แกะรอยนโยบายทักษิณ ผลกระทบรากหญ้า (2)

สำนักข่าวประชาธรรมได้จัดทำรายงานพิเศษชุด "แกะรอยนโยบายทักษิณ"  มาแล้ว  1 ตอน   ตอนแรกนำเสนอประเด็นนโยบายพักชำระหนี้    กองทุนหมู่บ้าน  เอสเอ็มแอล  และโครงการเอสพีวี กับโคแก้จนไปแล้ว    ตอนนี้ถือเป็นตอนที่ 2   นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับยาเสพติด    โอท็อป  และโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา

 

ยาเสพติดฆ่าตัดตอน ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

นโยบายที่ฮือฮา  และถูกตั้งคำถามอย่างมากจากนักสิทธิมนุษยชน  และประชาชนโดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า  คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดในปี 2546  ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1  โดยรัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด  3 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546       โดยมีการตั้งเป้าตัวเลข  เช่นว่าถ้ามีสถิติการจับกุมมากก็จะได้รางวัล  

 

ภายหลังการดำเนินงานขณะที่รัฐบาลแถลงถึงผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายดังกล่าว  ในทางตรงกันข้ามพบว่า ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการฆ่าตัดตอนโดยมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 2,500 ศพ

 

แม้ในช่วงแรกๆ ชนชั้นกลางอาจจะเห็นดีด้วยกับรัฐบาลที่หันมาเอาจริงเอาจังกับปัญหายาเสพติด  แต่ภายหลังจากที่มีการฆ่าตัดตอนเป็นจำนวนมาก  เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไปในการตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรรม  ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน   ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ หลายกรณีไม่มีการสืบสวน  สอบสวนใดๆ    และยังมีกรณีการขึ้นบัญชีดำที่ผิดพลาดอีกเป็นจำนวนมาก  จนทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องถูกวิสามัญฆาตกรรม

 

ชุมชนหลายชุมชนโดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาพบว่าภายหลังการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด  ทำให้หมู่บ้านมีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น  เพราะพ่อแม่ ญาติพี่น้องถูกฆ่าตัดตอนกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน  นอกจากนี้นโยบายการปราบปรามขั้นเด็ดขาดนี้ยังไม่อาจสาวไปถึงผู้บงการใหญ่ได้  ซึ่งบางส่วนก็แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่  ข้าราชการและนักการเมือง   เพียงแค่ทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง  แต่หลังจากนี้การแพร่ระบาดของยาเสพติดก็หวนคืนมาอีกครั้ง  เพราะผู้ค้ารายใหญ่  และผู้เสพยังคงอยู่ดำรงอยู่เช่นเดิม

 

โอท็อป  ใครได้ประโยชน์ ?

 

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอท็อป คืออีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลประชานิยมชุดนี้ภูมิใจนำเสนอด้วยหวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพต่างๆ ของชุมชนในระดับรากหญ้ามีรายได้เสริมขึ้นมา    สอดรับกับโครงการพักชำระหนี้   และกองทุนหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเงินกู้ใหม่ของชุมชนที่จะได้กู้มาประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องห่วงกังวลกับเรื่องหนี้สินเดิมเพราะได้รับการพักชำระหนี้ไว้แล้ว 

 

ผลจากการโฆษณาโครงการ 3 ประสานดังกล่าวส่งผลให้ ไทยรักไทย ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลพรรคเดี่ยวด้วยเสียงท่วมท้นภายใต้การนำของผู้บัญชาการประเทศที่ชื่อทักษิณ   ชินวัตร ที่มีแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงสู่ชุมชนอย่างเต็มอัดตราสูบด้วยความเชื่อว่าเงินจะบันดาลทุกอย่างได้ดั่งใจฝัน  แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว   สวนทางกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ต้องการให้ชุมชนอยู่พอดี  กินพอดีไม่ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง

 

โอท็อป  คืออีกโครงการประชานิยมหนึ่งที่รัฐได้ไหลเงินลงสู่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมที่มุ่งผลิตเพื่อแข่งขันภายใต้กลไกตลาดแบบทุนนิยม ทั้งที่ชุมชนเองยังไม่พร้อมทั้งองค์ความรู้ด้านการผลิต  การตลาด  การบริหารการจัดการองค์กร  โอท็อปจึงเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการธุรกิจในชุมชนที่ทำการผลิตมาก่อนและเข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่มาจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการโอท็อปเพราะเห็นว่าจะเป็นช่องทางการตลาดหนึ่งเท่านั้น  ส่วนผู้ผลิตระดับรากหญ้าที่ขาดประสบการณ์และที่ยังล้มลุกคุกคานอยู่ต่างก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ

 

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือกลุ่มที่ผลิตเหล้าพื้นบ้าน  สาโท  และไวน์ ที่ช่วงแรกๆ มาจดทะเบียนกันอย่างคึกคักร่วม 2,000 กลุ่ม   ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการมือใหม่จึงได้แต่ทำการผลิตที่เน้นแต่ปริมาณเพื่อป้อนตลาดอย่างเดียว  ไม่คำนึงถึงคุณภาพ  และศึกษาทิศทางของตลาด  หลังจากนั้นเพียงปีเดียว  กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาเปิดเผยว่า เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยกลุ่มหรือ 5% เท่านั้น ที่เหลือเลิกกิจการ  เพราะขาดทุนซ้ำยังติดหนี้ทั้งในและนอกระบบกันหลายหมื่น หลายแสน เจ๊งกันระนาว  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากลุ่มที่เหลือ 5 %ที่ว่านั้นก็คือกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีเงินหนากว่านั่นเอง

 

นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดจากแนวทางการส่งเสริมที่มุ่งเพียงการตลาดด้านเดียวยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โอท็อปรากหญ้าล้มหายตายจากไป   แม้กระทั่งกลุ่มที่ได้รับการรับรองให้เป็นโอท็อป 4 - 5  ดาว   แต่เป็นการรับรองเพียงความสะอาดและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เท่านั้น  ไม่ได้รับรองถึงคุณภาพ  รวมทั้งการบริหารการจัดการองค์กรไปด้วย 

 

ดังนั้น การส่งเสริมกลุ่มโอท็อปจะต้องไม่มองข้ามกลุ่มที่ทำการผลิตวัตถุดิบที่ป้อนให้กลุ่มแปรรูปด้วยว่ากระบวนการผลิตเหล่านั้นเป็นมาอย่างไร  หากสินค้าโอท็อปสวยหรูเพียงน่าตาแต่ฉาบทาด้วยสารเคมีก็ผิดเจตนาที่รัฐอ้างว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย   นำครัวไทยสู่ครัวโลก   เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ทำการผลิต   กลุ่มแปรรูป  และกลุ่มที่ถนัดเรื่องการตลาด จะต้องถูกส่งเสริมไปพร้อม ๆ กัน

 

นางปรีชา    ทองพินทุ  ประธานกลุ่มแปรรูปอาหารจากกล้วยบ้านกวางดีด  ต.โนนสมบูรณ์ อ.นาจรวย  จ.อุบลราชธานี สะท้อนให้ฟังว่า เริ่มก่อตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2542 พอพัฒนาการอำเภอเห็นว่าทำได้สะอาดดีจึงได้ทำเรื่องขอองค์การอาหารและยา  (อย.) ให้  ส่วนเรื่องการตลาดก็จะเร่ขายตามงานแสดงสินค้า  ส่งขายตามร้านค้าบ้าง ตามโรงพยาบาลบ้าง  นาน ๆ ทีทางพัฒนาการอำเภอก็จะสั่งให้ทำเพื่อจะนำไปขายในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี กรุงเทพ  ทุกครั้งที่ทางอำเภอสั่งมา ทางกลุ่มจะคัดสรรกล้วยอย่างดีทำอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ จนเมื่อปี 2547 ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มก็ได้รับรางวัล 4 ดาว แต่ทำไปทำมาก็ต้องหยุดเพราะต้นทุนสูงขึ้นกล้วยราคาจากแรก ๆ ที่ทำหวีละ 5 บาทตอนนี้ขยับเป็นหวีละ 14 - 20 บาทและน้ำตาลก็ขึ้นราคาอีก   ทำให้สมาชิกหลายคนลาออกไปทำงานที่กรุงเทพเพราะได้เงินดีกว่า รอเงินปันผลจากกลุ่มทุก ๆ 3 เดือนได้เพียงคนละ 2-3 พันบาทเท่านั้น

 

เมื่อถามถึงหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุน ประธานกลุ่มแปรรูปกล้วย ชี้แจงว่า  ส่วนใหญ่จะช่วยในรูปสิ่งของเช่น พัฒนาชุมชนอำเภอช่วยเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการแปรรูปกล้วย 60,000 บาท และอบต. 30,000 บาท   องค์การต่างประเทศอย่างเดนมาร์ก บริจาคตู้อบราคา 20,000 บาท  ล่าสุดนี้มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตร จังหวัดอุบลที่ช่วยเหลือเป็นตัวเงินลงมา 40,000 บาท แต่เป็นช่วงที่สมาชิกยังไม่พร้อมที่จะทำการผลิตเพราะส่วนใหญ่ยังไม่กลับจากทำงานที่กรุงเทพ จึงได้นำเงินมาให้สมาชิกกู้ยืมโดยทางกลุ่มคิดดอกเบี้ยร้อยละบาท  นางปรีชากล่าว

 

เสียงสะท้อนเหล่านี้จึงดูไม่สอดคล้องและเป็นไปตามคำโฆษณาของรัฐบาลที่ว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มียอดขายมหาศาล ทะยานจาก 200 กว่าล้าน เมื่อปี 2544 เป็น 50,000 กว่าล้านในปีนี้ (2549) และอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะพุ่งขึ้นเป็นแสนล้าน  โดยโครงการนี้มีชุมชนได้รับประโยชน์ 36,000 ชุมชนทั่วประเทศ   

 

เมธาวี  นินนานนท์   เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น อ.เดชอุดม  .อุบลราชธานี เปิดเผยว่า  โครงการโอท็อปนั้นไม่ได้ประสบผลสำเร็จทั้งหมดตามที่รัฐกล่าวอ้าง แต่ที่เห็นโชว์ในงานแสดงสินค้าหรือร้านค้าต่างๆ นั้นเป็นผลสำเร็จของเป็นของกลุ่มที่มีทุนหนา ส่วนกลุ่มที่อยู่ระดับรากหญ้าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ  รูปแบบการยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็น 2 ดาว 3 ดาวนั้น ตนเห็นว่าเป็นการกีดกันพัฒนาการของกลุ่มรายย่อย กล่าวคือคนที่ไม่ได้ดาวก็จะเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเพื่อที่จะนำมาพัฒนางานต่อ  ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็จะมุ่งส่งเสริมกลุ่มที่มีดาวเป็นหลัก

 

" ที่ผ่านมาแนวทางการส่งเสริมไม่ได้สอดคล้องกับคนรากหญ้า  แต่เอื้อกับกลุ่มธุรกิจชุมชนมากกว่า  ดังนั้นกลุ่มที่ได้ดาวก็จะเป็นเพียงกลุ่มเดิม ๆ   ส่วนกลุ่มที่ไม่มีดาวก็จะไม่กล้าเปิดเผยผลงานของตนทำให้ขาดกำลังใจที่จะสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง  สุดท้ายกลุ่มก็จะสลายตัวไปเหลือเพียงกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีทุนหนาถึงจะดำรงอยู่ได้ "  เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น จ.อุบลราชธานี กล่าว        

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าตัวเลขยอดขายมหาศาลที่รัฐบาลนำมาอวดอ้างนั้นในความเป็นจริงแล้วใครคือผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง  มายาภาพที่เจ้าหน้าที่รัฐนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ว่ารัฐได้ส่งเสริมกลุ่มโอท็อปชุมชนให้เข้มแข็งนั้นแท้จริงแล้ว โอท็อปชุมชนรากหญ้าจริง ๆ  ได้รับอานิสงค์จากโครงการนี้สักกี่ราย...?
          

ยางพารา  ความจริงที่รัฐไม่เปิดเผย

 

บทเรียนความล้มเหลวจากการส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว ได้สร้างความบอบซ้ำให้กับภาคเกษตรกรรมมายาวนาน นับตั้งแต่การส่งเสริมให้ปลูกปอ  มันสำปะหลัง  อ้อย  และพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ จนที่สุดเกษตรกรภาคชนบทที่ถูกความผันผวนของราคาฉุดกระชากดำดิ่งลงสู่วังวนของหนี้สิน  โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยจนเป็นที่มาของคำว่า  ลูกจ้างใส่ทอง  เจ้าของไร่ใส่โซ่  ซึ่งหมายถึงคนต่างถิ่นที่มารับจ้างก็จะรับเงินรายวันไป   ส่วนเจ้าของไร่กลับถูกโซ่พันธนาการของโรงงานเนื่องจากไปกู้เงินออกมาก่อน 

 

จนถึงปัจจุบันแม้หลายคนจะเลิกปลูกอ้อยไปหลายสิบปีแล้วแต่ก็ยังต้องตามใช้หนี้โรงงานอย่างไม่รู้วันสิ้นสุด  ร่องรอยความเจ็บปวดเหล่านั้นควรยิ่งที่รัฐบาลจะหยิบยกขึ้นมาทบทวนก่อนตัดสินใจส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวชนิดใหม่

 

ยางพารา พืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ ที่น่าจับตา

 

แม้ว่ายางพาราจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนอีสานเพราะจากการศึกษาพบว่า ยางพาราได้เข้ามาในอีสาน 40 - 50 ปีมาแล้วโดยคนที่ไปรับจ้างกรีดยางภาคใต้ได้นำกลับมาปลูกเพราะเห็นว่าเป็นไม้แปลกแต่ไม่ได้มุ่งเน้นปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจแต่อย่างไร

 

กระทั่ง สถาบันวิจัยยางเห็นว่าภาคอีสานปลูกยางได้จึงทดลองปลูกเพื่อศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง  เมื่อปี 2521  เปิดหน้ายางเมื่อปลายปี 2527  และพบว่าแม้ภาคอีสานจะมีวันกรีดมากกว่าภาคใต้แต่ปริมาณที่กรีดได้แต่ละวันจะน้อยกว่าเพราะปริมาณน้ำฝนน้อย  แต่ผลจากการศึกษาพบว่ายางมีคุณภาพไม่ต่างจากภาคใต้  รัฐบาลจึงได้มีมติ ครม. 20 มิ.. 2532 ให้ สกย.ส่งเสริมการปลูกยางในภาคอีสานโดยให้ทุนให้เปล่า 2  ปีครึ่งแก่เกษตรกร  แต่เมื่อครบกำหนดยางไม่สามารถกรีดได้จึงได้ขยายทุนให้เปล่าเพิ่มเป็น 7 ปีครึ่งโดยให้พันธุ์ยาง  ปุ๋ย  เงินค่าแรงงานเกษตรกรไร่ละ 4,621.50 บาท รายละไม่เกิน 14 ไร่  กำหนดพื้นที่ 150,000 ไร่  กระทั่งปี 2544 รัฐบาลจึงยุตินโยบายให้เงินทุนให้เปล่าเพราะเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นเรียกร้องทุนแบบให้เปล่าบ้าง

 

พัฒนาการดังกล่าวจะเห็นว่าเกษตรกรภาคอีสานที่สามารถกรีดยางได้ในปัจจุบันนั้น ได้เริ่มทดลองปลูกมาก่อนหน้านี้แล้วไม่น้อยกว่า 5 - 10 ปีคืนหลัง  จังหวะราคายางในปัจจุบันที่สูงมาก   ทำให้เกษตรกรเริ่มตื่นตัวหันมาสนใจปลูกยางพารากันอย่างคึกคักตลอดระยะเวลา 1- 2 ปีที่ผ่านมานี้  พร้อมกับการโหมโรงของรัฐบาลที่คาดว่าราคายางพาราจะสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก

 

นายเทพเจริญ   สินศิริ  ผู้ใหย่บ้านหมู่ 12  .บักดอง  .ขุนหาญ  .ศรีสะเกษ  กล่าวว่า  ตนปลูกเริ่มปลูกยางมาตั้งแต่ ปี 2534  โดยการส่งเสริมของเกษตรอำเภอ  ตอนแรกส่งเสริมให้ชาวบ้านคนละ 10 ไร่ แต่ตนให้ 20 ไร่ โดยทางเกษตรอำเภอให้พันธุ์ยาง  ให้ปุ๋ย  ค่าแรงขุดหลุม  ค่าไถ  ค่าพรวนดิน  โดยปลูกแทนแปลงที่เคยปลูกมันสำปะหลัง   ช่วง 3 ปีแรกก็ยังปลูกมันสำปะหลัง และถั่วลิสงแซมอยู่ แต่ตนพบว่าหากปลูกมันสำปะหลังแซมยางจะไม่ค่อยโตจึงหยุด จึงปลูกเพียงไม้พุ่มขนาดเล็กเช่น ถั่วลิสง

 

นายเทพเจริญ เล่าต่อว่า สวนยางของตนเปิดกรีดไม่พร้อมกัน บางแปลง 7 ปี ส่วนแปลงที่ดินไม่ดีก็ยืดเป็น 10 ปี  เปิดกรีดปีแรกประมาณปี 2541 ราคาช่วงนั้น กิโลกรัมละ 25 บาท เนื่องจากดินเสื่อมคุณภาพจากการปลูกมันสำปะหลังมาก่อนจาก 20 ไร่จึงเหลือเพียง 15 ไร่ ที่ผ่านมากรีดได้ระหว่าง39 - 53 แผ่น กรีด 2 วันหยุด 1 วัน  หยุดกรีดเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน คือ 1 ปี หยุด 3 เดือน ช่วงหน้าฝนวันฝนตกก็กรีดไม่ได้  ถ้ากรีดอยู่ฝนตกก็ต้องหยุดกรีดและเก็บยางไปทำเป็นขี้ยางขาย ซึ่งราคาก็ต่ำกว่ายางแผ่น  ส่วนการดูแลก็มีค่าปุ๋ยไร่ละ  2 กระสอบต่อปี

 

"ตอนนี้หมู่บ้านเปลี่ยนไปมาก บ้านหลังใหญ่ขึ้น มีรถกระบะ  รถมอเตอร์ไซค์เยอะ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นวัยรุ่นไม่ไปขายแรงงานต่างถิ่นส่วนใหญ่กรีดยางอยู่ที่บ้าน  ที่ผ่านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดต่าง ๆ มามากแล้วต้นทุนสูงราคาต่ำไม่คุ้มทุน แต่พอตัดสินใจปลูกยางความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น " นายเทพเจริญ กล่าว

 

หากมองเพียงปรากฏการณ์ที่เห็นนี้ย่อมเป็นสิ่งเร้าสำคัญให้เกษตรกรรายอื่นคล้อยตามและตัดสินใจทุ่มทุนปลูกยางพาราบ้าง  โดยลืมไปว่าเจ้าของสวนยางเหล่านั้น ที่พวกเขาประสบผลสำเร็จได้เพราะเงินทุนให้เปล่าของรัฐบาลไม่ใช่เงินทุนตัวเอง 

 

นายสิง  ยี่เข่ง  บ้านโป่งน้อย  .คอนสาย อ.ตระการพืชผล  .อุบลราชธานี  เจ้าของสวนยางที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกย.ที่เปิดหน้ายางมาแล้ว3 ปี ได้พูดเตือนสติคนที่เพิ่งจะเริ่มปลูกยางใหม่ ว่า    การปลูกยางพาราต้องใช้เงินทุนสูงมากและต้องลงทุนระยะยาวคือประมาณ 5 - 7 ปี บางพื้นที่เป็น 10 ปี  หากไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลก็คงยากที่เกษตรกรจะปลูกเองได้

 

"ที่จริงตนไม่กล้าบอกคนอื่นตรง ๆ อย่างนี้หรอก   เดี๋ยวเขาหาว่าพอตัวเองทำได้ก็จะกีดกันคนอื่น แต่จากประสบการณ์ของคนที่ทำมาก่อน  ก็อดเป็นห่วงไม่ได้โดยเฉพาะคนที่ลงทุนเอง  เพราะต้นทุนสูง กล้ายางไร่ละ 90 ต้น ๆ ละ 16 บาท  ใส่ปุ๋ยไร่ละ 1,000 บาทต่อปี ฉีดยาฆ่าหญ้า  ถ้าไม่ฉีดเองก็ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานอีก  อย่างไร่ติดกัน เริ่มปลูกเมื่อปี 47 ลงทุนเอง ประมาณ 90 ไร่ แค่ 2 ปีกว่าหมดเงินไปแล้ว  9 แสนบาท และกว่าจะได้กรีดอีก3 - 5 ปี ที่ต้องคอยดูแลต่อไปจนกว่าจะได้กรีดต้องลงทุนอีกเท่าไหร่  พอถึงวันเปิดหน้ายางก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก คือซื้อถ้วยรับน้ำยาง  ลวดรัดถ้วย  กระป๋องตวง  ไม้กวาดน้ำยาง มีดกรีดยาง  และที่สำคัญคือเครื่องรีดยาง  โรงอบยาง อนาคตหากยางราคาไม่ดีเหมือนปัจจุบัน จะทำให้เกษตรกรที่ลงทุนเอง เป็นหนี้สินล้นตัว สำรับคนที่เอาที่ดินไปจำนองไว้กับนายทุน  สุดท้ายที่ดินก็จะหลุดมือไปในที่สุด"  นายสิงกล่าว

 

ไม่เพียงแต่เรื่องการลงทุนเท่านั้น ยางพารายังเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ อีกมากมายหากจะไล่เรียงดูจะพบว่า ปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพราะยางพาราเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  การทำสวนยางของไทยที่ผ่านมาเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยว  เพื่อสะดวกในการดูแลจัดการเจ้าของสวนจึงใช้ยาฆ่าหญ้าและทำลายพืชชนิดอื่นทำให้พื้นที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ  และเมื่อฝนตกลงมาจะซะล้างสารเคมีเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อสะสมไปนาน ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในชุมชน

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีการบุกรุกที่สาธารณะ  ที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม  และป่าหัวไร่ปลายนาซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนเพื่อปลูกยางเช่นกรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติโคกผาดำ  ป่าโคกหนองข่าและป่าภูบ่อบิดบ้านหนองแคน ม.9 .นาด้วง อ.นาด้วง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 10,000 ไร่โดยมีนายทุนและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในท้องถิ่นและต่างถิ่นหลายคน โดยใช้รูปแบบต่าง ๆ เช่นการซื้อต่อจากชาวบ้านที่บุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดมาก่อนแบบปากเปล่า  บางแห่งมีผู้นำหมู่บ้านเป็นพยานขายในราคาตั้งแต่ไร่ละ 2,000 - 4,000 บาท  ทั้งนี้ยังมีคนต่างชาติมากว้านซื้อที่ดินโดยผ่านญาติพี่น้องภรรยาที่เป็นคนไทยเพื่อปลูกยางพารา

 

การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราโดยมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่มองบริบทด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นบทสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลทั้งที่ได้ประกาศนโยบาย ส่งเสริมเกษตรกรรมแบบพอเพียง  เกษตรอินทรีย์ มาตลอด

 

หากรัฐบาลไม่อยากเห็นเกษตรกรกลับเข้าสู่วังวนหนี้สินอย่างเก่าจะต้องหันกลับไปทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา ไม่ใช่ตระบันเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแบบจิงโจ้ ตามที่ท่านผู้นำประเทศกล่าว ย่อมสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำพาประเทศไปสู่หายนะ.

 

เบญจา ศิลารักษ์

มนูญ มุ่งชู

สำนักข่าวประชาธรรม / แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท