Skip to main content
sharethis


 




 


เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ศ.ดร.หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ร่วมกันจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ปัญหาชายแดนภาคใต้กับการสร้างสังคมสมานฉันท์ : มุมมองทางวิชาการไทยศึกษา"


 


นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง "ปัญหาชายแดนภาคใต้กับการสร้างสังคมสมานฉันท์" ว่า ก่อนที่จะพูดถึงปัญหาชายแดนใต้กับการสร้างสังคมสมานฉันท์นั้น อยากจะบอกกับทุกคนว่า เราต้องเข้าใจว่า อะไรคือประเทศไทย อะไรคือราชอาณาจักรไทย อะไรคือราชวงศ์ อะไรคือศาสนา นั่นหมายความว่า เราจะต้องจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งประวัติศาสตร์มุสลิม เราจะต้องคุ้นเคยกับความหลากหลาย ว่าคนไทยทั้งหมดนั้นมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์กันเสียก่อน


 


"ประวัติศาสตร์ไทยเราที่ผ่านมา พูดถึงแต่ความป่าเถื่อนของชนชาติอื่น แต่จริงๆ แล้ว ไทยเราก็เคยป่าเถื่อนกับเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะไปปิดข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ และตนเชื่อว่า ถ้าเรายอมรับ ก็ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนขายชาติ แต่เราต้องอยู่กับความจริง เพราะว่าการยอมรับความจริง ก็จะทำให้เราปลดพันธนาการของเราได้ แต่ถ้าเราไม่โปร่งใส เราก็จะไม่สามารถปลดเงื่อนไขนั้นได้เลย สุดท้ายก็จะเป็นชนัก เป็นโซ่ตรวนตรึงเราเอาไว้ ฉะนั้น การที่จะแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ จะต้องมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน" นายอานันท์ กล่าว


 


นายอานันท์ ยังกล่าวถึงเมื่อครั้งตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ก็ไม่ได้มองว่าตนนั้นเลือกคนคริสต์ คนจีน คนมุสลิมเป็นรัฐมนตรี แต่ตนมองว่าเขาเป็นคนไทย เป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่สนใจว่าใครจะผิวคล้ำดำขาว แต่ขออย่างเดียว คือมองเขาเป็นมนุษย์ ซึ่งเราต้องต้องมองความเห็นที่แตกต่าง แต่ความแตกต่างนั้น ไม่ใช่มองว่าเป็นมิตรเป็นศัตรู เป็นฉัน เป็นเขา เป็นเรา


 


"ไม่ได้ปฏิเสธให้มีการใช้กำลัง แต่การใช้กำลังนั้นจะต้องถูกกฎหมายและมีคุณธรรม ไม่ใช่ว่าไปอุ้มฆ่าเขา แล้วไม่มีการเปิดเผยความจริงอย่างสมบูรณ์ หรือเปิดเผยความจริงครึ่งๆ กลางๆ เพราะฉะนั้น กอส.จะต้องสร้างความรู้ตรงนี้ ให้สังคมไทยได้ขวนขวายหาความจริง เพื่อจะนำไปสู่ความเข้าใจ การให้อภัย และนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป" นายอานันท์ กล่าว


 


ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ยังกล่าวอีกว่า จะได้นำข้อเสนอของ กอส.ไปเสนอต่อรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลจะรับและนำไปปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คนไทยจะได้เข้าใจและรับรู้ความจริงถึงกรณีปัญหาชายแดนภาคใต้มากขึ้นว่าเป็นอย่างไร


 


นายพิชัย รัตนพล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า ทำไมรัฐต้องมีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ก็เพราะว่าต้องการปกป้องอำนาจรัฐ จึงมีการใช้ความกลัว ด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งทำให้เขาต้องออกมาปกป้องตนเอง


 


"นอกจากนั้น ยังมีกระแสรองตามมา ก็คือ การที่รัฐพยายามจะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนมุสลิม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขานั้นต้องการขอเป็นมุสลิมที่สามารถอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ แต่อย่างไรก็ตาม ตนมีความเชื่อว่าสังคมไทยกำลังจะเริ่มไปทางสันติวิธีมากขั้น ส่วนคนที่ไม่เปลี่ยนความคิด อย่างไรก็ไม่เปลี่ยน แต่อยากจะบอกว่า ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จได้ โดยการใช้ความรุนแรง" นายพิชัย กล่าวทิ้งท้าย


 


ในขณะที่ ผศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงประเด็น "การเมืองวัฒนธรรมและความรุนแรงในภาคใต้ประเทศไทย" ว่า ได้มีการศึกษาและสรุปข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า จากการรวมรวมสถิติข้อมูลเปรียบเทียบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2544 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 233 ราย และในช่วงเดือน ม.ค.2547 - มิ.ย.2548 กลับพบว่า มียอดผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นสูงถึง 913 ราย ทั้งนี้ ไม่ได้รวมยอดผู้เสียชีวิตจากกรณี 28 เม.ย.2547


 


นอกจากนั้น ยังมีการเปรียบเทียบยอดจำนวนคนมุสลิมที่เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2522 - 2544 มีจำนวนทั้งหมด 53 ราย แต่เมื่อดูยอดจำนวนคนมุสลิมที่เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วง ม.ค.2547 - มิ.ย.2548 กลับพบว่ามีสูงถึง 294 ราย


 


"ดังนั้น จึงอยากขอแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจาก กอส.ที่บอกว่า รัฐล้มละลาย แต่สำหรับตนจะบอกว่า แท้จริงแล้วรัฐนั้นแข็ง แข็งกร้าวเกินไป ซึ่งคำว่ารัฐนี้ไม่ได้หมายเพียงว่า ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองเท่านั้น แต่รวมไปทุกองคาพยพ ไม่ว่าสถาบันการปกครองของไทย ทั้งสถาบันรัฐสภา กระบวนการยุติธรรมไทย เป็นต้น นั้นยังแข็งกร้าว ซึ่งเมื่อดูสังคมมุสลิมนั้นมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่กับรัฐไทยนั้นไม่ยอมปรับเปลี่ยน แล้วยังไปกล่าวหาว่าเขาบ้า แท้จริงแล้วเรานั้นบ้ามากกว่าเขาด้วยซ้ำ และที่พูดกันว่าสังคมไทยนั้นมีความหลากหลายนั้น แต่ไม่ใช่ว่าความหลากหลายนั้นหมายถึงต่างคนต่างอยู่ แต่คนในสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน"ผศ.ดร.วัฒนา กล่าว


 


ด้าน รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีมิติการมองชุดความรู้ที่แตกต่างกัน จึงทำให้รัฐบาลนั้นหลงประเด็นทางการเมือง ทำให้รัฐไทยเข้าไปกดขี่ข่มเหง บีบให้เขายอมรับ ไปอุ้ม ฆ่าเขา จนกลายเป็นปัญหาทางด้านจริยธรรม เป็นปัญหาที่ไม่เข้าใจความแตกต่างทางสังคม มีการหลงผิด ว่าจะต้องมีการใช้ความรุนแรงเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว เราจะหยุดการก่อการร้ายด้วยความโกรธนั้นไม่ได้เลย


 


"อยากจะบอกว่า การที่ทำให้การก่อการร้ายขยายตัว และได้สมาชิกมาเพิ่มขึ้นๆ นั้น มีอยู่สองทางเท่านั้น คือ การกระทำที่มีกึ๋นของขบวนการต่อต้านรัฐไทย ที่สามารถทำการใหญ่ได้ เช่น ปิดเมืองปล้นปืน กับการที่รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นว่าเหี้ยจริง เช่น การอุ้ม ปราบ ฆ่า ด้วยการส่งทหาร ตำรวจลงไปในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นการกระทำด้วยความโอหัง ทั้งที่จริงแล้ว เป็นการกระทำที่ขลาดเขลา" รศ.ดร.เกษียร กล่าว


 


ในช่วงท้ายของการสัมมนา ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้" ในตอนท้ายของงานสัมมนา ว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น จะต้องแก้ตรงที่การสร้างความรู้ทั้งหมดให้สังคมไทยได้รับรู้และเข้าใจ เพราะว่า การขาดความรู้ จะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทย นั่นหมายความว่า ต้องมีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งมีความหมายสำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่า การกระทำของคนนั้น ล้วนมีปัจจัย มีเงื่อนไขที่ทำให้รู้ว่า ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น


 


"เราต้องยอมรับว่า เราต่างเคยขัดแย้งร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะรัฐปัตตานีกับรัฐไทย แต่ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยยอมรับว่าปัตตานีเคยเป็นรัฐๆ หนึ่ง เราจึงไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์ปัตตานีอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นความบกพร่องของประวัติศาสตร์ไทย และถือว่ายังไม่ใช่ประวัติศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง ที่ไม่มีการพูดถึงในแง่นี้เลย"


 


ศ.ดร.นิธิ กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างความรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ของความสำนึกว่าเราเป็นใคร รวมไปถึงการสร้างความรู้ในเรื่องระบบความสัมพันธ์ทางสังคมปัตตานีที่ถูกละเลย เรื่องศาสนาอิสลาม เรื่องมลายูศึกษา ระบบความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐ เรื่องสันติศึกษาและประชาธิปไตย


 


"และที่สำคัญ การสร้างความรู้ตรงนี้ จะต้องปฏิบัติที่เป็นจริงด้วย เหมือนกรณีที่ ทางคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้สรุปปัญหาชายแดนภาคใต้ทั้งหมดนี้ รัฐบาลจะฟังหรือไม่ฟัง เราไม่ต้องไปสนใจ แต่ กอส.ก็ได้ทำความเข้าใจต่อสังคมไทยว่าเราจะอยู่อย่างไร โดยไม่มีความขัดแย้งและความรุนแรง" ศ.ดร.นิธิ กล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net