เชียงของ ชีวิตแห่งสายน้ำ ผู้คนแห่งความเปลี่ยนแปลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

"เชียงของ" สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่า มันคงห่างไกลเกินกว่าที่สองเท้าของผมจะย่างก้าวไปถึง

 

ผมจำไม่ได้ว่าตนเองได้ยินชื่อ "เชียงของ" ครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ในโสตสัมผัสที่ตระหนักรับรู้ ผมวาดภาพของเมืองขนาดเล็กที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติลงในนาม "เชียงของ" ตั้งแต่วันแรกที่ประสาทหูได้รับรู้ถึงนามนั้น

 

"ปัจจุบันเมืองเชียงของเป็นหน่วยการปกครองระดับอำเภอ ในจังหวัดเชียงราย ห่างจากกรุงเทพ 950 กม. มีพื้นที่ 836,900 ตาราง กม. มีประชากร 68,222 คน ความหนาแน่นของประชากร 81.51 คน/ตร.กม. มีหมู่บ้าน 90 หมู่บ้าน 7 ตำบล 2 เทศบาล ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและรับจ้างทั่วไป และอยู่ในภาคการค้าบริการของท้องถิ่น โดยเฉพาะการบริการการท่องเที่ยว" (ข้อมูลจาก "Mekong Post" ฉบับปฐมฤกษ์ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2549)

 

การเดินทางของผมเริ่มต้นขึ้นจากท่าอากาศยาน หรือที่เรียกกันว่า สนามบินเชียงราย จากที่นั่นผมเดินทางต่อโดยรถยนต์เพื่อไปต่อรถโดยสารประจำทางเชียงราย-เชียงของ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงราย จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ผมก็นำพาร่างมาสิงสถิตอยู่ที่บ้าน ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ

 

ครูตี๋ เป็นชาวเชียงของตั้งแต่กำเนิด เพราะเกิดและเติบโตอยู่ที่นี่มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ครูตี๋เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของกลุ่มรักษ์เชียงของว่า มันเริ่มต้นเมื่อราวปี 2535 เมื่อเขาเริ่มรู้สึกเอือมระอาต่อการเป็นครูในระบบราชการ หลังจากนั้นครูตี๋จึงหันมารับบบทบาทเป็นนักวิจัยท้องถิ่น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2538 เมื่อข่าวคราวการระเบิดแก่งหินในลุ่มน้ำโขง เพื่อเปิดเส้นทางการค้าระหว่างจีน กับกลุ่มประเทศเล็กๆในลุ่มน้ำโขงเริ่มแพร่สะพัดมากขึ้น จึงเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยลุ่มน้ำโขง รวมถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ เพื่อปกป้องสายน้ำและวิถีชีวิตของผู้คนบนแดนดินถิ่นนี้ จนกลายเป็นที่มาของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

 

ราว 3 โมงเย็น ของวันที่ 26 มกราคม 2549 คณะเดินทาง 12 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วยตัวผม และทีมงานของครูตี๋ เดินทางโดยเรือบริเวณท่าเรือบ้านเวียงแก้ว เพื่อศึกษาระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ ที่ "ร้องฟาน"

 

ตลอดเส้นทางที่เรือแหวกว่ายผ่านกระแสธารลำโขง เราได้พบกับภาพชีวิตประจำวันของผู้คนริมฝั่ง ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ บ้างล่องเรือขนส่งสินค้า บ้างพายเรือลำเล็กออกหาปลา ทรัพยากรที่ธรรมชาติได้มอบเป็นของขวัญสำหรับผู้คนทั้งสองฝั่ง บ้างตัดไม้ไผ่ผูกเป็นแพ เพื่อล่องมาขายยังเชียงของ

 

สุมาตร ภูลายยาว หนึ่งในนักวิจัยด้านชาติพันธุ์วิทยา ลุ่มน้ำโขง คอยทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝั่งโขง กับสายน้ำ "ตอนหน้าน้ำบริเวณที่เราเห็นเป็นสันทรายสูงๆ ริมฝั่งน้ำจะท่วมมิด" นักวิจัยหนุ่มชี้นิ้วไปยังบริเวณริมฝั่งโขงที่เป็นสันทราย ซึ่งสูงจากแม่น้ำประมาณ 5 เมตร เขาเล่าต่อไปว่า "พอหน้าแล้ง อย่างตอนนี้ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขง ก็จะใช้พื้นที่บริเวณสันทรายเป็นที่ปลูกผัก ส่วนคนหาปลาก็จะมาปลูกเพิงพัก เพื่อหาปลาลงไปขายยังตลาดที่เชียงของ...คนหาปลาบางคนมาอยู่เป็นอาทิตย์ พอหาปลาได้มากพอก็จะนำลงไปขาย"

 

"แก่งหินแต่ละแก่งที่เราเห็น จะมีชื่อเรียก อย่างอันนั้นชื่อว่าแก่งไก่ เพราะสมัยก่อนมีไก่ป่าเยอะ แล้วก็เป็นหนึ่งในแก่งที่จะต้องถูกระเบิดตามโครงการ"

 

โครงการที่สุมาตร กล่าวถึง มีชื่อเต็มว่า "โครงปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-น้ำโขง" ซึ่ง "ถือกำเนิดขึ้นมาจากการผลักดันของประเทศจีน เพื่อตอบสนองนโยบายการค้าเสรี ด้วยการเปิดเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ให้เรือขนส่งสินค้าของจีนสามารถเดินเรือมาถึงตอนล่างจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนานของจีน ผ่านพม่า ไทย ลาว มายังหลวงพระบางได้ตลอดทั้งปี...และตามแผนกำหนดว่าจะทำการระเบิด 21 แก่ง" ("ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง" : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สสม.) )

 

ระหว่างที่สุมาตรชี้ชวนให้ดูแก่งหินต่างๆ สายตาของผมก็สะดุดกับภาพต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามแก่งหิน สุมาตรให้ข้อมูลว่า "เขาเรียกกันว่าต้นไคร้ คนที่มาหาปลาจะเก็บไปมัดรวมกัน แล้วเอาไปแช่ไว้ในแม่น้ำเพื่อล่อกุ้ง บางคนเขาก็เก็บไปกิน"

 

ก่อนที่เรือจะพาเราถึงจุดหมายปลายทาง ครูตี๋พาคณะของเราแวะพบ พ่ออุ้ยเสาร์ ระวังศรี ชายชราผู้ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับลุ่มน้ำโขงมาเกือบทั้งชีวิตด้วยการหาปลา ที่ริมฝั่งโขงซึ่งพ่ออุ้ยสร้างเพิงพัก ผมมีโอกาสได้เห็นวิธีการใช้ประโยชน์จากต้นไคร้ เพื่อหากุ้งเป็นครั้งแรก และนั่นทำให้ผมรู้ดีว่ามนุษย์ผู้ใดที่ควรได้รับเกียรติให้อยู่อาศัยบนผืนดินแห่งนี้

 

ห่างจากที่พ่ออุ้ยตั้งเพิงพักไม่ไกลนัก เราเดินทางมาถึงบริเวณ "ร้องฟาน" ซึ่งจะเป็นที่พักพิงกายของผมและคณะในค่ำคืนนี้

 

ครูตี๋อธิบายให้ฟังว่า "คำว่า "ร้อง" ภาษาเหนือหมายถึงบริเวณที่แม่น้ำเซาะจนทำให้เกิดเป็นทางแยกของเส้นทางน้ำ และตรงกลางมีพื้นที่เป็นเหมือนเกาะ ซึ่งในอดีตเวลาหน้าแล้งผู้คนก็จะดักจับปลาบริเวณนี้ได้ ส่วนคำว่าฟานหมายถึง "เก้ง" เพราะแต่ก่อนบริเวณนี้มีเก้งเยอะ แล้วพวกมันก็จะลงมากินน้ำบริเวณร้องนี้ แต่หลังจากที่มีการตัดถนน เก้งก็หายไป"

 

สันทรายบริเวณร้องฟานละเอียดดุจดั่งทรายชายฝั่งทะเล เสียงน้ำโขงไหลกระแทกแก่งหิน ฟังดูเพราะพริ้งแต่น่ากริ่งเกรงในอำนาจของกระแสธาร ครูตี๋ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแก่งหินและชีวิตของสรรพสิ่งแห่งสายน้ำว่า "แม่น้ำโขงบางจุดเท่าที่เขาสำรวจกัน พบว่าบางช่วงลึกถึง 47 เมตร ความลึกของมันนี่เองที่ทำให้มีพันธุ์ปลาที่หลากหลาย อย่างแก่งหินนี่ไม่ใช่ว่ามันจะลอยอยู่บนน้ำอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ข้างล่างมันก็ต้องมีดิน มีซอก มีหลืบ ซึ่งปลาต่างๆ ใช้เป็นที่อาศัยได้ ถ้ามีการระเบิดแก่งหิน ก็เท่ากับเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของปลา"

 

หลังสนทนากันอยู่สักครู่ ทางคณะจึงช่วยกันกางเต๊นท์ และหุงหาอาหาร ซึ่งนอกจากเนื้อแดดเดียวกับข้าวเหนียวที่เตรียมมาแล้ว อาหารยามเย็นของพวกเราก็คือทรัพยากรจากลุ่มน้ำโขง ทั้งปลาและกุ้ง ผมจึงมีโอกาสลองลิ้มชิมรสอาหารที่ไม่คุ้นเคยอย่าง ห่อหมกไส้ปลา

 

แสงอาทิตย์เริ่มลาลับขอบฟ้า ลมหนาวพัดพากระทบกายาเย็นยะเยียบ บรรยากาศสดชื่นแตกต่างจากเมืองหลวงที่ผมจากมา หลังอาหารมื้อเย็น เสียงเพลงจากกีต้าร์ และไวโอลินเริ่มบรรเลงบทเพลงกล่อมมนุษย์ผู้อยู่ภายใต้ท้องฟ้าและดวงดาวเช่นเรา ให้เคลิบเคลิ้มไปในยามราตรี

 

การเดินทางในเช้าวันใหม่ริมฝั่งโขง สู่บ้านสองพี่น้อง

เสียงลมหนาวพัดพาหวีดหวิวปลุกให้ผมลุกขึ้นก่อนที่แสงทองของตะวันจะจับขอบฟ้า วันนี้อากาศหนาวกว่าเมื่อวาน จนคณะของเราต้องสามัคคีกันไปยืนผิงไฟ

 

ผมล้างหน้าล้างตาด้วยสายน้ำโขงที่เย็นราวน้ำแข็ง ก่อนรับประทานข้าวต้มกระดูกหมูอาหารเช้า และรอบันทึกภาพแสงทองของดวงอาทิตย์ที่กำลังจับผิวน้ำ

 

ไม่นานนักยานพาหนะทางน้ำก็นำเราออกห่างจาก "ร้องฟาน" เพื่อเดินทางสู่บ้านสองพี่น้อง ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวลาหู่ หรือมูเซออย่างที่คนทั่วไปเรียกขานกันจนชินปาก

 

เราขึ้นจากเรือแล้วเดินลัดเลาะผ่านไร่ข้าวโพดริมฝั่งโขง ขึ้นเนินเขาเพื่อเข้าไปยังหมู่บ้านซึ่งห่างจากถนนใหญ่ราว 2 กิโลเมตร

 

ผู้ใหญ่เบญจามินทร์ วงศ์ชัย หรือพ่อหลวงประจำหมู่บ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 5 ขับรถมารับพวกเราซึ่งตอนนี้เหลือกันอยู่ประมาณ 7 คน

 

วันที่ผมและคณะเดินทางมาถึง (27 มกราคม 2549) เป็นช่วงเวลาที่ชาวลาหู่กำลังจะจัดงานขึ้นปีใหม่ ผู้ใหญ่เบญจามินทร์ เล่าให้เราฟังว่า "ปีใหม่ของชาวลาหู่จะเข้าก่อนวันตรุษจีน 2 วัน ในอดีตเวลาที่ชาวลาหู่จัดงานปีใหม่ จะมีกฎห้ามคนในหมู่บ้านออกจากหมู่บ้าน และห้ามคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน เพราะในช่วงเทศกาลปีใหม่จะเป็นวันที่บ้านแต่ละหลังจะนำทรัพย์สินของตัวเองออกมาล้างทำความสะอาด เพราะฉะนั้นถ้าหากมีคนนอกเข้ามาเห็น เขาก็กลัวว่าจะขโมยของเขาไป หากใครฝ่าฝืนกฎในอดีตจะถูกตามฆ่า

 

"แต่ปัจจุบันกฎนี้ถูกยกเลิก หากเป็นคนนอกเข้ามาเราก็จะเก็บคนละ 10 บาท เพื่อให้พ่อหมอไปขอขมาเจ้าที่...ช่วงปีใหม่ชาวบ้านจะมีการเต้น "จะคึ" ตลอดทั้งคืน รวมทั้งจะมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้าย"

 

พ่อหลวงเล่าให้ต่อฟังว่า นอกจากอาชีพเกษตรกร ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านก็ออกไปทำงานในโรงงานเยอะขึ้น แต่พอถึงปีใหม่พวกเขาก็จะกลับมาบ้าน พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าที่นี่จะยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

 

ชายหนุ่มชื่อ "จะแร"

หลังเสร็จสิ้นการสนทนากับพ่อหลวง "จะแร" เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ลูกชายของผู้ก่อตั้งหมู่บ้านสองพี่น้อง ซึ่งเป็นพ่อตาของผู้ใหญ่บ้าน รับอาสาเป็นไกด์นำพาคณะของเราเดินทางสู่น้ำตกหัวกะโหลก

 

จากหมู่บ้านเราเดินเท้าไม่เกิน 3 กิโลเมตรก็มาถึงน้ำตกหัวกะโหลก จะแร เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่เขาเรียกว่าน้ำตกหัวกะโหลก "เป็นเพราะเมื่อตอนที่มีการรบกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ กับอาสาสมัครของฝ่ายรัฐบาลในบริเวณนี้ เมื่ออาสาสมัครสามารถฆ่าคอมมิวนิสต์ได้ ก็จะตัดหัวแล้วนำมาทิ้งไว้ที่น้ำตกแห่งนี้ เพราะในอดีตเป็นน้ำตกที่ลึกมาก แต่ตั้งแต่ปี 40 เมื่อเกิดโคลนถล่มก็ทำให้น้ำตกแห่งนี้ตื้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน"

 

พวกเราก่อกองไฟ และหุงหาอาหารท่ามกลางบรรยากาศน้ำตก จะแรและขณะเดินทางของเราช่วยกันตัดกระบอกไม้ไผ่เพื่อทำเป็นภาชนะในการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะใช้ทำเป็นที่หุงข้าว ที่หลามปลากระป๋อง รวมทั้งใช้เป็นครกตำน้ำพริก และชาม ส่วนตัวผมนอกจากการรับประทานแล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขามากนัก เพราะไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เหมือนกลุ่มหนุ่มสาวนักศึกษาที่เดินทางมาด้วยกัน

 

หนุ่มสาวเหล่านี้ทำงานอยู่กับกลุ่มรักษ์เชียงของมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง บางคนเรียนอยู่ที่เชียงราย บางคนเรียนอยู่ที่พะเยา ในสาขาพัฒนาสังคม ผมเชื่อว่าในอนาคตกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้คงจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่รับใช้สังคมอย่างแน่นอน

 

หลังรับประทานอาหารท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ จะแรพาเราเดินลัดเลาะผ่านน้ำตกเพื่อกลับสู่หมู่บ้าน ระหว่างทาง จะแรชักชวนให้เราดูพันธุ์พืชต่างๆ ที่มีอยู่ในหมู่บ้านพร้อมบอกสรรพคุณ อย่างดอกหงอนไก่ จะแรบอกว่าสามารถใช้เป็นยาแก้ผิดตะขาบ โดยการนำดอกของมันมาตำกับเปลือกสับปะรด แล้วไปทาบริเวณที่ถูกตะขาบกัด

 

มีดอกไม้ชนิดหนึ่ง ดูคล้ายดอกหญ้าสีเหลืองขนาดเล็ก ซึ่ง จะแร เรียกมันว่า "ดอกผักเผ็ก" จะแรบอกว่าดอกไม้ชนิดนี้แก้ปวดฟัน จะแรว่าพลางเด็ดดอกไม้ส่งให้คณะของเราลองนำดอกของมันแตะที่ลิ้น สักครู่หนึ่งปฏิกริยาจากเจ้าดอกไม้เล็กๆ ทำให้ปลายลิ้นของผมชา นั่นเองที่ทำให้เราเข้าใจว่าเหตุใดมันจึงมีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดฟัน

 

เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านยังไม่ทันที่เราจะเก็บข้าวของหาที่นอน ชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นกับคณะเดินทางที่ผมติดตามมา ก็เรียกพวกเราให้ขึ้นไปร่วมรับประทานอาหารบนบ้าน

 

เราเริ่มต้นด้วยเครื่องดื่มประจำถิ่น ที่ออกจะร้อนคอไปสักนิดสำหรับผม แต่มันก็ทำให้อบอุ่นภายใต้ลมหนาว ไม่นานนักบ้านหลังดังกล่าวก็เต็มไปด้วยมิตรหน้าใหม่ที่ผมไม่เคยรู้จักมักคุ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของมิตรภาพ

 

หลังจากนั่งรับประทาน และดื่มกินได้ครู่หนึ่ง จะแรก็เดินมาบอกให้ผมและน้องร่วมคณะอีกสองคนไปขนของเข้าไปไว้ในบ้าน ลุงแอโหล่ ซึ่งแม้ว่าแกจะไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แต่แกกลับสื่อสารกับพวกเราด้วยภาษาลาหู่ว่า "ภาษาไม่ใช่ปัญหาในการอยู่ด้วยกัน"

 

คืนนั้นจำได้ว่า ผมขึ้นลงบ้านชาวบ้านไม่ต่ำกว่าสี่หลัง ซึ่งคนที่นี่บอกว่ามันเป็นประเพณีที่ว่าในช่วงปีใหม่หากแขกขึ้นไปบนบ้านหลังใด บ้านหลังนั้นจะต้องเลี้ยงต้อนรับเป็นอย่างดี

 

บ้านหลังสุดท้ายที่ผมและคณะขึ้นไปร่วมวงสนทนาปราศรัยในวันนั้น เป็นบ้านของจะโพชายหนุ่ม อายุ 22 เรานั่งแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างกันครู่ใหญ่ คำถามหนึ่งที่ผมหยิบยื่นให้คือ "คำว่าลาหู่ แปลว่าอะไร" จะโพ ตอบว่า "หากแปลตรงตัว "ลา" แปลว่า "เสือ" ส่วน "หู่" แปลว่า "ภูเขา" เพราะฉะนั้นถ้าแปลจริงๆ ก็หมายถึงเสือภูเขา และจริงๆ พวกเราก็อยากให้เรียกเราว่าลาหู่ มากกว่ามูเซอ เพราะคำว่ามูเซอมันเหมือนเป็นคำที่ใช้ดูถูก"

 

ยิ่งดึกอากาศที่นี่ก็ยิ่งหนาว ฤทธิ์ของเครื่องดื่มท้องถิ่นทำเอาคณะของเราเริ่มเกิดอาการเลื้อยไปมาอยู่กับพื้นบ้าน ไม่นานนักเราต่างต้องแยกย้ายกันไปพักผ่อนเพื่อเริ่มต้นวันปีใหม่

 

ลาหู่ ปีใหม่ กับวันที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลง

เราตื่นขึ้นมาในเช้าที่ลมหนาวทำเอาสั่นไปถึงขั้วหัวใจ ขนาดชาวบ้านเองยังต้องนั่งผิงกองไฟเพื่อปรับอุณหภูมิ

 

เสียงดนตรีภาษาไม่คุ้นหูแว่วดังขึ้นจากเครื่องเสียงประจำหมู่บ้านผมเดินไปหา จะแร เพื่อไถ่ถามถึงเนื้อหาของบทเพลงภาษาลาหู่ ที่ก้องอยู่ในสองหูของตนเอง

 

จะแรเล่าให้ฟังว่า เพลงภาษาลาหู่ที่ได้ยินอยู่ มักจะเป็นเพลงที่มาจากฝั่งพม่า เทปเพลงพวกนี้จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากจากกลุ่มเผยแพร่ศาสนาคริสต์

 

"บางเพลงมีเนื้อหาดีมาก มีอยู่เพลงหนึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับป่าไม้ เนื้อเพลงบอกว่า พวกเราเคยอยู่อาศัยบนที่ดินของพวกเรา ปลูกผัก ปลูกขิง ปลูกพริก พอวันหนึ่งป่าไม้ก็เข้ามาไล่พวกเรา เราจะปลูกผักก็ไม่ได้ ปลูกข้าวก็ไม่ได้ แล้วพวกเราจะเอาอะไรกิน พอเราไม่มีกินเราก็ต้องหนีเข้าไปทำงานในเมือง ทำงานในเมืองเราก็โดนกดขี่ เพราะเราไม่มีความรู้ สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาอดยากอยู่ที่บ้าน" จะแรบอกเล่าความประทับใจในเนื้อหาของบทเพลงภาษาลาหู่ ที่มีชื่อเพลงว่า "ป่าไม้"

 

แม้เช้าวันนี้อากาศจะสดใส แต่หลังจากที่ผมได้รับฟังเรื่องราวชีวิตจริงของคนชายขอบผ่านบทเพลงที่จะแรเล่า กลับทำให้หัวใจของผมรู้สึกหดหู่ มันเป็นความรู้สึกหดหู่ต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนเล็กๆ โดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน

 

ระหว่างที่กำลังเดินสัมผัสกับบรรยากาศของหมู่บ้านที่โอบล้อมด้วยขุนเขา โดยมีบทเพลงภาษาลาหู่แว่วดังอยู่ในประสาทหูด้านซ้าย ฉับพลันประสาทหูด้านขวาก็บังเอิญไปปรับคลื่นรับกับเพลงสตริงที่ส่งสรรพเสียงสำเนียงแว่วมาจากบ้านหลังหนึ่ง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตระหนักว่าสรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยง มันต้องมีวันเปลี่ยนแปลง หากแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้า เกิดขึ้นจากการบังคับหรือว่าสมัครใจ

 

"จะคึ" ในวันที่ต้อง "แด๊นซ์" กระจาย

ค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนที่ชาวลาหู่ถือว่าเป็นคืนส่งท้ายปีเก่า (28 มกราคม 2549) ตามประเพณีของชาวลาหู่ คืนนี้จะมีการเต้นรำที่เรียกว่า "จะคึ" จนกระทั่งฟ้าสว่าง หลังรับประทานอาหารเย็นผมและคณะเดินทางไปบันทึกภาพการเต้นรำของชาวลาหู่

 

ขณะที่เสียงแคนขนาดเล็กแว่วสรรพเสียงสำเนียงพื้นบ้าน และผู้คนกลุ่มหนึ่งกำลังล้อมวงเต้นรำกันตามจังหวะพื้นถิ่น แต่ในอีกวงหนึ่งใกล้ๆ กัน ชายหนุ่มวัยฉกรรจ์กลุ่มใหญ่กำลังส่งเสียงร้องโห่ฮาขยับเขยือนเรือนร่างตามจังหวะดนตรีสากล

 

ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ก่อเกิดความสับสนขึ้นในมันสมอง เกี่ยวกับช่องว่างแห่งการอนุรักษ์และการเปลี่ยนแปลง ผมไม่แน่ใจว่าภาพของการเต้นรำแบบพื้นเมืองจะยังคงอยู่กับชุมชนแห่งนี้ไปได้อีกนานสักเท่าไหร่ เช่นเดียวกับที่ไม่แน่ใจว่า วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของผู้คนริมฝั่งโขงจะคงอยู่ได้อีกหรือไม่ในวันที่เรือใหญ่จากแดนพญามังกร กำลังจ่อรอเข้าย่ำยี

 

ผมหอบความทรงจำเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงกลับมายังเมืองหลวงของประเทศ วันหนึ่งผมมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปยังเชียงของให้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ร่วมรับรู้

 

พี่สุจิตต์ แสดงความเห็นด้วยถ้อยทำนองแบบเป็นกันเองว่า "ล่าสุดกูก็เพิ่งส่งนักข่าวไปดูที่เชียงแสน มึงรู้ไหมว่า ตั้งแต่จีนมันระเบิดแก่งหินแล้วก็สร้างเขื่อนไป 2 เขื่อน (เขื่อนมั่นวาน และเขื่อนดาเฉาชาน ส่วนเขื่อนเชี่ยวหวานกำลังดำเนินการก่อสร้าง) แล้วมันก็เอาเรือสินค้าเข้ามาจอดที่เชียงแสน ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ เชียงแสนซ่องเต็มไปหมด

 

"แต่มึงจะไปทำอะไรมันได้นั่นมันพญามังกร สิ่งที่ประเทศเล็กๆ อย่างเราทำได้ตอนนี้คือต้องประจานมันให้มันรู้ว่ามันสร้างความฉิบหายให้กับคนอื่นมากมายแค่ไหน" น้ำเสียงของผู้อาวุโสในแวดวงวรรณกรรมและวิชาการยังคงดังก้องหู พร้อมกับคำถามที่ว่า "หรือสุดท้ายเราจะต้องรอให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดบทบาทวิถีชีวิตของพวกเราจริงๆ?"

 








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท