จดหมายองค์กรผู้บริโภคถึง กทช. ขอให้ยกเลิกสัมปทาน AIS- ชินแซท

เนื้อเรื่อง

ที่พิเศษ ๐๐๑ /๒๕๔๙                                                                                           สำนักงานเลขานุการ

                                                      ๒๑๑/๒ ซอยงามวงศ์วาน ๓๑

                                                      ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมือง

                                                                                                            จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เรื่อง ขอให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ 

กรณีของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด

เรียน ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย แผนภูมิโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิม ของกลุ่มชินวัตรและดามาพงศ์ ณ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘

 

ตามที่ได้ปรากฏว่ากลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนร้อยละ ๔๙.๖ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ได้ขายหุ้นทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า ๗.๓๓ หมื่นล้านบาท ให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน ร้อยละ ๓๘.๖และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน ร้อยละ ๑๑ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีการ ถือหุ้นไขว้โดยบริษัทเทมาเซค โฮลดิ้งส์ จำกัด สัญชาติสิงคโปร์ ในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๔๙ รวมทั้งถือในบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัดที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกร้อยละ ๔๙ นอกจากนี้ยังถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทแอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด จึงถือได้ว่าบริษัททั้งสองคือ บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยกลุ่มบริษัทเทมาเซค โฮลดิ้งส์ จำกัด สัญชาติสิงคโปร์

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มบริษัทเทมาเซค โฮลดิ้งส์ จำกัด สามารถครอบงำในกิจการของบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด และทำให้บริษัททั้งสองมีฐานะเป็น "คนต่างด้าว" ตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งต้องพิจารณาถึงการครอบงำของคนต่างด้าวในกิจการของนิติบุคคลซึ่งต้องพิจารณาถึงหลักการสำคัญ ๓ ประการ ประกอบกัน คือพิจารณาจำนวน "หุ้น" "ทุน" และ "อำนาจครอบงำกิจการ" ของคนต่างด้าว ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้เคยวินิจฉัยถึงการเป็นคนต่างด้าวไว้ว่า เมื่อปรากฏการตีความได้ในหลายนัย การแปลความบทบัญญัติต้องถือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยถือว่า ทุนของคนต่างด้าวนั้นต้องพิจารณาจากทุนตามความเป็นจริง โดยพิจารณาลงไปถึงสัดส่วนของคนต่างด้าวในแต่ละนิติบุคคลแล้วนำมาคิดในอัตราที่เป็นสัดส่วนกัน ดังนั้นการที่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในจำนวนถึงร้อยละ ๔๙.๖ และเมื่อคิดรวมกับผู้ถือหุ้นอื่นที่เป็นบริษัทต่างด้าวอีกจำนวนกว่าร้อยละ ๓๕ แล้ว จะทำให้ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีสถานะเป็น "คนต่างด้าว"

เมื่อบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบันมีฐานะเป็นบริษัทต่างด้าวตามความของคำว่า "คนต่างด้าว" ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งทำให้บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นบริษัท Holding Companyและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการตามการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาจากรัฐ ในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมของชาติ กิจการโทรคมนาคมไร้สาย กิจการดาวเทียม และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ

(๑) เข้าไปถือหุ้นจำนวน ร้อยละ ๕๑.๓๘ ในบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) ได้รับสัมปทานให้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของประเทศ(National Project)    

(๒) เข้าไปถือหุ้นจำนวน ร้อยละ ๔๒.๘๖ ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

(๓) เข้าไปถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทชินบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต (ประเทศไทย) จำกัด

การขายหุ้นดังกล่าวของครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์จึงทำให้บริษัทชินแซทเทิลไลท์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด มีสถานะเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ อันทำให้บริษัททั้งสองขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๔๙ เพราะการได้รับสัมปทานเป็นอนุญาตในรูปแบบหนึ่ง โดยในมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับรองให้ผู้ได้รับอนุญาตตามสิทธิสัมปทานหรือสัญญา ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยถือว่า ผู้นั้นมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ได้รับอนุญาตและในกรณีที่มีการกระทำความผิดใดตามพระราชบัญญัตินั้นถือเป็นเหตุให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ ในกรณีที่เป็นการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาดังกล่าว และเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ ที่บัญญัติว่า

"มาตรา ๔๐ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษาวัฒนธรรม ความมั่นคงของชาติ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม"

การดำเนินกิจการของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือดังกล่าวมีลักษณะของกิจการบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติในด้านต่างๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในอธิปไตยของชาติ อันกระทบต่อความสงบสุขและความเรียบร้อยของประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) องค์กรนิติบุคคลที่ใช้สื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากกระทำที่ละเมิดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากการที่กลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์กระทำการขายหุ้นทั้งหมดที่ถือในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) จำนวนร้อยละ ๔๙.๖ และเมื่อรวมกับผู้ถือหุ้นอื่นที่เป็นคนต่างด้าวแล้ว จะพบว่ามีการกระทำโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการแห่งความสุจริตและยังพบการซ่อนเร้นอำพรางผู้ถือหุ้นบางรายในกระบวนการซื้อขายหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนต์ จำกัด อันทำให้ผลประโยชน์ของชาติและสาธารณะ รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับความกระทบกระเทือนอันอาจได้รับจากการเข้ามาดำเนินการของนิติบุคคลต่างด้าว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะองค์กรดังรายข้างล่างนี้ จึงขอใช้สิทธิร้องเรียนและเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พิจารณาถึงความมั่นคงของชาติเกี่ยวกับการโทรคมนาคมของชาติซึ่งเป็นบริการสาธารณะของชาติ ไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือและการครอบงำกิจการของบริษัทต่างชาติ อันจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งในด้านอธิปไตยและเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับที่กรมการขนส่งทางอากาศได้วินิจฉัยแล้วว่าบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ซึ่งบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๕๐มีลักษณะเป็นคนต่างด้าวเนื่องจากการที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ขายหุ้นทำให้แก่คนต่างด้าวทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวเปลี่ยนไป (รายละเอียดปรากฏตามแผนภูมิ) จึงขอร้องเรียนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังได้กล่าวมาข้างต้น และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) เพิกถอนการอนุญาต สัมปทาน และสัญญาทั้งหมดที่ได้ให้แก่บริษัทในเครือของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

(๒) เพิกถอนการอนุญาต สัมปทาน และสัญญาที่มีการให้บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) ในการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของประเทศ(National Project)

(๓) เพิกถอนการอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ทุกสัญญา

(๔) ทำการโต้แย้งคัดค้านการกระทำหรือดำเนินการใดๆที่กลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์และผู้รับโอนสิทธิของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่ได้กระทำไปในระหว่างการซื้อขายหุ้นของบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น จำกัด

ที่กระทบและทำความเสียหายในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นบริการเพื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชาติ

(๕) ระงับ ยับยั้ง หรือใช้สิทธิโต้แย้งการกระทำใดอันเป็นการผูกมัดในการดำเนินกิจการหรือการใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมของชาติที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือได้กระทำไปทั้งก่อนและหลังการซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์ภายหลังวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙

(๖) ตรวจสอบการชำระค่าธรรมเนียมหรือเงินที่ตอบแทนให้แก่รัฐในรูปแบบอื่นใดในการได้รับการอนุญาต สัมปทาน และสัญญาของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ ทั้งก่อนและหลังการซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์ภายหลังวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙

(๗) สั่งการให้บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และกลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์ เปิดเผยให้ส่งมอบสัญญาหรือข้อตกลงทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นของกลุ่มครอบครัวชินวัตรและดามาพงษ์กับบุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ อันเป็นเหตุให้บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)และบริษัทในเครือมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เพื่อที่คณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะวินิจฉัยได้โดยถูกต้อง และขอให้ส่งให้แก่องค์กรและหน่วยงานที่ได้ลงชื่อตามจดหมายฉบับนี้ ด้วยตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการโดยด่วน ทั้งนี้โดยหวังว่าจะได้รับทราบคำตอบโดยเร็ว เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะและของประชาชนเป็นสำคัญ

ขอแสดงความนับถือ

 (นายนิมิตร์ เทียนอุดม)                              (นางสาวรสนา โตสิตระกูล)

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ACCESS)    เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย

(นายไพโรจน์ พลเพชร)                   (นางสาวสารี อ๋องสมหวัง)

เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน   กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

      (นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์)                      (นางกรรณิกา ควรขจร)

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ    ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

(นางสุภา ใยเมือง)                                    (นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน)

ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)    ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

 

สำเนานำส่ง:  คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

อนุกรรมาธิการติดตามการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท