เอ็กคลูซีฟ "รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" (1) :เจรจาFTAธรรมาภิบาลน่ะมีไหม

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 

 

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งยืนเคียงข้างปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ทำไมเขายังมองว่า การเจรจาเอฟทีเอของไทยที่ผ่านมามีปัญหา ท่ามกลางการเรียกร้องให้เอาข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เข้าสภา เขายืนกรานว่า แค่นั้นไม่พอ....เพราะอะไร เขาเคยบอกให้ไทยเว้นวรรคการเปิดเสรีแบบเต็มสูบโดยให้เหตุผลว่า เราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ...เอฟทีเอทำให้เราป่วยหนักขึ้นหรือไม่ ทำไมคนไทยชอบสงสัยไว้ก่อนว่า นายกฯคนเก่งทำเอฟทีเอเพื่อประโยชน์ของวงศ์วานว่านเครือ โปรดติดตามหาคำตอบ ซึ่งเขาเปิดโอกาสให้ "ประชาไท" ได้ถาม

 

ไทยมีความจำเป็นแค่ไหนในการทำเอฟทีเอ

ขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดทิศทางของเราอย่างไร ขณะนี้รัฐบาลไทยถูกครอบงำโดยฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus http://econ.tu.ac.th/class/archan/rangsun/Washington%20Consensus/Washington%20Consensus/Joseph%20E.Stiglitz%20and%20Washington%20Consensus%20.pdf)

 

โดยแนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ในข้อเท็จจริงก็คือ เราพึ่งสหรัฐเป็นตลาดในการส่งสินค้าออกมากที่สุด สินค้าออกของเรากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ขายให้สหรัฐ เมื่อสหรัฐเริ่มทำข้อตกลงการค้าเสรี การไม่ทำข้อตกลงการค้าเสรีมันจึงมีต้นทุน

 

สมมติว่าคู่แข่งของเราผลิตสินค้าได้คล้ายกับเรา และแข่งกับเราในการค้าหลายๆ ชนิด เมื่อเขาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอเมริกาแล้วเราไม่ทำ ก็มีความเสียเปรียบในการเจาะตลาดสหรัฐ

 

ผมคิดว่าข้อตกลงในการทำการค้าเสรี มันมีทั้งด้านบวกและลบ อยู่ที่ว่าจะเลือกเจรจาการค้าเสรีในประเด็นอะไร

 

บทเรียนที่ทำ FTA กับจีน หรือกับออสเตรเลียที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์พยายามมองเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (http://ftadigest.com/backgroundGlossary.html) ในแง่ดี แต่กับจีนเอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้อะไร

 

ทุกอย่างต้องกลับมามองเรื่องธรรมาภิบาลของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมพูดมาตั้งแต่เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ก็คือ ข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่เคยต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากและเห็นตัวอย่างมาแล้วมากมาย ว่าข้าราชการหรือรัฐบาลไทยไปทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยที่ประชาชนคนไทยซึ่งเป็นคนได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น

 

ผมเห็นว่าข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา แต่ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็ยังเดินตามแนวทางเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 คือการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา ทั้งๆ ที่เป็นธรรมาภิบาลของการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

เมื่อรัฐไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา รัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิด (Accountability) ไม่มีใครมาตรวจสอบและถ่วงดุล นี่เป็นปัญหาใหญ่

 

ผมต้องการเห็นการทำเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีธรรมาภิบาล คือ 1.ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมแสดงความเห็น

 

2. ต้องมีความโปร่งใส จะเห็นว่าการเจรจาการค้าไทยสหรัฐ รัฐบาลไทยปิดบังข้อมูลตลอด ไม่ยอมเปิดเผยว่าการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีแนวโน้มที่จะตกลงอย่างไร หรือว่ามีการตกลงกันไปแล้ว ในขณะที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ต้องรายงานต่อรัฐสภาอเมริกัน เวลาที่สมาชิกรัฐสภาถามว่า เจรจาแล้วตกลงอะไรกันไปบ้างแล้ว รายละเอียดอย่าไร เจรจาอย่างไร USTR เรื่องแบบนี้ต้องตอบ

 

แต่ในด้านไทยเอง แม้แต่สมาชิกรัฐสภา หรือแม้แต่กรรมาธิการของรัฐสภา เวลาถามรัฐบาลหรือข้าราชการไทยอาจจะสงวนไม่ตอบก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง คือกระบวนการการเจรจาของเรา ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่มีความโปร่งใส และก็ไม่มีความรับผิด ถ้าเราไม่แก้เรื่องนี้ก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออย่างที่เห็น คือพวกต่อต้าน FTA ออกไปใช้กำลัง ออกไปเดินประท้วงบนท้องถนน เพราะรัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้

 

ประเด็นใหญ่อีกประเด็นคือ เมื่อทำเอฟทีเอ มันจะมีคนที่ได้ประโยชน์ มันจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์ แล้วก็มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ มีภาคเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องร่วงโรยไป ล่มสลายไป แต่รัฐบาลไม่เคยมีแผนในการช่วยเหลือกิจกรรมที่จะร่วงโรยจากการเปิดเสรีทางการค้า สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้จากกรณีของการทำการค้าข้อตกลงไทย-จีน ในการเปิดเสรีผลไม้

 

ในการดำเนินนโยบายนั้น มีทางเลือกหนึ่ง คือโอนประโยชน์จากกิจกรรมจากอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี ไปเกื้อกูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องร่วงโรยอันเป็นผลจากการเปิดเสรี แต่รัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ ไม่ได้พูดถึงเลย ไม่ได้มีการเตรียมการเลยว่า เมื่อลงนามไปแล้วจะมีแผนในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระเทือนจนกระทั่งจะต้องหมดอาชีพอย่างไรบ้าง

 

อาจารย์เรียกร้องเรื่องของธรรมาภิบาลในการเจรจาเอฟทีเอ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ท่านทูตนิตย์ พิบูลสงคราม ก็บอกว่า เราโปร่งใสเพียงพอ และรับฟังข้อมูลจากประชาชนไทยมาโดยตลอด

แกไม่โปร่งใสนะครับ เมื่อเริ่มการเจรจา ผมก็จัดประชุมขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อที่ว่าในการเจรจานั้น ไทยควรจะมีจุดยืนอย่างไร ผมเชิญผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ มา และผมก็คิดว่าในบรรดาผู้ประท้วงการเจรจาเอฟทีเอในหลายต่อหลายเรื่อง ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ผมเชิญมาในหลาย ๆ เรื่อง แต่ในส่วนของคุณนิตย์นั้น ผมเห็นว่าแกมีความเข้าใจผิดค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมครั้งนั้น เมื่อมีคนตั้งคำถามว่า ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา แต่คุณนิตย์ยืนยันว่าต้องขอ ผมก็บอกในที่ประชุมว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องขอ คือคุณนิตย์มีความไม่รู้เป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นหัวหน้าผู้เจรจา

 

แล้วมันมีรายละเอียดหลายเรื่องที่คณะผู้แทนเจรจาไม่เปิดเผย โดยอ้างว่า เป็นข้อตกลงกับผู้แทนเจรจาของสหรัฐ ซึ่งอย่างนี้มันแย่มาก ก็ในเมื่อคุณไปเจรจา คุณกำลังตกลงกันในเรื่องที่กำลังเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประชาชนภายในประเทศ ทำไมคุณไม่ให้ประชาชนมีส่วนในการรับรู้ตั้งแต่ต้น เพื่อจะดูว่าข้อตกลงอย่างนี้จะกระเทือนต่อประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าอย่างไรบ้าง

 

อาจารย์พูดเรื่องการขอสัตยาบันจากรัฐสภาหรือการขอความเห็นชอบจากประชาชนว่ามันมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า หากว่ารัฐบาลจะต้องทำสนธิสัญญาที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภายในประเทศจะต้องผ่านเห็นชอบจากรัฐสภา...แค่นี้ไม่พอหรือ

ไม่พอครับ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือสัญญาระหว่างประเทศ โดยทั่วไปไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา เว้นแต่ข้อตกลงนั้นมีผลในการเปลี่ยนแปลงราชอาณาเขต หรือมีผลในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หรือมีผลทำให้ต้องตราพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัตรตามข้อตกลง แต่ตอนนี้ที่รัฐบาลทำ รัฐบาลได้ออกกฎหมายล่วงหน้าไปแล้ว กฎหมายที่คาดว่าจะปรากฏอยู่ในข้อตกลงจำนวนมากได้ออกล่วงหน้าไปแล้ว เช่นเรื่องระงับข้อพิพาททางการค้าโดยใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แทนการใช้กระบวนการทางศาลก็มีกฎหมายอยู่แล้ว และก็เป็นที่แน่ชัดว่า สหรัฐอเมริกาก็จะต้องหยิบเรื่องมาเป็นประเด็นหัวข้อการเจรจาเรื่อง Trade and Investment

 

พูดอย่างนี้เข้ากระแสแก้รัฐธรรมนูญพอดี

ผมยังไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะถ้าพูดผมก็อยากจะพูดให้มันจบสิ้นกระบวนความ คือผมพูดตั้งแต่ตอนที่เขาแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 คือเรื่องนี้ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งของการแก้รัฐธรรมนูญ คือบทบัญญัติเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นบทบัญญัติที่เกื้ออำนาจของฝ่ายบริหาร อันนี้เป็นมรดกมาจากระบอบอมาตยาธิปไตย คือในยุคที่อำมาตย์เป็นใหญ่นั้น กฎหมายก็จะออกในลักษณะที่ให้อำนาจกับอำมาตย์ เช่นกฎหมายจำนวนมากที่มีบทบัญญัติอยู่นิดเดียว แล้วให้อำนาจฝ่ายบริหารไปออกกฎหมายลูก ซึ่งบางครั้งกฎหมายลูกมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่ากฎหมายแม่อีก

 

แต่มันน่าแปลกว่า ตอนร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.ร.ก็มีนักกฎหมายมหาชนเข้าไปตั้งเยอะ แต่ไม่เห็นประเด็นนี้ อย่าว่าแต่ประเด็นนี้เลย แม้แต่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จำได้ไหมตอนที่จะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปแก้มาตรา 211 คราวนี้ก็เหมือนกัน คราวนี้อาจารย์อมร (จันทรสมบูรณ์) บอกให้แก้มาตรา 313 ทำไมมันย่ำอยู่กับที่แบบนี้ล่ะ คือเราบอกว่า คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีทางที่จะปฏิรูปการเมืองได้ เราจึงไม่ให้อำนาจกับสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ทำไมยังเอาวิญญาณของรัฐธรรมนูญ 2534 มาใส่

 

ประเด็นเรื่องการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่ตรงไหนในกระแสแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้

อันนี้ควรเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม เพราะข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงที่ให้คุณให้โทษกับภาคเศรษฐกิจบางภาค ถ้าคุณต้องการให้กระบวนการทำข้อตกลงมีธรรมาภิบาล คุณต้องให้สภาเข้ามาตรวจสอบและถ่วงดุล กระบวนการต้องโปร่งใสโดยอัตโนมัติ สภาต้องเรียกร้องขอข้อมูล แต่เนื่องจากว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกติกาเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นนี้ผมพูดมา 20 ปีแล้วนะ

 

สำหรับกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ผมกำลังคิด ผมต้องการดูภาพทั้งหมด ผมไม่ต้องการแก้เป็นจุด เช่นไม่ต้องการแก้จาก 90 วันเป็น 30 วัน มันหยุมหยิม

 

 

...........................................................................................

โปรดติดตามต่อตอนที่ 2

เอ็กคลูซีฟ "รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" (2) : FTA ไทย การเจรจาแบบ "เหมาเจ๋อตง"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท