Skip to main content
sharethis

มีคอลัมนิสต์คนหนึ่งชื่อเจมส์ เลิฟ  ( James Love) ได้เขียนบทความของเขาลงในเว็บไซด์ชื่อ Huffington Post เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งชื่อบทความของเขาว่า "สร้างศัตรู- การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐเคือยาขม ( Making enemies-the US/Thai FTA negotiations are bitter medicine)  โดยขึ้นต้นบทความว่า


 


"คงจะเป็นการดีอย่างยิ่งถ้าพลเมืองอเมริกาจะมีข้อมูลในเรื่องของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯมากกว่านี้ ถ้าพวกเขารู้เขาก็อาจจะเข้าใจว่าทำไมคนจำนวนมากถึงเกลียดเรา"


 


เนื้อหาของบทความมีดังนี้ "สัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ทางการค้าของสหรัฐฯ กำลังประชุมอยู่กับทีมเจรจาของไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อลงรายละเอียดของการเจรจาที่ยังคงเป็นความลับอยู่ระหว่างสหรัฐฯกับไทยในสิ่งที่เรียกอย่างไม่ถูกต้องว่า "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี" หรือ เอฟทีเอ


 


การเจรจาเอฟทีเอนั้นครอบคลุมหลายๆประเด็นด้วยกัน มีทั้งเรื่องรายละเอียดที่เกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ยังเป็นความลับและมาตรการด้านการตลาดอื่นๆ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการเจรจาครั้งนี้ก็คือ ข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ การวางบรรทัดฐานเดียวกันทั่วโลกในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


 


สำหรับประเทศไทยนั้น ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ไม่ได้เจรจาเรื่องกฎทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง แต่ประกาศว่าจะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของประเทศเพื่อให้สอดรับกับข้อตกลงการค้าเสรี สารที่สื่อออกมานั้นฟังดูเรียบง่าย "ถ้าไม่มีข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่มีการเปิดตลาด" (no IP chapter = no "market access" agreement)


 


แม้ว่าการเจรจานั้นยังคงเป็นความลับ แต่ประชาชนในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจะมีความรู้ดีทีเดียวถึงความเรียกร้องต้องการของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่จะขึ้นราคายา เพราะนี่เป็นสิ่งที่สหรัฐฯได้รับมาแล้วในการข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้กับประเทศอื่นๆ ( จอร์แดน ปี 2000, ชิลี 2003, สิงคโปร์ 2003, ออสเตรเลีย 2004,บาร์เรน 2004, เขตการค้าเสรีอเมริกากลาง 2004, มอรอคโค 2004 และ เปรู 2005)


 


รายละเอียดของนโยบายต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะซับซ้อน แต่ทั้งหมดก็มีเป้าหมายอยู่ที่การกีดกันการแข่งขันในการผลิตยาชื่อสามัญและลดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการเจรจาเรื่องราคายา หนึ่งในมาตรการนั้นก็คือ การเรียกร้องให้บริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญสามารถที่จะคิดค้นและทดลองทางคลินิกในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาใหม่ของตนเองได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา  ค่าใช้จ่ายสูง และขัดจริยธรรม


 


สหรัฐฯยังเรียกร้องให้ขยายเวลาสิทธิบัตรยาออกไปนานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ผลิตที่เป็นบริษัทต่างชาติสามารถยังคงสิทธิบัตรยาไว้ได้ง่ายๆ และมีเงื่อนที่จะเชื่อมโยงกับไปถึงการมีสิทธิผูกขาดข้อมูลในการจดทะเบียนตำรับยา (แม้ว่าเรื่องจะยังเป็นข้อสงสัยอยู่)  แม้ไม่ทั้งหมดแต่ส่วนใหญ่ของมาตรการเหล่านี้มีอยู่ในกฎหมายสหรัฐฯปัจจุบัน


 


รายได้ประชาชาติ (รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปี) ของประเทศไทยในปี 2004  อยู่ที่ 2,540 เหรียญสหรัฐฯ (101,600 บาท) ในขณะที่รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯอยู่ที่ 41,400 เหรียญสหรัฐฯ (1,656,000 บาท) ด้วยรายได้ประชาชาติที่ต่ำกว่าสหรัฐฯอยู่ถึง 94% จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ความพยายามที่จะขึ้นราคายานั้นย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนไทย


 


ในสัปดาห์นี้ (9-12 มค.) มีการเดินขบวนใหญ่มากเพื่อต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหรัฐฯกับไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันจันทร์นั้นมีผู้เดินขบวนประมาณ 8 พันคน เดินมาตามถนนพร้อมสัญลักษณ์และการแต่งกายที่มีสีสัน วันอังคารผู้ประท้วงบางคนถูกตีและถูกจับ สิ่งนี้ดึงดูดความสนใจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก  แต่มีพลเมืองอเมริกาจำนวนน้อยที่พอจะมองออกว่ามีเกิดอะไรขึ้น


 


บางทีอาจเป็นได้ว่าคนในสหรัฐฯนั้นไม่ได้สนใจว่า รัฐบาลของเรากำลังทำอะไรกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อยู่  และถึงแม้สนใจก็อาจจะเห็นด้วยว่า การขึ้นราคายาทั่วโลกนั้นจะเป็นการดีที่จะได้โฆษณาว่าเรานั้นสุดยอดทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม รวมทั้งยังคงมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูง แต่สำหรับผม (เจมส์ เลิฟ) แล้วผมสงสัยเรื่องนี้


 


และถ้าเรื่องนี้สำเร็จ ข้อเสนอของสหรัฐฯนั้นจะเป็นการฆ่าประชาชน และก็ไม่ใช่ครั้งแรกเสียด้วย


 


ในปี 1993 รัฐบาลคลินตันบรรลุข้อตกลงกับไทยที่ได้สร้างข้อกีดกันการใช้การใช้ยาชื่อสามัญและถอนการควบคุมราคายาที่อยู่ใต้สิทธิบัตร จากข้อตกลงในปี 1993 นี้เอง ที่ทำให้การดำเนินการในการดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทยเป็นไปได้ช้า และราคายาที่แพงนั้น (อย่างเช่น ฟลูโคนาโซล) ทำให้ไม่สามารถรักษาความเจ็บป่วยร้ายแรงได้ (เช่น โรคเชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง) ปัญหาบางส่วนดังกล่าวนั้นก็สามารถแก้ไขได้แล้ว แต่ว่าขณะนี้เรากำลังกระทำการที่น่าเกลียดซ้ำอีกภายใต้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ


 


หากคุณสงสัยว่า ทำไมคนเกลียดสหรัฐฯ ก็ให้คิดถึงเรื่องการทำเอฟทีเอกับไทย ดังนั้นเราจึงควรกระทำบางอย่างเพื่อหยุดยั้งรัฐบาลของเราจากการกระทำบางอย่างที่เป็นการทำร้ายคนเป็นเวลานาน เพื่อคนไทย และเพื่อเกียรติยศของเราเอง"


 


0 0 0


 


ในเว็บไซด์ดังกล่าวนั้น  เจมส์ เลิฟ ได้นำเอารูปของการประท้วงและภาพที่ตำรวจกำลังจับกุมผู้ประท้วงโพสต์ลงไปในเว็บไซด์ (ดูจาก ลิงค์ข้างล่าง ) ด้วย  และต่อท้ายของบทความดังกล่าวนั้น ปรากฏว่ามีคนจำนวนไม่น้อยได้เขียนมาแสดงความคิดเห็นยกตัวอย่างเพียงบางความคิดเห็น


 


"ในฐานะของชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ผมจะต้องบอกเรื่องนี้กับคนไทยว่า  อย่าเซ็น... ถ้าเซ็นคุณจะเสียใจไปตลอดชีวิต"  (SeekerBoy)


 


"เราไม่ต้องมองไปนอกประเทศหรอกว่า ทำไมคนเกลียดเรา ผมก็เห็นได้จากข้างในนี้แหละ ผู้ผลิตยาก็ไม่ได้มีอะไรดีกว่าพวกพ่อค้ายาเลยในบางแง่มุม เขาคิดค่าการผลิตเป็นจำนวนที่สูงเกินกว่าที่ผลิตได้ หรือแม้แต่ค่าวิจัยก็สูงเกินไป และเขาก็จ่ายไปกับค่าโฆษณาสูงเป็นสองเท่าของการวิจัย


 


ส่วนใหญ่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่การวิจัยยานั้นใช้งบประมาณจากภาษีอากร แล้วผู้ผลิตยาก็ได้สิทธิบัตรยาในค่าใช้จ่ายที่ตนเองจ่ายเพียงเล็กน้อย และเมื่อยาออกมา ประชาชนที่เสียค่าใช้จ่ายในการวิจัยนั้นก็ถูกขูดรีด


นี่เป็นเรื่องที่ฉันไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ทำไมรัฐบาลของเราอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลของเราจะถอยหลังเข้าคลองในเรื่องการคุ้มครองประชาชนของประเทศในฐานะของ "ประชาชน" ไม่ใช่ในฐานะของ "บริษัท" " TXfemmom


 


"ผมไม่สนหรอว่าจะมีการใช้เงินไปกี่ล้านในการคิดค้นยา ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เขาก็ควรที่จะจัดหาให้กับคนในราคาทุน และเขาควรจะต้องสนับสนุนงบประมาณให้ยาฟรีสำหรับคนที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีสิทธิพิเศษที่อาศัยอยู่ที่นี่ด้วยซ้ำ" wuever


 


"น่าจะเป็นการดี ถ้าคนอเมริกันรู้นโยบายและการกระทำของเราในต่างประเทศมากกว่านี้ จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่คนอเมริกันเริ่มที่จะเข้าใจบทบาทของเราในโลกว่า จะต้องเริ่มสร้างพันธมิตรใหม่อีกครั้งหลังจากที่ W ได้ทำลายลง


 


ตราบเท่าที่สื่อของเรายังคงจำกัดการเสนอข่าวต่างประเทศอยู่ที่ช่วงเวลาแค่สั้นๆ  ชาวอเมริกาก็จะยังถูกบอกให้จมอยู่กับภาพลักษณ์ในเทพนิยายของเราว่าเรานั้น เป็น Superhero คนอเมริกันส่วนใหญ่นั้น หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ผ่านมาแล้ว 4 ปี ก็ยังคิดไม่ออกเลยว่าทำไมผู้ก่อการร้ายถึงเกลียดชังเรามากจนกระทั่งต้องมาโจมตีเรา


 


ถ้าพวกเขารู้ว่าทำไม แน่นอนเขาต้องคิดได้ นานแล้วก่อนที่ W จะนำกองกำลังไปถล่มอิรัก ซึ่งนโยบายบุชชี่นั้นยิ่งทำให้เราถูกโจมตีมากขึ้น


 


ชาวอเมริกันสมควรต้องรับรู้ จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า เงินภาษีของพวกเขานั้นถูกนำไปใช้อย่างไรในต่างประเทศ เมื่อพวกเขาเข้าใจในเรื่องนี้ทั้งหมด เราก็จะสามารถที่จะเริ่มที่จะสร้างผลกระทบในโลกของความช่วยเหลือจากสหรัฐฯได้


 


ความสามารถ ในการปั่นหัวให้ชาวอเมริกันอยู่ในความกลัวนั้น อาจจะเป็นคนละเรื่องกับเรื่องที่เป็นจริงก็ได้ และ แน่นอนว่า ทำไม W (บุช) และพวกแก็งค์อันธพาลของเขา ถึงได้พยายามนักหนาที่จะปกปิดข้อมูลกับเรา" Raven


 


นี่คือเสียงบางส่วนจากชาวอเมริกัน ที่ถึงแม้ว่าจะรู้เรื่องนี้กันน้อย แต่ ก็เริ่มรู้กันแล้วว่า เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯนั้น ไทยเสียเปรียบขนาดไหน แต่ระดับนำไทยบางฝ่ายเท่านั้นกระมังที่ยังไม่รู้


 


-------------------------------------------


ที่มา : http://www.huffingtonpost.com/james-love/making-enemies-the-ust_b_13603.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net