Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยประกาศร่วมชุมนุม พร้อมกับผู้ชุมนุมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ชื่อของ กชวรรณ ชัยบุตร นิสิตสาวจากรั้วจามจุรี และเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่างๆ


 


ในขณะที่สื่อหลายๆ สื่อ ชูให้เธอเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ และ "พลังบริสุทธิ์" ที่ใส่ใจความเป็นไปของบ้านเมือง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ทั้งเธอ และ สนนท. ก็กำลังถูกตั้งคำถามในบทบาทที่กำลังแสดงอยู่บนเวทีการเมืองที่มีความลึกลับ ซับซ้อน กระทั่งมีข่าวลือว่า สนนท. อาจจะเตรียมถอนตัวออกจากพันธมิตรฯ


 


แต่ไม่ว่าอย่างไรก็น่าสนใจว่า ในสถานการณ์การเมืองที่สับสนอลหม่านเฉกเช่นปัจจุบัน สัญลักษณ์แห่ง "พลังบริสุทธิ์" เช่นเธอกำลังแอบเก็บอะไรไว้ภายในจิตใจ


 


คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศถอยทุกทาง และยอมให้มีการปฏิรูปการเมือง รวมถึงการที่พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรเลือกตั้ง


ที่คุณหญิงสุดารัตน์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พรรคไทยรักไทยถอยให้หลายก้าวแล้ว จริงๆ ไม่ใช่การถอย แต่มันเป็นเพียงความต้องการลดกระแสการเมือง ส่วนเรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตร ไม่ส่ง ส.ส.ลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ก็เป็นสิทธิที่ทำได้


 


แต่ไม่ว่าอย่างไรการเลือกตั้งต้องดำเนินต่อไปตามครรลองการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะทำให้มีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่เป็นธรรม ไม่ทำให้สังคมมีความหวัง เพราะยังมีล็อคทางการเมืองที่ยังไม่ได้ปลด แม้ว่าเงินภาษีของประชาชนที่จะต้องสูญเสียไปทั้งๆ ที่สังคมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะสุดท้าย ส.ส. ทั้งหลายก็ยังคงเป็นคนหน้าเก่า แต่การเลือกตั้งต้องดำเนินต่อไป


 


ถ้าหากจะโทษก็ต้องโทษที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเป็นความผิดของตัวท่านนายกฯ ที่พยายามใช้การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมาฟอกความผิดของตัวท่าน แต่ก็อยากจะบอกว่าแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ท่านได้กลับมาใหม่แต่ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะสามารถฟอกความผิดที่ท่านทำมาได้ ทาง สนนท. จึงเรียกร้องให้ท่านลาออก


 


เท่าที่ฟังมาเหมือนกับว่าทางคุณ กชวรรณ เองไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง


ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะภาคประชาชนได้ดำเนินการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เรายืนยันในการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน เราไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยไม่ได้มาจากประชาชน ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก ก็จะไม่เกิดภาวะสูญญากาศทางการเมือง กลไกบริหารยังดำเนินการต่อไปได้ เพราะยังมีคณะรัฐมนตรี


 


คิดอย่างไรถึงได้นำ สนนท. เข้าไปร่วมในการเคลื่อนไหวกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย


ในส่วนของเครือข่ายพันธมิตรเรามีจุดยืนร่วมกันอยู่ คือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เราคิดว่าหลายฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกัน เพราะถ้าแยกกันก็คงจะทำไม่สำเร็จ


 


แต่ว่าจุดยืนของแต่กลุ่มที่ร่วมในเครือข่ายพันธมิตรก็แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มก็อยากได้รัฐบาลพระราชทาน


นั่นเป็นขั้นต่อไปซึ่งต้องว่ากันอีกที แต่ประการแรกต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกก่อน ส่วนในขั้นถัดไปเราก็คงต้องไปต่อสู้กันทางความคิด


 


สนนท. มีบทบาทอย่างไรในเครือข่ายพันธมิตร


เป็นกรรมการชุดใหญ่ ที่ผ่านมาก็เข้าร่วมการประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการชุมนุมแต่ละครั้ง


 


คิดอย่างไรกับกระทู้บนเว็บไซต์ที่เรียกร้องให้ สนนท. ถอนตัวออกจากเครือข่ายพันธมิตรฯ


คิดว่าเหตุผลที่มีคนออกมาเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากเครือข่ายพันธมิตรฯ เป็นเพราะว่าเขาเป็นห่วงว่าการต่อสู้ที่ผ่านมามันล่อแหลมจนจะนำไปสู่นายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่เรายืนยันจุดยืนของ สนนท. ว่าการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในครั้งนี้จะต้องมาจากเสียงของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง


 


แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


เห็นด้วยกับการแก้ไขในบางประเด็น แต่ไม่สมควรยกร่างใหม่ เพราะโดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ามีโครงสร้างที่ดี แต่รายละเอียดบางอย่าง เช่นเรื่องผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ไม่จำเป็น ส่วนเรื่องการมีองค์กรอิสระไว้ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่จะต้องทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


 


วิตกกังวลอะไรกับการชุมนุมวันที่ 5 มีนาคม


คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่น่าจะมีปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรง ถ้าหากจะเกิดความรุนแรงก็คงจะมาจากฝ่ายรัฐ


 


เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สนนท. ยังคงจะร่วมดำเนินการสั่นคลอนบัลลังค์ "ทักษิณ" ในนามของเครือข่ายพันธมิตรฯ หากแต่ในขั้นต่อไป ถ้าสถานการณ์เป็นไปตามที่เครือข่ายพันธมิตรฯ คาดหวัง ก็น่าเกรงอยู่ว่า จุดยืนของกลุ่มที่มีความแตกต่างจะสามารถประนีประนอมให้สิ้นสุดลงได้อย่างไร แล้วบทบาทของนักศึกษาที่เคยถูกชูขึ้นมาเพื่อเขย่าอำนาจทางการเมือง จะมีค่ามากแค่ไหนในวันที่ต้องต่อสู้กับความคิดของผู้ใหญ่ที่ลึกล้ำด้วยประสบการณ์อันโชกโชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net