Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.manager.co.th


 


4 กุมภาพันธ์ 2549 จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่สำหรับนักข่าวใหม่อย่างผม ปรากฏการณ์นี้ให้ความหมายทางความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักข่าว (เล็กๆ) ที่เข้าร่วมการทำข่าวนี้


 


หนึ่งปีของการทำข่าวที่ผ่านมา การรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงเสรีภาพทางความคิดตามรัฐธรรมนูญมีให้เห็นมากมาย มีน้ำหนักทางสังคมมากบ้างน้อยบ้าง การให้คุณค่าข่าวของสื่อต่างๆ ก็มีมากน้อยต่างกันไป


 


แต่ "ปรากฏการณ์สนธิ" ทำให้น้ำหนักการให้คุณค่าข่าวของคนในวงการข่าวเทมาที่นี่ครั้งใหญ่ คาดว่าทุกสื่อ ทุกสำนักข่าวคงส่งคนมาติดตามปรากฏการณ์นี้


 


เวลาบ่ายโมงกว่าๆ ผมเป็นนักข่าวคนที่ 349 ที่ลงทะเบียนในการทำข่าว จากนั้นคงมีตามมาอีกมากมาย


 


สิ่งที่บันทึกในความทรงจำในฐานะคนข่าวคือ วินาทีที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ปรากฏตัวที่เบื้องหน้าประตูบ้าน พล..เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  เชื่อว่าครั้งนี้มีช่างภาพและนักข่าวอยู่ตรงนั้นมากกว่าการทำข่าวของนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นที่ทำเนียบรัฐบาล หรือแม้แต่ที่ อำเภออาจสามารถก็ตาม


 


ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือกองทัพนักข่าวไม่ต่ำกว่าร้อยชีวิตกรูไปที่หน้าทางเข้าแคบๆ ที่สนธิจะเดินเข้าประตูแทบเป็นชุลมุนเล็กๆ  เพราะนาทีนั้น ภาพ เสียง และคำตอบจาก "ป๋า" คือสิ่งที่คนข่าวทุกคนต้องการ และเชื่อว่าสังคมก็ต้องการ ตอนนี้ทุกคนคงได้ทราบสถานการณ์ในชั้นถัดมาแล้ว


 


แม้แต่เพื่อนที่ไม่ใช่นักข่าวและกำลังดื่มเหล้าสังสรรค์กัน ยังอดโทรมาถามสถานการณ์ช่วงนั้นไม่ได้ว่า "เฮ้ย ป๋าว่าไงวะ กูอยากรู้ รู้แล้วโทรมาหาด้วย อย่าลืมนะเว้ย"  


 


วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ที่เคยซื้อจากร้านประจำย่านท่าช้างก็ขายหมด เหลือหนังสือพิมพ์ให้ซื้อได้เพียงยี่ห้อเดียวคือ เดลินิวส์  แล้วผมก็ขี้เกียจเกินกว่าเดินไปดูร้านอื่นๆ ใกล้เคียงว่าเป็นไปแบบเดียวกันหรือไม่ แม้จะอยากรู้ก็ตาม


 


สมมติฐานเล็กๆ ต่อปรากฏการณ์สนธิคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ตอนนี้สังคมกำลังต้องการคำตอบบางอย่างจาก "ทักษิณ ชินวัตร" แบบขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังสนธิ ทำให้ "ความกลัว"ของสังคมหายไป ตามการวิเคราะห์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก่อนหน้านี้ จนทำให้หลายกลุ่มหลายองค์กรกล้าออกมาปรามาสว่า "ทักษิณ" หมดความชอบธรรมทางการเมืองในการเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย เพราะขาดสิ่งสำคัญที่สุดคือ "จริยธรรม"


 


ในสถานการณ์แบบปัจจุบันเริ่มมีคำถามจากสังคมว่า คนหนุ่มสาวหายไปไหน วันที่กำ


ลังตามสถานการณ์ผู้ร่วมชุมนุม เห็นสัญญาณบางอย่างที่อาจแสดงการขยายแนวร่วมผู้ต่อต้าน "ทักษิณ" ว่ากำลังลามมาสู่คนหนุ่มสาว คือด้วยความเป็นนักข่าวที่จริงจังแต่แอบมีมุมขี้หลีตามธรรมชาติวัยหนุ่มก็อดเหลียวไปมองเห็น สาวๆ วัยรุ่น น่ารักสดใสที่มาร่วมการชุมนุมนี้หลายกลุ่มไม่ได้(ความจริงก็เห็นหนุ่มๆ ข้างๆ เขาด้วยแต่ไม่อยากมอง) 


 


หนุ่มสาวที่มาร่วมชุมนุมนี้เป็นการร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาหนุ่มสาวล้วนถูกทำให้ยึดความเป็นสุขนิยมไปแล้ว เขาเหล่านั้นจึงมีความเป็นปัจเจกแปลกแยกจากการให้ความรู้สึกต่อความเป็นไปของสังคมรอบๆ ตัว จะไม่แปลกใจหากเจอกับพวกเขาได้ตามย่านสยามสแควร์ แหล่งช็อปปิ้ง แหล่งแฟชั่น ผับ เทค ยามค่ำคืน จึงน่าสนใจว่า แม้แต่กลุ่มบุคคลที่ไม่คาดว่าจะสนใจอะไรแบบนี้ ณ เวลาปัจจุบัน ทำไมมาปรากฏตัวบนพื้นที่แบบนี้


 


ขณะกำลังมีคำถามแบบนี้ในใจ หูก็ฟังสนธิจ้อไปพลาง พลันมองเห็น กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)นั่งอยู่ไม่ไกล  จึงเดินไปถามคำถามทำนองนี้กับเธอ ก็ได้ความว่า "ยอมรับว่าปัจจัยการเรียน หลักสูตรการศึกษา วิถีชีวิต ล้วนปิดกั้นพื้นที่การแสดงออกการรวมตัวกัน กิจกรรมในมหาลัยที่ได้รับการส่งเสริมก็เป็นกิจกรรมรื่นรมย์บันเทิง ความเป็นปัจเจกก็สูงมาก


 


"แต่กระแสสนธิเหมือนเป็นการกระตุ้นสัญชาติญาณบริสุทธิ์ที่นักศึกษามีอยู่ในตัว จึงเริ่มปลุกนักศึกษาที่ปัจเจกนี้เข้ามาได้มาก "


 


เธอยังกล่าวอีกว่า การที่นักศึกษาปัจเจกเริ่มสนใจมาฟังที่สนธิพูดในวันที่ 4 กุมภา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันในอนาคต


 


ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างที่เธอพูดหรือไม่ เมื่อเดินไปรอบๆ ก็มีโอกาสได้ถามนักศึกษาอีกหลายๆ ที่ บางทีก็รวมตัวกันมา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ทั้งสาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พวกเขาเล่าที่มาของการปรากฏตัวบนพื้นที่นี้ให้ฟังว่า คุยกันไปมาในกลุ่มเพื่อนๆ ลามไปเพื่อนของเพื่อน แล้วสนใจในประเด็นการแปรรูปการศึกษา โดยเฉพาะการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ต่อไปจะมีผลกระทบทางสังคมอีกมาก จึงอยากมาแสดงออกเพื่อเพิ่มประเด็นให้รัฐได้รับรู้ว่าเรื่องนี้ก็มีปัญหา จึงโทรไปตามๆ กันมา รวมๆ แล้วก็ 30 - 40 คน


 


เหลียวไปอีกจุดหนึ่ง เห็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตประมาณ 20 คนมารวมกัน มีอาจารย์ชนะธิป ธำรงวิทยภาคย์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยืนอยู่ด้วย จึงไปว่า ทำไมลูกศิษย์หนุ่มสาวจึงมาทั้งๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับนักศึกษาปัจจุบัน อาจารย์ตอบว่า กลุ่มนี้เคยดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ บางคนก็เคยไปฟังตอนที่จัดที่สวนลุมพินี เลยมาพูดคุยกันบ้าง ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปบ้าง นักศึกษากลุ่มนี้ก็ไปรวมตัวกันเอง เด็กปัจจุบันนี้ไปนำเขาไม่ได้ ต้องให้เขาคิดทำเอง เป้าหมายของเขาคือ ต้องการแสดงออกให้รัฐรู้ว่า รัฐทำอะไรมีประชาชนส่วนหนึ่งรู้ ทำอะไรให้ระวัง ผู้นำไม่ต้องเก่งมากแต่ต้องมีคุณธรรม


 


อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่า หนุ่มสาวเริ่มอยากแสดงออกทางการเมืองในเรื่องราวของเขากับสังคมบ้างแล้ว


 


ดังนั้นสิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะ "ทักษิณ" ก็คือ หลังจากวันที่ 4 กุมภา เป็นต้นไป กระแสการตอบรับการไม่ยอมรับบทบาทของนายกรัฐมนตรีจะขยายไปมากกว่านี้หรือไม่ และจะมีผลสะเทือนต่อสังคมแค่ไหน


 


ส่วนสำหรับสนธิ เขายังไม่หยุด ก่อนสลายการชุมนุมเช้าวันที่ 5 กุมภา ตอนต่อไปที่เขาให้ติดตามคือ 'ปิดบัญชีทักษิณ' ในเมืองไทยรายสัปดาห์ภาคพิเศษ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่เดิม


 


............................................................


 


ภาพทั้งหมดจาก www.manager.co.th


 



 


 


 



                


 


 


 


             


 



                              


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net