ภารกิจปกป้อง "แม่โคสพ" เติมกระสุนก่อนลุยศึกโปแตช

ล้อมวงเข้ามา มีนิทานจะเล่าให้ฟัง..........

 

รู้ไหมว่า ครั้งหนึ่งข้าวมีขนาดเท่าลูกมะพร้าวและบินได้เหมือนมีชีวิต แต่เพราะความใจร้ายของมนุษย์ ข้าวจึงน้อยใจกลายมาเป็นข้าวเมล็ดเล็กๆ ที่ต้องดูแลและหุงหามาถึงวันนี้ อืมม......เอาละเริ่มเรื่องกันเลยดีกว่า

 

เมื่อก่อนนั้น "ข้าว" คือเทวดาชื่อ นางโคสพ" (ภาษาพื้นเมืองทางอีสาน ภาคกลางรู้จักกันในนามพระแม่โพสพ) ด้วยความเมตตาต่อมวลมนุษย์ที่เป็นอยู่ด้วยความลำบาก นางจึงอุทิศเนื้อหนังมังสาให้ และขอพรให้คืนชีพมาเป็นเมล็ดข้าวที่กระจายไปทั่วโลก

 

ว่ากันว่าเดิมทีข้าวมีชีวิตเหมือนคน มีปีกบินได้ มีขนาดเท่าลูกมะพร้าว ผ่ากินได้เลยไม่ต้องหุงหา ใครทำความดี ข้าวจะบินไปอยู่ในเล้าข้าวเอง

 

ต่อมามีแม่ม่ายคนหนึ่งต้องเลี้ยงดูลูกน้อย 3 คน ลูกร้องไห้งอแง พอดีนางกำลังเหนื่อยและหงุดหงิด และไม่มีพร้าผ่าข้าวให้ลูก จึงด่าว่าข้าว และใช้ไม้ตีข้าวจนแตกกระจาย ข้าวตกใจกลัวและน้อยใจที่มนุษย์ทำร้าย จึงชวนกันบินหนีไปอยู่ป่า มนุษย์ก็ไม่มีข้าวกินล้มตายไปเป็นอันมาก

 

ตายายคู่หนึ่งจึงไปเล่าให้ฤาษีฟัง ฤาษีอาสาไปตาม "นางโคสพ" กลับมา แต่นางไม่อยากกลับเพราะมนุษย์ใจร้ายกับนาง ฤาษีก็อ้อนวอน นางจึงบอกว่า "ถ้านางกลับมา มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อนางอย่างเคารพ ต้องปลูกเลี้ยงดูแล" นางจึงกลับมาเป็นต้นข้าวให้มนุษย์มีข้าวกินสืบมา

 

นิทานก็จบลงด้วยประการฉะนี้

 

นิทานเรื่องดังกล่าวเป็นนิทานพื้นบ้านภาคอีสานที่เล่าต่อๆ กันมา ผู้อ่านคงแปลกใจว่าทำไมอยู่ดีๆ "ประชาไท" จึงหันมาเล่านิทานให้ฟัง ทั้งๆ ที่มันช่างขัดกับบุคลิกอันดู "เคร่งขรึม" จริงจังของ "ประชาไท" แต่ก่อนมา

 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดงานบุญที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการแสดงความเคารพและผูกพันกับข้าวซึ่งปฏิบัติต่อกันมาแต่โบราณ เป็นการดูแลเคารพนางโคสพเหมือนที่เล่าไว้ในนิทาน มนุษย์จะได้มีข้าวกินสืบไป นอกจากนี้งานบุญดังกล่าวยังแฝงไว้ด้วยความหมายเฉพาะเพื่อการต่อสู้กับแนวคิดการทำเหมืองแร่โปแตซ ซึ่งหากมีอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น หลายพื้นที่ของจังหวัดอุดรธานีอาจไม่สามารถปลูกข้าวได้อีกต่อไป

 

งานบุญดังกล่าวเรียกว่า "บุญกุ้มข้าวใหญ่ ต้านภัยเหมืองแร่โปแตช" ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 ในวัดอรุณธรรมรังษี การใช้พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ข้าว" ครั้งนี้เป็นการสร้างขวัญกำลังใจสำหรับชาวบ้าน และสร้างต้นทุนในการสู้กับ บริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปรแตซ คอร์ปอเรชั่น (APPC) กลุ่มทุนใหญ่ที่สนับสนุนการสร้างเหมืองแร่โปรแตช

 

จากการพูดคุยกับชาวบ้านบ้านโคกสง่าซึ่งไม่ไกลจากวัดมากนัก ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า เดิม"บุญกุ้มข้าว" เป็นการรวบรวมเสบียงอาหารหรือเงินเพื่อให้คนในหมู่บ้านที่ต้องเดินทางไปทำกิจธุระในแดนไกลนำติดตัวไป เป็นวิธีการแสดงความเอื้อเฟื้อและดูแลเอาใจใส่กันในชุมชน

 

หลังจากที่ชาวบ้านได้รับรู้ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชมากขึ้น ชาวบ้านกว่า 40 หมู่บ้านจึงรวมตัวกันเป็น "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี" และใช้วิธีการทำบุญกุ้มข้าวเพื่อระดมทุนในการสู้กับเหมือง ทั้งนี้ ในแต่ละปีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ขึ้น และนำข้าวส่วนหนึ่งจากที่ปลูกได้มาบริจาคเข้ากองกลาง ข้าวที่นำมาทำบุญนี้จะนำไปขายเพื่อนำเงินมาใช้รณรงค์ต่อต้านการสร้างเหมืองแร่โปแตช

 

งาน "บุญกุ้มข้าวใหญ่ ครั้งที่ 4" เริ่มต้นด้วยการเดินรณรงค์ของเหล่าผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า "หญิงเหล็ก" ของกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่กว่า 300 คน ทั้งหมดไปรวมตัวกันบริเวณรางรถไฟบ้านป่าก้าว ตั้งแต่ก่อนแปดโมงเช้า ส่วนผู้ชายเตรียมงานอยู่ที่วัด หญิงเหล็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เหตุที่เลือกเริ่มต้นการเดินรณรงค์ที่หมู่บ้านป่าก้าวเพราะหมู่บ้านนี้ยังไม่ค่อยมีผู้ร่วมต่อต้านเหมืองแร่โปแตซนัก

 

กลุ่มอนุรักษ์ที่มาร่วมงานจะสวมเสื้อเขียวเหมือนกันหมด ขบวนรณรงค์นำมาด้วยโลงศพของ บริษัท เอพีพีซี คนแต่งตัวล้อเลียนนักการเมือง คณะกลองยาว ป้ายรณรงค์ข้อความ "มรดกใต้ดินต้องเป็นของคนไทยเท่านั้น" "หยุด APPC เหมืองนรกสร้างความแตกแยกในชุมชน" "ข่อยคนอุดร ออนซอนเหมืองแร่โปแตซ" "NO POTASH IN THAILAND" พร้อมกู่ร้องไปตามทาง "โปแตช ออกไป" "ทักษิณ แก้ปัญหา" จนถึงวัด รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

 

ภายในวัดมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้และผลกระทบต่างๆ เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โปแตช  ช่วงสาย นายคนึง มีพรหม ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเถอประจักษ์ฯ มากล่าวเปิดงาน

 

นายคนึง ให้สัมภาษณ์กับ "ประชาไท" ภายหลังลงจากเวทีที่กล่าวเปิดงานว่า "โครงการเหมืองแร่โปแตชต้องไปศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทางอำเภอจะรายงานจ้อเรียกร้องให้ยกเลิกเหมืองของชาวบ้านไปให้รัฐพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดเหมืองในพื้นที่นี้ และเห็นด้วยกับเกษตรอินทรีย์มากกว่า

 

"คิดว่าแม้นายกฯจะลงมาฟังความเห็นชาวบ้านในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามที่ได้รับปากกับชาวบ้านไว้ เรื่องก็น่าจะยังยืดเยื้อต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนโดยแท้ รัฐน่าจะฟัง ส่วนการแก้ไขให้ได้จริงต้องใช้ประชามติที่ประชาชนมีส่วนร่วม" นายคนึง กล่าว

 

ในช่วงบ่ายจึงเริ่มพิธีสู่ขวัญข้าว ด้วยคำร้องสำเนียงพื้นถิ่นอีสานหน้ากองข้าวที่ชาวบ้านนำมารวมกัน เนื้อหาคำร้องมีลักษณะเรียกขวัญกำลังใจ ชาวบ้านที่ฟังก็โห่ร้องเรียกขวัญโดยพร้อมเพรียงกันตามคำร้อง 3 ครั้ง หลังทำขวัญเสร็จ ผู้ทำพิธีจึงพรมน้ำมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่จึงนำด้ายขาวจากพานบายศรีสู่ขวัญมาผูกข้อมือแก่ผู้ร่วมพิธี

 

ช่วงท้ายของงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ปีนี้ มีการแสดงละครเวทีของเด็กๆ ในหมู่บ้านเรื่อง "ผาแดงนางไอ่" ที่เป็นเรื่องราวการเกิดชื่อบ้านนามเมืองรอบๆ หนองหาน-กุมภวาปี และก่อนชาวบ้านแยกย้ายกันกลับก็นำโลงศพจำลองเขียนชื่อ บริษัท เอพีพีซี มาเผา พร้อมสาปแช่งกันไปต่างๆ นานา

 

การทำลายวัฒนธรรมข้าวของเหมืองแร่โปแตช

หากไม่มีการคัดง้างใดๆ ในการสร้างเหมืองแร่โปแตช อีกไม่นานเราคงได้เห็นภาพของเหมืองแร่นี้กับนิคมอุตสาหกรรมทาบทับภาพทุ่งรวงทอง มรดกทางวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีในดินแดนอุษาคเนย์

 

เมื่อไรที่การขอประทานบัตรของบริษัท เอพีพีซี เป็นผล ที่ดินกว่า 22,437 ไร่ ในพื้นที่อุดรใต้และ 52,000 ไร่ ในพื้นที่อุดรเหนือ จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทันที ข้าวอาจไม่สามารถปลูกได้อีกบนพื้นที่นี้

 

จากข้อมูลของผู้ประกอบการเหมืองแร่เองก็ระบุว่า การขุดแร่โปแตซจะทำให้เกิดหางแร่เป็นกองเกลือสูงกว่า 40 เมตร จากแผนงานของบริษัท หางแร่จะกองไว้กลางแจ้งบนที่ที่เป็นทุ่งนาบ้านหนองตะไก้ในปัจจุบัน ชาวบ้านและนักวิชาการจึงห่วงว่า ยามลมพัด ละอองเกลืออาจจะสร้างมลพิษในอากาศในบริเวณกว้าง หรือยามฝนตก สายน้ำอาจชะล้างเกลือไหลลงสู่พื้นดินจนเค็มปี๋ และน้ำเค็มนี้อาจระบายโดยไหลลงสู่ทางน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะหนองหาน-กุมภวาปี แหล่งน้ำหลักของชาวอุดรฯ จนไม่สามารถนำน้ำมาทำการเกษตรได้อีก

 

ส่วนใต้ดินตั้งแต่ความลึก 100 เมตรเป็นต้นไป จะกลายเป็นโพรงเต็มไปหมด หากว่ากันตามสัญญา ถ้าบริษัทสำรวจแร่พบเพิ่มเติม ก็สามารถทำสัมปทานต่อเนื่องได้ ผลที่ตามมาคือ จะมีโพรงแบบนี้เต็มไปทั่วภาคอีสาน ชาวบ้านเองกลัวกันมากว่า ต่อไปดินอาจจะทรุด ประเด็นนี้นักวิชาการมองว่าเป็นไปได้ ทางบริษัทก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในการรับมือกับเรื่องนี้

 

ดังที่กล่าวมา เรียกได้ว่า สิ่งแวดล้อมทุกมิติ กำลังโดนผลกระทบจากการสร้างเหมืองโดยไม่มีคำตอบในการรับมือที่ชัดเจน

 

หากมองในมุมง่ายๆ ผ่านนิทาน ก็คล้ายกับตอนนี้นางโคสพกำลังถูกท้าทายโดยอุตสาหกรรมที่ไม่มีการดูแลให้เกียรติเธอ อีกทั้งข่มเหงรังแกผืนดินและสายน้ำที่เธออาศัย ไม่เหมือนกับชาวบ้านที่ทั้งดูแลสู่ขวัญเธอทุกๆ ปี จนเธอยินยอมพร้อมใจผลิดอกออกรวงมาเป็นเมล็ดข้าว

 

ไม่แน่ว่าต่อไปหากแผ่นดินและสายน้ำถูกทำลายจากการทำเหมืองและอุตสาหกรรมมากๆ เข้า "นางโคสพ" อาจจะน้อยใจบินหนีไปจากมนุษย์อีก เหมือนที่เคยเกิดในนิทานก็เป็นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท