ประสบการณ์จาก"มินดาเนา" เขตปลอด "ทหาร-ผู้ก่อการ" วิธีแก้ปัญหาของรากหญ้า


บาทหลวงโรเบโต ซี เลซัน
ภาพจาก www.tjanews.com


วันอังคารที่ 31 มกราคม 2006 15:48น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

การใช้รากหญ้าแก้ปัญหารากหญ้าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างละเอียด จากความสำเร็จและประสบการณ์ของชุมชนเล็กๆใน "โกตาบาตูซิตี้" ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ชาวบ้านที่นี่ขอให้กองกำลังทุกฝ่ายทั้งทหารรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคริสเตียนและกองกำลังขบวนการอิสลามปลดปล่อยชาติโมโร (Moro Islamic Libration Front : MILF) ซึ่งเป็นมุสลิม ถอนกำลังออกจากชุมชน เพื่อลดความหวาดระแวงต่อกันของสมาชิกในชุมชนซึ่งมีทั้งคริสเตียนและมุสลิม

 

ความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาของสังคมที่หลากหลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นผู้ที่จะแก้ปัญหาต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเชื่อและหลักปฏิบัติในหลักศาสนานั้น ๆ เสียก่อน หากเข้าไปแก้โดยไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการจะทำให้ยิ่งแก้ยิ่งยากและปัญหาจะบานปลาย การมอบหน้าที่ให้ชุมชนแก้ปัญหาชุมชนด้วยกันน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชนเองมากที่สุด

 

ในเวทีวิชาการ"สันติสัมมนาเพื่อความเป็นหนึ่ง" กระบวนการสร้างสันติภาพและการวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับอาเจะห์และมินดาเนา ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซีย รัฐปีนัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากพื้นที่ซึ่งเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา โดยมีนักวิชาการด้านสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศเข้าร่วมสัมมนา

 

การสัมมนาครั้งนี้ บาทหลวงโรเบโต ซี เลซัน ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์เตแดม ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของชุมชนในการอยู่ร่วมกันระหว่างชนสองศาสนา ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบระหว่างทหารรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคริสเตียนและกองกำลังขบวนการอิสลามปลดปล่อยชาติโมโร (Moro Islamic Libration Front : MILF) ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

 

บาทหลวงโรเบโต เล่าให้ฟังว่า "เดิมชุมชนนี้เป็นชุมชนมุสลิม แต่ชาวคริสเตียนเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองนี้ประมาณปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ.2456) แต่ชนทั้งสองศาสนาต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มเริ่มห่างเหินหลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในช่วงปีค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513)"

 

ในความเห็นของคุณพ่อโรเบโต ซึ่งทำงานอยู่ในชุมชนแห่งนี้ นับตั้งแต่ความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มชนทั้งสองเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 เป็นต้นมาท่านได้ประจักษ์ถึงบางสิ่งบางอย่างในความรู้สึกของประชาชนทั้งสองกลุ่ม แม้ในสถานการณ์ความขัดแย้งภายนอกที่เห็นอยู่จะเป็นความรุนแรงที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นสิ่งที่มองเห็น ไม่น่าหวาดหวั่นวิตกเท่ากับความขัดแย้งหรือสงครามที่ซ่อนอยู่ภายในใจของประชาชน

 

"สงครามที่ก่อตัวขึ้นในจิตใจของประชาชนเป็นสงครามที่มองไม่เห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ลบออกจากหัวใจของประชาชนให้ได้ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิด" ผอ.สถาบันสันติศึกษามองปัญหาลงลึกที่รากเหง้าของความขัดแย้ง

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุปัจจัยที่มาจากหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ดังนั้นการทำสนธิสัญญาสันติภาพเป็นเพียงภาพการแก้ปัญหาด้านเดียวเท่านั้น ดังนั้นรัฐควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนสองศาสนาว่าต้องการอะไร

 

"การสอบถามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเพื่อนำมาเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำและยอมรับจากผลการสำรวจ" คุณพ่อโรเบโต กล่าววิธีการที่ดีสุดสำหรับการแก้ปัญหาชนชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กองกำลัง

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขภาวะแห่งความหวาดระแวง เพื่อสกัดกั้นความรุนแรงที่อาจเกิดตามมานั้น นอกจากการสอบถามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแล้ว บาทหลวงโรเบโตเห็นว่าสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ชุมชนควรที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตัวเอง

 

ซึ่งนำมาถึงการประกาศให้ชุมชนแห่งนี้เป็น "Peace Zone" หรือ "เขตสันติภาพ" ไร้ซึ่งกองกำลังทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทหารรัฐบาลฟิลิปปินส์ หรือกลุ่ม MILF เพื่อให้สมาชิกในชุมชนทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

 

"สมาชิกในชุมชนขอร้องให้กลุ่มนักรบ MILF และทหารรัฐบาลออกจากพื้นที่ไปเพราะทั้งสองฝ่ายเป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ของเรา ที่สำคัญการทำแบบนี้ก็เพื่อสร้างความรู้สึกของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างชีวิตใหม่ โดยต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย เราต้องเปลี่ยนทัศนะคติของประชาชนไม่ให้มองเพื่อนต่างศาสนาหรือเพื่อนบ้านของเราว่าปัญหามาจากทหารที่เป็นคริสเตียนหรือสมาชิกขบวนการโมโรที่เป็นมุสลิมเพราะทั้งสองฝ่ายสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านกันทั้งนั้น"

 

นี่คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการขจัดความขัดแย้งด้วยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนตัดสินใจเลือกวิถีทางที่เหมาะสมของพวกเขาเอง ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลฟิลิปปินส์และกบฏ MILF ชุมชนแห่งนี้แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของสถานการณ์นี้เลย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท