Skip to main content
sharethis

นโยบาย  30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยตั้งแต่สมัยแรก   ซึ่งก็ได้ผล  เพราะทำให้ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจนในชนบทชื่นชมรัฐบาล  แต่ความเป็นจริงนโยบายหลักประกันสุขภาพนั้นมิใช่ผลงานของพรรคไทยรักไทย    พรรคไทยรักไทยเพียงแค่เก็บเกี่ยวสิ่งที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ 


 


ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นวาระแห่งชาติของภาคประชาชนเพื่อแก้ปัญหาคนยากจนเข้าไม่ถึงบริการด้านการรักษาพยาบาล  มีการจัดประชุมร่วมกันเพื่อคิดค้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ออกแบบกฎหมาย  กระทั่งพรรคไทยรักไทยเข้ามาเก็บเกี่ยวความคิดนำไปผสมกับหลักการตลาด เรียกชื่อว่า "30 บาทรักษาทุกโรค"  ใช้หาเสียงเลือกตั้งจนชนะเลือกตั้ง


 


ภายหลังจากรัฐบาล"ทักษิณ" เข้ามาบริหารประเทศ และดำเนินการตามที่หาเสียงไว้พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของประชากรไทยมีหลักประกันสุขภาพ   ดังที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ระบุจำนวนประชาชนที่ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง)  ปี 2548 จำนวน 47,147,770 คน


 


ทว่าหากลงลึกไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า การบริหารงานของรัฐบาล"ทักษิณ" ไม่ได้ใส่ใจลึกลงไปถึงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขอย่างถึง"แก่น" คือ ไม่ใช้หลักการเงินการคลังตามจำนวนประชากรเพื่อกระจายทรัพยากรสาธารณะสุข   แต่ใช้หลักอำนาจในการบริหารแบ่งเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาล จาก สปสช. มาบริหาร   และพยายามแก้ไข พ...หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.. 2545   เพื่อคงอำนาจการบริหารงบประมาณ   และยังจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลต่อหัวประชากรน้อยกว่าที่ประเมินไว้คือ 1,500 บาทต่อคน 


 


แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ  และชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยข้อมูลความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณตามโครงการหลักประกันสุขภาพ   โดยระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 .. 2545 หรือปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นมา   กระทรวงสาธารณสุขหักจ่ายเงินบุคลากรทั้งประเทศก่อนจะจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวให้จังหวัดและโรงพยาบาลต่างๆ  ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 235 แห่งมีหนี้สินรวมถึง 945 ล้านบาท  เนื่องจากเงินที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอรักษาผู้ป่วย


 


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูกระดึง จ.เลย กล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องการแยกแยะบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการ และผู้ขายบริการออกจากกัน  เพราะการรวมบทบาทไว้ที่เดียวกันทำให้ประชาชนอยู่ในฐานะผู้ร้องขอบริการทั้งที่เป็นเจ้าของเงินภาษี   การแยกบทบาทเพื่อให้เกิดมีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ  โดยมี สปสช.เป็นตัวแทนของประชาชนคนเล็กคนน้อยในการต่อรองซื้อบริการ เท่ากับว่าคนจนถูกยกระดับเป็นผู้ซื้อบริการไม่ใช่ผู้ขอรับบริการ


 


การจัดสรรงบประมาณโดยคิดตามจำนวนประชากรที่แต่ละสถานบริการรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  และปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข เช่น จ.สิงห์บุรี มีประชากรทั้ง 6 อำเภอประมาณ 220,000 คน มีโรงพยาบาล 6 แห่ง มีเตียงรักษาคนไข้ 664 เตียง มีแพทย์ 70 คน ขณะที่อ.กันทราลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ มีประชากร 230,000 คน มีโรงพยาบาล 1 แห่ง มีเตียงรักษาคนไข้ 90 เตียง มีหมอไม่ถึง 10 คน


 


นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณโดยนำส่วนที่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนควรได้ ไปให้คนอีกพื้นที่หนึ่งที่การบริการทางการแพทย์มีอย่างฟุ้งเฟ้อ แล้วอ้างว่าขาดงบประมาณนั้นไม่ถูกต้อง   เพราะรายได้ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งประกอบด้วย รายได้จากโครงการหลักประกันสุขภาพร้อยละ 30 จากโครงการประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการร้อยละ 70 แต่กลับนำงบประมาณจากหลักประกันสุขภาพไปจ่ายครอบคลุมเงินเดือนทั้งหมดของบุคลากร   ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบทชี้แจงและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน   แต่กลับถูกกระทรวงสอบสวนหาความผิด ตนจึงหวังว่าจะเกิดความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อมาเรียกร้องความเป็นธรรม


 


วิธีคิดของรัฐบาล"ทักษิณ"คือ "การบริหารปัญหา" เมื่อเห็นว่างบประมาณไม่พอ ก็มีการเสนอให้ยุบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเงินทุนจากภาษีบาป (ภาษีสรรพสามิต สุรา และบุหรี่) เกิดกระแสคัดค้าน เพราะปัญหาที่แท้จริงคือ ไม่ใช่  สปสช.ขาดงบประมาณ  แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีการบริหารงบประมาณ


 


ปัญหาแพทย์ พยาบาล ไม่เพียงพอต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   รัฐบาลแก้ไขด้วย ออกมติ ครม.วันที่ 9 .. 2548  อนุมัติโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ จำนวน 3,232 คน ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 3,521 ล้านบาท  รวมทั้งอนุมัติงบเพื่อผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นปีละ 1,500 คน เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,728 ล้านบาท


 


ด้วยเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลในประเทศโดยเฉพาะในชนบท ประกอบกับเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ปรากฏว่าหน่วยงานบริการภาครัฐมีภาระงานที่เพิ่มสูงขึ้น   เกิดการขาดแคลนกำลังคนโดยเฉพาะบุคลากรพยาบาล และปัญหาแพทย์จากภาครัฐไหลออกไปภาคเอกชนมากขึ้น   ทำให้มีความต้องการแพทย์และพยาบาลเพิ่มสูงยิ่งขึ้น


 


นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เรื่องแนวทางการผลิตแพทย์เป็นสิ่งที่เห็นด้วย  เพราะถึงแม้ไม่มีโครงการหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์  ซึ่งขณะนี้อยู่ในอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 10,000 คน และการมีโครงการหลักประกันสุขภาพทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นเป็นความจริง


 


แต่ตนอยากให้รัฐบาลเข้าใจปัญหาให้ชัดว่า นอกจากแพทย์พยาบาลไหลจากรัฐไปเอกชนแล้ว ยังมีลักษณะการไหลจากภาคชนบทเข้าสู่เมืองด้วย   เพราะในเมืองมีแพทย์มากภาระงานก็น้อย และระเบียบราชการก็เอื้อให้แพทย์อยู่ได้สบายไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง   ขณะเดียวกันแพทย์ พยาบาลที่จบใหม่ก็ไม่มีตำแหน่งทางราชการรองรับ  เป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว    จึงไม่มีความมั่นคง   ขณะที่เอกชนให้เงินเดือนสูงกว่า   ถ้ารัฐบาลไม่คิดเรื่องนี้ให้ชัดก็จะเหมือนกับโอ่งที่มีรูรั่ว เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่เดิมอยู่ในระบบได้


 


นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐบาลมีนโยบายที่สวนทางกับการสร้างหลักประกันสุขภาพ นั่นคือ นโยบายเมดดิคัล ฮับ และการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี


 


.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์  กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายการค้าเสรีด้านสุขภาพ โดยปล่อยให้ธุรกิจโรงพยาบาลสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หรือสนับสนุนการเน้นให้เป็นศูนย์สุขภาพแก่ชาวต่างชาติ แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นการค้ากำไร   การค้ากำไรทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเมื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่มีทางเลือกอื่นได้ต้องยอมปล่อยให้แพทย์ทำการรักษาไปตามความเห็นแพทย์   ขณะที่แพทย์ก็ขึ้นกับโรงพยาบาลที่ต้องสร้างกำไร สนองต่อผู้ลงทุน    ในที่สุดจริยธรรม คุณธรรม ของแพทย์ย่อหย่อน


 


บริการสุขภาพไม่เหมือนสินค้าอื่นทั่วไป ไม่ควรที่จะนำไปเป็นธุรกิจค้ากำไร จึงควรมีหลักเกณฑ์ก่อนที่จะมีนโยบายเรื่องธุรกิจด้านสุขภาพอย่างเสรีโดยออก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่มีเจตจำนงค์ให้รัฐเดินไปทางไหน และพัฒนากลไกด้านนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสุขภาพ   ถ้าต่างชาติมาลงทุน ก็ให้เขาลงทุนไป แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย


 


ดังนั้น การที่ สปสช.และโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถขยายหรือพัฒนาการให้บริการการแก่ประชาชน เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยเอดส์ การฟอกไต การให้บริการผู้ด้อยโอกาส เช่น ชาวเขา คนพิการ กลุ่มบุคคลออทิสติก เป็นต้น ต้องยกคุณงามความดีให้แก่คณะผู้บริหาร สปสช. และโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง หาใช่ผลงานของรัฐบาลแต่อย่างใด.


 


สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net