สัมภาษณ์ "ภควดี" : หายนะ (การค้า) เสรี เรื่องจริงไม่อิงนิยาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภควดี วีระภาสพงษ์ เป็นอดีตผู้สื่อข่าว เป็นนักคิด นักเขียน มีข้อเขียนหลายร้อยชิ้น และเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้วิทยาลัยวันศุกร์ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลายคนจะรู้จักเธอในฐานะนักแปลอิสระที่มีผลงานเด่นๆ หลายต่อหลายเล่ม อาทิ เปรูบนเส้นทางเศรษฐกิจนอกระบบ : การปฏิวัติที่มองไม่เห็นในโลกที่สาม, What uncle Sam really wants ฯลฯ


 

ความสนใจเป็นพิเศษของเธอที่มีต่อประเด็นความเป็นไปของโลกาภิวัตน์ การค้าเสรี ส่งให้เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ต้องผจญกับข้อเท็จจริงบางประการของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการค้าเสรี โลกาภิวัตน์ ทั้งการสูญสิ้นวิถีชีวิต ทางเลือก เสรีภาพ ทั้งการก่อเกิดที่หมายถึง ขบวนการต่อสุ้และการเคลื่อนไหว จากอเมริกาเหนือจดอเมริกาใต้ จากแอฟริกา สู่เอเชียตะวันออก มาจนถึงเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่มีประเทศไทยสังกัด

 

ท่ามกลางการเจรจาเอฟทีเอ-ไทยสหรัฐ ที่พัดพาข้อมูลโถมทับคนไทย ความสลับซับซ้อนของเนื้อหาการเจรจากลายเป็นความยุ่งยากของชีวิตข่าวสาร และง่ายกว่าที่จะรับรู้มันในฐานะเรื่องราวของคนอื่น ไกลตัว กระทั่งไม่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ภควดี จะมาถอดรหัสผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศต่างๆ ให้เห็น พร้อมการวิเคราะห์วิจารณ์

 

ขอเรียกน้ำย่อย ด้วยคำถามว่า เอฟทีเอที่กำลังเกิดขึ้นเป็นกระแสทั่วโลกนี่น่ากลัวยังไง

อยากย้อนไปนิดหนึ่ง เดิมทีก่อนจะมีเอฟทีเอ มันมีข้อตกลงอันหนึ่งซึ่งมันถูกประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้าในโลก ที่เรียกว่า โออีซีดี (OECD : Organization for Economic Co-operation and Development) พยายามมาประชุมกัน เขาเรียกว่า ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน หรือ เอ็มเอไอ (MAI : Multirateral Agreement on Investment) ซึ่งคล้ายๆ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีว่าด้วยการลงทุน คือมันพยายามจะให้อำนาจบริษัทเท่ากับหรือมากกว่ารัฐบาลท้องถิ่น ต้องการให้บริษัทข้ามชาติได้รับการคุ้มครองในทุกด้าน โดยที่กฎหมายภายในประเทศบางอย่างไม่สามารถที่จะเพิกถอนการลงทุนได้ หรือถ้าเพิกถอนก็ต้องมีการชดใช้อย่างสูง

 

แต่เอ็มเอไอมันรั่วไหลออกมาแล้วเกิดการประท้วงก่อน สุดท้ายมันจึงตกไปเสียก่อน แล้วมากลายเป็นดับเบิลยูทีโอ (WTO : World Trade Organization) ซึ่งดับเบิลยูทีโอนี้จริงๆ แล้วสหรัฐเขาไม่ค่อยชอบหรอก มันเป็นข้อตกลงพหุภาคี สหรัฐเขาไม่ชอบทำอะไรแบบนี้ เพราะเขาไม่ชอบเจรจา สิ่งที่เขาต้องการเขาก็ต้องบีบให้ได้อย่างที่เขาต้องการ เพราะเขาถือว่าเขามีอาวุธ มีกำลังทหารที่เข้มแข็งที่สุดในโลก เขาจึงไม่เคยเจรจาในลักษณะที่ยอมถอย แต่ว่าเมื่อเอ็มเอไอมันล้มก็ต้องมาหาดับบลิวทีโอที่มีการเจรจาหลายฝ่าย ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับประเทศพัฒนาแล้ว

 

ข้อตกลงเอ็มเอไอ ทำให้คนตื่นตัวและออกมาประท้วงดับเบิลยูทีโอที่ซีแอตเติลในปี 99 เพราะคนเริ่มกลัวว่าถ้าเจรจาการค้าไปเรื่อยๆ มันจะไปลงคล้ายๆ กับเอ็มเอไอ ผลคือการตกลงรอบซีแอตเติล และแคนคูนล่ม จากนั้นสหรัฐเลยหันมาเจรจาเอฟทีเอแทน เพราะเขารู้สึกว่าการจับคู่เจรจามันบีบคู่เจรจาได้ง่ายกว่า

 

เอ็มเอไอน่ากลัวยังไง คนถึงออกมาประท้วงกัน

เขาดูจากนาฟต้ามาก่อน เพราะว่าในนาฟต้า มันมีข้อตกลงบางอย่างคล้ายเอ็มเอไอ แล้วมีกรณีที่เกิดขึ้นแล้วคือให้บริษัทข้ามชาติฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นได้

 

นาฟต้านี่เกิดขึ้นเมื่อไร

นาฟต้า หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นข้อตกลงที่ทำการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ-แคนาดา-เม็กซิโก เกิดในปี 1994 ก่อนการประชุมดับเบิลยูทีโอที่ซีแอตเติล และเป็นสิ่งที่ทำให้ซาปาติสต้า (ขบวนการต่อสู้ของชาวนาและคนพื้นเมืองในเม็กซิโก) ลุกขึ้นมากบฏ ประมาณปี 97-98

 

โดยกระบวนการของนาฟต้าก็เป็นการเจรจาทวิภาคีเหมือนกันใช่ไหม

ตอนแรกจะเป็นทวิภาคีระหว่างอเมริกากับแคนาดา แล้วเม็กซิโกมาขอร่วม หรือว่าอเมริกาชวนเม็กซิโกมาร่วม จำไม่ได้แน่ชัด แต่สรุปว่ากลายเป็น 3 ประเทศ คือ อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก

 

แล้วเอฟทีเอที่อเมริกามีเป้าหมายทำกับทุกประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันรุนแรงขนาดไหน

ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่เราต้องนึกเวลานึกถึงเอฟทีเอ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีทุกประเภท มันไม่ได้เป็นปัญหาระหว่างประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่ปัญหาของประเทศรวยกับประเทศจน มันคือปัญหาระหว่างบรรษัทข้ามชาติกับประชาชนทั่วไป ในทุกประเทศ แม้แต่ประชาชนอเมริกันเองก็เจอผลกระทบ

 

แต่บริษัทข้ามชาติ ตั้งแต่มีการทำการค้าเสรีมา รายได้มันเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่าตัว ในขณะที่ทุกประเทศที่ทำเอฟทีเอจะเกิดปัญหาว่างงานและค่างจ้างลดลง รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย จนตอนนี้สหรัฐเกิดปัญหาที่เรียกว่า การมีประเทศโลกที่สามซ้อนอยู่ในประเทศโลกที่หนึ่ง มีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ด้อยโอกาสและด้อยพัฒนามาก เหมือนกับคนไทยที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีการประกันการว่างงาน ไม่มีเงินประกันสังคม ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีอะไรเลย

 

อย่างที่สองคือ เอฟทีเอไม่ได้กระทบเฉพาะประชาชนกลุ่มเดียว ไม่ใช่จะกระทบต่อประชาชนที่ยากจนกลุ่มเดียว เพียงแต่ประชาชนที่ยากจนจะเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบเป็นอันดับแรก แต่หลังจากนั้นชนชั้นกลางก็จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งธุรกิจรายย่อย กระทั่งนักธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่ได้อยู่วงในของการเจรจาก็มีโอกาสได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะว่าตอนนี้คนที่จะได้ผลประโยชน์นอกจากบริษัทข้ามชาติของอเมริกาแล้ว ก็มีธุรกิจไทยที่อยู่ในรัฐบาลและอยู่วงในของการเจรจา

 

ก็เป็นธรรมดาที่ว่า พออเมริกาต้องการอะไร คนเจรจาก็จะเอาส่วนที่ไม่ใช่ของเขาไปแลก อันนี้เป็นเรื่องปกติ

 

โดยรูปแบบของเอฟทีเอที่อเมริกาทำกับทุกประเทศ เหมือนกับที่อียู (สหภาพยุโรป) ดึงยุโรบตะวันออกมารวมเป็นอียูหรือไม่

ก็มีการวิจารณ์กันมากว่า ยุโรปตะวันตกพยายามให้ยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นประเทศที่เกิดใหม่หลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลาย เหมือนกับเป็นโลกที่สามของตัวเอง เพื่อเอาไว้ขูดรีด มีการวิจารณ์อย่างนี้ แต่ไม่ชัดเจนในเรื่องรายละเอียด

 

แล้วอียูทำเอฟทีเอกับอเมริกาไหม

อียูเขาจะตกลงกับอเมริกาผ่านดับเบิลยูทีโอ ยังไม่ทำเอฟทีเอกัน เพราะทั้งคู่พยายามแข่งกัน แต่อียูก็ไปทำกับประเทศโลกที่สาม

 

ดูเหมือนทั้งคู่ต่างคนต่างหาแหล่งดึงทรัพยากร แล้วรูปธรรมที่มันเกิดขึ้นจากเอฟทีเอนี้ มันเห็นผลรุนแรงขนาดไหน หรือโลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร

มันมีหลายภาค จะยกตัวอย่างภาคเกษตรกรรม อย่างอินเดีย ปัญหาทีเกิดขึ้นตลอดเวลาคือ ชาวนาฆ่าตัวตายเป็นว่าเล่น ตอนนี้ฆ่าตัวตายไปแล้วเท่าที่รู้ 25,000 คน ตั้งแต่ปี 2540 ที่ไม่รู้ก็น่าจะมีอีกมาก แล้วการฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นในพื้นที่หรือในรัฐอุดมสมบูรณ์ เช่น อานธรประเทศ ปัญจาบ มหาราช

 

สาเหตุการฆ่าตัวตายก็คือ ชาวนาติดหนี้สินแล้วไม่มีทางออก เมื่อฆ่าตัวตายแล้วจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลมาให้ครอบครัวเขา ก็เลยต้องฆ่าตัวตายเพื่อเอาเงินมาให้ลูกเมียตัวเอง

 

มันเชื่อมโยงกับเอฟทีเอยังไง

อินเดียทำการค้าเสรี ทั้งในดับเบิลยูทีโอด้วย ทำเอฟทีเอกับอเมริกาด้วย แต่เขาเปิดประเทศให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ พวกมอนซานโต้ พวกอะไรเหล่านี้เข้ามา แล้วเมล็ดพันธุ์พวกนี้ก็มาแทนที่เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ตามด้วยยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ชลประทาน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เกิดหนี้สิน คล้ายชาวนาไทย แล้วอินเดียยังเปิดตลาดผลิตผลด้วย ก็มีการทุ่มตลาดเข้ามา เช่น ถั่วลิสง ชาวนาติดหนี้แล้วก็ขายผลิตผลไม่ได้

 

แต่เมื่อเขาต้องการออกไปทำงานนอกภาคเกษตร อินเดียก็เปิดประเทศรับพวกสิ่งทอเข้ามา อุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรก็ไม่มี ล้มไปเหมือนกัน ทำให้เกิดทางตันแล้วเขาแก้ปัญหาไม่ได้ จนต้องฆ่าตัวตาย

 

ในสหรัฐเอง ตั้งแต่ทำนาฟต้ามา ตอนนั้นรัฐบาลบอกสภาคองเกรสว่า ถ้าทำนาฟต้าได้แล้ว สินค้าเกษตรจะได้ราคาดี แต่ปัญหาก็คือ ตั้งแต่ทำนาฟต้า คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดคือ บรรษัทข้ามชาติ พวกมอนซานโต้ คาร์กิล แล้วเกษตรกรรายย่อยของอเมริกาล้มไปแล้วประมาณ 30,000 กว่าราย ในขณะที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้กำไรเพิ่มขึ้น 5 เท่า

 

และบริษัทเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐกำลังทำคล้ายๆ กับที่ไทยทำกับพม่า คือ นาฟต้าทำให้บริษัทเกษตรของสหรัฐเขาไปทำการเกษตรขนาดใหญ่ในเม็กซิโก เสร็จแล้วก็เอาผลผลิตกลับเข้ามาในประเทศตัวเอง ก็เท่ากับทุ่มตลาดในประเทศตัวเอง ทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มละลาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรรายย่อยในเม็กซิโกตายเหมือนกัน เพราะในเม็กซิโกข้าวโพดก็ล้นตลาดถึง 450% เพราะถูกทุ่มตลาดโดยข้าวโพดสหรัฐ แล้วราคาก็ตกต่ำกว่า 70%

 

เรื่องอย่างนี้ บางคนถ้ามองอย่างเห็นแก่ตัว เขาจะมองว่า ไม่เป็นไรนี่ อาหารมันถูก ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่อย่าลืมว่า เมื่อไรก็ตามที่บริษัทใหญ่เหล่านี้กุมสินค้าอาหารไว้ได้ทั้งหมด แล้วไม่เหลือเกษตรกรรายย่อย มันไม่มีหลักประกันว่าเขาจะไม่ขึ้นราคาอาหารในอนาคต ซึ่งเราต้องมองมากกว่าผลประโยชน์ในระยะสั้น

คุณเชื่อว่าจะมีการผูกขาดอาหาร

ใช่ เพราะว่าตอนนี้ในโลกมีบริษัทผูกขาดผลผลิตทางการเกษตรอยู่เพียง 5-6 บริษัทเท่านั้น ผูกขาดไปราว 80% ของผลผลิตในโลก ผูกขาดผ่านการทุ่มตลาด

 

ในขณะเดียวกันในสหรัฐบอกว่า มีการอุดหนุนเกษตรกรในประเทศมาก ทำให้ราคาต้นทุนเขาถูก แต่การอุดหนุนที่เกิดขึ้นไม่ได้อุดหนุนให้เกษตรกรรายย่อย แต่อุดหนุนให้บริษัทพวกนี้ที่ได้เงินไป ทั้งๆที่ พวกนี้เป็นบริษัทที่ใหญ่อยู่แล้ว

 

แล้วทำไมในอเมริกา ขบวนการต่อต้านจึงไม่เกิด หรือเพราะจีดีพีมันขึ้น

ใช่ แต่คุณต้องรู้ว่าจีดีพีนั้นเป็นตัวเลขหลอกลวง มันมีข้อพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ นักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยเอาเกษตรกรรมแบบยังชีพมากำหนดหรือคำนวณเป็นจีดีพี โดยมองว่ามันไม่มีผลผลิตก็เลยไม่สนใจ อย่างนี้เป็นต้น ทั้งๆ ที่ประชากรของโลกกว่า 80% ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมแบบยังชีพ ไม่ได้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการไปซื้ออาหาร แต่ว่ามูลค่าของการผลิตตรงนี้มันไม่ได้ถูกคำนวณ มันคำนวณเฉพาะสินค้าที่อยู่ในตลาดแบบทุนนิยม

 

ทีนี้ทำไมไม่มีการต่อต้านในอเมริกา ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องวิเคราะห์กันยาว เพราะเขามีกระบวนการและโครงสร้างที่ทำให้การต่อต้านนี้ไม่เกิดขึ้น ทั้งมอมเมา ทั้งสื่อที่ไม่มีเสรีภาพ

 

แต่กลุ่มเกษตรกรและแรงงานในอเมริกาก็ดูมีพลังมากจนเหมือนจะไปวางมาตรฐานให้คนทั้งโลกได้

บริษัทเกษตรที่ได้เงินอุดหนุนส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่เกษตรกรรายย่อยไม่ได้ ขณะเดียวกันขบวนการแรงงานสภาพแรงงานในอเมริกันจริงๆ มันไม่ได้รับผลดีนะ รัฐบาลอเมริกันบอกว่าคนอื่นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าตัวเองในประเทศไม่ได้ดีนัก อัตราการว่างงานสูง มีการวิจัยด้วยว่าเดี๋ยวนี้คนอเมริกันมีรายได้ลดลงเรื่อยๆ อัตราค่าจ้างตกลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนนี้ครอบครัวหนึ่ง ผู้ชายทำงานคนเดียวอยู่ได้ เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้วต้องผู้หญิงทำงานด้วย มิหนำซ้ำต้องทำงานพิเศษ เมื่อเกิดลักษณะอย่างนี้ก็สร้างปัญหาครอบครัวขึ้นมา เด็กไม่มีคนดูแล นี่เป็นปัญหาสังคมใหญ่ในสังคมอเมริกา แล้วสภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ถึงบอกว่าเกิดสภาพโลกที่สามซ้อนอยู่ในโลกที่หนึ่ง

 

แต่โลกมันต้องพัฒนาขึ้นไม่ใช่หรือ

มันพัฒนาในแง่ไหน

 

ในขณะที่เราด่าว่าแผนพัฒนา 40 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านอาจจะมีหนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีไฟฟ้าเข้าถึง แล้วทำไมถึงเชื่อว่าโลกไม่พัฒนาขึ้น

เราอย่าเพิ่งไปพูดประเด็นที่ว่าการมีสิ่งบริโภคมากๆ ดีจริงหรือเปล่านะ เอาแค่การบริโภค ถามว่าการบริโภคที่ดีขึ้นมาจากการค้าเสรีหรือเปล่า การค้าเสรีมันเพิ่งเกิดมา 10 ปีนี้เอง แต่กระบวนการที่ทำให้คนไทย ซึ่งถ้าเราจะเรียกว่า "อยู่ดีกินดีขึ้น" มันไม่ได้เกิดมาจากการค้าเสรี มันเกิดมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่มีการวางแผน

 

ต้องพูดว่า "มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ" ส่วนใหญ่ในโลก เกิดขึ้นมาจากการวางแผน ไม่ได้บอกว่าการวางแผนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราต้องยอมรับว่า ไม่ว่าเกาหลี ญี่ปุ่น ไทย หรืออเมริกาเอง รวมทั้งอาร์เจนตินา อเมริกาใต้ทั้งหมด มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้เฟื่องฟูมาจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน มีการปกป้องภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการผลิตบางอย่าง

 

ใครเป็นคนวางแผน

ส่วนใหญ่มาจากรัฐ

 

ในขณะที่เราบอกว่าโลกตอนนี้เป็นประชาธิปไตยขึ้น ทำไมรัฐซึ่งมาจาการเลือกตั้ง มาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ถึงวางแผนได้เลวกว่าเดิมที่เป็นเผด็จการ เพราะการค้าเสรีก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของเขา หรือเราต้องตั้งคำถามกับประชาธิปไตยของโลกด้วย

อันนี้เป็นคำถามที่ดี อย่างประเทศชิลี ก็เป็นที่ถกเถียงกัน ชิลีมี ปิโนเช เป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยม แต่ในขณะเดียวกันปิโนเช ก็กลับสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหลังชิลีผ่านสภาพแย่ที่สุดทางเศรษฐกิจมา

 

แต่มันก็ไม่ได้จำเป็นว่า เราต้องมีเผด็จการแล้ววางแผนถึงจะดี อย่างญี่ปุ่น ไม่ได้ฆ่าประชาชนตัวเองเลย มีลักษณะอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เขาอาจจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในลักษณะที่เราคิด แต่เขาก็มีการเลือกตั้ง กระบวนการของเขาก็ไม่ได้เป็นเผด็จการ ไม่มีภัยสยองในประเทศ แต่มีการวางแผนสร้างประเทศให้เข้มแข็งขึ้นมาได้

 

ประชาธิปไตยในโลกตอนนี้ มันเกิดขึ้นมาหลังจากที่มีคนกลุ่มเดียวเข้ามาเล่นการเมืองเสียจนกระทั่งเป็น "ชนชั้นนักการเมือง" ไปแล้ว ตอนแรกเป็นเผด็จการอยู่ แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งมาเล่นการเมือง จนกลายเป็นชนชั้นนักการเมือง พอเราเปิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา มีการเลือกตั้ง แต่ชนชั้นทางการเมืองกลุ่มเดิมเป็นกลุ่มเดียวที่เข้ามาเล่นในระบอบนี้ได้ ขณะที่คนอื่นไม่มีโอกาส

 

มันเป็นประชาธิปไตยแบบไหน ประชาธิปไตยแบบที่มีคนกลุ่มเดียวที่เลวเท่ากันหมด เราควรจะเรียกว่า ประชาธิปไตยหรือไม่

 

ฉะนั้น มันก็เหมือนประชาธิปไตยหลอกๆ การค้าเสรีหลอกๆ ทีนี้อะไรที่มันน่ากลัวที่สุดในการเปิดการค้าเสรี เป็นการลงทุน การแปรรูป หรือประเด็นไหนที่มันกระทบอย่างกว้างขวางรุนแรงที่สุด

เรื่องการแปรรูปที่มีผลกระทบมากจะเป็นการแปรรูปน้ำ เท่าที่ดูประเทศต่างๆ แปรรูปอย่างอื่นก็ไม่เท่าไร แต่แปรรูปน้ำแล้วมักจะเกิดจลาจลเป็นส่วนใหญ่ เพราะเรานำน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากในการดำรงชีวิตมาทำให้เป็นสินค้า อย่างไฟฟ้าจ่ายค่าไฟแพงคุณประหยัดได้ แต่น้ำคุณจะประหยัดอย่างไร มันเป็นพื้นฐานของทั้งหมด

 

ตัวอย่างของประเทศโบลิเวียที่มีการแปรรูปน้ำ ที่เมืองโคชาบัมบา เป็นกรณีตัวอย่างที่คนพูดถึงกันเยอะมาก คือธนาคารโลกไปบอกให้โบลิเวียแปรรูปน้ำ เขาก็แปรรูปน้ำที่เมืองนี้ ทันที่ที่แปรรูป ค่าน้ำก็พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า สูงประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชน

 

นอกจากนั้นแล้วน้ำฝนเขาก็รองไม่ได้ มันเป็นเรื่องตลกมาก บริษัทต่างชาติชื่อบริษัทเบคเทล เป็นบริษัทที่มีประวัติการทำงานเลวร้ายมาก เขาไล่รื้อถาดรองน้ำฝนทั้งหมด ทำไมเขาทำได้ เพราะว่าข้อตกลงเรื่องการแปรรูปน้ำ มีคำคำหนึ่งที่บอกว่า บริษัทมีอำนาจในการจัดเก็บน้ำ ซึ่งมันถูกตีความไปถึงน้ำฝนและน้ำใต้ดินได้ กรณีนี้บริษัทตีความไปกว้างขวางอย่างนั้น

 

ชาวบ้านยอมหรือ

ชาวบ้านก็ไม่ยอม พอค่าน้ำขึ้น ชาวบ้านก็ประท้วง จลาจลอยู่ 4 วัน จริงๆ นานต่อเนื่องมาหลายเดือน จนครั้งสุดท้ายนี่ทั้งเมืองจลาจลหมด รัฐใช้กำลังปราบปราม แต่ที่สุดรัฐบาลก็ต้องไล่บริษัทออกไป ซึ่งต่อมาก็บริษัทเบคเทลกลับมาฟ้องรัฐบาลโบลิเวีย เพราะตามข้อตกลงมันต้องมีการคุ้มครองนักลงทุน ไม่แน่ใจว่าคดีนี้สิ้นสุดหรือยัง

 

แต่คดีที่สิ้นสุดแล้ว เขาเรียกกรณีเมทอลเคลด (Metalclad) อันนี้เราจะข้ามไปพูดเรื่องการลงทุน คือในเม็กซิโก รัฐบาลกลางไปทำสัญญากับบริษัทในอเมริกาชื่อ เมทอลเคลด ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดขยะพิษในเม็กซิโก เขาก็ซื้อพื้นที่กำจัดขยะในเมืองๆ หนึ่งในเม็กซิโก จำชื่อเมืองไม่ได้ แล้วประชาชนก็เริ่มกลัว เพราะรู้ว่าโครงการมันใหญ่มาก กลัวไปทำลายแหล่งน้ำ ก็มีการประท้วง แม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นของเม็กซิโกก็ขอประท้วงด้วย เมทอลเคลดก็เลยถูกไล่ออกไป หลังจากนั้นเมทอลเคลดก็ไปฟ้องศาล โดยใช้ข้อตกลงนาฟต้า

 

สรุปว่ารัฐบาลเม็กซิกันต้องจ่ายค่าชดเชยให้เขา 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จริงๆ บริษัทนี้ยังไม่ทันทำอะไรเลยด้วย เขาก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหาย รัฐต้องเอาเงินภาษีไปจ่ายชดเชยให้บริษัท

 

นอกจากนี้ในกรณีของประเทศพัฒนาแล้วฟ้องกันเองด้วย อย่างสหรัฐกับแคนาดา บริษัทเอ็ดทิล (Ethyl) ของสหรัฐฟ้องแคนาดา ซึ่งมีกฎหมายห้ามใช้สารเติมแต่งน้ำมันตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และสารตัวที่ว่านี้บริษัทเอ็ดทิลเป็นคนผลิต บริษัทก็เลยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรัฐบาลแคนาดาเป็นเงิน 251 ล้านดอลลาร์ โดยบอกว่าข้อบังคับนี้ละเมิดสิทธิของบริษัทภายใต้ข้อตกลงนาฟต้าว่าด้วยการลงทุน

 

แล้วก็มีกรณีที่ Methanex ของแคนาดาที่ผลิตสาร MTBE ซึ่งเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ เมื่อรัฐแคลิฟอร์เนียออกคำสั่งให้ลดการใช้ MTBE บริษัทของแคนาดาก็ฟ้องรัฐบาลสหรัฐว่าข้อบังคับนี้ทำลาย "กำไรในอนาคตของบริษัท" คือ ยังไม่ได้ลงทุนทำอะไรเลยนะ สุดท้ายรัฐแคลิฟอร์เนียต้องจ่ายค่าชดเชยหลายล้านดอลลาร์ให้แคนาดา

 

ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับสหรัฐ หรือต่อไปจะประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันจะมีตัวนี้ด้วย คือ นอกจากคุ้มครองการลงทุนแล้ว ยังคุ้มครองกำไรที่อาจจะเกิดในอนาคตของบริษัทด้วย แค่คุณทำท่าจะลงทุน แล้วถูกประท้วงกลับไป คุณก็เรียกร้องค่าเสียหายได้แล้ว มันได้ทุกทางเลย win-win นี่สำหรับบริษัทข้ามชาติอย่างเดียว

 

ซึ่งเราต้องเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศ ไม่ว่ากฎหมายแรงงาน สิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทข้ามชาติ

 

ต่อไปจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา

(หัวเราะ) สงสัยจะเป็นอย่างนั้น

 

แล้วอีกกรณีหนึ่งที่น่ากลัว คือปัญหาเรื่องอาหารและเกษตร ตอนนี้ในข้อตกลงการค้าเสรีของสหรัฐ กำหนดจะให้เราเปิดตลาดโคเนื้อ ตอนนี้สหรัฐส่งเนื้อวัวเข้าอียูไม่ได้ อันเนื่องมาจากกรณีฮอร์โมนปนเปื้อน เพราะอุตสาหกรรมเนื้อวัวในสหรัฐ ใช้ฮอร์โมนตัวหนึ่งให้วัวกินเร่งให้โตเร็ว แล้วฮอร์โมนตัวนั้นมันตกค้างอยู่ในเนื้อวัว ซึ่งมันมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า การสัมผัสฮอร์โมนปนเปื้อนจะทำให้ฮอร์โมนผู้หญิงในเพศหญิงมีมากขึ้น ส่งผลให้เด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ มีประจำเดือนเร็วขึ้น เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติก็มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น อียูจึงสั่งห้ามนำเนื้อวัวนี้จากสหรัฐ

 

ปัญหาคือว่า ทำไมทั้งๆ ที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการสัมผัสฮอร์โมนนี้มีอันตราย ทำไมสหรัฐยังยืนยันจะขาย เพราะตามข้อตกลงดับเบิลยูทีโอซึ่งสหรัฐใช้เป็นมาตรฐาน คุณจะต้องมีการพิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัดว่า กินแล้วเป็นอันตรายถึงจะห้ามขายได้ แต่ข้อพิสูจน์ว่าการสัมผัส กับการกินเข้าไปแล้วไปเกิดผลในอนาคต เขาบอกว่ายังไม่เพียงพอที่จะห้าม คือถ้าคุณเอาเข้าปากแล้วไม่ตายทันทีก็ถือว่ายังไม่ใช่ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

 

อียูไม่ยอม สุดท้ายอียูยอมให้สหรัฐลงโทษทางเศรษฐกิจ แต่ยังไงก็ไม่ยอมเอาเนื้อวัวเข้า สาเหตุก็เพราะว่าประชาชนประท้วง แต่ถ้าเป็นของไทยคงไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลคงไม่สนใจเรื่องนี้ แล้วผู้บริโภคก็ไม่รู้ข้อมูลอีกว่า เนื้อวัวที่สหรัฐเอาเข้าอียูไม่ได้จะเข้ามาในประเทศเราอย่างสบาย แล้วก็ทำลายเกษตรกรเลี้ยงโคธรรมชาติของเราด้วย

 

บทเรียนนาฟต้า หรือคาฟต้าที่เป็นกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ทำไมเรื่องแบบนี้ประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอย่างสิงคโปร์ หรือจอร์แดน ไม่กลัว

อันนี้คงต้องดูว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรี เขามีลักษณะที่เชื่อกันว่า คนที่ไม่ตกลงจะเสียเปรียบ มันเหมือนเป็นการบีบให้ตกลง ในขณะเดียวกัน คนที่ไปตกลงมันอยู่ที่ใครเป็นรัฐบาล แล้วจะเอาอะไรไปแลกกับเขา ก็เก็บผลประโยชน์ตัวเองไว้แล้วเอาภาคส่วนอื่นๆ ไปแลก

 

ถามว่ามีคนที่กลัวไม่ยอมทำการค้าเสรีไหม มี อย่างเอฟทีเอเอ (FTAA) หรือเขตเศรษฐกิจเสรีแห่งทวีปอเมริกา ที่สหรัฐทำกับละตินอเมริกาก็ไม่ค่อยคืบหน้า เพราะละตินอเมริกานี่เขาโดนจนเข็ด ก็ไม่กล้าทำ

 

มีอะไรเพิ่มเติมไหม

มีอีกหลายเรื่องมากมายที่เป็นผลกระทบจากการค้าเสรี อย่างหนึ่งก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรีนั้นขัดโดยตรงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่บอกว่าคนทุกคนมีสิทธิในเรื่องน้ำอาหาร ปัจจัยสี่ และขัดกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ขัดกับองค์กรอนามัยโลก แล้วก็ขัดกับสนธิสัญญาไซเตส เกี่ยวกับการรักษาพันธุ์พืชและสัตว์

 

ข้อตกลงการค้าเสรีจึงขัดกับสนธิสัญญาเกือบทุกฉบับในโลก

 

ข้อสองก็คือ การค้าเสรีคุ้มครองเฉพาะบริษัท และคุ้มครองแบบสุดขั้ว ไม่คุ้มครองแรงงานแบบสุดขั้ว ถ้าอยากให้ค้าเสรีจริงๆ ก็เสนอให้เปิดอย่างนี้เลยว่า ไม่ต้องคุ้มครองสิทธิบัตรเลย ให้แรงงานทั้งหมดในโลกอพยพอย่างเสรี เมื่อไปสู่ประเทศไหน ต้องได้รับการคุ้มครองเท่ากับประเทศนั้นด้วย คือเป็น National Treatment (NT) การปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติไม่ใช่ทำเฉพาะกับบริษัทข้ามชาติ แต่ปฏิบัติกับประชาชนจากประเทศอื่นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ค่อยมาพูดเรื่องการค้าเสรีกันใหม่

 

ข้อสามคือ การค้าเสรีมันจะสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมาในโลก มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อภาคเกษตรล่มสลาย อุตสาหกรรมในเมืองก็ไม่มีรองรับ แรงงานไม่ถูกคุ้มครอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นเราจะเกิดชนชั้นใหม่ บางทีเรียกว่า กึ่งกรรมาชีพ หรืออนุกรรมาชีพ เป็นลักษณะของคนที่ทำงาน part time คือ กระแสของลูกจ้างรายวัน ไม่มีสวัสดิการ สามารถถูกออกจากงานได้ทุกเมื่อ ไม่มีสหภาพรองรับ

 

หรือว่าจะเกิดชนชั้นที่เรียกว่า ผู้ประกอบการค้าขายเล็กน้อยรายย่อย การรับงานมาทำที่บ้าน เช่นนี้แล้วการต่อสู้ของสหภาพแรงงานจะอ่อนแอลง เพราะคนเหล่านี้ไม่มีสหภาพรองรับ ขณะเดียวกันก็ต้องตัดค่าแรงตัวเองเพื่อไปแข่งขัน ทำให้ค่าแรงต่ำลงไปเรื่อยๆ

 

ข้อสี่ เรื่องนี้คนพูดกันเยอะแล้ว ก็คือ มันทำลายอำนาจอธิปไตยในประเทศ

 

มันมีคำพูดของเจ้าหน้าที่การค้าอเมริกันคนหนึ่งเขาพูดไว้ในเรื่องของแกตส์ (GATS : General Agreement on Trade in Service) กับดับเบิลยูทีโอ เขาบอกว่า โดยพื้นฐานแล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าคนต่างชาติทั้งหมดเริ่มคิดเหมือนชาวอเมริกัน พูดเหมือนชาวอเมริกัน และที่สำคัญที่สุดชอปปิ้งเหมือนชาวอเมริกัน! แต่คำพูดเขายังไม่ถูกทั้งหมด เพราะมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ มันเป็นเฉพาะกลุ่มคนที่โชคดี แต่คนที่ไม่มีปัญญาชอปปิ้งก็จะเกิดขึ้นจำนวนมาก

 

ประเด็นเรื่องการต่อสู้เรื่องนี้ที่จำเป็นต้องพยายามศึกษากันให้มาก คนชั้นกลางเองต้องเข้ามาร่วมด้วย เพราะคนชั้นกลางต้องได้รับผลกระทบต่อไปในอนาคต และชนชั้นกลางนี่นิสัยเสียนะ เพราะจะเห็นแก่ตัวมาก แต่พลังของชนชั้นกลางไม่ใช่เพราะเขามีการศึกษาดีกว่าเกษตรกร แต่เพราะเขามีความพร้อมทางวัตถุมากกว่า เกษตรกรเขาโดนปัญหารอบด้านแล้วยังต้องมาต่อสู้เรื่องพวกนี้อีก

 

แต่คนชั้นกลางก็อยากจะเป็นลูกจ้างของบริษัทข้ามชาตินะ

การจ้างงานของบริษัทข้ามชาติ หรือการลงทุนจากต่างประเทศ มันมีตัวเลขจำนวนมากที่บอกว่า มันไม่ได้ทำให้การจ้างงานสูงขึ้นเลย แล้วชนชั้นกลางไทยก็อยู่กับความเชื่อผิดๆ เรามักจะมองว่า ยิ่งมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามามาก มันจะดี แต่อย่าลืมว่า การลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาเป็นการลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร การลงทุนใหญ่ ก็มีแต่ทำลายการจ้างงานลงไป หรือจ้างแบบลูกจ้างรายวัน

 

แล้วคนชั้นกลางลืมไปว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย เดิมทีเราไม่ได้ผูกกับต่างชาติมาก ถ้าเราดูตอนวิกฤตเศรษฐกิจคราวที่แล้ว ทำไมสหรัฐไม่ช่วยไทย เพราะไทยไม่มีความหมายกับเขา เศรษฐกิจไทยที่เจริญขึ้นมา กรุงเทพฯ เจริญขึ้นมาในหลายๆ ส่วน เพราะว่าเรายังมีฐานเกษตรกรที่เป็นผู้บริโภคใหญ่รองรับอยู่ แล้วการบริโภคของคนชั้นล่างนี่แหละที่ทำให้คนชั้นกลางมีงานทำ คือมันเกิดมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันดีที่สุดนะ แต่มันทำให้เราอยู่กันมาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ล้มละลายกันไปหมด การลงทุนจากต่างชาติที่คิดว่าจะเกิดไม่เกิด แล้วชนชั้นกลางจะเอาอะไรกิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท