Skip to main content
sharethis

<--break->

แถลงการณ์ ไปให้พ้นจากระบอบทักษิณและอำนาจนอกระบบ

กระแสการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางในขณะนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญต่อการสร้างพลังและความหมายให้กับการเมืองภาคประชาชนเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่อาจจำกัดไว้เพียงประเด็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แน่นอนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจมองข้ามความจริงไปด้วยว่า โครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดช่องให้เกิดระบอบทักษิณขึ้นมาในสังคมไทย ดังนั้น ลำพังแต่เพียงการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาของการเมืองไทยในระดับพื้นฐานได้แต่อย่างใด

ปัญหาที่หมักหมมและเป็นรากฐานของสังคมไทยก็คือ อำนาจในทางการเมืองที่ถูกผูกขาดไว้ในมือของบุคคลเพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นนำโดยปราศจากการตรวจสอบและกำกับจากสังคม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือกำหนดความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ แต่อย่างใด ซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ได้สร้างปัญหาทางสังคมและความไม่เป็นธรรมอย่างกว้างขวางในสังคม เช่น การใช้ความรุนแรงในนโยบายต่างๆ ของรัฐ, การดำเนินนโยบายที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม แต่สร้างความเดือดร้อนและหายนะแก่ประชาชนระดับรากหญ้า, การบัญญัติและใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์กับตนและพรรคพวก เป็นต้น

แต่ปัญหาดังที่กล่าวมา ก็มิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทย หากเป็นสิ่งที่ปรากฎและสืบเนื่องมาในระบบการเมืองของไทยโดยตลอดในทุกรัฐบาล เพียงแต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เห็นอย่างชัดเจนและท้าทายต่อความรู้สึกของสาธารณชนเท่าที่เกิดขึ้นในระบอบทักษิณ ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ในระยะยาวจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองให้เกิดขึ้น แต่การปฏิรูปการเมืองต้องไม่มีความหมายแคบๆ เพียงแค่การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของสังคมที่เกิดขึ้นบนฐานของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ของสังคมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างกว้างขวาง แม้จะเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ก็เป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วม การโต้แย้ง และการตระหนักถึงอำนาจของผู้คนในสังคม อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงอยู่และแก้ไขปัญหาร่วมกันของผู้คนในสังคมประชาธิปไตย

การปฏิรูปการเมืองจึงต้องเกิดขึ้นโดยการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้คนในสังคมต่อปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตในครั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองที่จะตอบสนองต่อคนทุกๆ กลุ่มไม่อาจเกิดขึ้นได้จากอำนาจนอกระบบ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดของรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจโดยทหาร หรือการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน ก็ล้วนแต่จะเป็นรัฐบาลซึ่งประชาชนไม่อาจตรวจสอบและกำกับได้ จึงไม่เป็นหลักประกันใดๆ ต่อการสร้างสังคมที่เข้มแข็งในระยะยาว ดังที่ได้ปรากกฎมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะฉะนั้น นอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและพันธมิตรนักวิชาการ ดังมีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องต่อสังคมไทยให้ร่วมกันยืนหยัดและผลักดันในประเด็นดังต่อไปนี้

๑. การปฏิรูปการเมืองที่จะบังเกิดขึ้นต้องไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าหมายหลักต้องอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนในสังคมไทย ด้วยการให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าถึงและใช้อำนาจได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพโดยสังคม

๒. การปฏิรูปการเมืองต้องดำเนินไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยขอปฏิเสธอำนาจนอกระบบทุกประเภทว่า มิใช่ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รายชื่อคณาจารย์ และนักวิชาการทั่วประเทศ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
รศ. วารุณี ภูริสินสิทธิ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
รศ.ดร.จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ชัชวาล ปุญปัน (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
นัทมน คงเจริญ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ชาญกิจ คันฉ่อง (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
อ.พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ดร. พระมหาบุญช่วย สิรินธโร (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย)
ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา (นักวิชาการ TDRI)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)
ศ. สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ (นักวิชาการอิสระ)
ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ศ. อานันท์ กาญจนพันธ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการอิสระ)
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ผศ. ถินันท์ อนวัชศิริวงศ์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ฉลาดชาย รมิตานนท์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รศ. วิระดา สมสวัสดิ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รศ. ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อำพล วงศ์จำรัส (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ปรานี วงศ์จำรัส (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. พรภิมล ตั้งชัยสิน (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. ชูศักดิ์ วิทยภักดิ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
สมปอง เพ็งจันทร์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เอกมล สายจันทร์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.ราม โชติคุต (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ดร. วรรณภา ลีระศิริ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.มาลินี คุ้มสุภา (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.ประยุทธ์ หัตถกิจจำเริญ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.กัญญณัฎฐา อิทธินิติวุฒิ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
อ.ศักดิ์ชาย จินะวงศ์ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ผศ.ประสาท มีแต้ม (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ผศ.ปิยะ กิจถาวร (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ดร. อุทัย ดุลยเกษม (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
ดร. เลิศชาย ศิริชัย (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
ดร.โอภาส ตันติฐากูร (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
ศิริพร สมบูรณ์บูรณะ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
ทิพยวัลย์ สุทิน (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
ฐิรวุฒิ เสนาคำ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)
สุชาดา ทวีศิลป์ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
เสนาะ เจริญพร (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ธวัช มณีผ่อง (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
พลวิเชียร ภูกองชัย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ธีรพล อันมัย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ศรัณย์ สุดใจ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
สุรสม กฤษณะจูฑะ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
จินตนา วัชระสินธุ์ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
อ.พฤกษ์ เถาถวิล (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
ผศ. เรวดี โรจน์จะนันท์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
อ.บุญลือ คะเชนทร์ชาติ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร (มหาวิทยาลัยมหิดล)
อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
อ.วิทยากร เชียงกูล (มหาวิทยาลัยรังสิต)
อ.วิภา ดาวมณี (มหาวิทยาลัยรังสิต)
ดร. อนุสรณ์ ศรีแก้ว (มหาวิทยาลัยรังสิต)
โคทม อารียา (นักวิชาการอิสระ)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ (นักวิชาการอิสระ)
ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล (นักวิชาการอิสระ)
อ.สังคม ทองมี (นักวิชากรอิสระ โรงเรียนศรีสงคราม)
ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี (มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net