ทบทวนบทเรียน "พลังประชาชน" ฟิลิปปินส์ & คอสตาริกา

         

                               

       ภาพจาก: http://www.cp-union.org/photo.html

 

 

ดูเหมือนว่าชะตากรรมของ "ฟิลิปปินส์" ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทย จะมีสถานการณ์คล้ายๆ กันอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่ความโชกโชนของผู้นำประเทศทั้งสองราย และความวุ่นวายซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงกลุ่มคนมากมายที่ออกจากบ้านมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง โดยเหตุผลที่ประชาชนทั้งไทยและฟิลิปปินส์ให้คำอธิบายก็คือความไม่พอใจในตัวผู้นำได้ดำเนินมาถึงจุดแตกหักแล้ว

 

People Power หรือ "พลังประชาชน" ที่เคยขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็เห็นจะมีแต่ที่ฟิลิปปินส์และประเทศไทยเท่านั้น แต่การต่อสู้ในอดีตของฟิลิปปินส์ออกจะละมุนละม่อมกว่า ตรงที่ไม่มีการนองเลือดและเสียน้ำตาหนักหนาสาหัสเหมือนบ้านเรา

 

พลังประชาชนครั้งที่ 1-3: รุ่งอรุณแห่งความหวัง

"ชีวิตใหม่ของชาวฟิลิปปินส์จะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้...มันคือชีวิตที่เติมเต็มด้วยความหวัง และฉันเชื่อมั่นว่าชีวิตใหม่นั้นจะตั้งมั่นอยู่ในความสงบและสันติ"

คอราซอน อาคีโน

25 กุมภาพันธ์ 2529

(กล่าวภายหลังจากขับไล่ประธานาธิบดีมาร์กอสออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ)

 

เมื่อครั้งที่อดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เถลิงอำนาจอยู่นานนับสิบปี ปัญหาบ้านเมืองที่มีก็ยังคงอยู่อย่างนั้น ทั้งปัญหาความยากจน คอรัปชั่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง และปัญหาการขาดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเหตุให้ชาวฟิลิปปินส์นับหมื่นนับพันออกมารวมตัวกันบนท้องถนนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 จนเกิดเป็นเหตุการณ์เอดซ่า1 และ 2 (EDSA I, EDSA II) อันหมายถึงความสำเร็จของการแสดงพลังภาคประชาชนของฟิลิปปินส์

 

ในครั้งนั้น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และ คอราซอน "คอรี" อาคิโน่ ภรรยาม่ายของคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองของมาร์กอสได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

 

ทนายชาวฟิลิปปินส์ นัสเซอร์ มาโรห์มซาลิค ผู้ร่วมเหตุการณ์เอดซ่า1 เพื่อขับไล่มาร์กอสกล่าวว่าเขาออกไปร่วมขบวนกับพลังประชาชนด้วยเหตุผลว่าชาวฟิลิปปินส์ในขณะนั้นไม่พอใจมาร์กอสอย่างมาก และไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์เรียกร้องให้ผู้คนออกมารวมตัวกันแต่อย่างใด เพราะทันทีที่ประชาชนรู้ข่าว พวกเขาก็มาร่วมชุมนุมด้วยทันที เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์เกรงว่าอาจจะไม่มีโอกาสแบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว

 

เวลาผ่านไป 15 ปี ชาวฟิลิปปินส์ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ โจเซฟ เอสตราดา (อดีต) ประธานาธิบดีขวัญใจประชาชนได้สำเร็จอีกเช่นเคย (รู้จักกันในนามของเหตุการณ์ EDSA III) โดยพลังประชาชนที่ร่วมขับไล่เอสตราดา ในปี 2544 ใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยอย่างโทรศัพท์มือถือมาเป็นสื่อกลางในการแจ้งข่าวสารและนัดชุมนุมกัน ทำให้เกิดคำเรียกว่า "กบฎมือถือ" หรือ Coup de Text ขึ้นหลังจากเหตุการณ์ล้มล้างรัฐบาลของฟิลิปปินส์ครั้งนี้สิ้นสุดลง

 

รองประธานาธิบดี กลอเรีย แมคคาปากัล อาร์โรโย ก็เจอส้มหล่นใส่เต็มๆ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์แบบเต็มตัวนับแต่นั้นมา

 

ทว่า สถานการณ์ร้อนระอุที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันนี้ เป็นดัชนีที่บ่งชี้ได้ชัดเจนว่าความนิยมในตัวประธานาธิบดีอาร์โรโยนั้นเข้าขั้นวิกฤติเต็มที ทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพเรือบุกเข้ายึดฐานที่มั่นในกรุงมะนิลาและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีก้าวลงจากตำแหน่ง แต่พลังของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่ออกมาร่วมต่อสู้ในครั้งนี้กลับมีสุ้มเสียงเรียกร้องที่แผ่วเบาลงไปมาก เมื่อเทียบกับความฮึกเหิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

พลังประชาชนครั้งที่ 4: มวลชนที่ย่ำอยู่กับที่

จำนวนประชาชนที่มาชุมนุมในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ยึดฐานทัพฟอร์ตโบนิฟาซิโอ เมื่อวันที่ 24 กุมภาฯ 2549 ถูกประเมินคร่าวๆ ว่าน่าจะอยู่ในหลักพันเท่านั้น และพลังประชาชนก็ยอมสลายตัวอย่างเงียบเชียบ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมได้ไม่นาน

 

นอกจากนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งการต่อเวลาภาวะฉุกเฉินเช่นนี้เป็นความเอื้ออาทรอย่างดีที่รัฐบาลสามารถจะเข้าไปควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างให้อยู่ในความสงบได้อย่างใจ เพราะเจ้าหน้าที่สามารถจัดการและจับกุมผู้ต้องสงสัยทุกคนได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวนใดๆ ทั้งสิ้น

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกาศ "พลังประชาชน" ของชาวฟิลิปปินส์ในยุคสมัยของประธานาธิบดีอาร์โรโยไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คิด เพราะพลังประชาชนซึ่งออกมาแสดงความเคลื่อนไหวมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดไว้ และทหารเหล่าทัพอื่นๆ ก็ยังคงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ในขณะที่ความเคลื่อนไหวในอดีตสำเร็จลุล่วงไปได้ เป็นเพราะทหาร-ตำรวจฟิลิปปินส์ร่วมกันต่อต้านผู้นำเผด็จการอย่างมาร์กอส และก็ช่วยกันปราบปรามอิทธิพลของผู้นำเจ้าสำราญอย่างเอสตราดาด้วย

 

เมื่อครั้งที่พลังของประชาชนสามารถขับไล่ผู้นำที่ฉ้อฉลออกไปได้ การชุมนุมครั้งนั้นถือเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ของชาวฟิลิปปินส์ หากเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 20 ปี ปัญหาที่เคยมีและเคยเกิดขึ้นในอดีตก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

 

ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ตั้งไม่รู้กี่คน-ถูกต่อต้านด้วยข้อหาคอรัปชั่นและล้มเหลวในการบริหารประเทศ แม้กระทั่งกลอเรีย อาร์โรโยซึ่งมีคุณสมบัติเพียบพร้อมกว่าผู้นำคนใดในอดีตของฟิลิปปินส์ก็หนีข้อหานี้ไม่พ้นเช่นกัน

 

ประธานาธิบดีอาร์โรโยมีส่วนพัวพันกับการทุจริตเลือกตั้ง และเครือญาติของเธอก็ถูกตั้งข้อหาว่ารับสินบน เช่นเดียวกับการประณามว่าเธอไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบของประเทศได้ตามสัญญาที่เคยให้ไว้ แต่เธอสามารถใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและอาศัยพันธมิตรในรัฐบาลเอาตัวรอดไปจากการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้อย่างหวุดหวิด

 

แม้ว่าพลังประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวกดดันอาร์โรโยให้ลาออกไปจากตำแหน่ง แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ และอาร์โรโยก็เอาคืนด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยที่ทหารและตำรวจส่วนใหญ่ก็ยอมทำตามประกาศนั้นแต่โดยดี

 

อดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคิโน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อขับไล่ผู้นำทั้งสามคน (เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส, โจเซฟ เอสตราดา และกลอเรีย อาร์โรโย) ถึงกับออกปากด้วยตนเองว่าสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แม้แต่พลังประชาชนก็ไม่เข้มแข็งและไม่มีอำนาจเหมือนเดิม อีกต่อไป อาคิโนยังกล่าวอีกด้วยว่าถ้าหากเป็นไปได้ เธออยากให้ความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลเกิดจากส่วนที่เป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญมากกว่า

 

นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ EDSA III ได้สองปี เลติเชีย ชาฮานี วุฒิสมาชิกคนสำคัญของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงสังคมฟิลิปปินส์ในรายงานความมั่นคงของชาติว่าปัญหาต่างๆ ที่เรื้อรังจนหาทางแก้ไขไม่ได้นั้นเกิดจากการที่สังคมฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยประชาชนที่เพิกเฉย ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีระเบียบวินัย และมีแนวโน้มว่าจะเชื่อมั่นในตัวบุคคลมากกว่าจะมองถึงนโยบายหรืออุดมการณ์ ทั้งหมดนี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้ระบอบการเมืองของฟิลิปปินส์ย่ำเท้าอยู่กับที่...และชาฮานียังวิเคราะห์ต่อไปอีกด้วยว่าประชาชนฟิลิปปินส์ได้ผู้นำที่เหมาะสมกับสภาพของผู้คนในสังคมเสมอ เพราะหากผู้นำที่ประชาชนเลือกมาเป็นบุคคลประเภทไหน ก็จะหมายถึงว่าชาวประชาทั้งหลายเป็นคนแบบเดียวกันนั่นเอง*

 

   

  

 

  ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคอสตาริกา

เมื่อมองออกไปให้ไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เราจะเห็นได้ว่ามีสถานการณ์ที่น่าจับตามองเกิดขึ้นที่ประเทศคอสตาริกา ซึ่งอยู่ในแถบอเมริกากลาง เพราะหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 สิ้นสุดลง ประชาชนคอสตาริกาก็ต้องเจอกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากผู้สมัคร 2 รายได้คะแนนเสียงสูสีกันมากจนไม่อาจตัดสินได้ว่าใครควรจะเป็นผู้ชนะ

 

ทั้งนี้ ออสการ์ เอเรียส เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2530 ผู้เป็นตัวแทนจากพรรคพีแอลเอ็น หรือ National Liberation Party ได้คะแนนเสียงทั้งหมดร้อยละ 40.5 และ ออตโต โซลิส ตัวแทนจากพรรคพีเอซี (Citizen Action Party) ได้คะแนนเสียงทั้งหมดร้อยละ 40.3

 

แม้ว่าออสการ์ เอเรียสจะได้รับความนิยมจากประชาชนและเป็นที่ยอมรับมากกว่าในสายตาของต่างชาติ แต่นโยบายของพรรคพีแอลเอ็นสนับสนุนให้คอสตาริการ่วมลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศในแถบอเมริกากลางและสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่าคาฟตา (CAFTA: Central America Free Trade Agreement) ในขณะที่ออตโต โซลิส ตัวแทนจากพรรคคู่แข่งอย่างพีเอซีต่อต้านการลงนามในสัญญาคาฟตาอย่างชัดเจน ทำให้คะแนนเสียงของประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการที่โซลิสและพรรคพีเอซีนำเรื่องของนโยบายมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองคะแนนเสียงจากประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ พรรคพีเอซีอยู่ในช่วงขาลงมากๆ เนื่องจากประธานาธิบดีที่มาจากพรรคพีเอซีสองรายมีส่วนเกี่ยวพันกับการคอรัปชั่น ทำให้คะแนนความนิยมของพรรคพีแอลเอ็นทิ้งห่างไปแต่พอพรรคพีเอซีรณรงค์เรื่องการต่อต้านสัญญาคาฟตา ตัวแทนของพรรคก็ได้รับความนิยมกลับมาอย่างท่วมท้น และทำให้ตัวเก็งอย่างพรรคพีแอลเอ็นต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปเลย

 

ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง เหล่านักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ และเกษตรกรชาวคอสตาริกาได้ออกมารวมตัวต่อต้านการลงนามในสัญญาคาฟตาของรัฐบาลเดิม ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี อาเบล ปาเชโก ทำให้ช่วยชะลอการตัดสินใจที่จะลงนามในสัญญาคาฟตาออกไปได้ในระยะหนึ่ง เนื่องจากการลงนามในสัญญาคาฟตา จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมปทานโทรคมนาคมให้กับต่างชาติ หรือการปล่อยให้บริษัทเอกชนต่างชาติมีสิทธิ์เข้ามาผูกขาดการค้าต่างๆ ซึ่งปัญหาจะไม่ได้จำกัดอยู่ในคอสตาริกาเท่านั้น แต่มันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 4 พันล้านในอเมริกากลางทั้งหมด

 

เมื่อครบวาระที่ต้องเปลี่ยนผู้นำ การพิจารณาเรื่องนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของชาวคอสตาริกา และแม้ว่าพรรคที่รัฐบุรุษคนสำคัญอย่างเอเรียสอยู่จะให้การสนับสนุนสัญญาคาฟตา แต่ไม่ได้หมายความว่าความนิยมในตัวผู้สมัครจะมีความสำคัญมากกว่านโยบายที่จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้เป็นรัฐบาล

 

จนกระทั่งถึงวันนี้ คำตอบว่าผู้สมัครคนใดจะมีชัยเหนือการเลือกตั้งในคอสตาริกาก็ยังเดินทางมาไม่ถึง แต่

ขบวนการภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสัญญาคาฟตา และพลังประชาชนที่สนับสนุนออตโด โซลิส และพรรคพีเอซี เป็นการแสดงพลังประชาชนที่ถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ ได้อย่างถูกที่และถูกเวลา จนอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมมากกว่าการใช้พลังประชาชนล้มล้างรัฐบาลแบบเดิมๆ  

 

* Filipinos are passive, unreflective, undisciplined, and prone to loyalty toward personalities rather than institutions or ideals…The national character hasn't changed, of course, and Filipinos are back to saying that people "get the leaders they deserve"

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

+http://edition.cnn.com/2006/WORLD/asiapcf/02/23/philippine.revolution.ap/

+http://www.time.com/time/asia/covers/501060227/story.html

+http://www.adnki.com/index_2Level_English.php?cat=Politics&loid=8.0.269501498&par=0

+http://www.iht.com/articles/2006/02/20/news/manila.php

+http://www.channelnewsasia.com/stories/analysis/view/195320/1/.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท