Skip to main content
sharethis


    


       


ในขณะที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานแบบ "ขาลง" ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ดำเนินมาถึงจุดที่สุดแสนจะล่อแหลม ความนิยมที่ประชาชนในเมืองมีให้ผู้นำรัฐบาลนับวันมีแต่จะลดน้อยถอยลง และนักวิชาการจากสำนักต่างๆ ก็พร้อมใจกันล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้นายกฯ ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง โดยเหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศแบบทักษิโณมิกส์นำพาประเทศไทยไปพบกับความ "หายนะ" มากกว่าที่เป็นอยู่


 


เมื่อพินิจพิจารณาดูความเคลื่อนไหวทั้งหลายทั้งปวงแล้ว วิกฤตศรัทธาในตัวผู้นำของประเทศไทยดูจะคล้ายคลึงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้น ณ ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2548 ที่เพิ่งผ่านมา ชนิดที่ (อาจ) เรียกได้ว่าเดินตามแนวทางเดียวกันแทบจะทุกย่างก้าวเลยก็ว่าได้ เพราะในขณะที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตรและประธานาธิบดีกลอเรีย แมคคาพากัล อาร์โรโย ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ข้อเท็จจริงบางประการซึ่งเกิดขึ้นระหว่างนั้น แทบไม่ต่างอะไรจากการส่องกระจกเงา และได้เห็นภาพสะท้อนกลับมาอย่างชัดเจน


 


ความเหมือนที่ (ไม่) แตกต่าง: กรณีการเอาตัวรอดของผู้นำฟิลิปปินส์


ด้วยปูมหลังที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ความคิดความอ่านและการบริหารประเทศของกลอเรีย อาร์โรโย กับทักษิณ ชินวัตร มีแนวทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จะเห็นได้ว่าหลังจากที่กลอเรีย อาร์โรโย กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่งในปี 2544 ก็ได้มีการประกาศนโยบายพัฒนาประเทศด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว เพราะประเทศฟิลิปปินส์เองก็ประสบปัญหาความมั่นคงภายในอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมถึงการมุ่งปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ และกลุ่มค้ายาเสพติด แต่การใช้กลยุทธ์แบบรุนแรงทำให้สถานการณ์ต่างๆ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และสถานการณ์ดังกล่าวแทบจะไม่แตกต่างจากประเทศไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในปี 2548 ด้วยคะแนนเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่ก็เกือบจะตกม้าตายเมื่อเวลาผ่านไปได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น


 


ความคล้ายคลึงกันของผู้นำทั้งสองประเทศที่พอจะแยกออกคร่าวๆ ก็ได้แก่การที่ประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาก่อนที่จะมาเป็นประธานาธิบดี และทักษิณ ชินวัตรก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนั้นจึงผันตัวเข้ามาทำงานอยู่ในแวดวงการเมืองระดับประเทศ นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองยังเป็นบุคคลที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กลับบริหารประเทศอีกครั้งเป็นสมัยที่สอง


 


อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ก็ประสบปัญหาใหญ่เมื่อดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในสมัยที่ 2 ได้เพียงหนึ่งปี ก็มีข่าวหลุดออกมาในวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ว่าประธานาธิบดีอาร์โรโยได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในระหว่างการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2547 โดยพรรคฝ่ายค้านมีหลักฐานเป็นเทปบันทึกการพูดคุยอย่างชัดเจน และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีอาร์โรโยทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีผลทำให้การลงคะแนนเสียงครั้งนั้นเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับที่ทักษิณ ชินวัตรเจอทั้งกรณีซุกหุ้น ขายหุ้น และหมกหุ้น นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งครั้งแรก เรื่อยมาจนถึงการดำรงตำแหน่งครั้งที่สอง


 


อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านชาวฟิลิปปินส์ราวห้าพันคนที่ร่วมชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโยลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ตั้งข้อกล่าวหาว่าประธานาธิบดีอาร์โรโย ทุจริตการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2547 เป็นการรวมตัวที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนของแต่ละประเทศล้วนแต่มีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิ์ของตนได้เช่นกัน และในเหตุการณ์ครั้งนั้น ประชาชนฟิลิปปินส์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบกรณีที่ ครอบครัว ของประธานาธิบดีอาร์โรโยมีส่วนพัวพันกับการทุจริตรับสินบนจากบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ตลอดจนมีการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องด้วย


 


ตลอดเดือนมิถุนายน 2548 รัฐสภาฟิลิปปินส์พยายามเปิดให้มีการไต่สวนคดีของประธานาธิบดีอาร์โรโย แต่ประธานาธิบดีได้ปฏิเสธที่จะเข้ารับการไต่สวน โดยอ้างว่าการเมืองฟิลิปปินส์ในขณะนั้นมีความวุ่นวายและมีข่าวลือออกมามากมายเกินพอแล้ว ถ้าผู้นำอย่างเธอยอมรับข้อไต่สวนจากรัฐสภา ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่สุดที่ประธานาธิบดีอาร์โรโยคำนึงถึงก็คือความหวั่นเกรงว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์จะขาดความน่าเชื่อถือ จนอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างประเทศ


 


เมื่อพรรคฝ่ายค้านและประชาชนชาวฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาร์โรโยลาออกจากตำแหน่งหนักๆ เข้า ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็ออกมายออมรับว่าเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์กับคณะกรรมการการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ในระหว่างการนับคะแนนการเลือกตั้งเป็นเสียงของตนเองจริงๆ แต่ก็ยังยืนยันว่าเนื้อหาการพูดคุยดังกล่าวไม่มีผลต่อการนับคะแนนการเลือกตั้ง และประธานาธิบดีอาร์โรโยยังประกาศอีกด้วยว่าตนเองจะดำรงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ต่อไปจนกว่าจะครบวาระในปี 2553 ให้ได้


 


หลังจากนั้นประธานาธิบดีอาร์โรโยก็ได้เสนอแผนปฏิรูปการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนระบบการปกครองจากแบบประธานาธิบดีเป็นแบบรัฐสภา การปฏิรูประบบการใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การปฏิรูปการคลัง และการปรับปรุงข้อบัญญัติทางเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของฟิลิปปินส์ รวมทั้งปรับปรุงให้การดำเนินงานต่างๆ มีความทันสมัยยิ่งขึ้น แต่สื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองกลับมองว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้คือการ "ถ่วงเวลา" ครั้งยิ่งใหญ่ของผู้นำฟิลิปปินส์


 


ความพลิ้วอย่างเหนือชั้น


เมื่อมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนระบบการปกครองจากแบบประธานาธิบดีเป็นแบบรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ประชาชนกว่า 20,000 คน ชุมนุมกันประท้วงใกล้กับอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาร์โรโยลาออกจากตำแหน่ง นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่สนใจในสายตาสื่อต่างประเทศ แต่ด้วยความช่วยเหลือและเอื้ออาทรของของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีอาร์โรโยก็รอดพ้นจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ไปได้ เนื่องจากรัฐสภาฟิลิปปินส์มีมติเพิกให้ถอนคำร้องขอไต่สวนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ด้วยคะแนนเสียงคัดค้านการพิจารณาถอดถอนมีถึง 48 คะแนน ต่อ 4 คะแนน ทำให้ประธานาธิบดีอาร์โรโยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปได้ในที่สุด


 


นอกจากนี้ ต่อกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าโฮเซ แมคคาพากัล อาร์โรโย และฮวน แมคคาพากัล อาร์โรโย ซึ่งเป็นสามีและลูกชายของประธานาธิบดีอาร์โย มีส่วนเกี่ยวพันกับการคอรัปชั่น ผู้นำฟิลิปปินส์ก็หาทางออกที่สวยหรูด้วยการส่งตัวคนสำคัญในครอบครัวทั้งสองคนไป "พักผ่อน" ที่ต่างประเทศ เพื่อป้องกันคำครหา โดยที่ยังไม่ทันได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำไป และหลังจากนั้นจึงมีการแต่งตั้งให้ โทนี กัวะ (Tony Kwok) ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการคณะกรรมการอิสระต่อต้านการคอรัปชั่นของฮ่องกง ให้รับตำแหน่งผู้ตรวจสอบการทำงานของประธานาธิบดี (ซึ่งก็คือการตรวจสอบรัฐบาลภายใต้การนำของอาร์โรโยนั่นเอง)


 


หากสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือการที่ประธานาธิบดีอาร์โรโยไม่ให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง (อย่างโปร่งใสกว่าเดิม) โดยอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ "อ่อนไหว" อย่างยิ่ง จึงไม่ควรจะมีการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติเกิดขึ้น และรวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา หลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง (แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น) ประธานาธิบดีอาร์โรโยจึงหยิบยกการแก้ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญเพื่อเลื่อนการพิจารณาการทำงานของตนออกไปเรื่อยๆ


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา ประชาชนฟิลิปปินส์ได้ชุมนุมกันที่กรุงมะนิลาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาร์โรโยลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่รัฐบาลประสบกับภาวะขาดความโปร่งใสมาตลอดปีกว่าๆ ของการกลับมาดำรงตำแหน่งนี้


 


แม้ขบวนการประชาชนของฟิลิปินส์จะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ประธานาธิบดีอาร์โรโยก็อาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง นักวิเคราะห์ด้านการเมืองของต่างประเทศบางคนจึงลงความเห็นว่าพลังประชาชนที่เคลื่อนไหวกดดันอย่างแข็งขันขนาดไหน ก็ไม่อาจเอาชนะกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ให้นักการเมืองไปได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net