Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 ม.ค. 2549  โรงเรียนริมทะเลสาบสงขลาเจอผลกระทบน้ำท่วมร่วม 100 โรงเรียน นครฯ ปิดยาวร่วม 3 สัปดาห์  สงขลาหนักสุด 75 โรงเรียน เปิดโครงการติวเข้มทั้งสายวิทย์ - สายศิลป์ ช่วยเด็ก ม. 6 สู้เอ็นทรานซ์ "อบจ.สงขลา" ใจป้ำ จ้าง 10 ติวเตอร์ชื่อดังจากกรุงเทพฯ ติวนักเรียน 6,000 คนฟรี "ภาคประชาชนตรัง" ตั้ง 3 คณะทำงาน ร่วมฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม


 


สงขลาติวเข้ม75โรงเรียนน้ำท่วม


นายสงวน ศรีสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 1 เปิดเผยว่า มีโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาพื้นฐานสงขลาเขต 1 ทั้งหมด 60 โรง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังริมทะเลสาบในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมืองสงขลา นานร่วม 3 สัปดาห์ ทางสำนักเขตการศึกษาฯ จึงจะจัดโครงการคาราวานสอนซ่อมเสริม ในวันเสาร์ - อาทิตย์ ให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมปีที่ 3 ซึ่งกำลังเตรียมสอบเพื่อเลื่อนช่วงชั้นการเรียน โดยระดมอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ มาสอนพิเศษ โดยเริ่มสอนหลังวันที่ 16 มกราคม 2549 เป็นต้นไป


 


"ส่วนนักเรียนชั้นมัธยม 6 ที่กำลังเตรียมตัวสอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั้น จะให้เข้าร่วมโครงการกวดวิชาพิเศษ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่จะจัดติวในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ขณะนี้ทุกโรงเรียนเปิดสอนตามปกติ" นายสงวน กล่าว


 


นายสมนึก มีแสง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 2 เปิดเผยว่า ในพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 2  มีโรงเรียนต้องปิดเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมขังนาน 15 โรง ทั้งหมดอยู่ริมทะเลสาบสงขลา แยกเป็น อำเภอควนเนียง 6 โรง อำเภอบางกล่ำ 5 โรง และอำเภอหาดใหญ่ 4 โรง ขณะนี้เปิดสอนตามปกติแล้ว โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้โครงการกวดวิชาพิเศษ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้ามาดูแลนักเรียนที่กำลังจะสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วย เพราะโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วมต้องปิดเรียนนาน เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน


 


"ในการประชุมผู้บริหารโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต 2 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 พบว่ามูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 30 ล้านบาท ขณะนี้ผมได้สั่งการให้ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 200 กว่าโรง รวบรวมข้อมูลความเสียหาย ทั้งต่อเด็กนักเรียนและโรงเรียน เช่น ชุดนักเรียน กระเป๋า อุปกรณ์การเรียนอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือต่อไป" นายสมนึก กล่าว


 


นายเทียน ตันติวิริยภาพ ผู้อำนวยการกองการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โครงการกวดวิชาพิเศษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะจัดติวนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 4 - 5 และ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นโครงการที่ให้นักเรียนชั้นมัธยม 6 ในจังหวัดสงขลา ทั้ง 70 โรง นักเรียนกว่า 6,000 คน เข้าร่วมเตรียมความพร้อมสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยว่าจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงจากกรุงเทพมหานคร 10 คน มาเป็นติวเตอร์ ใน 6 สาระวิชา ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์


 


พัทลุงเร่งสอนชดเชยนักเรียน


นายวิพล นาคพันธุ์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เปิดเผยว่า สำหรับจังหวัดพัทลุง มีโรงเรียนถูกน้ำท่วมขังนาน 2 - 3 สัปดาห์ รวม 10 โรง ทั้งหมดอยู่ริมทะเลสาบสงขลา จะให้แต่ละโรงจัดวันเวลาในสอนชดเชยกันเองตามความเหมาะสม โดยอาจขยายเวลาเรียนปกติออกไปอีก 1 ชั่วโมง หรือเพิ่มเวลาเรียนช่วงเที่ยง หรือสอนชดเชยในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ได้รับผลกระทบมากมีโรงเดียว คือโรงเรียนมัธยมเกาะหมาก ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน ตัวโรงเรียนไม่ถูกน้ำท่วม แต่นักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ 1 สัปดาห์ คิดว่าไม่น่ากระทบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องเตรียมสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย


 


"สำหรับความเสียหายทางด้านการศึกษามีมูลค่าประมาณ 84 ล้านบาท ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 17 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากที่ต่างๆ มาช่วยเหลือต่อไป" นายวิพล กล่าว


 


นครฯปิดโรงเรียนหนีภัยน้ำนานสุด


นายเสริมสักดิ์ ดิษฐ์ปาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 เปิดเผยว่า มีโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมนาน 10 โรง อยู่ในอำเภอชะอวด 3  โรง อำเภอเชียรใหญ่ 2 โรง อำเภอปากพนัง 4 โรง และหัวไทร 1 โรง ทั้งหมดเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ถูกน้ำท่วม 4 ระลอก ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 ทำให้ต้องปิดเรียน 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดปิดเรียนระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 4  มกราคม 2549 แต่บางแห่งยังมีน้ำขังแฉะบางจุด เช่น ในสนามฟุตบอล เป็นต้น ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมปิดเรียนนานที่สุดเพียง 4 วันเท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องเตรียมตัวสอบเรียนต่อ


นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนที่ปิดเรียนนาน จะต้องเปิดสอนชดเชย โดยให้แต่ละแห่งสอนชดเชยในวันเสาร์ หรือขยายเวลาเรียนออกไปอีก 1 ชั่วโมง แต่ปัญหาคือ จะไปสอนเด็กตัวเล็กๆ มาก เพียงเพื่อให้เต็มเวลาเรียนคงไม่ได้ เด็กจะรับไม่ไหว จึงหารือกันว่าน่าจะเปิดภาคเรียนใหม่ ในปีการศึกษาหน้าให้เร็วกว่าเดิม เพื่อให้เด็กได้รับการเรียนการสอนอย่างครบถ้วน สำหรับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 20 ล้าน


 


ตรังตั้ง3คณะทำงานฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม


เมื่อเวลา 13.30 วันที่ 5 มกราคม 2549 ที่วัดน้ำผุดใต้ ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการประชุมเครือข่ายประชาชนช่วยเหลือผู้ประสบภัย โซนลุ่มน้ำตรังตอนกลาง มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 40 คน ประกอบด้วยแกนนำชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 17 หมู่บ้านใน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางรัก ตำบลนาโต๊ะหมิง ตำบลนาตาล่วง ตำบลหนองตรุด และตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง


 


ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานซ่อมบ้านและปรับโครงสร้างบ้านที่ถูกน้ำท่วม คณะทำงานล้างบ่อและปรับปรุงคุณภาพน้ำ และคณะทำงานจัดหาหญ้าและยารักษาโรคสัตว์เลี้ยง โดยคณะทำงานทั้งหมด จะรายงานข้อมูลความเสียหายทั้งหมด ในวันที่ 19 มกราคม 2549


 


ทั้งนี้ ในส่วนของคณะทำงานซ่อมบ้านและปรับโครงสร้างบ้านที่ถูกน้ำท่วม จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณการซ่อมและปรับโครงสร้างบ้าน จากโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หลังละ 18,000 บาท ส่วนคณะทำงานล้างบ่อและปรับปรุงคุณภาพน้ำ จะมีแผนล้างบ่ออย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ล้างบ่อไปแล้ว 50 บ่อ สำหรับคณะทำงานจัดหาหญ้าและยารักษาโรคสัตว์เลี้ยง จะประสานกับทางจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ในการจัดหาหญ้าและยารักษาโรค เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


 


                                                                                        


 กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net