Skip to main content
sharethis

รายงานเสี่ยงตาย : เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานชื่อว่า "ทุ่งร้าง" ออกมาจากองค์กรที่เข้าไปทำงานในดินแดนพม่า ข้อมูลทั้งหมดในรายงานฉบับนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้ทันทีว่า โครงการนี้จะไม่สร้างประโยชน์แบบ win-win อย่างที่นายกฯ ทักษิณ หรือรัฐมนตรีเกษตรหญิงของไทยโฆษณาไว้แน่นอน

 

 

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานชื่อว่า "ทุ่งร้าง" หรือ Deserted Field ออกมาจากองค์กรที่เข้าไปทำงานในดินแดนลึกลับอย่างประเทศพม่า - คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์รัฐฉาน (SRDC/ Shan Relief and Development Committee)

 

 

หน่วยงานนี้ได้เข้าไปแอบเก็บข้อมูลที่เมืองนาย ในรัฐฉานของพม่ามาตั้งแต่ปี 2546 จนประมวลออกมาเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ความล่มสลายและความทุกข์ยากของเกษตรกรเมืองนาย อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

แม้ไม่ได้พูดถึงผลกระทบโดยตรงจากโครงการเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming ที่รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน โดยลงนามกับรัฐบาลพม่าไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 เพื่อให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงานเกือบ 10 ชนิดบนพื้นที่ราว 44 ล้านไร่มาป้อนฝั่งไทย แต่ข้อมูลทั้งหมดในรายงานฉบับนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้ทันทีว่า โครงการนี้จะไม่สร้างประโยชน์แบบ win-win อย่างที่นายกฯ ทักษิณ หรือรัฐมนตรีเกษตรหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ โฆษณาไว้แน่นอน

 

หากแต่ผลประโยชน์ของ (บริษัท) ไทยอาจต้องแลกด้วยชีวิต เลือดเนื้อ ของคนเล็กคนน้อยจำนวนมากในอีกฝากฝั่งหนึ่ง.....

 

เมืองนาย อำเภอที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เป็นพื้นที่ทำการศึกษาที่พอจะเข้าไปเก็บข้อมูลได้ แม้กองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มจะยึดครองพื้นที่ตามเขตเทือกเขาในเมืองนี้มานานหลายปี และรัฐบาลทหารก็ออกปราบปรามกลุ่มต่อต้านมากยิ่งขึ้น

 

"ผลการสำรวจ ได้จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ทุกระดับชั้น และลงสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก การสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องใช้ความระมัดระวัง หากทหารพม่าทราบข่าวก็หมายถึงชีวิต" นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว



 

 

พื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวชั้นดีของผู้คน แต่ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านหลงเหลืออยู่เพียง 25 หมู่บ้าน จากที่เคยมีถึง 57 หมู่บ้านก่อนปี 2537 มีประชากรเหลืออยู่ประมาณ 25,000 คน ประกอบด้วยคนพม่า ฉาน ปะโอ ลีซู ลาหู่ โกก้าง และปะหล่อง ส่วนอีกราวร้อยละ 30 คาดว่าอพยพหนีข้ามมาฝั่งไทย ปล่อยให้พื้นที่เพาะปลูกอันอุดมกลายเป็นทุ่งร้างมากกว่า

25,000 ไร่

 

ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่นี้ "ยากจน" ไม่มีรายได้จากการเพาะปลูกมากนัก ทรัพย์สินของพวกเขาคือข้าวที่สะสมไว้ รวมทั้งปศุสัตว์ที่มีอยู่ แต่ผู้คนร้อยละ 90 ก็มีอาหารพอเพียง มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนพืชผล-สิ่งของระหว่างคนเมืองและชาวบ้าน โดยที่การเดินทางเป็นไปอย่างเสรี

 

 

 



 

ปี 2537 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย เพราะรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งศูนย์รับซื้อข้าวเปลือกในเมืองนาย โดยให้ตำรวจ ทหาร เข้าไปติดประกาศคำสั่งเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนปฏิบัติตาม

 

ชาวนาทุกคนถูกบังคับให้ต้องนำข้าวมาขายที่ศูนย์เป็นจำนวน 4 ถังต่อที่นาทุก 2.5 ไร่ที่พวกเขาเพาะปลูก โดยข้าว 1 ถังมีน้ำหนักประมาณ 21 กิโลกรัม แต่ลูกจ้างในศูนย์รับซื้อกลับเอาข้าวจากชาวนาไปถึง 24 กิโลกรัมต่อถัง

 

ส่วนรัฐบาลทหารจะจ่ายค่าข้าวให้ชาวบ้านเพียง 350 จ๊าต ต่อถัง ในขณะที่ราคาตลาดจะอยู่ที่ 1,250 จ๊าตต่อถัง อีกทั้งทางศูนย์ก็ไม่รับซื้อข้าวเปลือกคุณภาพต่ำ

           

หนี้สินที่ไม่ได้ก่อ

โชคร้ายกว่านั้น ไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับผู้ที่ผืนนาให้ผลผลิตช้าหรือแม้จะมีอุบัติเหตุอะไรก็ตาม หากไม่ส่งขายข้าวในเวลาที่กำหนด พวกเขาจะถูกจับตามระเบียบ ดังนั้น ชาวนาผู้โชคร้ายเหล่านี้จึงต้องยอมซื้อข้าวเปลือกจากคนอื่นในราคาตลาด เพื่อนำมาขายให้ศูนย์ในราคา 350 จ๊าต

 

 

 

ต้อนรับทั้งน้ำตา

การซื้อข้าวเปลือกของชาวบ้านนั้น จะมีคณะผู้จัดซื้อของรัฐบาลตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ และพลันที่เห็นขบวนของพวกเขามา ชาวบ้านทั้งหลายจะต้องจัดหาอาหารมาเลี้ยงต้อนรับขบวนที่มาทั้งหมดในวันนั้น จากนั้นตำรวจจะเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อ "ขู่" ให้ชาวบ้านขายข้าวให้ได้ตามโควตา แน่นอน ใครผลผลิตตกต่ำมีไม่เพียงพอ ก็ต้องไปหาซื้อมาให้ได้

 

ข้าวเปลือกที่ศูนย์รับซื้อจะถูกสีและจัดสรรให้กับข้าราชการ ตำรวจและทหารในพื้นที่ทุกเดือน รวมทั้งหน่วยงานซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดข้างเคียงด้วย พวกเขาทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 2537-2546 แม้ชาวบ้านจะจ่าย "ภาษี" อย่างหนักหน่วงมาหลายปี แต่ก็ไม่เคยได้รับบริการตอบแทนจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้เลย  สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการส่งทหารมาประจำในพื้นที่มากขึ้น

               

โยกย้ายเพราะปลายปืน

หลังจากกองทัพเมืองไตของขุ่นส่ายอมมอบตัวในปี 2539 หลังจากนั้นชาวบ้านกว่า 300,000 คนทั่วรัฐฉานก็ถูกบังคับด้วยกระบอกปืนให้อพยพออกมาจากพื้นที่และยังมีการบังคับต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

"ทหารของขุนส่ามีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่ว เมื่อขุนส่ามอบตัว รัฐบาลทหารก็ต้องอพยพคนลงมาอยู่ในเขตที่ควบคุมได้ เพื่อตัดการติดต่อและกันชาวบ้านเข้าร่วมกับกองกำลัง มีการบังคับให้ย้ายกันภายใน 3 วัน 5 วัน 7 วัน ซึ่งเจ็ดวันนี่ถือว่านานที่สุดแล้ว" นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจให้ข้อมูล

 

มีการทำลายหมู่บ้านหลายแห่งบนภูเขาและอพยพชาวบ้านลงมาในพื้นที่ใกล้กับเขตเมืองนาย หมู่บ้านบางแห่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตเมืองก็ถูกโยกย้ายเช่นกัน ในปี 2537 มีการอพยพหมู่บ้านประมาณ 32 แห่งในเทือกเขาทางตะวันออกของเมืองนาย และอีก 25 แห่งซึ่งเป็นหมู่บ้านในที่ลุ่ม ในปัจจุบัน มีหมู่บ้านที่ยังเหลืออยู่บนภูเขาเพียง 12 แห่งและอีก 13 แห่งในที่ลุ่ม ซึ่งเป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวบนที่สูงลดลงกว่าร้อยละ 56

 

ชาวบ้านถูกบังคับให้ไปพัฒนาที่ทำกินแห่งใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็น "หมู่บ้าน" ซึ่งอยู่ตามถนนใหญ่ในเขตที่ราบ หรือไม่ก็ต้องไปอาศัยอยู่แถวหมู่บ้านอื่นซึ่งใกล้กับเมือง พวกเขาไม่มีโอกาสกลับไปเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุนกับผู้ที่ถูกโยกย้าย และโอกาสที่จะหาที่อยู่ใหม่ก็มีน้อยเต็มทน

 

ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทั่ว จนผู้คนจำนวนมากต้องหนีไปอยู่ในป่าลึกเพื่อทำเกษตร  และมีประชาชนอีกกว่า 10,000 คน หรือราวร้อยละ 30 ของประชากรในพื้นที่  ที่คาดว่าได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

 

นี่เป็นเพียงบทโหมโรงของความทุกข์ยากที่ชาวบ้านในพม่าได้รับมายาวนาน ก่อนที่พม่าจะเริ่มเศรษฐกิจแบบตลาดในปี 2546 และเปิดรับนักลงทุนบางส่วนให้เข้าไปดำเนินกิจการต่างๆ ซึ่งนอกจากทุนนิยมจะไม่ช่วยให้ชีวิตของประชาชนตาดำๆ ดีขึ้นแล้ว กลับยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของพวกเขาให้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง…

 

(โปรดติดตามตอนต่อไปด้วยใจระทึก)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net