เปิดแฟ้มย้อนรอย : เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร (2)

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร "อาทิตย์" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวการเมืองอันโด่งดัง ที่มีชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นบรรณาธิการ เมื่อ 11 ปีก่อน เป็นเรื่องจากปกที่วิเคราะห์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในจังหวะแรกที่เขาก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการเมือง ในวันนั้นไม่มีใครคิดว่า เขาจะใช้เวลาไต่บันไดไปเป็นนายกฯ ได้ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีต่อมา

 

ความน่าใจของบทวิเคราะห์ชิ้นนี้อยู่ที่ มันได้ตอบและยืนยันความจริงวันนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น ไม่ว่าจะเป็นการซุกหุ้น สไตล์การบริหาร การเล่นกับรัฐธรรมนูญ

 

เรื่องราวเหล่านี้หลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว "ประชาไท" จึงอยากพาผู้อ่านย้อนอดีตไปรู้จักกับ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านบทความชิ้นนี้ แต่ด้วยความยาว จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอนๆ ทั้งหมด 4 ตอน 1.สายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถึงพรรคพลังธรรม 2.การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง 3. พิสูจน์แล้ว...ว่า "แรด" ยังวิ่งหนี และ ตอนที่ 4.เส้นทางการเมืองทักษิณ "เทวดาห้าห่วง" เป็นตอนจบ โปรดติดตาม

 

คิดเสียว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ราวกับฟังม็อบพันธมิตรฯ ไฮด์ปาร์ค หน้าเวที

 

 

 

 

 

0000000000

 

 

เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร

จากนิตยสาร "อาทิตย์" ฉบับที่ 919 วันที่ 20 -26 มกราคม 2538

 

000

 

ตอนที่ 2

การตีราคาทักษิณตามสายตาของพลตรีจำลอง

 

ความเกี่ยวข้องระหว่างพลตรีจำลอง กับทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยชัดเจน ถึงแม้นว่าพวกเขาจะรู้จักมักจี่กันได้ไม่ยาก...แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า...ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของชวน หลีกภัย ธุรกิจของบริษัทชินวัตรได้ประสบความยากลำบากพอสมควรในการค้าขายหรือร่วมลงทุนกับรัฐ นั่นก็คือเมื่อพันเอกวินัย สมพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ใช้นโยบาย "แยกส่วนรับผิดชอบแล้วสั่งการ" ในกระทรวงคมนาคม โอนงานด้านธุรกิจสื่อสารส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ในมือของพินิจ จารุสมบัติ รองหัวหน้าพรรคเสรีธรรมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

ตลอดเวลาที่พินิจนั่งในรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ดูเหมือนว่าย่างก้าวหลายประการของบริษัทชินวัตรนั้นไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรถ้าหากเทียบกับในระยะอื่นๆ โครงการใหญ่ๆ ทางด้านการสื่อสาร ไปรษณีย์ และ อสมท.ได้ก่อให้เกิดคู่แข่งหลายรายต่อบริษัทชินวัตร เช่น เมื่อคีรีกาญจนพาสน์ ขายไทยสกายทีวีให้กับบริษัทวัฏจักร ของ นิกร พรสาธิต ที่ปรึกษาของวัฏจักร รายหนึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของพินิจ จารุสมบัติ อย่างเป็นทางการ เป็นต้น อสมท.ในระยะหลังได้ทำท่าจะอนุมัติเครือข่ายเคเบิลทีวีอีกหลายต่อหลายช่อง คาดกันไว้ว่าจะทำให้วงการทีวีในอนาคตมีไม่ต่ำกว่า 100 ช่องสถานี

 

ความขัดแย้งกันภายในพรรคพลังธรรม ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง กับซีกพันเอกวินัย ได้เริ่มขึ้น... และมันนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี 11 คนของพรรคพลังธรรม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2537

 

โควตาที่ตกอยู่ในมือพลตรีจำลอง ศรีเมือง และจะต้องใช้มันให้คุ้มค่าเพื่ออนาคตของพรรค เพราะไม่อาจจะเอา "กุศล" จากโควตาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อพันเอกวินัย สมพงษ์ นั้นคงจะนำเอา "กุศล" ทั้งหลายติดตัวไปด้วยแน่...

 

การติดต่อระหว่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทักษิณ ชินวัตร และวิชิต สุรพงษ์ชัย นั้นทำกันเงียบมาก...ในขณะที่สื่อมวลชนหลายรายกลับหันไปคาดการณ์ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่อาจจะเป็นพลตรีจำลองมานั่งเอง หรือไม่ก็เอา มานะ มหาสุวีระชัย หรือกระทั่งให้พันเอกวินัย สมพงษ์ ยึดเก้าอี้นี้ต่อไปหาก "ยอมเปลี่ยนข้าง" หันมายืนกับสายวัด เก้าอี้รัฐมนตรีการต่างประเทศนั้น มองกันไปถึงศักยภาพของนายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศของพลังธรรม หรือไม่อาจถึงขั้นคิดว่า อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อาจจะกลับมานั่งเก้าอี้นี้หากแปรธาตุหลุดออกมาจากความภักดีต่อนาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตีคนเก่า...

 

บรรดาผู้สื่อข่าวที่ให้ความสนใจพรรคพลังธรรม ได้เริ่มมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างเล็กน้อย เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เอ่ยถึงคุณสมบัติรัฐมนตรี 2 กระทรวงหลักนี้ว่า จะหาคนประเภท "ดี-เด่น-ดัง" เข้ามาเก้าอี้นี้แทน

 

แต่สำหรับในกลุ่ม "อีลีท" ข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันกระจ่างแจ้งในเบื้องลึก ตลอดเวลาที่พันเอกวินัย สมพงษ์ นั่งเก้าอี้โดยยกความรับผิดชอบด้านการสื่อสารให้กับพินิจมาก ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยชื่นชมเท่าใดนัก

 

พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยใกล้ชิดกับกลุ่มอีลีทมาก่อน ก็โดยสายของพันเอก วินัย สมพงษ์ ทางหนึ่ง และต่อมาก็ใช้สายของนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ควบคู่ไปกับอากร ฮุนตระกูล  ผู้แยกจากพรรคไปอย่างน่าปวดร้าว พลตรีจำลองไม่มีเส้นสายใดๆ ที่ต่อสายกับกลุ่มคนเหล่านี้ กลุ่มคนที่พลตรีจำลองได้แสดงทัศนคติชื่นชมหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าบทบาทของอานันท์ ปันยารชุน อากร ฮุนตระกูล อนันต์ อัศวโภคิน หรือโอฬาร ชัยประวัติ

 

ดูเหมือนว่าในสายตาของพลตรีจำลอง ศรีเมืองนั้น...คำว่า "คนดี" ก็คือคนที่มี "ใบรับประกัน" คือคนที่ประสบความสำเร็จไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และตลอดเวลาในยุคที่ "ภาพพจน์ของนักการเมือง" ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ คุณค่าของ "นักธุรกิจมืออาชีพ" อย่างอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้โชว์ฝีมือเอาไว้ในยุคเผด็จการและยุคไร้รัฐสภาคอยตรวจสอบนั้น ...ทำให้เขามีส่วนสร้างน้ำหนักให้ความดี "ความดี" ประเภทดังกล่าว นั่นก็คือความดีที่ดูทันสมัย ดูมีเงินมีทอง ดูมีความคิดกว้างไกล...พูดง่ายๆ ก็คือ "พลังของนักธุรกิจรุ่นใหม่"นั่นเอง...

 

พลตรีจำลองนั้นให้คุณค่าสูงมากกับคนอย่างอากร ฮุนตระกูล หรืออานันท์ ปันยารชุน แม้นว่ารากฐานความคิดส่วนใหญ่ระหว่างเขากับนักธุรกิจเหล่านี้แทบจะ "เป็นไปแบบตรงกันข้าม" พลตรีจำลองยึดแนว "บุญนิยม" ในขณะที่คนเหล่านี้เชื่อมั่นใน "ทุนนิยม" พลตรีจำลองประกาศแนวทางพัฒนาประเทศโดยพื้นฐานการเกษตรและสวิงไปถึงขั้น "เกษตรกรรมธรรมชาติ" หรือ "เกษตรกรรมพึ่งตนเอง" ที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อรักษาสถานภาพของชาวนาชาวไร่ ไม่ใช่ "สินค้าเพื่อการส่งออกที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ" ในขณะที่อานันท์ ปันยารชุนคิดเห็นคล้ายๆกับ ชวน หลีกภัย ในระยะหลังนั่นก็คือประเทศต้องเติบโตไปบนรากฐานอุตสาหกรรม ต้องพึ่งพารายได้จากสินค้าส่งออกและการลดจำนวนเกษตรกรลงไปเป็นความจำเป็น...

 

แต่ดูเหมือนว่า ... "ความเป็นทหาร" นั่นเอง... ที่จะทำให้พลตรีจำลองไม่ถึงกับ "ยึดมั่น" กับ "ความแตกต่างทางแนวนโยบาย" ระหว่างกันและกันมากนัก พลตรีจำลองเองก็ไม่ได้แสดงแนวคิดหรือคำพูดใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าเขา "เข้าใจ" หรือ"ลึกซึ้ง" กับปรัชญาการพัฒนาแบบ "พึ่งตนเอง" แนวคิดและพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่ดูสมถะ หรือความเป็นยูโธเปียทั้งหลายของเขาค่อนข้างจะหนักไปทางด้าน "พิธีกรรม" มากกว่าเป็น"กระบวนการ" บริษัท "เท่าทุน" ของเขาไม่ได้แสดงรูปการอะไรที่ชัดเจนถึงขั้นที่จะเป็นเค้าโครงธุรกิจที่สามารถทำได้จริงในการปฏิบัติ แต่มันมีค่าในแง่ "การประชาสัมพันธ์" ในทางการเมืองมากกว่า ยูโธเปียของสันติอโศกก็เช่นกัน...น้ำหนักในการปฏิบัติของบรรดาผู้ศรัทธาจะเติบโตแบบ "กระจุก" ตัว กลายเป็นพวก "คอมมูน" มากกว่าจะกลมกลืนไปกับสังคม รวมทั้งแนวทางปรัชญาของสันติอโศกเองก็ยังถูกจำกัดอยู่กับ "ศีลธรรมขั้นพื้นฐาน" มากกว่าการตอบแนวคิดทางโลกุตระ หรือก้าวไปสู่แก่นของพุทธศาสนาอันว่าด้วย "การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง"

 

ด้วยเหตุนี้...ภาพที่แตกต่างระหว่างคนใส่เสื้อม่อฮ่อม กับคนที่ใส่สูทอิตาลี จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคกีดกั้นการสร้างความสัมพันธ์ของบรรดากลุ่มคนเหล่านี้ ผู้ปฏิบัติธรรมแห่งสันติอโศกสามารถพูดคุยเจรจากับอากร ฮุนตระกูล ที่นั่งเมาไวน์ อัดบุหรี่ควันขโมงในโรงแรมอิมพีเรียลควีนพาร์คได้สบายๆ แน่นอน...ความกลมกลืนเช่นนี้ก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่าพลตรีจำลอง ศรีเมือง กับโอฬาร ไชยประวัติ และอนันต์ อัศวโภคิน ที่ยังวางน้ำหนักใกล้ชิดกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง อย่างแนบแน่น แม้นว่าอากร ฮุนตระกุล เพื่อนซี้ของพวกเขาจะถอยห่างไปแล้วก็ตาม

 

อนันต์ อัศวดภคิน นักธุรกิจผู้มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดและโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์น่าจะมีส่วนมากทีเดียวในการชักนำให้เกิดสูตรลงตัวขึ้นมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของพลังธรรมนั่นก็คือให้ วิชิต สุรพงษ์ชัย ที่ทักษิณอยากได้มาเป็นประธานชินวัตรเมื่อเขาออกไปเล่นการเมือง มานั่งเก้าอี้คมนาคม ส่วนทักษิณเองไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ดูไม่น่าเกลียด...

 

แม้นว่าพลตรีจำลอง จะพยายามแสดงให้ประชาชนผู้สนับสนุนเขาเห็นว่า การเลือกทักษิณซึ่งเป็นคนนอกมานั่งเก้าอี้ตามโควต้าพลังธรรม จะเกิดขึ้นจาก "ความประทับใจ" ในเรื่อง "ความกตัญญูรู้คุณ" ของทักษิณ ดังที่เขาเขียนระบายไว้ในนิตยสาร "เราคิดอะไรอยู่" ก็ตาม...แต่นั่นก็ไม่น่าจะใช่ "เหตุผล" ที่มีน้ำหนักเพียงพอสำหรับการตัดสินใจในครั้งนี้

 

บ่อยครั้ง...ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง มักจะทำให้คนที่ชื่นชมเขา รับรู้ถึง "ความบริสุทธิ์ใจ" ความ "ซื่อ" จนกระทั่งความอึดอัดใจในแต่ละครั้งที่ความเห็นไม่ลงรอยกัน พัฒนากลายไปเป็น "ความสงสาร - ความเห็นใจ" อยู่บ่อยๆ แต่ในวงการธุรกิจและวงการเมือง ไม่มีใครทำใจกับเหตุผลเรื่อง "ความกตัญญู" ของ ดร.ทักษิณ ที่ทำให้พลตรีจำลองตั้งเขาขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ

 

ทักษิณ ชินวัตร และวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้เข้าพบกับอานันท์ ปันยารชุน ก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่ง...และนอกเหนือจากการยกย่องกันในความกตัญญู การชื่นชมในความสามารถระหว่างกันและกันแล้ว...ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งของทักษิณ และวิชิต สุรพงษ์ชัย จดหมายด่วนจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง ไปยังนายกรัฐมนตรีขอให้ระงับการพิจารณาโครงการโทรศัพท์อีก 1 ล้านเลขหมายนั้น...กลายเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและเป็นคำที่อธิบายได้ดีกว่า ความชื่นชมที่พลตรีจำลองมีต่อความกตัญญูของ ดร.ทักษิณ

 

สำหรับทักษิณ ชินวัตร นั้น...ก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดใดๆ เลยที่จะชี้ให้เห็นว่าเขามีความชื่นชมต่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือพรรคพลังธรรม เขตเลือกตั้งที่เขาแสดงความมุ่งหมายนั้นอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทีมของเขาน่าจะเป็นธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งน่าจะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคเหนือเขาปฏิเสธไม่ได้กับบทบาทของ ณรงค์ วงศ์วรรณ พ่อเลี้ยงแห่งจังหวัดแพร่ ที่ควบคุมฐานในภาคเหนือ ไม่ว่าพินิจ จันทรสุรินทร์ ส่งสุข ภัคเกษม ฯลฯ กินอิทธิพลในเขตแพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ ตรงกันข้ามกับพรรคพลังธรรมที่ทำได้เพียงแค่ "เกือบได้" ในหลายเขตของภาคเหนือ และเกือบได้เพราะนโยบาย "บุญนิยม" ไม่ใช่ "ทุนนิยม"

 

ทักษิณปฏิเสธข้อเสนอของพรรคความหวังใหม่ในฐานะรองนายกฯ แต่เขาแสดงถึงความกระตือรือร้นอย่างเหลือหลายต่อรัฐมนตรีการต่างประเทศ ร่วมกับวิชิต สุรพงษ์ชัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมของพรรคพลังธรรม...กระตือรือร้นถึงขั้นประกาศยอมรับการเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศคนใหม่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมต่อหน้าสื่อมวลชน ทั้งๆที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีด้วยการแถลงข่าวยืนยันว่า "ถึงเวลาแล้วที่ผมจะรับใช้สังคม ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ" และถึงขั้นแถลงนโยบายส่วนตัวออกมาทันทีว่า "จะใช้เศรษฐกิจนำการเมือง"

 

คำนูญ สิทธิสมาน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" อันเป็นหนังสือที่เคยใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างดีถึงขั้นเคยร่วมธุรกิจด้วยกัน ได้แสดงความเห็นออกมาในทันทีว่า... "ทักษิณจะต้องใช้จ่ายสูงสุดเท่าที่เขาเคยจ่ายมา ในการเข้ามาในทางการเมืองด้วยลักษณะเช่นนี้..."

 

แต่ดูเหมือนว่าทักษิณจะไม่ยี่หระเสียแล้ว...ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจเสนอชื่อเขาเป็นรัฐมนตรี กระแสการโจมตีมุ่งตรงมาที่เขายังหนักหน่วง ไม่ว่ากรณีข่าวลือเรื่องบริษัทไอบีซี แคมโบเดีย พัวพันการรัฐประหารในกัมพูชา การกล่าวหาเรื่องคดีเทคโอเวอร์ธุรกิจเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ทางธุรกิจของเขานั้นแม้นจะเป็นไปด้วยดีเพราะประสบความสำเร็จในด้านกำไรมหาศาล แต่ "ลีลา" ทางธุรกิจของเขานั้น ไม่ใช่ลีลาเดินแบบมีพรมปูรองรับ มันเป็นลีลาที่มีศพกองอยู่ข้างทางหลายต่อหลายราย...

 

ทันทีที่ประกาศจะดิ้นรนเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศให้ได้ ทักษิณก็พบว่าเสียงโจมตีนั้นมันมันรุนแรงหนักพอที่จะทำให้เขาเกือบ "นอตหลุด" ออกมาทันที ถึงกับตอบโต้สื่อมวลชนกราดกระสุนด้วยคำว่า "การโจมตีผมอย่างหนักนั้น เป็นเพราะนักข่าวบางคนตกอยู่ภายใต้อำนาจนายทุนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางธุรกิจกับผม..." ทันทีที่ทักษิณแสดงอาการออกมาเช่นนี้ สื่อมวลชนสายทำเนียบฯ และสมาคมนักข่าวฯได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบแรงไม่แพ้กัน ด้วยการอ้างถึงกรณีที่บริษัทชินวัตรเลี้ยงสังสรรค์สื่อมวลชนและแจกมือถือกว่า 30 เครื่อง วิทยุติดตามตัวอีกต่างหาก... เรื่องจบลงตรงที่ทักษิณออกแถลงการณ์เคลียร์อย่างสุภาพในภายหลัง...

 

ตลอดเวลาที่ทักษิณกำลังพะรุงพะรุงกับการต้านรับเสียงโจมตีอย่างหนัก ไม่ว่าจากสื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มกบฏ 23 พรรคพลังธรรม พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อค้ำประกันความเป็นรัฐมนตรีของทักษิณ มีการระบุว่าพลตรีจำลองโทรศัพท์ไปหาทักษิณในระยะนั้น วันละไม่ต่ำกว่า 4 หรือ 5 ครั้ง ลุกลามไปถึงการปลอบใจภรรยาของทักษิณให้ยืนหยัดสู้ อย่าเสียกำลังใจ ราคาของทักษิณที่พลตรีจำลองตั้งเอาไว้ ก็จึง "แพง" มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แพงจนกระทั่งความพยายามอธิบายในเรื่องความกตัญญูของทักษิณ ชินวัตรนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้แม้แต่กิโลเดียว

 

พลตรีจำลอง ศรีเมือง และสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลก เพื่อยืนยันชื่อทักษิณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 18  ตุลาคม 2537 รายงานข่าวระบุว่า มีการเจรจากันนาน 3 ชั่วโมง และสิ่งที่สมาชิกพรรคพลังธรรมพูดกันภายหลังก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ได้ดอดเข้ามาเจรจาในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งการตัดสินใจเสนอชื่อทักษิณให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของ ชวน หลีกภัย นั้นไม่ใช่เป็นเพราะ "เกรงใจพลตรีจำลอง" แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี "เกรงใจทักษิณ" ด้วยเช่นกัน...

 

ผลแห่งวิธี "กระจายความเสี่ยง" ของทักษิณ...เห็นผลในวินาทีนี้เมื่อ ชวน หลีกภัย ประกาศในวันรุ่งขึ้นว่าเขายินดีเป็น "จำเลยที่ 1" หากเกิดอะไรขึ้นก็ตามทีกับการผิดพลาดในการเสนอชื่อทักษิณขึ้นกราบทูล ในขณะที่ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การบังคับบัญชาของ ชวน หลีกภัย นี่แหล่ะ ได้เปิดประเด็นเรื่องคุณสมบัติของทักษิณอาจจะขัดกับบทบัญญัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขกันใหม่ และทำท่าว่าจะผ่านสภาฯ ได้ในอีกไม่ช้า เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าหากมีอะไรที่อาจส่งผลภายหลังการเลือกตั้ง ดร.ทักษิณ เป็นรัฐมนตรี อันเป็นการไม่สมควร แล้วยังมีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าฯอีก ก็เป็นเรื่องน่าเสียใจ"

 

แน่นอน...กว่าจะเรียนลัดเติบโตในทันทีทันใดแบบเทวดาได้ในครั้งนี้ ทักษิณต้องใช้จ่ายสูงมากทีเดียว เขาจะต้อง "มีอะไร" มากพอที่จะทำให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง "ยอมตาย" เพื่อทักษิณในกรณีนี้ และจะต้อง "มีอะไร" ที่มากพอที่จะทำให้ ชวน หลีกภัย ยอมพลีตัวเป็น "จำเลยที่ 1 " ทั้งที่ขัดกับบุคลิกภาพรากฐานคือบุคลิกแห่งการ "ลอยตัว" ที่ฝังลึกอยู่ในกระดูกของเขา...นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว...ทักษิณเองยังต้องจ่ายให้กับตัวเองอีกด้วย เขาจะต้องผสมธาตุหรือวัสดุหลายต่อหลายชนิดเข้าไปในตัวเขา...เพื่อให้แข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านรับกับเสียงโจมตีวันแล้ววันเล่า จากทั่วทุกสารทิศ ต้อง  "แกร่งทั้งแผ่น" ทุกอณู ไม่งั้นไม่มีทางได้รับการการันตีปั๊มตรา "ห้าห่วง" โดยเด็ดขาด...

 

………………………………………………..

(โปรดติดตามตอนที่ 3 : พิสูจน์แล้ว...ว่า "แรด" ยังวิ่งหนี พรุ่งนี้)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท