Skip to main content
sharethis

 


6 ม.ค. 2549 แม้การฆ่าตัดศีรษะ จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ในสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ และทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็สะเทือนความรู้สึกของผู้คนทั่วไป ด้วยลักษณะการก่อเหตุที่โหดเหี้ยม


 


พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจที่อยู่ในพื้นที่มาตลอดชีวิตราชการ และยังเป็นประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่เคยเกิดการก่อเหตุในลักษณะเช่นนี้มาก่อน นั่นแสดงว่าน่าจะเป็นการรับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ


 


"ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นกลุ่มจากต่างประเทศเข้ามาก่อเหตุเอง หรือเป็นเพราะมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบไปฝึกในต่างประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องนี้เป็นการเอาอย่าง จากที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ"


 


พล.ต.ต.จำรูญ เล่าย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อมีเหตุการณ์ฆ่าตัดศีรษะเกิดขึ้นครั้งแรกบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย โดยฝีมือชาวมลายูพื้นเมือง ที่ต่อต้านการนำกลุ่มชาติพันธ์ชวา เข้ามาตั้งรกรากอยู่บนเกาะอัมบน เกิดการต่อสู้กันระหว่างสองกลุ่มนี้ และทุกครั้งที่คนมลายูพื้นเมืองฆ่าคนชวาได้ก็จะตัดศีรษะทุกครั้ง หลังจากนั้นก็มีการเอาอย่างกันในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย


 


"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นยุทธวิธี เป็นการกระทำที่ต้องการทำลายขวัญ และจิตใจสู้รบของฝ่ายตรงข้าม ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความหวาดกลัว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่มารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นทหารที่มาจากพื้นที่อื่น จึงยิ่งต้องการสร้างความหวาดกลัวให้ไม่กล้ามา หรือมาก็กลัวหวาดผวา ไม่มีกำลังใจจะปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกรงกลัว ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ"


 


เขาระบุอีกว่า การก่อเหตุเช่นนี้ผู้ก่อเหตุยังให้เป็นประเด็นในการปลุกระดม ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นการต่อสู้กับผู้รุกราน โดยการฆ่าเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว


 


อดีตนายตำรวจผู้นี้เห็นว่าสงครามระหว่างขบวนการก่อความไม่สงบและรัฐบาลไทยยังไม่จบ หรือดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวอ้างเช่นนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น


 


"ผมกล้าพูดเช่นนี้ เพราะผมเป็นคนในพื้นที่ ได้พบปะพูดคุย ลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชาวบ้านจริงๆ ชาวบ้านยังมีความไม่พอใจรัฐบาลอยู่สูง ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเสนอภาพผู้เข้ามอบตัว ที่ชาวบ้านรู้อยู่เต็มอกว่าเป็นการสร้างภาพโดยไม่ได้ผลจริง"


 


พล.ต.ต.จำรูญเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องเกิดขึ้นอีก แต่ใช่ว่าจะเป็นเป้าหมายการก่อเหตุว่าทุกครั้งที่ฆ่าจะต้องตัดศีรษะเหยื่อมาด้วย  เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุคำนึงถึงจังหวะและโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ หากมีโอกาสก็จะทำ


 


ขณะที่ นางชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือข้อยกเว้นในการรบ ไม่คำนึงถึงข้อห้ามที่จะไม่ทำให้ศพเกิดความอุจาด มุ่งมั่นที่จะใช้ความรุนแรงทุกวิถีทางเมื่อมีโอกาส โดยไม่เลือกวิธีการ ที่สำคัญคือต้องการแสดงให้เห็นว่าสามารถดำรงความเข็มแข็งในการก่อเหตุได้อยู่ ทำให้ทุกฝ่ายหวาดกลัว เกรงขามในความเหี้ยมโหด


 


"แม้ฝ่ายรัฐจะพยายามบอกอยู่เสมอว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่อีกฝ่ายก็สามารถก่อเหตุได้อยู่เสมอ เหมือนการเย้ยว่าพวกเขาไม่สะทกสะท้าน แม้แต่เรื่องศีลธรรมที่กระทำกับศพผู้เสียชีวิตแบบนี้ ที่สำคัญการก่อเหตุอย่างโหดเหี้ยมเช่นนี้จะส่งผลต่อกลุ่มประชาชน เป็นการเพิ่มความหวาดกลัวกดดันประชาชนมิให้ร่วมมือกับฝ่ายรัฐ"


 


ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มานานเธอเห็นว่า ท่ามกลางการก่อเหตุของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายรัฐยังถือว่าตกเป็นฝ่ายตั้งรับ โดยที่ยังไม่มีการรุกบ้างเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเห็นใจฝ่ายรัฐ ที่สำคัญคือต้องอาศัยเวลา โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัฐยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่เลือกใช้วิธีการรุนแรง ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง


 


"จากการได้พูดคุยกับฝ่ายทหาร แม้จะมีความหดหู่ โกรธแค้น แต่ก็ยังยึดมั่นอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพวกเขาบอกว่าสิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนกลยุทธ์ การปฏิบัติให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รับได้เรียนรู้ผลกระทบของความรุนแรงมาแล้ว คงไม่ทำอะไรที่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาอีก"


 


จากการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลายในพื้นที่ เธอสะท้อนความรู้สึกของคนเหล่านี้ออกมาว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุในลักษณะนี้


 


"อย่างกรณีฆ่านาวิกโยธินสองคนที่ตันหยงลิมอ มุสลิมส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะโหดเหี้ยมเกินไป หรือการฆ่าพระ นักศึกษาที่เรียนจบจากปอเนาะก็บอกว่า ไปทำทำไม เพราะเป็นผู้ที่ออกจากทางโลกมาสู่ทางธรรมแล้ว"


 


ความหวาดกลัวยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ก่อเหตุ ที่ต้องการทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายเจ้าหน้าที่ สภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยจึงน่าวิตกยิ่ง


 


พ.ญ.เพชรดาว   โต๊ะมีนา  ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)  เปิดเผยว่า  หลังจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีเริ่มเปลี่ยนเป้าหมายการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้    โดยหันพุ่งเป้าสังหารไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมถึงกองกำลังตำรวจและทหารอีกครั้งในระยะนี้  เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของความหวาดกลัว    ความเครียด   และความวิตกที่จะต้องเกิดขึ้นตามมา 


 


"หมอเองสังเกตได้จากการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งเมื่อ 3 วันที่ก่อนในพื้นที่ อ.ปานาเระ  จ.ปัตตานี   และการลอบฆ่าตัดศีรษะเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อ 2 วันก่อน   ทั้งสองเหตุการณ์ยอมรับว่า รู้สึกเป็นห่วงสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างมาก   แต่ที่มีความเป็นห่วงมากที่สุดคือ  กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  คาดว่าบุคคลกลุ่มนี้คงเกิดความเครียดและเกิดความวิตกกังวลมากกว่าเจ้าหน้าที่กองกำลังที่เป็นคนในพื้นที่อย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเขายังไม่เกิดความคุ้นเคยกับพื้นที่ อีกทั้งต้องมาเจอกับภาวะแห่งความตรึงเครียดในการปฏิบัติหน้าที่"  แพทย์หญิงเพชรดาว  กล่าว


 


เธอเสนอว่า  จากเหตุการณ์ข้างต้นอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คัดสรรหรือตรวจสอบประวัติเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่จะลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างละเอียด เพราะไม่อยากเห็นภาพการฆ่าตัวตายหรือภาพเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวอีก


 


สำหรับผู้ที่ยังปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตแนะนำว่า ผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดจะต้องช่วยกันพยายามสังเกตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกันด้วย โดยให้สังเกตถึงพฤติกรรมต่างๆ หากพบว่าเพื่อนๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  เช่นเกิดความกลัว  วิตกกังวล  ซึมเศร้า  รวมถึงสูบบุหรี่จัดหรือดื่มสุราจัดขึ้น  จะต้องรีบแจ้งจิตแพทย์ทันที เพื่อช่วยกันแก้ไข


 


เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบสุข ในสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งมีผู้เรียกว่าถึงขั้นสถานการณ์สงคราม


 


เพียงแต่เป็นสงครามที่ไร้แนวรบ และไม่เห็นตัวศัตรู ฝ่ายตรงข้าม !


 


 


 กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net