เปิดวิสัยทัศน์ "อุกฤษ มงคลนาวิน" ระดมทุนตั้งมูลนิธิ ดับไฟใต้

ภาพจาก www.tjanews.org

 

โดย ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ศ.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ กอยส. เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกหลังจากได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เข้ามาดูแลและจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบพีระยา-นาวิน ศูนย์ปัตตานี

 

ทั้งนี้ กอยส.ต้องการศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กภาคใต้กว่า 413 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่กอยส.จะใช้เป็นหัวหอกในการดับไฟใต้ ผสมผสานกับการแก้ปัญหาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านยุติธรรมและสุขอนามัย ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่กอยส.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลภายใต้แนวคิดที่จะระดมทุนและตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อบริหารงานแบบเอกชนแก้ปัญหาภาคใต้แบบระยะยาว

 

 ศูนย์ข่าวอิศรามีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ " ศ.อุกฤษ มงคลนาวิน" ในฐานะ ประธานกรรมการบริหารพีระยานุสรณ์ มูลนิธิ และประธานกอยส. ถึงทิศทางการทำงานของกอยส.

 

 กอยส.วิเคราะห์อย่างไรถึงเลือกการศึกษาเป็นประเด็นแก้ปัญหาเร่งด่วน

 

ปัญหาของภาคใต้ เราแก้มากว่า 200 ปีแล้ว เราแก้ปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อย ปัญหาเรื่องอาชญากร ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ เรื่องศาสนา ปัญหาทางด้านความมั่นคง แต่เหมือนกับว่า ที่เราแก้ปัญหานั้น แม้จะดูสงบราบคาบไป ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งดูเหมือนพื้นผิวจะราบเรียบแต่ข้างล่างกลับเป็นหนองเป็นฝีอยู่ตลอด วันดีคืนดีก็จะประทุขึ้นมา

 

แต่สิ่งที่เราจะแก้ปัญหาในครั้งนี้ก็คือให้เด็กมีความสุข ได้รับการศึกษาที่ดี ทั้งนี้ครอบครัวก็จะมีความสุข ถ้าเด็ก 40,000-50,000 คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสุข ครอบครัวก็มีความสุข

 

เราบอกว่า อยากให้รอยยิ้มเสียงดนตรีเข้าแทนที่เสียงระเบิดและเสียงปืน สังเกตดู ที่บอกว่า เด็กไม่ยอมเรียนภาษา ไทย แต่เรามีวิธีการที่ให้เด็กเรียนภาษาไทยโดยร้องเพลงภาษาไทย ซึ่งเมื่อเด็กพวกนี้ร้องให้พ่อแม่ฟังก็จะเกิดความเคยชิน และเมื่อเรียนสูงขึ้นไปก็ไม่ต้องมีปัญหาด้านภาษา ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นก็ได้หารือกับรัฐมนตรีอารีย์(วงศ์อารยะ) หารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้จัดแยกการศึกษาเป็นสำนักงานการศึกษาลักษณะเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีการปรึกษาหารือกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

 

นอกจากนั้นในส่วนของคณะกรรมการเพื่อความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เราก็จะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มาจากอัยการและตรวจสอบโดยคณะผู้พิพากษาและนักวิชาการ รวมถึงอาสาสมัครเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกอยส. ที่จะมาดับไฟใต้ แต่เราไม่ได้ดับเฉพาะผิวพื้นแต่จะดับตั้งแต่รากแก้ว

 

ช่วยอธิบายถึงแนวคิดที่ทางพีระยะนุสรณ์มูลนิธิฯ ดำเนินการอยู่และกอยส.เข้ามารับช่วงงานต่อ

 

ทางมูลนิธิพีริยะนุเคราะห์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เห็นความสำคัญของเยาวชนมาก โดยเฉพาะด้านการเรียน การศึกษา และด้านความเป็นอยู่ ซึ่งในด้านการศึกษาเรามาเน้นเรื่องในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน คืออายุระหว่าง 2 -5 ขวบ เพราะถือว่า เป็นวัยสำคัญเริ่มต้นของชีวิต จะดีจะเสียอยู่ในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นเราถึงพยายามเข้ามาช่วยเหลือ ไม่อยากให้เด็กอยู่ในวัยนี้ที่อยู่ที่อยู่ในครอบครัวที่ขาดแคลน

 

ถ้าไม่ช่วยเหลืออย่างเช่น เด็กต่างจังหวัด ซึ่งปู่ย่าตายายเลี้ยง พ่อแม่ไม่อยู่ไปทำงานที่อื่น ก็ขาดคุณภาพ ครอบครัวก็ขาดคนเพราะต้องมาดูแลเด็กๆ เราถือว่า เป็นจุดสำคัญที่รัฐต้องให้ความสำคัญ โดยที่เราทำเป็นถือเป็นศูนย์ต้นแบบ ซึ่งเราทำทั้งหมด 10 แห่ง เฉพาะที่โคกโพธิ์ถือเป็นศูนย์ที่ 10 นอกจากนั้นก็ไปทำในจังหวัดต่างๆ จำนวนกว่า1, 500 คน

 

การพัฒนาศูนย์เด็กหรือไม่นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่มีความต้องการจริงจังแค่ไหน มีจำนวนเพียงพอแค่ไหน และผู้นำท้องถิ่นให้ความร่วมมือแค่ไหน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ต้องให้ความร่วมมือ ประการสำคัญคือ เมื่อมีสถานที่ มีความร่วมมือแล้ว ต้องมีครูที่ดี ครูที่จะสอนเด็กก่อนวัยเรียน ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาแต่ต้องรู้หลักการสอนเด็กมีความเมตตา ที่เราเรียกว่า เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ

 

สมมติว่า 14 โรงเรียนที่จะกำลังจะเข้าโครงการชีวิตสดใส ซึ่งมีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์เป็นประธาน ทางครูจะเข้าไปฝึกอบรมการเป็นครูที่ดีกับพิริยะนุเคราะห์มูลนิธิ เหมือนกับที่เราทำกับศูนย์ที่โคกโพธิ์

 

ในเชิงรูปธรรมปัญหาจะเริ่มดำเนินการอย่างไร

 

ตามสถิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศูนย์พัฒนาเด็กภายใต้การดูแลของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่ก่อนนี้อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาชุมชน รวมทั้งสิ้น 413 แห่ง โดยอยู่ระหว่างการสำรวจสภาพปัญหา ซึ่งคาดว่ามีแน่นอน อาทิ ปัญหาเรื่องสถานที่ ปัญหาเรื่องเด็ก ความต้องการของชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาเรื่องครู ทั้งด้านจำนวนบุคลากร งบประมาณเงินเดือน อย่างเช่น ครูที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรมพัฒนาชุมชนหรือกรมศาสนา ซึ่งทำไปแล้วไม่สำเร็จเนื่องจากงบประมาณที่ให้กับครูน้อยมาก ซึ่งเขาอยู่ไม่ได้

 

ทั้งนี้เราต้องศึกษาอย่างจริงจังว่า รัฐบาลสนับสนุนอยู่เท่าไหร่ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) สนับ สนุนอยู่เท่าไหร่

 

โดยกอยส.มีความคิดที่จะตั้งเป็นมูลนิธิฯ ขึ้นมาเพื่อมาเสริมส่วนที่ขาด เหตุที่ต้องทำเป็นมูลนิธิฯ เนื่อง จากขั้นตอนไม่เหมือนราชการ เพราะหากเป็นระบบบริหารราชการแล้ว กว่าจะผ่านอะไรมาตามขั้นตอนถือว่ายากมาก เพราะเราต้องการความรวดเร็วช้าไม่ได้ เราจะระดมทุนจากทั่วประเทศเพื่อการนี้

 

ทำไมกอยส. ถึงเลือกรูปแบบการดำเนินการแบบมูลนิธิฯ

   

เพราะเราไม่แน่ใจว่า หลังจากหมดนโยบายรัฐบาลชุดนี้ซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีเห็นด้วย แต่หากเปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนรัฐบาล โครงการนี้อาจจะหยุดไปเหมือนกับที่เราทำๆ หยุดๆ ขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นเราถึงดำริให้ตั้งมูลนิธิขึ้นมา ซึ่งใครจะล้มไม่ได้ งานกอยส.แม้รัฐบาลจะหายไปแต่เราจะดำเนินเรื่องต่อไป เพราะเป็นเงินระดมมากจากทั่วประเทศ คาดว่า จะได้เงินมากกว่าระดมตอนพับนก เช่น คนละบาท 15 วันได้จังหวัดละ 5 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 350 ล้านบาท แล้วนายกฯสมทบให้อีกเท่าตัวเป็น 700 ล้านบาท ซึ่งเราระดมจากนักธุรกิจอีก 300 ล้านบาท รวมเป็นพันล้านบาท ซึ่งถ้าระดมทุกๆ ปี ก็น่าจะได้เงินพอสนับสนุนการทำงาน

 

นอกจากนั้น การมีกองทุนฯ ยังเพื่อความรวดเร็วของการแก้ปัญหา โดยมูลนิธิฯ ที่จัดตั้งโดยคนทั่วประเทศ ก็จะเข้ามาส่งเสริมตรงนี้ อาทิเช่น ถ้าปัญหาแพทย์ขาดแคลน อย่างเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่า ที่จ.นราธิวาสมีปัญหาแพทย์ขาดแคลนมาก มีแพทย์ลาออกแต่ยังหาบรรจุไม่ได้  ก็อาจจะมีหน่วยแพทย์อาสาของกอยส. ซึ่งตอนนี้ได้มอบหมายให้อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้ไปชักชวนเจ้ากรมการแพทย์ทหารทุกเหล่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้น โดยจัดหน่วยแพทย์อาสาลงพื้นที่ครั้งละ 10 วัน ซึ่งหากใช้ระบบราชการในการพิจารณาจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงคงไม่มีใครมา เพราะเบิกจ่ายล่าช้า ซึ่งก็ว่าไปตามระบบ แต่ทั้งนี้มูลนิธิฯ ที่ตั้งขึ้นมานี้จะช่วยจ่ายให้ตามอัตรามูลนิธิฯ แล้วทดลองจ่ายไปก่อน ส่วนที่เบิกราชการได้ก็จะเบิกคืนมาชดใช้ เช่นนี้ถึงจะเป็นผล ถึงลูกถึงคน

   

เรายังจะมีหน่วยเคลื่อนที่(Mobile Unit) รวมไปกับทางทหารเพื่อออกหน่วยเคลื่อนที่ ซึ่งทางกรมการแพทย์ทหารบกทำอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะไม่ใช่เฉพาะแพทย์ทหารบกอย่างเดียว แต่เป็นแพทย์ของประเทศไทยทุกฝ่าย บูรณาการเข้าไปโดยไม่มีการติดอาวุธ เข้าไปให้ชาวบ้าน หมู่บ้านไหนต้องการก็เข้าไปให้

  

ตามประสบการณ์ของเรา จะหวังพึ่งราชการอย่างเดียวไม่ได้ อย่างเช่นที่เราแนะนำทางมูลนิธิชีวิตสดใส ซึ่งมีความสนใจมาทำงานด้านนี้ว่า ต้องทำในรูปแบบมูลนิธิฯ ถึงจะทำได้รวดเร็วทันใจและสมวัตถุประสงค์ ถ้ามัวรอระบบราชการอยู่ก็เหมือนเลื่อนลอย สัญญาแล้วก็ไป รับปากแล้วก็ไป โดยสรุป กอยส.จะวางทั้งยุทธศาสตร์ซึ่งจะไม่เหมือนแนวทางที่คนอื่นทำคือ วางยุทธวิธี วางแนวทางปฏิบัติ รวมถึงอบรมผู้ปฏิบัติด้วย แต่ไม่ใช่ด้านการ ศึกษาอย่างเดียว แต่ขอบเขตงานของเราจะไปถึงด้านการสุขอนามัยด้วย เพราะด้านสุขภาพอนามัยของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังต้องการความช่วยเหลือ

 

 แล้วกอยส.จะอยู่ตรงไหนของโครงสร้างการแก้ปัญหาแบบนี้

  

กอยส. เป็นคณะกรรมการที่วางยุทธศาสตร์และที่เพิ่มจากกอส.คือ วางยุทธวิธี และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่นที่นี่ ทำมาแล้วโดยพิริยะนุเคราะห์มูลนิธิ แต่ตอนนี้เมื่อมีกอยส.เข้ามาด้วย ก็จะช่วยกันเสริมอีกทางหนึ่งเพราะเป็นเรื่องของรัฐเข้ามาร่วมด้วย เพราะเมื่อให้คำแนะนำไปทางกระทรวงหรือด้วยวิธีการตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งจะใหญ่ขึ้น เพราะของพิริยะนุเคราะห์มูลนิธิฯ เรียกว่า กำลังน้อย ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

  

แต่ถ้าเราระดมทุนจากทั่วประเทศ เช่นว่า วันละ 1 บาทร่วมใจดับไฟใต้ ถ้าแบบนี้เราจะมีกองทุนใหญ่พอสมควร สามารถลงมาช่วยได้ทันท่วงที อย่างสมมติว่า งบประมาณมาไม่ทัน ต้องรองบประมาณปีหน้า หรือกรณีที่มีข้าวของแล้ว ขอแค่ช่างมา ผ่านไป 3 เดือนแล้วไม่สำเร็จ เช่นนี้ถ้ามีมูลนิธิฯ เราก็สามารถจัดการจ้างช่างเอกชน แล้วมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนได้ทันที

 

มูลนิธิจะตั้งได้เร็วแค่ไหน

   

คิดว่า วันพุธนี้(8 ก.พ.) ผมจะประชุมร่วมกับ คุณกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้บริหารของธนาคารออมสิน ปรึกษาถึงรูปของการระดมทุนผ่านการออมของธนาคารออมสิน เราอาจจะทำแค่15 วัน เช่น วันที่ 15 มีนาคมถึง 31 มีนาคม ศกนี้ ให้คนทั่วประเทศบริจาคเงินคนละ 1 บาท เป็นเวลา 15 วัน เราไม่ให้ไปจัดงานรีดไถอะไร เมื่อรวมเงินได้ในวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันจักรีก็จะประกาศว่า จังหวัดไหนได้เท่าไหร่ แล้วมอบเงินให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ จะสมทบให้เท่าตัว ซึ่งนายกฯ ได้พูดไว้แล้ว แล้วจะมอบกลับมาให้ประธานกอยส. เพื่อนำมาจัดตั้งมูลนิธิฯ ต่อไป

 

 มูลนิธิดังกล่าวมีชื่อหรือยัง

   

ที่คิดไว้คร่าวๆ ว่าเป็นมูลนิธิสันติธรรม เพราะปัญหาภาคใต้ต้องแก้ด้วยสันติ

 -----------------------------------------------------------------------------------------

 ที่มา : http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=627&Itemid=47

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท