Skip to main content
sharethis

 




 


ประชาไท—10 ม.ค. 2549 สำหรับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงเย็นวันแรกของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ วันที่ 9 ม.ค.49 มีตัวแทนนักวิชาการและ ส.ว. ขึ้นเวทีปราศรัยและร่วมให้กำลังใจผู้ชุมนุมหลายคน


 


นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา กล่าวว่า การชุมนุมของภาคประชาชนในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ หากแต่รัฐบาลเองที่ไม่ทำตามแนวทาง "ประชาธิปไตย" ที่สังคมไทยแลกมาด้วยเลือดเนื้อ เพราะการเจรจาเอฟทีเอกับทุกประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐซึ่งมีการแทรกแซงอธิปไตย การกำหนดนโยบายของประเทศอย่างยิ่ง กลับไม่มีการสอบถามและให้ข้อมูลกับประชาชน รวมทั้งไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา โดยตนได้คัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่เอฟทีเอไทย-จีน แล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ


 


"ถามว่าเอฟทีเอที่ผ่านมา ชาวบ้านเดือนร้อน ทำไมยอม ที่จริงเราไม่ได้ยอม  แต่เราไม่รู้ รัฐบาลไม่เคยบอกเรา" นายไกรศักดิ์กล่าว


 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของภาคประชาชน และมีความสำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งต่อสู้เรื่องการเข้าถึงยามาตั้งแต่ปี 2535 เพราะการเจรจารอบนี้จะหารือประเด็นสิทธิบัตรยา ซึ่งจะขยายการผูกขาดยาของบรรษัทต่างชาติออกไปอีก และให้ความคุ้มครองมากกว่าที่ตกลงใน WTO ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนโดยตรง ซึ่งเห็นได้ชัดในอเมริกากลาง (CAFTA) หรือแม้แต่ในเอฟทีเอสหรัฐ-ออสเตรเลีย ซึ่งออสเตรเลียก็เริ่มเป็นห่วงเรื่องนี้มาก


 


นายจอนกล่าวเสริมว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2535 เริ่มต้นจาก 52 องค์กร ปัจจุบันบันได้ขยายเป็น 800-900 องค์กร ผลของการเรียกร้องของกลุ่มผู้ติดเชื้อนำมาสู่สวัสดิการด้านสาธารณสุขของสังคม ไม่ว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบประกันสังคม ประกันสุขภาพ โดยประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด มีเพียงบราซิลและไทยเท่านั้นที่ผู้ติดเชื้อมีสิทธิเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ทั้งหมด ทำให้ยืดอายุผู้ติดเชื้อได้เป็นจำนวนมาก


 


"สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยได้เปลี่ยนโดยสิ้นเชิง เขาได้รับยาต้านไวรัสและอยู่กับครอบครัวได้นานขึ้นมาก เราต่อสู้กับเรื่องนี้มานาน แต่คนหน้าเหลี่ยมไม่เคยรู้ ไม่สนเรื่องนี้" นายจอนกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคม การชุมนุมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความรู้กับสังคมซึ่งกำลังตื่นจากการหลับใหลแล้ว


 


จับตาร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร รองรับเอฟทีเอสหรัฐ


ส่วนกรณีที่นักกฎหมายบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีให้สัตยาบันในข้อตกลงนี้ แทนที่จะเลือกแบบมีผลผูกพันทันทีหลังรับข้อตกลง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสตรวจสอบข้อตกลงฉบับสมบูรณ์อีกครั้งนั้น  นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ยืนยันว่า การให้สัตยาบันนั้นกระทำในกรณีของการเจรจาพหุภาคี ส่วนการเจรจาระดับทวิภาคีอย่างเอฟทีเอนั้นหากเซ็นลงนามแล้วก็มีผลผูกพันทันที


 


ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา นายเจษฎ์กล่าวว่า หากตกลงกันในประเด็นนี้ก็ต้องแก้กฎหมายทันที ไม่มีระยะเวลาให้ค่อยๆ ปรับตัวให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ โดยทราบว่าขณะนี้การยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เรียบร้อยแล้วโดยที่สอดคล้องกับเอฟทีเอ เหมือนกรณีสหรัฐ-สิงคโปร์ อาทิ กรณีของลิขสิทธิ์มีการระบุให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอาญาแผ่นดิน ทำให้รัฐยอมความไม่ได้ การระบุให้การทำซ้ำชั่วคราวเป็นความผิด


 


ขณะที่เรื่องเครื่องหมายทางการค้าก็มีการไปเชื่อมโยงกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถ้ามีการจดเครื่องหมายการค้าก่อน ก็ทำให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หายไปได้ เช่น มีคนจดเครื่องหมายการค้าสุนัขบางแก้ว ใครจะมาขายสุนัขแล้วบอกว่าเป็นสุนัขบางแก้ว (สายพันธุ์) ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทที่จดทะเบียนไปแล้ว


 


"การยกร่างกฎหมายนี้อยู่ในแผนปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ แต่มันไม่ได้อยู่ในแผนเร่งด่วน แต่เมื่อมันร่างแล้ว พร้อมที่จะสอดเข้ามาได้ทุกเมื่อ" นายเจษฏ์กล่าว


 


นายเจษฎ์กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือการเปิดเสรีการเงิน ซึ่งในข้อตกลงนั้นไม่มีการให้ระยะเวลาในการปรับตัวเหมือนสินค้าภาคเกษตร โดยการเปิดเสรีการเงินจะเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างประเทศมาเปิดสาขาในประเทศไทยอย่างไม่จำกัด และขณะนี้รัฐบาลพยายามปล่อยให้ธนาคารพึ่งตัวเอง ซึ่งในที่สุดเมื่อไปไม่รอดก็ต้องพึ่งพาแหล่งทุน เมื่อกุมทุนธนาคารได้แล้วรัฐก็จะปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาซื้อ เมื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำลังร่างเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติก็สอดรับกับเอฟทีอย่างน่ากลัว


 


เตือนเปิดเสรีการลงทุนอย่างเดียวเหมือนเซ็นเอฟทีเอทั้งฉบับ


นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการนโยบายยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตาที่สุดคือ การเปิดเสรีการลงทุน เพราะตนเองได้มีโอกาสเห็นข้อตกลงบางส่วนแล้วมีความเป็นห่วงมาก เนื่องจากในข้อตกลงนั้นครอบคลุมการลงทุนแทบทุกประเภท แม้แต่ทรัพย์สินทางปัญญาก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังมีข้อกำหนดที่น่าเป็นห่วงหลายประการ อาทิ ระบุไม่ให้บังคับให้มีถ่ายทอดเทคโนโลยี ห้ามจำกัดการนำกำไรส่งกลับประเทศนักลงทุน ห้ามริบทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งหมายความว่ารัฐจะออกนโยบายสาธารณะเพื่อสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่ไปขัดขวางการลงทุนไม่ได้ ฯลฯ


 


"เปิดเสรีการลงทุนแล้ว ไม่ต้องเจรจาหัวข้ออื่นเลยก็ยังได้"นายบัณฑูรกล่าว


 


ผู้แทนเจรจาสิ่งแวดล้อมไทยฮึด ไม่ยอมเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน


ด้านความคืบหน้าในการเจรจาเอฟทีเอของคณะผู้แทนไทยและสหรัฐ มีประเด็นการเจรจาในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นการจัดการของรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานนั้น แหล่งข่าวรายงานว่า ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของไทยในประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้แถลงยืนยันกับคณะเจรจาฝ่ายสหรัฐว่าไทยขอมิให้นำประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงานเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาครั้งนี้


 


การแถลงดังกล่าวทำให้คณะเจรจาฝ่ายสหรัฐโต้ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถถอดออกจากกรอบการเจรจาได้เนื่องจากอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายส่งเสริมการค้า พ..2545 (Trade Promotion Authority 2002) ในหรือที่รู้จักกันดีในนามของกฎหมาย "fast track" ของอเมริกาซึ่งเป็นกรอบในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐในครั้งนี้ ดังนั้นหากประเด็นดังกล่าวไม่อยู่ในกรอบการเจรจาก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของสหรัฐ


 


อย่างไรก็ตามทางคณะเจรจาฝ่ายไทยยังคงยืนยันให้นำประเด็นเหล่านี้ออกจากกรอบการเจรจาในครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายสหรัฐไม่พอใจและกล่าวในที่ประชุมว่า หากฝ่ายไทยยังยืนยันเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้การเจรจาไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทำให้การประชุมต้องชะงักไปก่อนจะได้ข้อสรุปว่า ข้อเสนอของไทยทั้งหมดจะให้ฝ่ายบริหารของทั้งสองประเทศเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป


 


แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่หัวหน้าคณะเจรจาของไทยในประเด็นสิ่งแวดล้อมยืนยันนำประเด็นสิ่งแวดล้อมออกจากการเจรจาครั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีฝ่ายวิชาการของไทยโดยคุณหญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย และคณะจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุม อีกทั้งที่ผ่านมาฝ่ายวิชาการชุดนี้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดจุดยืนของไทยด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเอฟทีเอของไทย-สหรัฐอย่างเป็นระบบก่อนจะพบว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเกี่ยวเนื่องกับประเด็นอื่นและไม่อาจพิจารณาแยกออกไปจากประเด็นอื่น เช่น การเปิดเสรีการลงทุนได้


 


นับเป็นครั้งแรกที่ยืนยันได้ว่า แม้แต่ข้อบทที่เป็นเสมือนข้อบังคับที่ผู้แทนสหรัฐเคยย้ำว่า หากเจรจาสองเรื่องนี้ไม่ได้ เอฟทีเอก็อาจจะไม่เกิดนั้น แท้จริงแล้วก็อยู่ในวิสัยที่ต่อรองได้


 


อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตด้วยว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานนี้ เป็นประเด็นที่กลุ่มทุนต่างๆของไทยมีท่าทีคัดค้านและแสดงความกังวลมากประเด็นหนึ่งเนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตคือแรงงาน และต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลให้คณะผู้แทนเจรจาด้านนี้ของไทยมีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเด็นนี้ก็เป็นได้ แหล่งข่าวระบุ


 


  กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net