญาค้ำประกันสัญญาเมืองไทยรายวัน ปรากฏว่า ทำไปแล้ว 1 ค่าเช่าก็ไม่จ่าย 2 ค่าเวลาก็เบี้ยวเขา


          ตอนสรจักรอยู่ไม่กล้าทวง แต่พอมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ มา ก็มาทวง ก็มา ถึงผม ผมก็บอกว่าผมจ่ายคืนให้ มิ่งขวัญก็ตัดเมืองไทยรายวันทิ้ง จากทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่มครึ่ง ก็ปรับเป็นจันทร์-พฤหัส เลื่อนไปตี 5ครึ่งตอนเช้า ส่วนวันศุกร์ให้เวลา 3-4 ทุ่ม


          พอทำอย่างนี้ ชินบอกว่า พี่ต้องจ่ายเงินค่าค้ำประกันเกือบ 20 ล้านบาทให้ อสมท ผมบอกว่าพี่ขอเวลาคืนได้ไหม เขาก็เลยยกทีมออกหมดเลย ผมตอนนั้น เหลือเวลา 2 อาทิตย์ จะต้องมารับผิดชอบวันศุกร์นี้ ตอนเช้าก็เอาพระเอาเจ้าไปว่ากัน ก็หาใครไม่ได้ ผมยังติดต่อหมวย (อริสรา อัมพรเจริญ) มาเป็นพิธีกร ให้ไหม หมวยก็ไม่ยอม เหตุผลเพราะสปิริตที่เคยอยู่ชิน ผมก็เลยก็เรียกสโรชา พรอุดมศักดิ์มา ก็เริ่มทำตั้งแต่นั้น


          ตอนปี 46 ผมก็ยังซัปพอร์ตเขาอยู่ ผมพยายามหาความชอบธรรมในการ อธิบายความให้ประชาชนเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้น เขาทำไปเพราะอะไร ทำไมถึง ทำเช่นนั้น และพยายามบอกเขาว่า สิ่งที่เขาทำไปเพราะเขาไม่รู้ มันเกิดเหตุเพราะ ลูกน้องเขาเฮงซวย ทีนี้พอพ้นปี 46 เริ่ม 47 ผมเริ่มกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่า มโนธรรมของผมมันบอกผมว่าสิ่งที่ผมทำนั่น ผมทำไม่ถูก


          คำนูญนี่รู้ดี ขึ้นปี 47 ประมาณ ไตรมาสที่ 2 ผมไม่อยากไปวันศุกร์ คำนูญ ก็บอกว่าพี่ๆไป หน่อยนะ ผมก็บอกว่า จะอ้วกให้ได้ จนในที่สุด ผมก็ตัดสินใจ ผมบอกรุ่งมณี เมฆโสภณ ให้ไปบอกมิ่งขวัญว่า เมื่อไรที่อยากให้เลิกทำ มากระซิบ บอกให้หยุดเลยดีกว่า แล้วผมก็เริ่มวิจารณ์เขามากขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 47 ผมจำได้แม่นเลย เริ่มวิจารณ์ว่าเขาทำอย่างนี้ไม่ถูก เริ่มที่จะเอาเขามาวิจารณ์หลายๆ เรื่องที่ผ่านมา


          จนเข้าปี 48 ก็แรงขึ้นๆ จนกระทั่งเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นรายการทอล์ก อราวนด์ ทาวน์ ของปี 48 ทุกคนพูดถึงผม ว่าเป็นคนเดียวที่กล้าพูด ผมบอกผมตัดใจละ ถ้าให้ผมหยุดผมก็หยุด แต่ก่อนผมหยุด ขอเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง ขอเป็นสื่อมวลชนที่สมบูรณ์แบบสักครั้งหนึ่ง แต่ผมหวังว่าที่ผมหยุดนั้นให้มิ่งขวัญโทร.มาหาผม หรือชวนผมกินข้าว บอกพี่ รัฐบาลเขาไม่พอใจ พี่หยุดได้ไหม ผมก็จะหยุดเงียบๆ แต่ไม่ใช่


          มันมาแตกเอาวันที่ 9 กันยายน ผมพูดเรื่องสมเด็จพระสังฆราช ผมพูดเรื่องการทำพิธีในวัดพระแก้ว ตรงนั้นเบรกแตก เขาจะไปอเมริกาพอดี เขาโกรธมาก เขาโทร.สั่งมิ่งขวัญ และผดุงให้จัดการให้เรียบร้อย หาวิธีไดวิธีหนึ่ง ถอดรายการ ไปเลย


          มิ่งขวัญ ธงทอง เรวัติ ก็เลยไปดึงประเด็นที่ว่าผมดึงเบื้องสูงขึ้นมาพูด มา ถอดรายการผม แทนที่จะกระซิบบอกผมว่าพอละพี่ ผมจะออกไปเลย มาใช้วิธีนี้ เมื่อมาออกทีวีด่าผม ผมก็ต้องโต้กลับว่า การที่คุณพูดนี่ผิด ผมไม่ได้ดึงเบื้องสูงขึ้นมาสักนิดเดียว และก็ไม่ได้วิพากษ์ วิจารณ์คนเดียวเพราะนี่คือรายการ วิเคราะห์ข่าว ไม่ใช่รายการสรยุทธ ถ้ารายการสรยุทธถึงลูกถึงคนน่ะ สรยุทธเป็นพิธีกร เอาคนมาซัก แต่นี่คือเอาข่าวชิ้นหนึ่งมาวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์ ก็ต้อ ง พูดคนเดียวสิ นี่เขาเรียก news analysis ผมก็ต้องฟ้องกลับ 2 ข้อหา



          ทีนี้พอผมฟ้องเสร็จ พอทักษิณกลับมา เบรกยังไม่หายแตก ให้ธนา เบญจาทิกุล ฟ้องผม เปลี่ยนจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ฟ้องผม แต่ไม่ฟ้อง สื่อ คือ อสมท และก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่ตีพิมพ์คำสอนของหลวงตามหาบัว ที่เทศน์ว่าทักษิณเลวกว่าเทวทัต ฟ้องหนังสือพิมพ์แต่ไม่ฟ้องหลวงตา


          สมัยก่อนผมเชียร์เขา ผมโง่ไปแล้วผมหลงผิดไป แต่ผมไม่ผิด เพราะผม เคยเชียร์ใครแล้วต้องเชียร์ไปตลอดชีวิตหรือ ถ้าคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่ผมรักมาก แล้วมาทำลายชาติ ทำลายแผ่นดิน ผมก็ไม่รักได้ เพื่อนส่วนเพื่อน ส่วนรวมคือส่วนรวม พวกนี้พูดจริงคือผมเชียร์เขา แต่ที่ไม่จริงคือผมเห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้อง ผมเลยต้องเดินหน้าเข้ามาและวิพากษ์วิจารณ์เขา


          คุณสนธิมี agenda ที่จะล้มเขา เพื่อเปลี่ยนนายกฯให้ได้


          เปลี่ยนเพื่ออะไร เปลี่ยนแล้วได้อะไร เพื่อมีคนใกล้ชิด อำนาจคนใหม่ ผมไม่ได้สนิทกับใคร พลเอก สุรยุทธ ผมก็ไม่เคยเจอ พลเอกสนธิผมก็ไม่รู้จัก


          เขาพูดกันว่าป๋าเปรม


          พูดตรงๆ เลยนะ ผมไม่เคยเจอป๋าเปรม สิ่งที่ผมทำ เผอิญโดนใจคน เอางี้ดีกว่า ผมสรุปอย่างไรดี มีคนไม่พอใจการกระทำของนายกฯคนนี้และครอบครัว พวกเขามาก แต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นสู้ มีบ้างที่ลุกขึ้นสู้ แต่โดนกดดัน เล็กๆ น้อยๆ ก็หนีหมด ไม่ว่าจะเป็นธีรยุทธ บุญมี ไม่ว่าจะเป็น อ. เจิมศักดิ์ หรือ ใครก็ตาม เผอิญ ผมลุกขึ้นสู้แล้วผมไม่กลัว เพราะผมรู้ว่าที่ผมลุกขึ้นสู้นั้น สงครามมันจะยาวนานและผมต้องบาดเจ็บแน่นอน ผมต้องทน


          พอผมทนนะ เขาใส่ผมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเอาสรรพากรมาตรวจสอบบริษัทย้อนหลัง ทุกบริษัทเช็กหมด แม้กระทั่งผมใช้บริการบริษัทคอล เซ็นเตอร์ ชื่อบริษัทมายคอล เขายังให้สำนักทนายความคนหนึ่ง แกล้งบอกว่าจะไปซื้อบริษัทมายคอล โทร.ไปหาเจ้าของฝรั่งที่ชื่อ เดลด้า ฝรั่งนี่ก็ถามว่า คุณสนธิรู้จัก สำนักทนายความคนนี้ไหม มันจะมาซื้อมายคอล


          ผมก็บอกว่าผมไม่รู้จัก ลองถามเขาดูสิ ปรากฏว่าคำถามแรกที่มันถามคือ คุณสนธิมาถือหุ้นในบริษัทนี้หรือเปล่า เดลด้าบอกคุณสนธิไม่ได้เกี่ยวกับ บ.นี้เลย คุณสนธิเป็นแค่ลูกค้า เพราะว่าผู้บริหารแผนเขาให้ มายคอลเป็นคนแฮนเดิลเรื่องการขายสมาชิกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วเวลาเราขายจาน astv เราก็ให้มายคอลเป็นคนรับโทรศัพท์ เราจ่ายค่าคอมมิชชันเขา เพียงแค่นี้ เพราะ ว่าเรามีชื่ออยู่มันส่งคนเช็กหมด ทีนี้พอผมกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ของพวกนี้มันโดนใจคน


          พอโดนใจ คนก็เฮ้ย สนธินี่มันเป็นสมบัติของฉันแล้ว ต้องประคองมัน อย่าให้มันล้ม ต้องช่วยมันต้องให้กำลังใจมัน ยิ่งมีการตบเท้าออกมา "ทหารมา ขู่ผม ทหารรุ่นเดียวกับเขามาขู่ ทหารรุ่นพี่ชายเขา ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เรืองโรจน์ มาขู่ ใช้วิชามาร คนก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ถ้าสนธิเป็นอะไรไปเราไม่มีตัวแทน นี่คือ ที่มาของคนเยอะๆ เขายังไม่เก็ตตรงนี้ ไม่ยอมรับความจริง


          มีตัวนกต่อ ที่อยู่เบื้องหลัง


          ถ้าผมจะนำม็อบน่ะ ผมทำไปนานแล้ว แต่ผมปฏิเสธอยู่ตลอดเวลา ผมมี จุดยืนของผม ผมไม่ยอมให้ใครมาใช้ผมเป็นเครื่องมือ วันที่วางดอกไม้ให้ร. 6 เป็นวันที่พวกทักษิณยอมรับว่าผมนำม็อบได้ เพราะทุกคน เชื่อผมหมด 8 หมื่นคน แต่ผมไม่ทำ ผมแค่วางที่พระบรมรูปเท่านั้นแล้วผมก็กลับ


          ผมยังเชื่อในจุดยืนของสื่อมวลชนอยู่เหมือนเดิมว่า ผมให้ความรู้คน ให้ ปัญญาคน แล้วผมหวังว่า การที่ผมให้ตรงนี้ จะกระจายออกไปเยอะๆ แล้วที่สำคัญจะทำให้สื่อมวลชนอีกเยอะ ปฏิเสธไม่ได้


          เหตุผลหนึ่งที่สื่อมวลชนช่วงหลังไม่กล้าปฏิเสธผม เพราะจำนวนคนที่มา เท่านั้นเอง เป็นเพียงแต่ว่าความเข้มแข็งในการเสนอข่าว ยังน้อย บางคนก็ว่ามันมีโครงสร้างทางอำนาจมาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการเป็นเจ้าของอยู่ ก็อาจจะมีข้อยกเว้นบางฉบับ


          อย่างเช่นกรุงเทพธุรกิจ เป็นข้อยกเว้น เนชั่นก็คล้ายๆว่าตีพิมพ์ทั้ง 2 ฝ่าย เอาทั้งทักษิณ และผม มติชนนี่แล้วแต่อารมณ์คน อย่างหน้า 3 พี่เถียร วันไหน เขียนชมก็ชม เขียนด่าก็ด่า เอาอย่างง่ายๆ ผมเป็นสินค้าที่หนังสือพิมพ์บางฉบับขายได้ เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนะ ผมยังเหมือน เดิมทุกอย่าง และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อีก 2-3 ปีก็ได้ ถ้าผมไปรับตำแหน่งอะไร คุณเจอหน้าผมที่ไหน คุณถอดรองเท้าแล้วเอาตบหน้าผมได้เลย


          ประชาชนคนไหน เห็นผมไปรับตำแหน่งอะไรกับรัฐบาลชุดใหม่ เจอหน้าผม ผมให้ถุยน้ำลายใส่หน้าผมได้เลย


          คำว่า เกี้ยะเซี้ยะ นี่ เกี้ยะเซี้ยะ เรื่องอะไร จุดยืนผมอยู่เท่าเดิม ผมมีหน้าที่ตั้งคำถาม ถามคน แล้วไม่ใช่เฉพาะทักษิณนะ ผมจะเป็นตัวแทนของประชาชนวันนี้และวันข้างหน้าตลอดไปว่า อะไร ที่มีความไม่โปร่งใส ผมต้องถามเขา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นทักษิณ ชินวัตร อาจจะ เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือใครก็ได้ และผมจะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างซื่อตรงที่สุด


          เคยคาดคิดไหมว่า เราออกไปสู้อย่างนี้


          แล้วจะเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น


          ผมไม่เคยคิดว่ามันจะเกิด ผมเพียงแต่รู้สึกอึดอัดใจ นักข่าวประจำเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ของนิตยสารนิวส์วีกส์ ชื่อ โจคอป คอลินซ์ มาสัมภาษณ์ผม เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว และจบลงด้วยคำถามสั้นๆว่า คุณสนธิ Can you tell me very brief why did you do it? ผมก็บอกว่า How brief do you want? เขาก็บอกว่า very brief ผมก็บอกว่า I'm press.


          ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ผมพูดกับเด็กรุ่นหลังตลอดเวลา พวกนักข่าว ว่าผมสู้ให้พวกคุณทั้งนั้น เมื่อวันหนึ่งที่คุณทำงานได้อย่างสะดวกสบาย มีสิทธิ เสรีภาพ เสี้ยวหนึ่งของความคิด คุณคิดถึงผมก่อนแล้วกัน ไม่ต้องมาเป็นหนี้บุญคุณผม ผมไม่ต้องการ


          คนชอบไปคิดไปเลยเถิด ชอบไปตีสมการ คิดอย่างโน้นอย่างนี้ จิ๊กซอว์ไม่มี ไม่มีจริงๆ อย่าไปอ่านสนธิให้ลึกซึ้งมากเกินไป มีอยู่แค่นี้เอง


          นอกจากถูกบีบเรื่องธุรกิจแล้วเรื่องโฆษณาละ


          เผอิญเราโชคดีอย่าง ภาคเอกชนสนับสนุนเราเยอะ เรื่องภาครัฐมันแน่นอน อยู่แล้ว บีบอยู่แล้ว


          เขาสามารถบีบไม่ให้ภาคเอกชนมาลงโฆษณาได้ไหม


          ผมว่าถ้าเขาทำอย่างนั้นก็เกินไป เฉพาะส่วนที่เขาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ทักษิณ ใช้หลักจิตวิทยาพูดกับคน ยิ่งปิดกั้นวีซีดี ยิ่งหายาก คนหาเยอะมาก ทำให้เมืองไทยรายสัปดาห์รู้จักกันทั่วโลก ตอนนี้เป็นเรื่องทั่วโลกไปแล้ว IHT ลงหน้า 1 Asia Time Online ก็ขึ้น CNN ออกไปแล้วครั้งหนึ่ง


          ทันทีที่เขาฟ้องผู้จัดการ เขารู้สึกพ่ายแพ้ไปแล้ว


          เหมือนเอาไม้หน้าสามมาตีผม แล้วบอกว่าผมไม่ตีคุณแล้วน่ะ คุณช่วยยกมือไหว้ผมหน่อย มันบ้า ผมอยู่ของผมเฉยๆ แล้วมาฟ้องผมเพื่อปิดปากผม แล้วผมไม่กลัว แล้วที่คุณถอนเพราะคุณต้องจำใจถอน นายกฯถอยก้าวคุณสนธิไม่ถอยหรือ มันบ้า ยังไงผมก็ไม่เปลี่ยน ความจริงในอดีตคนจะสู้ก็มี สุทธิชัย หยุ่น แต่เมื่อสู้แล้วถูกเขาบีบมาก็เริ่มถอย เผอิญผมสู้แล้วไม่ถอย จริงๆ บทบาท นี้มีคนทำได้เยอะ หากเขากล้าที่จะทำ ผมอาจไม่เห็นด้วยที่คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ ผม แต่ผมจะสู้จนตายเพื่อปกป้องสิทธิที่คุณไม่เห็นด้วยกับผม สิ่งที่ผมทำผมไม่อยากเป็นวีรบุรุษ ผมช้ำใจถึงทุกวันนี้ ที่ไม่สามารถเป็นตัวของผมเองได้อีกต่อไปอนาคต คนคาดหวังกับตัวผมมาก ชีวิตผมเปลี่ยนไปหมดแล้ว ผมกลุ้มใจจริงๆ ผมมีชีวิตที่ธรรมดาที่สุด


          แต่ผลมันมีน่ะ คนที่ทำงานบริษัทเอไอเอสรู้เลย คนคืนโทรศัพท์เอไอเอส เยอะมาก และไม่ได้คืนเปล่า คืนด้วยด่าด้วย ดีแทคส้มหล่น ยังไงก็ฝากเอาไว้ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอะไรบ้างอย่างก็ต้องต่อสู้ ผมยังเสียดายเลย ทักษิณพูดได้ยังไงวันที่ด่านักข่าว ถ้าผมเป็นนักข่าวหรือเป็นเด็กผม ผมจะตบกะโหลก ทำไม ท่านนายกฯต้องพูดจาหยาบคาบอย่างนี้ ผมเพียงแต่ทำหน้าที่ผม นี่ไงเราไปยอมเขาได้อย่างไร มันเป็นสิทธิในการทำหน้าที่ตามบทบาท


          หลังจากนี้ไปเขาจะปรับท่าทีหรือฟังความคิดเห็นเราอย่างไร


          เอาอย่างนี้ดีกว่า คุณคิดว่าเสือน่ะ มันจะมีเสือมังสวิรัติหรือเปล่า?


 


 


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net