Skip to main content
sharethis


นายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกตระกูลชินวัตร



 


 


ประชาไท - 2 กพ. 48       เมื่อวันที่1 ก.พ. เมื่อเวลา 11.00 น. นายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ แถลงชี้แจงข้อสงสัยในกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น ของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร มูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาทว่า


 


กรณีแรกที่มีการสงสัยในกรณีการถือหุ้นแอมเพิล ริช ของ นายพานทองแท้ และน.ส. พิณทองทา นั้น เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการถือหุ้นของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2542 โดยถือหุ้น 100% วัตถุประสงค์ของแอมเพิล ริช คือ การรับโอนหุ้นของชินฯ จำนวน 32.92 ล้านหุ้น เพื่อเตรียมนำเข้าไปซื้อขายในตลาดแนสแดค ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัยนั้นพาร์ 10 บาท แต่ต่อมาภายหลังได้มีการแตกพาร์ จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท จำนวนหุ้นจึงกลายเป็น 329.2 ล้านหุ้น


 


เหตุผลที่จะต้องใช้แอมเพิล ริช แตกพาร์ คือการเอาหุ้นไปเข้าตลาดแนสแดคนั้น ทางอเมริกาบังคับว่าจะต้องเป็นหุ้น Foreign Board คือเป็นหุ้นอยู่ในกระดานต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ก็จะมีต่างประเทศมาซื้อขาย เวลาจะต้องการหุ้น Foreign Board ตรงนี้เป็นการเตรียมการเอาไว้ ซึ่งในปี 2542 สภาพตลาดแนสแดคกำลังโด่งดังมาก แต่พอเข้าช่วงปี 2543 ตลาดแนสแดคก็ตกต่ำ จึงชะลอเรื่องนี้ไว้ ฉะนั้นการชะลอนี้ทำให้หุ้น 32.92 หุ้นก็ยังอยู่กับบริษัท แอมเพิล ริช จนมาถึงปัจจุบัน


 


นายสุวรรณ กล่าวต่อว่า การถือหุ้นแอมเพิล ริช 100% ของนายกรัฐมนตรีมีการแจ้งทาง ก.ล.ต.หนังสือลงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ต่อมา ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขายหุ้นแอมเพิล ริช ทั้งหมดให้กับบุตรชาย คือนายพานทองแท้ ชินวัตร โดย ก.ล.ต.เคยทำเรื่องสอบถามมา ซึ่งทางบริษัท แอมเพิล ริช เองมีการแจ้งยืนยัน ก.ล.ต.ไปเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ดังนั้น เรื่องแอมเพิล ริช ก.ล.ต.รับทราบมามาตลอด


 


ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 บุตรสาวของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวพิณทองทา ชินวัตร ก็ได้เข้ามาแบ่งถือหุ้นไป 20% ข้อมูลพวกนี้สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด


 


ประเด็นต่อมาคือ การซื้อขายหุ้นนี้มีภาษีต้องเสียหรือไม่ นายสุวรรณ อธิบายว่า แอมเพิล ริช ได้รับโอนหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาพาร์ 10 บาท เมื่อแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ราคาทุนจึงลดจาก 10 บาท เหลือ 1 บาท และเป็นราคาทุนมาตลอด โดยตอนโอนหุ้นชินไปเข้าแอมเพิลริชเมื่อปี 2542 นั้น ผ่านตลาดหลักทรัพย์ และมีการใช้โบรกเกอร์ ทั้งนี้การที่เอาหุ้นออกไปอยู่ที่แอมเพิลริช ก็เพื่อรอเข้าตลาดแนสแดคดังที่กล่าว แต่ถ้าแผนการตลาดเนิ่นนานออกไป หรือยกเลิกแผน ก็หารือกันด้วยว่าควรจะเอาหุ้นกลับไทยหรือไม่อยู่แล้ว ไม่ใช่โอนหุ้นกลับมาโดยไม่ขายตรงกับเทมาเส็กเพื่อเลี่ยงภาษี


 


จนเดือนมกราคมที่ผ่านมา หุ้นที่โอนไปยังไม่ได้เข้าตลาดแนสแด็ก แอมเพิล ริช ก็เลยขายหุ้นชินคืนให้กับ นายพานทองแท้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 80% และนางสาวพิณทองทา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 20% และเป็นการขายในราคาทุนเหมือนกัน เพราะว่า แอมเพิล ริช ซื้อมาในราคาทุน 1 บาท ก็เลยขายคืนในราคาทุน 1 บาท เหมือนกันตามราคาพาร์ แล้วก็เอาหุ้นนั้นกลับมาในประเทศไทย จริงๆ


 


ดังนั้นเมื่อหุ้นชินฯ ขายคืนมาในราคา 1 บาท ตามราคาพาร์ ก็หมายความว่าขายเท่าทุน ซึ่งการขายเท่าทุนก็แปลว่าไม่มีผลกำไร ก็คือไม่มีภาระภาษีที่ต้องเสีย


 


นอกจากนี้ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เคยมีหนังสือสอบถาม หารือไปที่กรมสรรพากรเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดว่า แอมเพิล ริช ขายมาให้นายพานทองแท้ กับนางสาวพิณทองทา ในราคาพาร์ 1 บาท และเป็นการขายนอกตลาด ต่อจากนั้นทั้งสองก็โอนหุ้นขายไปเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 มีกำไร แต่ว่าเป็นการขายหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเสียภาษีประการใดหรือไม่ กรมสรรพากรมีหนังสือตอบยืนยัน เลขที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 บอกว่า การขายไม่มีภาษีอะไรทั้งสิ้นเลย


 


เปิดโอกาสให้ถาม แต่ตอบไม่เคลียร์


หลังฟังการชี้แจง ผู้สื่อข่าวถามถึงความชอบธรรมซึ่งจะมีผลกระทบต่อสังคม จริยธรรม เรื่องการทำธุรกิจที่ดี และการเป็น Good governance นายสุวรรณตอบเลี่ยงว่าไม่เก่งเรื่องการเมือง และไม่ได้มาพูดประเด็นเรื่องจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามหลักของหุ้นที่มีข้อกังขาว่าต้องเสียภาษีหรือไม่เท่านั้น ทั้งนี้ ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มชินฯเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปประมาณ 50,000 ล้านบาท และครอบครัวชินวัตร ครอบครัวดามาพงศ์ มีเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือเสียภาษีส่วนตัว ตลอดมาประมาณ 3,000 ล้านบาท


 


ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตและถามต่อว่า สาเหตุที่แอมเพิล ริช ขายหุ้นคืนให้กับนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทา เป็นเพราะกฎหมายสิงคโปร์ไม่อนุญาตให้มีการซื้อหุ้นจาก nominee   ใช่หรือไม่ นายสุวรรณตอบเลี่ยงอีกครั้งว่าเรียนแต่กฎหมายไทย จึงไม่ทราบกฎหมายสิงคโปร์ ส่วนการที่มีการโอนหุ้นเข้ามาเมื่อวันที่ 20 มกราคม นั้นเป็นเรื่อง execution


  


อีประเด็นหนึ่งที่ นายสุวรรณไม่สามารถชี้แจงสื่อได้เคลียร์ คือเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ที่ให้นางสาวพิณทองทาแบ่งถือหุ้น 20 %มีหลักฐานหรือไม่เพราะมีนัยสำคัญ เช่นหากถือหุ้น 30% ก็ถือว่าเป็นบุคคลตามมาตรา 258 คือเป็นบุคคลคนเดียวกันกับแอมเพิล ริช


 


นายสุวรรณเพียงตอบยืนยันว่าถือแค่ 20 %ซึ่งไม่มีข้อมูลในประเทศไทย  ต้องไปดูทะเบียนผู้ถือหุ้น


หรือสอบถามเองกับทางครอบครัวโดยนายสุวรรณรับปากกับสื่อมวลชนว่าจะไปถามต่อให้ ส่วนข้อกังขาที่ว่า นายพานทองแท้ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หรือไม่ นายสุวรรณก็โบ้ยให้ไปถาม ก.ล.ต.เอาเอง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะรับโอนหุ้น 329.2 ล้านหุ้น คุณพานทองแท้ถืออยู่ 9.97 เปอร์เซ็นต์ คุณพิณทองทาถืออยู่ 14.93 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอรับโอนมาจากแอมเพิล ริช แล้ว รับโอนมาคนละ 5.49 ก็เลยกลายเป็นว่า คุณพานทองแท้ ถืออยู่ 15.49 และคุณพิณทองทา ถืออยู่ 20.15 เปอร์เซ็นต์ โดยได้แจ้งกับ ก.ล.ต.แล้วแต่ ไปติ๊กข้อผิดว่าซื้อขายผ่านตลาด จริงๆ แล้วเป็นการโอนนอกตลาด  


  


ก.ล.ต.ศอกกลับ'สุวรรณ"ยังไม่พบหลักฐานทักษิณโอนหุ้นให้ลูก


  


นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในส่วนที่ นายสุวรรณ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับ ก.ล.ต. นั้นยังไม่เชื่อทั้งหมดต้องมีการเช็คและตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่ามีเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่


 


ทั้งนี้ ในประเด็นที่ นายสุวรรณ ได้อ้างว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขายหุ้นแอมเพิล ริช ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร ทั้ง 100% นั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการรายงานการซื้อขายแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ก.ล.ต.กำลังเช็คข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง อาจจะเป็นไปได้ว่าในช่วงที่มีคดีซุกหุ้น ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายตรวจสอบและคดีของ ก.ล.ต.มีการขอข้อมูลในทางลับ ซึ่งไม่สามารถที่จะเปิดเผยต่อประชาชนได้


 


นอกจากนี้นาย นายชาลี เปิดเผยอีกว่า พบความผิดในการรายงานการได้มาและจำหน่ายหลักทรัพย์(แบบ 246-2)และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ(แบบ 247) ซึ่ง ก.ล.ต.คาดว่าจะสามารถสรุปการตรวจสอบความผิดในแบบรายงานทั้ง 2 ประเภทได้ภายใน 7 วัน แต่การขอเอกสารเพิ่มเติมในอีกประเด็นอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น


 


ก.ล.ต.ยังจะต้องตีความว่านายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ถือเป็นบุคคลคนเดียวกันตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 258 หรือไม่ หากถือเป็นบุคคลเดียวกันก็จำเป็นต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ชินคอร์ปอเรชั่น หลังจากที่รับโอนหุ้นมาจากแอมเพิล ริช ซึ่งทำให้ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 25% ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญที่จะต้องไปพิจารณาว่ามีเจตนาใดในการแจ้งหรือไม่


  


ส่วน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่2 ก.พ. ตลาดหลักทรัพย์ฯแถลงข่าวเกี่ยวกับบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น พร้อมกับอธิบดีกรมสรรพากร เวลา 10.30 ณ กระทรวงการคลัง


 


ภาษีหุ้นชินต้องจบที่ศาลปกครอง


 


นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึง กรณีที่โฆษกตระกูลชิวัตร และดามาพงษ์ ระบุว่าบุตรชายและบุตรสาวของนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นตามกรมสรรพากรว่า กรมสรรพากรไม่มีหน้าที่ชี้ขาดว่าใครควรจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษี เพราะผู้ที่มีอำนาจชี้ขาดคือศาลปกครอง หรือศาลภาษีอากร เนื่องจากกรมสรรพากรสังกัดภายใต้ฝ่ายบริหารและคอยตรวจสอบว่าเป็นการใช้อำนาจโดยถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจบที่ศาลเป็นผู้วินิจฉัย


 


 


  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net