Skip to main content
sharethis


 


 


โดย สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ


Asia-Europe Institute


University of Malaya


 


เพื่อเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับกระแสความตื่นตัวของนักศึกษาในหลายๆ มหาวิทยาลัยทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ต่างแข็งขันและลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนและพลังบริสุทธิ์ทางการเมืองของตนเอง  ในการเป็นแนวร่วมล่ารายชื่อ ๕๐,๐๐๐ ชื่อ เพื่อถอดถอนนายก ฯทักษิณ ออกจากตำแหน่ง


ผมขอนำเสนอ ภาพยนตร์การเมือง คุณภาพดีเรื่องหนึ่งจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่จะเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ให้กับเพื่อนๆนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ทิ้งขว้างสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของตนเอง


"กี"( GIE ; เป็นการออกเสียงที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ภาษาอินโดนีเซีย) หนึ่งในภาพยนตร์จากประเทศอินโดนีเซียที่เข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพในปีนี้ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย นามว่า "ซู ฮก กี"  ( Soe Hok Gie)


 


 "กี" เป็นนักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 60 อันเป็นช่วงเวลามืดมนที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย  ช่วงกลางทศวรรษดังกล่าว มีการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านรัฐบาลทหารและนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง กล่าวกันว่า มีประชาชนที่ถูกสังหารไปกว่า ๖ ล้าน ทั่วอินโดนีเซีย


 


 ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างจากหนังสือชีวิตประวัติของ "กี" ที่ได้รับการเผยแพร่หลังจากเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในอินโดนีเซีย ได้เปิดกว้างมากขึ้น หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ลงจากตำแหน่งเมื่อปี ๑๙๙๘


 



 


เรื่องราว ชีวิตของ " กี" ในช่วงทศวรรษที่ ๖๐ นั้น เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่อึมครึมและรุนแรง เขาต้องฝ่าฟันทั้งมรสุมทางการเมืองและชีวิตส่วนตัวที่เกี่ยวพันกับเพื่อนฝูงและความรัก  หนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวลักษณะเฉพาะตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่แม้จะมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ซ่อนความอ่อนไหวในอารมณ์และความรู้สึกไว้ในส่วนลึกของจิตใจ ภายหลังจากผิดหวังจากความล้มเหลวในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการทหาร และชีวิตรักส่วนตัว สถานการณ์ของ "กี" เข้าลักษณะภาษิตที่ว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" เพราะเมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้น เขาเริ่มโดดเดี่ยวเมื่อเพื่อนฝูงเริ่มออกห่าง หลังจากไม่อาจเดินร่วมทางกับเขาได้


 


"กี" เลือกที่จะใช้ความอ่อนโยนของธรรมชาติเป็นเครื่องบำบัดจิตใจและปลดเปลื้องความเจ็บปวด จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


 


ภาพยนตร์เรื่องนี้ กำกับโดย รีรี รีซา (Riri Riza) และนำแสดงโดย นิโคลาส ซาปรูตา (Nicholas Saputra) นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอินโดนีเซีย


 


หากจะเทียบความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ไทยแล้ว ผมคิดว่า "กี" น่าจะมีความใกล้เคียงกับ ภาพยนตร์เรื่อง "คนล่าจันทร์" ที่เล่าถึง ชีวประวัติของ ผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ "เสกสรร ประเสริฐกุล"  ผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตส่วนตัวของตัวละครหลักนั้น


 


แม้จะมีความต่างกันพอสมควรในแง่ของรายละเอียด แต่ในแง่ของปรัชญา วิธีคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวละครหลักได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวชีวิตส่วนตัวนั้น ถือว่า เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สื่อออกมาได้ดี ในสัดส่วนของคุณภาพที่ใกล้เคียงกันทีเดียว ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ใจความส่วนนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วย การแตกยอดทางปัญญาและวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักและเข้าใจใน "คุณค่า" และ "ตัวตน" ในความเป็นปัญญาชน เป็นมันสมองของสังคม


 


ความสำเร็จของเรื่องราวของ "กี" ที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มนั้น เป็นการตอกย้ำและเผยให้เห็นถึงพลังนักศึกษาอินโดนีเซีย ที่เฟื่องฟูอย่างมากหลังที่พวกเขาเหล่านั้น เป็นแกนนำในการขับไล่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ออกจากตำแหน่ง เมื่อปี ๑๙๙๘


 


"กี" ได้กลายเป็นต้นแบบของนักศึกษาจำนวนมากในอินโดนีเซีย เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคน ให้หันมาสนใจการเมือง ปัญหาสังคม และความทุกข์ยากที่ประชาชนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียยังต้องประสบพบเจอแม้ผู้นำเผด็จการจะถูกโค่นล้มไปแล้วก็ตาม


 


ภาพลักษณ์ของ "กี" หลังจากที่ภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาได้ออกฉายไปทั่วอินโดนีเซีย ได้ถูกให้ความหมายในเชิงบวก เพื่อ สร้างความตื่นตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษาอินโดนีเซีย คิดในทางกลับกันในแง่ของขบวนการนักศึกษาไทยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน จิตร ภูมิศักดิ์ เองก็คงเป็นฮีโร่ ให้กับใครหลายๆคน แต่หากลองถามนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ว่า " จิตร ภูมิศักดิ์" คือใคร  ผมว่าน้อยคนนักที่จะตอบได้


 


กล่าวกันว่า ในช่วง "ระเบียบใหม่" ( New Order) ก่อนเหตุการณ์จลาจลปี ๑๙๙๘ ภายใต้การปกครองของนายพลซูฮาร์โต้นั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้น ขบวนการภาคประชาชนต่างๆถูกคุกคาม สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกห้าม นักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่ และพลังบริสุทธิ์ของสังคมเริ่มตระหนักถึงบทบาทของตนเอง และเริ่มรวมตัวกันตามวงเสวนาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั่วอินโดนีเซีย


 


นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ให้ความสนใจกับวรรณกรรมการเมือง ข้อเขียนและบทวิจารณ์การเมืองต่างๆ งานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ถูกผลิตจากจิตวิญญาณของนักคิด นักเขียนชาวอินโดนีเซียที่ต่างพร้อมเพรียงกันถูกจับกุมคุมขังจากการคุกคามของอำนาจมืดโดยฝ่ายผู้มีอำนาจของบ้านเมือง


 


งานเขียนของพวกเขาแม้จะถูกสั่งห้ามพิมพ์เผยแพร่หรือมีไว้ในครอบครอง แต่นักศึกษาในยุคก่อน ๑๙๙๘ ก็สามารถเสาะหางานเขียนเหล่านั้นมาเผยแพร่ในหมู่ของพวกเขาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงานเขียนของ "กี"


 


นักศึกษาอินโดนีเซียในช่วงเวลานั้น ต่างรู้สึกร่วมกันว่า ภารกิจทางการเมืองที่นักศึกษารุ่นพี่ได้ทำไว้นับแต่ช่วงทศวรรษที่ ๖๐ เรื่อยมา ยังไม่เสร็จสมบูรณ์  ดังนั้นมันจึงควรจะเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องสานต่อภารกิจนั้นให้สมบูรณ์ นั่นก็คือ "การนำพาประเทศหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการ"  "สถาปนาสังคมประชาธิปไตยให้กับอินโดนีเซีย" และภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ "การขับไล่ซูฮาร์โต้ออกจากตำแหน่ง"


 


ซึ่งท้ายที่สุดภาระกิจดังกล่าวก็สำเร็จเมื่อซูฮาร์โต้ ต้องออกจากตำแหน่งไป


 


จากวันนั้นถึงวันนี้  ๘ ปี ผ่านไป ดูเหมือนว่า อินโดนีเซีย  ได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว


 


คงจะไม่ผิดนักหากเราจะกล่าวว่า งานเขียนและวรรณกรรมทางการเมืองที่นักศึกษาไทยยุคก่อน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ อ่านกันนั้น ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกันที่ทำให้อุดมการณ์อันแรงกล้าของพวกเขาเหล่านั้น หล่อหลอมและตกตะกอน จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


ผมคิดว่า นักศึกษาไทยและคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยให้ความสนใจกับบทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านมากเท่าใด เรามีความเข้าใจเพื่อนบ้านน้อยมากต่อประเด็นดังกล่าวและอื่นๆ     หลายครั้งเราคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่หารู้ไม่ว่า "อัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง" นั้น ก็มีขึ้นมีลง เฉกเช่น "อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" และอัตรานั้น จะลดต่ำลง หากคุณภาพทางประชาธิปไตยถูกบั่นทอนลง


และในแง่นี้ คงเป็นที่ประจักษ์ แล้วว่า คุณภาพของประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่ในระดับใด


 


สำหรับขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้ ผมว่า น่าจะลองหันซ้ายหันขวา สำรวจและมองดูสิ่งที่เพื่อนๆ รอบบ้านของเราได้ทำ และแสดงบทบาทของตนเอง ในฐานะปัญญาชนของสังคมอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาททางการเมือง และจากนั้นลองหันกลับมาสำรวจตนเองว่า จากนี้จะเดินไปในทิศทางใด


 


ในสภาวะที่ ขบวนการนักศึกษาไทย กำลัง "เพิ่งตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน ตื่นจากความฝันอันรื่นเริงแห่งกระแสบริโภคนิยม" นั้น อาจจะยังมีอาการสะลึมสะลือ อยู่บ้าง งัวเงียๆ ทำอะไรไม่ค่อยถูก


 


ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอแนะนำ ว่า ลองไปดูภาพยนตร์ เรื่อง "กี" อย่างน้อยมันอาจจะเป็นการช่วยปลุกให้หายงัวเงียทางการเมืองไม่มาก็น้อย "เห็นตัวเองผ่านเงาคนอื่น" น่าจะทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น อีกทั้งสื่อภาพยนตร์ยังถือว่าเป็นสื่อที่มีความสะดวกในการย่อยและเสพโดยนักศึกษาอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากจะขอเชิญชวนให้ลองไปดู "กี" กันดีกว่า


 


หมายเหตุ : ภาพยนตร์ เรื่อง GIE จะจัดฉายสองรอบ คือ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ เวลา ๒๐.๓๐ น. และ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ โรงภาพยนตร์ ภายในห้าง สยามพารากอน สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซด์ภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ http://www.bangkokfilm.org/


 


หรือหากท่านใดสนใจที่จะรู้จัก ภาพยนตร์เรื่อง GIE และชีวประวัติของ Soe Hok Gie ก็สามารถเข้าไปชมเว็บไซด์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่ http://www.milesfilms.com/gie/


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net