"วัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษ" พาสิทธิมนุษยชนไทยดิ่งเหว

นิวยอร์ก - 21 ม.ค.49       องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในรอบปีที่ผ่านมาว่า ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในไทยเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ นับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ  ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ โดยในปี 2548 ถือได้ว่าวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษจากการกระทำความผิดเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษปรากฏให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีทักษิณประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติดเมื่อปี 2547 ซึ่งทำให้มีผู้ถูกสังหารมากถึง 2,598 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2547 แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับสามารถสืบสวนสอบสวนได้แค่เพียง 752 คดี โดยมีการออกหมายจับใน 117 คดี และยังมีการสอบสวนผู้ต้องหา 90 ราย ส่วนคดีที่เหลือต้องตกไป เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

 

ความไม่เต็มใจและความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมเหล่านี้ เมื่อพิจารณารวมกับจำนวนคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างความหวาดระแวงว่า การเสียชีวิตจำนวนมากนั้นเกิดจากการ "วิสามัญฆาตกรรม" โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล

 

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีทักษิณประกาศการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดครั้งใหม่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2548 และแทบจะทันทีก็เริ่มปรากฏรายงานว่ามีผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในพื้นที่หลายส่วนของประเทศ

 

ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1,000 คนแล้ว ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งมีหลักฐานชัดเจน รวมทั้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งที่ระบุว่า การเสียชีวิตของชาวมุสลิมมากกว่า 200 คนเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาล นั่นคือ การใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี (28 เมษายน 2547) และที่อำเภอตากใบ นราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดี และลงโทษในทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายกรัฐมนตรีทักษิณกำหนดเส้นตาย หรือกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารเร่งรัดให้สะสางคดีเกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและฟื้นฟูความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลส่วนหนึ่งใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

และอยู่นอกกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ปฏิบัติการขนาดใหญ่เพื่อค้นหา และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีคลังอาวุธของกองทัพเมื่อวันที่ 4 มกราคม2547 ได้ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนมากถูกจับกุมตัว และถูกทำให้สูญหาย

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสูญหายในรายงานของทางการที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ส่วนคำมั่นสัญญาที่ว่าจะให้มีการสืบสวนสอบสวน และความยุติธรรมเป็นแค่เพียงการกล่าวไปตามหลักการ โดยหวังผลที่จะหลบเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น

 

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ยอมรับว่า กองกำลังของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมากเช่นกัน บางกรณีก็มีความเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ เช่น การตัดศีรษะ หรือการสังหารผู้หญิง และเด็กทั้งครอบครัว โดยจนถึงขณะนี้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยังคงปฏิบัติการอย่างเหนือกฎหมายต่อไป

และเป็นปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ได้สร้างวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษขึ้นมา

 

แต่ในอีกทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะจับกุมตัวบุคคลเหล่านี้มาพิจารณาคดีลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมก็มีส่วนส่งเสริมวัฒนธรรมดังกล่าวด้วยเช่นกันความกลัว ความหวาดระแวง และความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการรักษากฎหมายของรัฐบาล ท่ามกลางบรรยากาศของความรุนแรงทำให้ชาวมุสลิมหลายร้อยคนหลบหนีไปหาที่พักพิงในมาเลเซีย โดยขณะที่เขียนรายงานนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ตรวจสอบสถานภาพของชาวไทยมุสลิม 131 คนที่หลบหนีเข้าไปในมาเลเซียเมื่อเดือนตุลาคม 2548

 

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กังวลว่า วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษได้ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถูกประกาศใช้อย่างรวบรัด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อนายกรัฐมนตรีในการที่จะ "ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน" ซึ่งสามารถบังคับใช้กับผู้ใด หรือองค์กรใดก็ได้ การให้อำนาจในลักษณะที่กว้างขวางเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นลักษณะของการปกครองระบอบเผด็จการ มากกว่าสังคมเสรีประชาธิปไตย

 

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินบ่อนทำลาย และยกเลิกมาตรการทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมหลายประการที่มีไว้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสมจากฝ่ายตุลาการในการจับกุม,การคุมขัง และการเรียกบุคคลมาพบเจ้าหน้าที่ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีการทรมาน และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกสอบสวน

 

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่มีมาตรการอนุมัติ หรือการควบคุมอย่างเหมาะสมจากฝ่ายตุลาการในการตรวจค้น และการยึด/อายัดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดึงอำนาจออกไปจากศาลปกครอง ในการที่จะดำเนินการต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดโอกาสที่เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะสามารถเรียกร้องการชดเชยผ่านกระบวนการทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดที่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำนั้นได้เปิดโอกาสที่จะมีการใช้ "สถานที่ลับ" สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เหมาะสม

 

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยปราศจากเหตุผลอันควร

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษยังปรากฏให้เห็นในกรณีที่นักสิทธิมนุษยชนถูกสังหาร หรือคุกคาม เมื่อเดือนมีนาคม 2547 สมชาย นีละไพจิตร

 

ทนายความมุสลิมที่มีชื่อเสียงจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกลักพาตัวในกรุงเทพฯ และขณะนี้เชื่อได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว สมชายถูกข่มขู่หลายครั้งหลังจากที่เขาได้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำทารุณกรรมผู้ที่ต้องสงสัยเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุม และดำเนินคดีทีเกี่ยวข้องกับการร่วมกันบังคับข่มขืนใจทนายสมชาย โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ศาลอาญากลางได้พิพากษาจำคุก พ.ต.ต.เงิน ทองสุก 3 เดือนในความผิดดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลืออีก 4 นายที่เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ถูกยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

 

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ ทั้งการสืบสวน และการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังไม่สามารถให้คำตอบได้เลยว่า ใครเป็นผู้บงการการลักพาตัว และสังหารทนายสมชาย? ใครขัดขวางกระบวนการยุติธรรม? และเกิดอะไรขึ้นกับทนายสมชาย?"

 

นอกจากสมชาย นีละไพจิตรแล้ว ยังมีนักสิทธิมนุษยชนอีก 18 คนที่ถูกฆาตกรรมนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีทักษิณเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในปี 2544 กรณีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 โดยพระสุพจน์ สุวัจโจ แห่งวัดสวนป่าเมตตาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ถูกทุบตี และแทงจนเสียชีวิตหลังจากที่เคลื่อนไหวคัดค้านการที่นักการเมืองระดับชาติบุกรุกป่า และที่ดินสาธารณะ

 

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ตั้งข้อสังเกตว่าทางการไทยมักจะไม่สามารถดำเนินคดีเอาตัวผู้กระทำความผิดในคดีเหล่านี้มาดำเนินคดีจนถึงที่สุด และมีการลงโทษได้สำเร็จ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นักสิทธิมนุษยชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยกำลังเผชิญกับความตึงเครียด ความหวาดกลัว และอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นทุกขณะ

 

ขณะที่การข่มขู่คุกคาม ทั้งในทางตรง และทางอ้อมต่อสื่อมวลชนยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ได้แก่ การระงับ หรือข่มขู่ว่าจะระงับสัญญาการลงโฆษณา ใบอนุญาติประกอบกิจการ หรือใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีนักข่าว และผู้ที่รณรงค์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งมีการเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนมาก เพื่อที่จะจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ของคนเหล่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสืบสวน และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สื่อมวลชนไทยบางส่วนที่กังวลกับการถูกตอบโต้จากรัฐบาล เริ่มที่จะเซ็นเซอร์การรายงานข่าวของตนเอง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่มีความสำคัญระดับชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท