Unseen แรงงานพม่าในไทย หลังภัยสึนามิ

บ่ายคล้อยที่อากาศร้อนอบอ้าวของวันที่ 13 มกราคม 2549 อาจทำให้ใครต่อใครต้องหาที่ร่มรื่นเพื่อผ่อนคลาย แต่ในวัดบางมรวน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คนกลุ่มหนึ่งต่างตื่นเต้นและขะมักเขม้นต่องานพิธีที่พวกเขากำลังจัดขึ้นเพื่อคนที่เขารัก โดยไม่กลัวต่อความร้อนระอุของแดดยามบ่าย

 

บรรยากาศในวัดบางมรวน ขณะที่ญาติกำลังดูร่างของผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย

 

 

นางอามิ ร่ำไห้ส่งศพลูกสาวขึ้นสู่สรวงสวรรค์

 

หมายเหตุ เอื้อเฟื้อภาพโดย

Tsusumi Yuki, Japan International Volunteer Center


 

 

จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชาวพม่าเข้ามาทำงานค้าแรงงานจำนวนมาก เช่นเป็นแรงงานประมง, แรงงานก่อสร้าง, ลูกจ้างในโรงงาน และโรงแรมขนาดใหญ่ หรือแม้แต่เป็นลูกจ้างร้านขายส้มตำเล็กๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น

 

บ่ายคล้อยที่อากาศร้อนอบอ้าวของวันที่ 13 มกราคม 2549 อาจทำให้ใครต่อใครต้องหาที่ร่มรื่นเพื่อผ่อนคลาย การได้สัมผัสแอร์เย็นฉ่ำพร้อมเครื่องดื่มเย็นๆ ทำให้ใจสดชื่นขึ้นได้ แต่ในวัดบางมรวน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คนกลุ่มหนึ่งต่างตื่นเต้นและขะมักเขม้นต่องานพิธีที่พวกเขากำลังจัดขึ้นเพื่อคนที่เขารัก โดยไม่กลัวต่อความร้อนระอุของแดดยามบ่าย

 

พิธีศพที่เรียบง่ายและรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง พระสงฆ์ 5 รูป นิมนต์มาเพื่อทำพิธีสวดอภิธรรมก่อนที่จะทำการฌาปนกิจ แต่ผู้ที่สูญเสียคนรักกลับมีความตื้นตันใจระคนเศร้าใจ ที่อย่างน้อยพวกเขาได้เห็นควันที่พวยพุ่งจากเมรุ อันเปรียบเสมือนวิญญาณของคนที่รักได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ หลังจากที่พวกเธอได้จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยน้ำมือของสึนามิในเวลาสายๆ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลาล่วงเลยมานานนับปี ซึ่งผู้สูญเสียคิดว่าคงสิ้นหวังเสียแล้วที่จะมีโอกาสได้เห็นวิญญาณของคนที่รักสู่สวรรค์

 

Myint Myint Than (มี มี แต) หรือนางอามิ ชื่อที่เธอใช้เรียกในช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย หญิงชราวัย 51 ปี เธอเดินทางเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทยพร้อมครอบครัวนานเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เธอพูดภาษาไทยสำเนียงใต้ได้ดีพอสมควร สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เธอบอกว่า ตามหาร่างของลูกสาวและสามีทุกวิถีทาง ตั้งแต่การถามข่าวคราวจากเพื่อนบ้าน อาสาสมัครเก็บศพจากมูลนิธิต่างๆ หรือแม้แต่พึ่งพาหมอดู โดยมีเพียงบัตรอนุญาตทำงานสีชมพูของแรงงานต่างด้าวของสามีและลูกสาวที่ยังหลงเหลือไว้เป็นหลักฐาน เธอมักจะนำมาให้คนที่เธอพบเห็นได้ดู เผื่อว่าจะมีใครบอกเธอได้ว่าร่างของลูกสาวและสามีอยู่ ณ ที่ใด

 

ยามสายของวันที่ 9 มกราคม 2549 เสมือนเป็นวันที่ฟ้าลิขิต เมื่อ Sue Pyea Tun (ซู ปี ทวน) ผู้ประสานงานเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยชาวพม่า (Data Banking Coordinator) ของ Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB) ได้เก็บข้อมูลของผู้เสียชีวิตชาวพม่าและข้อมูลของญาติที่ยังมีชีวิตตั้งแต่หลังภัยสึนามิ วันนั้นเขาดำเนินการเก็บข้อมูลต่อ ซึ่งเขามีนัดกับชายชาวพม่าคนหนึ่งซึ่งมีญาติเสียชีวิตด้วยที่วัดบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา วันนั้นเป็นวันที่ชาวพม่าร่วมกันทำบุญเพื่อผู้เสียชีวิตจากภัยสึนามิ หลังภารกิจกับชายชาวพม่าเสร็จสิ้น Myint Myint Than ไม่รีรอที่จะเดินเข้ามาหา Sue Pyea Tun และมอบบัตรอนุญาตทำงานของลูกสาวและสามีให้ Sue Pyea Tun

 

เด็กหนุ่มผู้เต็มไปได้ด้วยใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ เขารีบหารายชื่อของผู้เสียชีวิตจากเอกสารของสำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลประจำจังหวัดพังงา และพบว่ามีรายชื่อและหมายเลขบัตรของลูกสาวและสามีของเธอตรงกันกับรายชื่อที่มีอยู่ในเอกสารของสำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลประจำจังหวัดพังงา ซึ่งพวกเขาใช้ชื่อไทยว่า นายอวนและนางสาวสา แต่ทว่า มีเพียงนางสาวสาที่ทางสำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลสามารถระบุได้ว่าเป็นนางสาวสาจริง เหลือเพียงแต่นายอวนที่ต้องรอผลพิสูจน์ต่อไป

 

1 ปีที่รอคอยของ Myint Myint Than หรือนางอามิ ที่เธอเฝ้าเวียนถามไถ่หาร่างของลูกสาวและสามีจากหลายแหล่งข่าว แม้กระทั่งให้หมอดูช่วยทำนายทายทักว่าอยู่ที่ใด แต่เธอมีความหวัง และหวังของเธอเป็นจริงในวันนี้ หลังจากพบรายชื่อที่สำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลระบุได้ว่าร่างนั้นเป็นร่างของคนที่เธอรัก ทั้ง Sue Pyen Tun และเจ้าหน้าที่ของ TACDB พร้อมกับเธอได้เดินทางไปหาเอกสารจากหน่วยงานราชการในที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าเพื่อนำมาประกอบเป็นหลักฐาน เพื่อนำร่างของลูกสาวและสามีมาประกอบพิธีฌาปนกิจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อำเภอตะกั่วป่าได้ให้ความสะดวกที่จะติดตามหาเอกสารของชาวพม่า เพราะคุ้นเคยและเห็นใจกับผู้ประสบภัยทั้งคนไทยและต่างชาตินับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าเคยเป็นสนามที่พักพิงและสงเคราะห์ ให้ความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย, ญาติ และอาสาสมัครทั่วประเทศ ผู้คนมากมายเคยมอบความเห็นอกเห็นใจ ปลอบประโลมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ณ ที่นี้ บรรยากาศนั้นยังไม่เลือนหายไปจากที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งไม่กี่วันต่อมา นางอามิก็ได้เอกสารด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการนำร่างของลูกสาวออกมาจากสำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เพื่อนำมาประกอบพิธีฌาปนกิจ

 

บ่ายอันร้อนระอุของวันที่ 13 มกราคม 2549 นางอามิร่ำไห้ ส่งวิญญาณลูกสาวไปสู่สรวงสวรรค์ แม้ว่าเถ้ากระดูกของเธอจะไม่ได้นำกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนชั่วนิรันดร์ แต่อย่างน้อยแม่ของเธอก็มีโอกาสส่งดวงวิญญาณของเธอ

 

ในวันเดียวกันนั้นไม่ใช่มีเพียงแต่ร่างของนางสาวสาวัย 18 ปี ยังมีร่างของ Hla Hla Noe (ลา ลา นวย) หรือนางน้อยวัย 31 ปี ภรรยาของ Ko Ma Kwe (กู มา กุย) หรือนายดำ วัย 31 ปี เขาตามหาร่างภรรยาและลูกชายวัยขวบเศษมานับปีเช่นกัน ในวันนี้ อย่างน้อยเขาก็ได้มีโอกาสยกโลงศพภรรยาขึ้นสู่เมรุและส่งวิญญาณของเธอสู่สรวงสวรรค์ และคงต้องรอคอยที่จะนำร่างของลูกชายมาประกอบพิธีฌาปนกิจต่อไป หากลูกชายของเขาถูกกลืนไปกลับสึนามิ  

                                                                                

ในวันที่เกิดสึนามิ 26 ธันวาคม 2547 ความเสียหายที่นอกจากจะเกิดขึ้นกับคนไทยและนักท่องเที่ยวแล้ว ชาวพม่ายังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เสียชีวิตในวันนั้นด้วย ปัจจุบันบันทึกจากสำนักงานแรงงานจังหวัดพังงา มีตัวเลขแรงงานพม่าที่ออกใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2548 จำนวน 22,571 คน เป็นชาย 15,811 คน เป็นหญิง 6,760  คน ซึ่งการสำรวจเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับช่วงสึนามิเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แต่หลังจากเกิดภัยสึนามิ สำนักงานแรงงานจังหวัดพังงาได้สำรวจและออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานพม่าอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน -  30 สิงหาคม 2548 แบ่งเป็นแรงงานชาย 11,732 คน เป็นแรงงานหญิง 5,367 คน รวมทั้งหมด 17,089 คน ซึ่งตัวเลขปี 2548 น้อยกว่าตัวเลขที่สำรวจและออกใบอนุญาตทำงานจากครั้งแรกเกือบห้าพันคน

 

ปัจจุบันสำนักงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลประจำจังหวัดพังงามีศพเก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ 805 ศพที่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นคนไทยที่ยังหายสาบสูญ แต่สำหรับชาวพม่า มีเอกสารบันทึกคำสัมภาษณ์ญาติที่สูญเสียคนในครอบครัวจำนวน 312 ราย แต่ในช่วงหนึ่งปีสามารถระบุยืนยันได้ว่าเป็นศพของชาวพม่า 80 ศพ และยังคงเก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ที่วัดบางมรวน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

 

นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือชาวพม่า โดยมอบให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรับหน้าที่นี้ ซึ่งพ่อแม่ หรือสามี หรือลูกของผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกรมจัดหางานจำนวน 20,000 บาทต่อศพ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท