"ทักษิณ" ซัดฝ่ายค้านไม่เล่นตามกติกาตัวเองร่าง

ประชาไท - 3 มี.ค.2549    วันแรกของการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องรับสมัครว่า รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ครั้งนี้ เรียบร้อยแล้ว และส่วนใหญ่เป็นคนเดิมที่เคยทำงานร่วมกันมา สำหรับยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ก็แล้วแต่ละพรรคการเมืองจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และอยากเห็นทุกพรรคการเมืองลงแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจ โดยเชื่อว่า จะสามารถแก้ข้อกล่าวหาที่ตนเองถูกกล่าวหามานานได้


 

ส่วนกรณีที่ 3 พรรคฝ่ายค้าน ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า คงไม่มีปัญหา แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า กฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ออกโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และตนเองไม่มีส่วนร่วมด้วย ส่วนบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย 6 รายชื่อแรก คือ 1. พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร 2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 3. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 4. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 5. นายโภคิน พลกุล และ 6. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายทางการเมืองอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ความหมายที่ชัดเจนคือ เป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน  และข้อเท็จจริงก็คือถ้าประชาชนยังเชื่อใจตนเองอยู่และได้รับความไว้วางใจก็จะมาทำงานต่อ ถ้าประชาชนไม่เชื่อใจ ตัวแทนของอีกฝั่งหนึ่งก็คงจะได้เข้ามาแทน หลักการเป็นอย่างนี้  ซึ่งเป็นกติกาที่พรรคไทยรักไทยไม่ได้เป็นคนร่างเลย ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก ทั้งหมดเป็นกฎหมายที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนร่างเองทำเองหมดทุกอย่างปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์กลับไม่เข้าแข่งขันในกติกาที่ตัวเองเป็นคนเขียน

 

หัวหน้าพรรคไทยรักไทยยังได้เปรียบเทียบว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่ายังดิ้นรนทุกอย่างให้มีการเลือกตั้งในพม่า  แต่ในประเทศไทยได้เปิดโอกาสในการเลือกตั้งทุกอย่าง แต่ผู้นำบางพรรคการเมืองไม่ต้องการเลือกตั้งพร้อมกับแนะให้ไปปรึกษานางอองซาน ซูจี

 

สำหรับบรรยากาศการจับเบอร์ของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างครึกครื้น ท่ามกลางการให้กำลังใจของกองเชียร์ชาวบ้านที่มาให้กำลังใจพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างล้นหลาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยกว่า 100  นาย โดยพรรคการเมืองที่ได้เบอร์พรรคแรก คือ พรรคเกษตรกรไทยได้ เบอร์ 1 ต่อมาพรรคประชากรไทยได้ เบอร์ 4 และพรรคแผ่นดินไทยได้เบอร์ 5 พรรคพลังประชาชนได้เบอร์ 3 สุดท้ายพรรคไทยรักไทยได้ เบอร์ 2 โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ ชู 2 นิ้ว ทำเครื่องหมาย "สู้ ตาย"ทันที

 

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้ไปสมัครเลือกตั้ง และยืนยันว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นการตัดสินใจใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 328 (2) โดยประเด็นสำคัญของฝ่ายค้าน คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่อาจเป็นคำตอบต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งจะเป็นวันไหน ขณะนี้คงไม่ใช่ประเด็นหลัก ถึงวันนี้แล้วคงไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปเลื่อนวันเลือกตั้งแล้ว เพราะเดินหน้ากันไปแล้ว หากเลื่อนจะกลายเป็นว่าบางเขตเลือกตั้งไม่มีคนลงสมัครหรืออย่างไร หรือต้องการให้คนเป็นสมาชิกเป็นสมาชิกครบ 90 วัน นี่คือการทำการกติกาพรรคการเมืองมีสิทธิ์แสดงออกแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมมนูญถึงกับบัญญัติรองรับไว้ หากรัฐธรรมมนูญไม่มีมาตรานี้อาจมีการเถียงกันว่าทำได้หรือไม่ได้แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ถึงขั้นว่า ห้ามยุบพรรคการเมืองที่ไม่ส่งสมัคร

         

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารพรรคว่า จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่าง 3 พรรค ร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 3 มี.ค.ถึงแนวทางที่จะทำงานต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีในหมู่ประชาชนว่า การที่ 3 พรรคตัดสินใจเช่นนี้มีเหตุผลอะไร และชี้แจงสิ่งซึ่งเป็นการบิดเบือนหรือเป็นการใส่ร้ายจากพรรคไทยรักไทย โดยฝ่ายค้านก็ต้องการให้ดำเนินการมีประสิทธิภาพขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วย เช่น กรณีที่ยกเลิกการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 4 มี.ค. เพราะมีรายงานเข้ามาว่าจะมีการก่อกวนให้เกิดความวุ่นวายหรือความรุนแรงขึ้น

 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การรับสมัครเลือกตั้งคงมีพรรคไทยรักไทยเป็นหลัก และคงมีพรรคอื่นที่ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งไปสมัคร แต่คนทั้งประเทศก็คงมองออก ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เหมาะสมและชอบธรรมหรือไม่ เหตุใดจึงเกิดการไม่ยอมลงสมัครของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งในประเทศไทย

 

ขณะที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ" โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,277 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค.2549 พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

กรณีความเชื่อต่อข่าวลือในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 39.4 ระบุ เชื่อว่าข่าวลือที่เกิดขึ้น ร้อยละ 60.6 ไม่เชื่อข่าวลือ ทั้งนี้ เกี่ยวกับข่าวลือจะใช้ความรุนแรงในการชุมนุมร้อยละ 30.8 เชื่อว่าจริง ร้อยละ 69.2 ไม่เชื่อว่าจริง ข่าวลือนายกรัฐมนตรีจะลาออก ร้อยละ 24.6 เชื่อว่าจริง ร้อยละ 75.4 ไม่เชื่อว่าจริง และข่าวลือว่า ทหารจะทำรัฐประหาร ร้อยละ 14.2 เชื่อว่าจริงร้อยละ 85.8 ไม่เชื่อว่าจริง

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจทราบข่าวการชุมนุม ในวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค.นี้ เกินกว่า 2 ใน 3 ทราบข่าวดังกล่าว ร้อยละ 20.1 ไม่ทราบ ส่วนความตั้งใจจะเข้าร่วมชุมนุมวันดังกล่าว ร้อยละ 4.6 ตั้งใจต้องร่วมแน่นอน ร้อยละ 2.7 คาดว่าจะไป ร้อยละ 12.8 อยากไปแต่กลัวอันตราย อีกร้อยละ 79.9 ไม่เคยคิดที่จะไปเลย

 

ส่วนการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ร้อยละ 28.0 คิดว่าจะเกิดความรุนแรง ร้อยละ 49.2 ไม่คิดว่า จะเกิดความรุนแรง และร้อยละ22.8 ไม่มีความคิดเห็น ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ ร้อยละ 43.9 ระบุถึงแม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะลาออก ก็จะเลือกพรรคไทยรักไทยอยู่ ร้อยละ 29.9 จะไม่เลือกหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก และร้อยละ 26.2 ไม่มีความคิดเห็น

 

กระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ประชาชนกลับให้ความไว้วางใจตั้งใจจะเลือกพรรคไทยรักไทยมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนหน้า จากร้อยละ 30 กว่าๆ มาเป็นร้อยละ 40 กว่าๆ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่พรรคไทยรักไทยพอใจได้

 

กรณีพรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.นี้ ร้อยละ 46.3 ไม่เห็นด้วย เพราะเล่นนอกกติกา เล่นเกมทางการเมืองเกินไป ทำให้เกิดความยุ่งยาก ร้อยละ 21.2 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย ฝ่ายค้านไม่ได้รับความยุติธรรม อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมือง และร้อยละ 32.5 ไม่มีความเห็น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้ที่ระบุไม่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านข้างต้นลดลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 74.1

         

ส่วนผลกระทบต่อความตั้งใจไปเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย. เมื่อฝ่ายค้านไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ร้อยละ 30.6 ระบุมีผลกระทบ ร้อยละ48.2 ไม่มีผลกระทบ และร้อยละ 21.2 ไม่แน่ใจ ความตั้งใจไปเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ร้อยละ 57.3 ตั้งใจจะไป ร้อยละ 18.0 ไม่ตั้งใจ และร้อยละ 24.7 ไม่แน่ใจ

         

อย่างไรก็ตาม ประชาชนครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 ไม่ค่อยมั่นใจและไม่มั่นใจต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ขณะที่ร้อยละ 39.2 ค่อนข้างมั่นใจและมั่นใจ และร้อยละ 10.8 ไม่มีความเห็น ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือ ข้อเสนอแนะผ่าทางตันขณะนี้พบว่า อันดับแรก ประชาชนเสนอให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจากันเพื่อยุติความขัดแย้ง รองลงมาคือ นายกรัฐมนตรีควรยุติบทบาททางการเมือง อันดับสามคือ ควรยกเลิกการชุมนุมประท้วง และฝ่ายค้านควรหันมาส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ตามลำดับ

 

จากการสำรวจความนิยมของประชาชนในกรุงเทพฯ จากโครงการประเมินผลงานรัฐบาลฯ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.1 ระบุ นิยมพรรคไทยรักไทย โดยที่ยังไม่ได้ระบุเงื่อนไข ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะลาออก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท