ชายไทยพึงสังวรณ์ ข่มขืนเมียเป็นความผิด มีกิ๊กจะโดนฟ้องหย่า

ประชาไท—7 ม.ค. 2548 เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พาประเด็นผู้หญิงก้าวไปอีกขั้น เตรียมแก้กฎหมายเตรียมยื่นแก้กฎหมายหย่าร้างหากสามีร่วมประเวณีกับหญิงอื่นแม้เพียงครั้งเดียวก็ถือว่ามีชู้ ให้ภรรยาสามารถฟ้องหย่าได้ พร้อมเสนอคุ้มครองผู้หญิงถูกสามีข่มขืนสามารถเอาผิดทางอาญาได้

 

โดยเว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า จากเวทีสัมมนาชิงปฏิบัติการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(CEDAW) กับการดำเนินงานตามพันธะสัญญาของรัฐ" ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุมีการเตรียมยื่นแก้กฎหมายหย่าร้างหากสามีร่วมประเวณีกับหญิงอื่นแม้เพียงครั้งเดียวก็ถือว่ามีชู้ ให้ภรรยาสามารถฟ้องหย่าได้ ขณะนี้ผ่านการยกร่างกฎหมายแล้ว กำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของประชุมสภาฯ เดือน มี.ค.นี้

 

โดยนางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ช่วง 20 ปีที่ประเทศไทยรับรองกับองค์การสหประชาชาติในอนุสัญญาฯ ไทยมีความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎหมายและออกกฎหมายหลายฉบับที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ ทำให้สตรีไทยมีโอกาสและความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ได้รับความเสมอภาคในการดำรงตำแหน่งทางราชการ ออกกฎหมายให้สัญชาติแก่เด็กทุกคนที่มารดาเป็นคนไทย ทั้งนี้ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ นายวัฒนา เมืองสุข รมว.การพัฒนาสังคมฯ จะเป็นตัวแทนไปรายงานความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยต่อประชาคมโลกที่องค์การสหประชาชาติ และจะนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ มาปรับปรุงการดำเนินงานภาครัฐและภาคประชาสังคม

 

ด้าน นางกิ่งแก้ว อินหว่าง รองผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า เตรียมยื่นแก้กฎหมายการหย่าร้าง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 กำหนดว่า หากภรรยาร่วมประเวณีกับชายอื่นเพียงครั้งเดียวถือว่ามีชู้ สามีสามารถอ้างเหตุฟ้องหย่าได้ แต่เหตุเดียวกันนี้ภรรยาฟ้องหย่าไม่ได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าสามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา ซึ่งอาจแก้กฎหมายใหม่เป็นว่า หากสามีร่วมประเวณีกับหญิงอื่นแม้เพียงครั้งเดียวก็ถือว่ามีชู้ ให้ภรรยาสามารถฟ้องหย่าได้ ขณะนี้ผ่านการยกร่างกฎหมายแล้ว กำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของประชุมสภาฯ เดือนมี.ค.นี้

 

ขณะที่ น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผอ.มูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสตรีคือ การกระทำความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่การบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐยังมีน้อย และผู้ถูกกระทำก็ไม่กล้าเข้าแจ้งความ ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนั้น กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมแจ้งเบาะแสยังน้อยมาก อยากให้รัฐบาลยกปัญหาเกี่ยวกับสตรีขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เพราะกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงเดียวคงทำอะไรได้ไม่มาก สิ่งที่ทำได้คือต้องอาศัยกลไกความร่วมมือของภาคสังคมมาช่วย

 

นอกจากนี้ อยากขอให้รัฐเร่งแก้กฎหมายอาญา มาตรา 276 ที่ระบุว่าชายใดข่มขืนหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาถือเป็นความผิด โดยแก้ใหม่เป็นว่า ชายใดข่มขืนหญิงถือเป็นความผิดทุกกรณี

 

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายแต่ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ยังไม่วายวิตกกังวลเกี่ยวกับทัศนคติของสังคมที่อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปรไปตามตัวกฎหมาย โดยนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องทัศนคติของคนในสังคม รวมถึงอคติในกระบวนการยุติธรรม เกรงว่าแม้จะแก้กฎหมายฟ้องหย่าให้เสมอภาคแล้ว แต่หากศาลผู้ชี้ขาดมีอคติอยู่ก็อาจทำให้ฝ่ายหญิงที่เป็นภรรยาเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดิม เนื่องจากอาจตัดสินเข้าข้างฝ่ายชาย

 

ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรีระบุว่า ยังไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำจริงอย่างที่ประกาศหรือไม่ เพราะดูจากหลาย ๆ เรื่อง และหลาย ๆ นโยบายมักจะชอบประชาสัมพันธ์ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้ไม่เป็นอย่างที่บอก ทั้งนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องคำนิยามของกฎหมายกรณีการปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยา อยากให้มีการกำหนดคำอธิบายให้ชัดเจน ง่ายต่อการพิสูจน์ ไม่เช่นนั้นฝ่ายหญิงจะเสียเปรียบได้

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ปรับปรุงมาตราที่เกี่ยวกับการฟ้องหย่าใหม่มีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีหรือเป็นชู้หรือมีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ จากเดิมกำหนดว่าสามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยาหรือภรรยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องฉันภริยาหรือสามีหรือหญิงชู้หรือชายชู้ แล้วแต่กรณี จากเดิม กำหนดว่าภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทน จากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชายชู้แล้วแต่กรณี

 

มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว จากเดิมกำหนดว่า ชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นนั้นแล้วได้ เมื่อชายคู่หมั้นได้บอกเลิก

         

..............................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียขอหย่าได้สามีร่วมประเวณีหญิงอื่น

http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03p0121060149&day=2006/01/06

 

องค์กรสตรีขานรับกม.ข่มขืนภรรยาเป็นความผิด

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000001924

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท