Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชนกว่า 50 องค์กรในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศสมาชิกเอฟต้า ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในการเจรจาการค้าและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและประเทศสมาชิกเอฟต้าอีก 4 ประเทศ เรียกร้องให้นำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอระหว่างไทยและเอฟต้า


 


ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า เอฟต้าซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ต้องการผลักดันให้ไทยต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ถึง "ระดับที่สูงที่สุด" ซึ่งข้อตกลงที่เอฟต้าได้ทำกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ พบว่า เอฟต้ามีข้อเรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาต้องขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเป็นเวลาอีก 5 ปี และให้การผูกขาดข้อมูลยาอีก 5-10 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ยาราคาแพง เพราะการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่ายาที่มีสิทธิบัตรหลายเท่าตัวช้าลง นำไปสู่การจำกัดสิทธิในการเข้าถึงยาของประชาชน


 


ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในภาคเกษตร รัฐบาลของลิกเตนสไตน์ได้ยืนยันในการตอบข้อซักถามในสภาว่าจะเรียกร้องไทยให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในภาคเกษตรตามอนุสัญญายูปอฟฉบับปี 2521 ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายภายในซึ่งจะไปทำลายสิทธิของเกษตรกรในการเก็บ รักษา แลกเปลี่ยนและใช้เมล็ดพันธุ์ที่กฎหมายไทยให้การรับรองไว้เดิม นอกจากนี้ เอฟต้ายังขอให้ไทยให้การคุ้มครองการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และให้ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาปูดาเปสฉบับปี 2540 ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตอันจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิทธิของเกษตรกรไทยอย่างมาก


 


นอกจากนี้ ในจดหมายยังระบุถึง ข้อเรียกร้องของเอฟต้าในการเปิดเสรีทางการเงินและจำกัดไทยในการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนว่า จะทำให้ไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง


 


ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ (16-20 มกราคม 2549) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาเอฟทีเอรอบ 2 ระหว่างไทยและเอฟต้าที่เชียงใหม่ โดยประเด็นการเจรจาครอบคลุมทุกประเด็นรวมถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีการลงทุนและบริการ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะจบการเจรจาได้ภายในปี 2549


 


จดหมายฉบับนี้ยังย้ำว่า หากไทยยอมรับข้อเรียกร้องจากเอฟต้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีผลขยายการคุ้มครองจากระดับการคุ้มครองในปัจจุบัน เท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องขยายการคุ้มครองนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (หรือดับบลิวทีโอ) ด้วย ซึ่งรวมถึง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น


 


องค์กรในประเทศไทยที่ร่วมลงนามได้แก่ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  สมัชชาคนจน องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาปัญหายา พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อชท์) โดยได้ส่งจดหมายไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net