40 ปีความปรองดอง อนุสรณ์แห่งสมานฉันท์

 
ภาพจาก www.tjanews.org

 

โดย ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

3 ก.พ. 2549 อนุสาวรีย์ตั้งเด่นสง่าอยู่ด้านหน้ากองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 จ.ยะลา สถานที่บ่มเพาะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บนแผ่นดินแห่งความแตกต่างหลากหลายระหว่างชาติพันธ์และศาสนา

 

รูปปั้นชายในเครื่องแบบตำรวจ ยืนกอดคอเด็กหนุ่มมุสลิมที่สวมหมวกซอเก๊าะคาดผ้าซิรินแนหรือโสร่งทับกางเกงขายาว ตามแบบฉบับของการแต่งกายแบบชาวไทยมลายู และ หนุ่มน้อยที่สวมชุดสุภาพเรียบง่ายแบบพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ใกล้ชิดวัดวาอาราม เสมือนสิ่งเตือนใจให้ลูกผู้ชายที่ผ่านสถานศึกษาแห่งนี้ ออกไปทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่อย่างเสมอภาคเท่าเทียม

 

 

หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากความไม่ปรองดองและไม่ลงรอยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจกับชาวบ้านยังมีพัฒนาการที่พุ่งลงในแนวดิ่ง เพราะความไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐที่มีตำรวจเป็นผู้ถือกฎหมายไม่ได้ทำให้ชาวบ้านไว้วางใจ การดึงมวลชนเข้ามาเป็นพวกพ้องเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงยังกลายเป็นความเพ้อฝันที่ไร้ขอบเขต

 

นั่นคือ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่ดินแดนไทย-มลายู บนพื้นดินของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แต่หากเหลียวหลังกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน ความสัมพันธ์ระหว่าง ตำรวจ กับ ชาวบ้าน ไม่ว่าจะ มุสลิม หรือ พุทธ ในดินแดนแห่งนี้ จะเห็นว่าแม้มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอันเป็นบรรยากาศที่แสนหวานสดชื่นก็ตาม แต่ความกลมเกลียว และสมานฉันท์ที่ต่างฝ่ายต่างวิ่งค้นหากันในขณะนี้ ก็มีให้หยิบจับได้อย่างแสนง่ายดาย

 

หากใครจะเสียเวลาสังเกตสักนิด โดยการมองลอดประตูรั้วของ โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 อ.เมือง จ.ยะลา ผ่านป้อมยามรักษาความปลอดภัยที่มีตำรวจกำปืนยาวตรวจรถยนต์ และคนเข้าออกด้วยท่าทางขึงขัง และยอมมองเลยไปไกลอีกนิดหน่อยสักไม่เกิน 100 เมตร ผ่านแนวรั้วกั้นป้องกันคาร์บอมออกไป ก็จะเห็นว่ามีอนุสาวรีย์แห่งหนึ่งถูกตั้งตากแดดตากฝนอยู่อย่างโดดเด่น เห็นชัดถนัดตา

 

นั่นคือ สัญลักษณ์แห่งความกลมเกลียวกันระหว่าง ไทยพุทธ กับ ไทยมุสลิม เป็นความกลมเกลียวกันของ ตำรวจ กับ ชาวบ้าน ที่อยู่กันด้วยปรองดองและสมานฉันท์เมื่อ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา จนต้องสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกถึงความผูกพันของ ชายที่สวมชุดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กับ เด็กหนุ่มมุสลิมที่สวมหมวกซอเก๊าะคาดผ้าซิรินแนหรือโสร่งทับกางเกงขายาว ตามแบบฉบับของการแต่งกายแบบชาวไทยมลายู และ หนุ่มน้อยที่สวมชุดสุภาพเรียบง่ายแบบพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ใกล้ชิดวัดวาอาราม

อนุสาวรีย์อันเป็นงานประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของ อาคารที่ทำการ กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร 9 ถนนสุขยางค์ กลางเมืองยะลา ถูกบรรจงสร้างขึ้นด้วยฝีมือศิลปินในท้องถิ่นโดยการว่าจ้างจากโรงเรียนตำรวจภูธร 9 เมื่อราวปี 2509 ซึ่งครั้งนั้นผืนแผ่นดินแห่งนี้ยังไม่ได้ถูกฉาบด้วยความรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คงมีแต่ความกลมเกลียวที่แลเห็นได้ชัดถนัดตา อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงกำเนิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันและอยู่ด้วยกันอย่างแนบแน่นระหว่างตำรวจกับชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

"เรียกได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่แสดงถึงความกลมเกลียวกัน ระหว่างพุทธ กับ มุสลิม และตำรวจ กับ ชาวบ้าน เชื่อได้เลยว่ามันเป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวที่มีมุสลิมร่วมอยู่ด้วย โดยมีตำรวจยืนกอดคอกันอยู่" พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ วิเชียรสรรค์ ผู้กำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร 9 บอกให้ฟังด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ พร้อมทั้งอธิบายลักษณะของอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารที่ทำงานของเขา

 

พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ บอกด้วยว่า ปกติแล้วอนุสาวรีย์ตำรวจทั่วไปที่พบเห็นจะเป็นรูปตำรวจอุ้มเด็กที่เราเห็นกันอย่างแพร่หลายจนชินตา ซึ่งตั้งอยู่หลายที่ไม่ว่าจะมี กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือถูกจำลองให้มีขนาดเล็กลงตั้งอยู่ตามห้องทำงานของตำรวจทั่วไป แต่อนุสาวรีย์ที่นี่แตกต่างอย่างที่อื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากมันจะแสดงให้เห็นว่าตำรวจอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนแล้ว มันยังแสดงให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมด้วย

 

  เขาเล่าให้ฟังถึงต้นกำเนิดของอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นราวปี 2509 เมื่อครั้งมี พ.ต.ท.เฉลิม ร่าเริงใจ เป็นผู้กำกับการ ครั้งนั้นโรงเรียนแห่งนี้มาสร้างขึ้นใหม่หลังจากย้ายมาจากบริเวณที่เป็นที่ตั้งของค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในปัจจุบัน หลังจากสร้างโรงเรียนขึ้นได้ไม่นาน คณะผู้บริหารโรงเรียนสมัยนั้นเห็นว่านักเรียนพลตำรวจมีนักเรียนทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ขณะเดียวกันนักเรียนก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน มีชาวบ้านมาขอแรงไปช่วยกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งงานบุญในวัด และงานในมัสยิดของศาสนาอิสลาม หรือการเข้าไปบูรณะโรงเรียนปอเนาะ จึงคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น

 

  พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ บอกต่อว่า ผู้บริหารโรงเรียนยุคนั้นจึงได้ติดต่อกับ นายพุ่ม ศฤงคาร ศิลปินท้องถิ่น ซึ่งสมัยนั้นเป็นอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ อยู่ที่วิทยาลัยครูจังหวัดยะลา ให้มาออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้ระหว่าง ตำรวจ และ ชาวบ้านไทยพุทธ และ ไทยมุสลิม กระทั่งได้แบบออกมาเป็นรูปตำรวจกอดไหล่กับเด็กชายชาวพุทธและเด็กชาวมุสลิมที่แต่งชุดแบบมลายูท้องถิ่น และลงมือสร้างและตั้งขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ให้เห็นถึงความปรองดองของชาวบ้านและตำรวจในพื้นที่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

"ผมย้ายมาประจำที่นี่เมื่อ 4 ปีก่อนก็เห็นอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่แล้ว ผมก็เห็นว่าแปลกดีเหมือนกัน เพราะไม่เคยเห็นที่ไหน พอหลังจากเกดสถานการณ์รุนแรงในภาคใต้ ทำให้คิดได้ว่ามันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองในพื้นที่ได้อย่างทีเดียว" ผู้กำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร 9 กล่าว

 

 ผู้กำกับคนเดิมแสดงความเห็นว่า อยากให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ด้วยกันได้ของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าทุกคนจะนับถือต่างศาสนา และทำหน้าที่กันคนละอย่าง เพราะที่ผ่านมา 40 ปีที่แล้วก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าชาวบ้านกับตำรวจอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่เป็นปัญหา และมีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนเช่นตอนนี้

 

"ก่อนหน้านี้ผู้บัญชาการ (พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผบช.ภ.9) ก็ได้พัฒนาหน่วยงานไปมากแล้ว และยังมีโครงการที่จะพัฒนา โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 ด้วย เพราะปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ด้วย ผมจึงคิดว่าจะเสนอให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสมานฉันท์ เพราะ ไม่ว่า ตำรวจ ชาวบ้าน พุทธ หรือ มุสลิม ก็เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น" พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

 

พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเขาได้ทำรูปหล่อจำลองอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อทำเป็นที่ระลึกแจกจ่ายเมื่อยามที่มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาดูงานกิจการของโรงเรียน หรือในกรณีที่โรงเรียนของความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ขอสถานที่จัดสอบ ทางโรงเรียนก็จะมอบอนุสาวรีย์จำลองนี้ไว้ให้เป็นที่ระลึก ปรากฏว่ามันกลายเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเจ้าของหน่วยงานทั้งที่เป็นคนพุทธและมุสลิม ตนจึงคิดว่าจะเสนอให้อนุสาวรีย์นี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองและความกลมเกลียวกันจะดีที่สุด

 

นอกจากตำรวจจะมีส่วนผลักดันจนเกิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่อนุสาวรีย์แห่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดปฏิมากรอย่าง พุ่ม ศฤงคาร ที่ปัจจุบันวัยล่วงเลยมาถึง 69 ปีแล้ว อาจารย์พุ่ม บอกให้ฟังว่า มันเป็นงานชิ้นหนึ่งที่น่าภูมิใจมาก เพราะตอนนั้นสถานการณ์ที่ 3 จังหวัดไม่รุนแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้ พ.ต.ท.เฉลิม ได้ให้ตำรวจมาติดต่อหาช่างให้มาสร้างอนุสาวรีย์ กระทั่งมาพบกับตน ทางตำรวจก็ให้แนวคิดว่าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านพุทธและมุสลิม ในที่สุดตนก็ได้ออกแบบดังกล่าวออกมา

 

อาจารย์พุ่ม บอกว่า เมื่อทางตำรวจเห็นด้วยกับแบบที่เสนอมาก็ได้ให้งบประมาณจำนวน 180,000 บาทจัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น โดยสร้างเป็นงานประติมากรรมด้วยการหล่อคอนกรีตใช้เวลาในการสร้างประมาณ 3 เดือนจึงเสร็จสิ้น ขณะนั้นใช้ตำรวจ 3 คนเป็นนายแบบ ประกอบด้วย พ.ต.ท.เรืองวิทย์ วิมลมาศ จ.ส.ต.เกษม ไดนา และ พลตำรวจคมสันต์ สิริสม อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากที่ตำรวจทั้ง 3 นายทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็เกษียณกันไปหมดแล้ว

 

"ทั้งหมดก็ยังคงติดต่อกันอยู่ ผมว่าเขาทั้ง 3 คนเป็นตำรวจที่ดีมาก แม้ว่าเขาจะต่างศาสนากันแต่ก็อยู่ด้วยกันได้ หลังเสร็จงานตอนนั้นผมคิดว่าอนุสาวรีย์มันจะมีอายุอยู่ได้ราว 20 ปี ก็คงผุพังไป ไม่คิดว่ามันจะอยู่ยาวนานได้ถึงเพียงนี้" อดีตอาจารย์สถาบันราชภัฎยะลา เจ้าของผลงานศิลปะหลายชิ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคล้ายกับชี้ให้เห็นว่าความกลมเกลียวกันระหว่างตำรวจ ไทยพุทธ และ มุสลิม เมื่อ 40 ปีก่อนน่าจะคงอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่อยากไม่มิตรภาพเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรงเช่นทุกวันนี้

 

อาจารย์พุ่ม เห็นด้วยหากจะชูอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความสมานฉันท์ และเป็นแนวคิดที่ดีหากจะนำเอางานศิลปะของเขาชิ้นนี้ไปทำเป็นที่ระลึกแจกจ่าย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความปรองดองในพื้นที่ เพราะมันชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตำรวจกับชาวบ้านพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสมานฉันท์

 

"ผมคิดว่าศิลปินรุ่นใหม่ น่าจะให้ความสนใจสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนให้มากขึ้น อย่างน้อยงานศิลปะน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น" ศิลปินชื่อดังของจังหวัดยะลา กล่าวขณะหยิบชิ้นงานที่เขาเคยสร้างขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาให้ดู พร้อมกับบอกว่า ทุกวันนี้งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกันระหว่างศาสนาพุทธและมุสลิมมีน้อยมาก ศิลปินรุ่นใหม่จึงควรศึกษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นรวมไปถึงวัฒนธรรมสากลให้ดี เพื่อสร้างงานในพื้นที่ออกสู่สายตาคนนอกพื้นที่ต่อไป

 

ในส่วนของ จ.ส.ต.เกษม ไดนา หนึ่งในนายแบบแห่งความสมานฉันท์เมื่อ 40 ปีก่อนที่ ศูนย์ข่าวอิศรา แกะรอยติดตามหาจนพบ แสดงสีหน้าถึงความดีใจที่เขายังมีคนให้ความสำคัญกับอนุสรณ์ที่เขามีส่วนร่วม เขาบอกว่า เพื่อนของเขาอีก 2 คนนั้นได้ย้ายหลักแหล่งออกไปจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว โดย พลตำรวจคมสันต์ นั้นย้ายไปอยู่ที่ จ.ตรัง ส่วน พ.ต.ท.เรืองวิทย์ นั้นไปอยู่ที่ จ.กระบี่ ขณะที่ตัวเขาเองซึ่งย่างเข้าวัย 61 ปี นั้นได้ลาออกจากราชการมานานนับ 10 ปีแล้ว โดยปัจจุบันผันตัวเองเป็นนักธุรกิจคอนกรีต และรับเหมาก่อสร้างใน จ.ยะลา

 

จ.ส.ต.เกษม อดีตครูฝึกมือหนึ่งของโรงเรียนตำรวจภูธร 9 เจ้าของฉายา "จ่าเกษม" ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยะลาคอนกรีต จำกัด บอกว่า อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นนั้นชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกที่ว่าทุกคนเป็นพวกกันหมด ตอนนั้นเมื่อ 40 ปีก่อนสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงปกติ จึงคิดที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์กันขึ้น โดยเลือกผมกับเพื่อนๆเป็นนายแบบ เพราะแต่ละคนมีสัดส่วนใกล้เคียงกันและหน้าตาก็บ่งบอกความเป็นพุทธและมุสลิมชัดเจน ซึ่งในส่วนของตนนั้นเป็นมุสลิมจึงได้สวมชุดชาวมลายูท้องถิ่น แต่ละคนนั้นต้องทนอยู่เป็นแบบกันนานถึง 3 วัน เพื่อวัดสัดส่วนจริงของแต่ละคนแบบที่ทำขึ้นสำหรับหล่อคอนกรีตจึงเสร็จสิ้น

 

"ตอนนั้นความรู้สึกขัดแย้งยังไม่มี มีแต่ความเป็นกันเอง เราอยู่กันในยะลาก็รู้กันว่ามีอิสลามอยู่เยอะ ส่วนพุทธนั้นมีน้อยเราก็อยู่กันแบบพี่น้อง ทุกคนจึงเป็นเพื่อนกันหมดไม่ได้คิดเรื่องอื่น มันเป็นความผูกพันกันมากกว่า ผมว่าอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นได้อย่างดี มันเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ด้วยกันได้ถึงจะต่างศาสนากัน" จ่าเกษม กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

หากอนุสาวรีย์อายุ 40 ปีแห่งนี้จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติ ท่ามกลางวิกฤติไฟใต้ที่กำลังโหมอยู่ขณะนี้ก็เห็นจะไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่าเมื่อความปรองดองบังเกิดขึ้น ความสงบและสันติภาพ เข้ามาเช่นเดียวกับเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท