ตีความด้วยคน : ถอดรหัสป๋า เปิดปาก 3 ฝ่ายต้องคุยกันเอง

ภาพของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือ "ป๋าเปรม" ยืนอยู่กลางวงล้อมของนักข่าวเมื่อเวลาประมาณ 19.30 น.ของวานนี้ (15 มี.ค.) ไม่ใช่ภาพที่เห็นได้ในสภาวะปกติทั้งในระยะเวลาอันใกล้ หรือจะย้อนหลังไป 20 ปีก็ตาม เพราะเป็นที่รู้กันว่าสมญานามหนึ่งของ พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรีผู้นี้ถูกเรียกขานกันขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยว่า เตมีย์ใบ้


 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 19.30 น.ของวันที่ 15 มี.ค. 2549 ก็คือประธานองคมนตรีเป็นผู้เรียกนักข่าวทุกสำนักเข้าพบเพื่อแถลงถ้อยคำสั้นๆ ไม่ถึง 5 นาที เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง โดยจุดใหญ่ใจความก็เห็นจะได้แก่การย้ำให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกและระบุว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในบ้านในเมืองขณะนี้ก็ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทุกฝ่าย

 

"ผู้ที่มีส่วนในสถานการณ์ และมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ฉะนั้นจึงใคร่ขอร้องว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นี้ ควรจะคิดและทำตามที่คิดในสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศชาติและประชาชนของเรา ผมจึงอยากให้ข่าวและขอร้องพวกท่านทั้งหลายได้ช่วยกันไปบอกกับผู้ที่น่าจะมีส่วนทำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองสงบลง โดยยึดเอาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง โดยยึดเอาความผาสุกของประชาชน โดยยึดเอาความไม่แตกแยกในบ้านเมืองของเราเป็นตัวตั้ง แล้วก็ไปคิดว่า จะทำอย่างไร สถานการณ์นี้ถึงจะคลี่คลายลงและสงบสุขได้ หวังว่าทุกท่านจะคิดได้ แล้วก็ทำได้ด้วย"

 

หลังถ้อยแถลงสั้นๆ เมื่อผู้สื่อข่าวรุมถามถึง "รูปธรรม" แห่งการแก้ปัญหาประธานองคมนตรีก็กลับไปสู่สมญา "เตมีย์ใบ้" ดังเคยเป็นมา

 

แน่นอนว่า ถ้อยคำของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองที่ไม่เจาะจงฟันธงเช่นนี้ยอมถูกตีความเช่นกันกับการเผยแพร่ภาพกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่รับสั่งกับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซ้ำอีกครั้งในช่วงค่ำของวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล)

 

ผู้ที่ชิงออกมา "ตีความ" คำพูดของ พล.อ.เปรม ต่อสาธารณะก่อนใครก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกได้ว่าตีความกันประโยคต่อประโยคเลยทีเดียว โดยนายสนธิระบุว่า การขอร้องว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นี้ ควรจะคิดและทำตามที่คิดในสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศชาติและประชาชนนั้น หมายถึงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องลาออกจากรักษาการนายกฯ ทันที

 

และการขอร้องพวก "ท่านทั้งหลาย" ให้ช่วยกันไปบอกกับผู้ที่น่าจะมีส่วนทำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองสงบลง โดยยึดเอาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง โดยยึดเอาความผาสุกของประชาชน โดยยึดเอาความไม่แตกแยกในบ้านเมืองของเราเป็นตัวตั้ง ก็คือการบอกให้ "ผู้ใกล้ชิด" พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ลาออกจากรักษาการนายกฯ นั่นเอง

 

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาตีความเช่นกัน แต่เชื่อว่าสิ่งที่ประธานองคมนตรีกล่าวนั้น ไม่ได้มีนัยยะซ่อนเร้นอะไรมากไปกว่าความต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข

 

แน่นอนการ "ตีความ" ย่อมขึ้นอยู่กับความรับรู้และปัจจัยของผู้ตีความ มิพักต้องพูดถึงการสื่อสาร "ความ"หลังการตีความ และการพูด "กลางๆ" ก็ไม่พ้นต้องถูกตีความเข้าข้างจุดยืนของตนเอง แต่ที่แน่ๆ "ผู้เกี่ยวข้อง" กับสถานการณ์ล้วนตีความได้

 

ว่ากันตามจริงแล้ว การตีความของนายอลงกรณ์ อาจจะใกล้เคียงความในใจของป๋าเปรมมากที่สุดก็เป็นได้ เพราะการออกพูดสั้นๆ โดยเกือบจะไม่บอกอะไรเลย คล้ายๆ กับการพูดตามความรู้สึกโดยเน้นไปที่ความสงบผาสุกก็คงเป็นความรู้สึกของใครหลายๆ คน

 

แต่แน่นอนว่าสังคมไทยควรเชื่อว่า "ผู้ใหญ่" มักไม่พูดอะไรตื้นๆ เราจึงต้องย้อนกลับไปที่ดูคำอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกตีความ ก็จะพบประโยคแรกให้ตีความได้ดังนี้

 

"ผู้ที่มีส่วนในสถานการณ์ และมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง"

 

นั่นหมายความว่าประธานองคมนตรีไม่ได้เจาะจงว่า คนที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวเท่านั้น

 

แต่จะเป็นใครบ้างนั้นดูเหมือนว่า ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเสนอไว้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดโดยเสนอว่า การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองควรประกอบไปด้วย 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านและฝ่ายพันธมิตรประชาชนฯ โดยนายปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยระบุว่าทั้ง 3 ฝ่ายต้องหันหน้าคุยกันเพื่อหาทางออก และรักษาความปรองดองของคนในชาติ เพราะเห็นว่า หากปล่อยทิ้งนานจะทำให้สังคมแตกแยกและรุนแรงเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเยียวยาก็ยากขึ้นตามไปด้วย โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือการที่ผู้นำแต่ละฝ่ายไม่รู้ตัวว่า กำลังทำร้ายประเทศชาติ

 

และเมื่อประธานองคมนตรีบอกว่า "ขอร้องว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นี้ ควรจะคิดและทำตามที่คิดในสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศชาติและประชาชน" ก็คือการยืนยันอีกครั้งว่า อย่าดึง "ส่วนอื่น" ที่อยู่นอกองค์ประกอบความขัดแย้งเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา "ส่วนอื่น" ก็ดูจะมีอยู่อย่างเดียวคือการขอรัฐบาลพระราชทานหรือนายกฯ พระราชทาน

 

หากความใน "ทีวีพูล 12 มี.ค." ไม่ชัดพอ การออกมาพูดของประธานองคมนตรีครั้งนี้อาจจะชัดขึ้น

 

คำยืนยันที่จะให้ "แก้ไขกันเอง" ชัดเจนอยู่ในประกาศสำนักราชเลขาธิการฉบับที่ 2 ซึ่งปฏิเสธกระแสข่าวว่ามีการหยิบยกเรื่องทีวีพูลวันที่ 12 มี.ค. เข้าไปพูดคุยกันในที่ประชุมองคมนตรี

 

(http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3009&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai)

 

อย่างไรก็ตาม การออกมาพูดของป๋าเปรมครั้งนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับสถานการณ์การณ์คลี่คลายที่ส่งสัญญาณมาจากท่าทีของทุกฝ่าย

 

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์แสดงการยอมรับคำเตือนของประธานองคมนตรี และว่าทีมกฎหมายพรรคไทยรักไทยได้เตรียมการเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พูดชัดเจนว่า ต้องการให้มีการนั่งคุย โดยให้มีกรรมการกลาง และอยากให้รีบดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย พล.ต.อ.ชิดชัยเน้นถึงจุดยืนของพรรคไทยรักไทยว่า ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรฯ แต่ต้องไม่ใช่การดีเบต และไม่ถือว่าการมานั่งพูดคุยกันในเวลาเป็นเรื่องช้าเกินไปเพราะเป็นเรื่องเพื่อบ้านเพื่อเมือง

 

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ก็ยืนยันไม่ต่างกันกับ พล.ต.อ.ชิดชัย ว่าพร้อมที่จะพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่จุดยืนของพันธมิตรฯ ก็คือพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องลาออกจากรักษาการนายกฯ

 

การขานรับเช่นนี้สอดคล้องกับทางออกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่เคยเสนอแนะให้มีการพูดคุยกันระหว่าง 3 ฝ่ายก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ พันธมิตรประชาชนฯ และฝ่ายค้าน เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อสถานการณ์ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะตกลงกันไม่ได้ในรายละเอียดว่าจะเป็นการพูดคุยกันในห้อง หรือจะมีการถ่ายทอดสด โดยฝ่ายพันธมิตรยืนกรานต้องถ่ายทอดสดด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องของชาติไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งส่วนตัว ฝ่ายพรรคไทยรักไทยก็ออกมาดักคอว่า ต้องเป็นการพูดคุยไม่ใช่การดีเบต (โต้เถียง)

 

อย่างไรก็ตามความแข็งขันในการยืนอยู่บนจุดยืนของตัวเองดูจะคลายลงไปตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา หากเราย้อนไปการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเที่ยงวันนั้น

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เคยคิดหรือไม่ว่าการเว้นวรรคการเมืองของนายกฯจะช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า ตัวเขาไม่ยึดติด เพียงแต่ว่าเหลือภารกิจอีกเล็กน้อยจะจบแล้ว เมื่อภารกิจจบก็ไม่รู้จะทำอะไร เหนื่อยแล้วแก่แล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะอายุ 57 ปีแล้ว

 

เขายืนยันว่าเขาไม่ได้คิดเรื่องการเว้นวรรคทางการเมือง แต่ทำไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าคิดว่าพอก็พอ และเชื่อในอำนาจประชาชน ถ้าประชาชนอยากให้หยุดก็หยุด ประชาชนบอกให้ทำก็ต้องทำ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชนไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะสรุปว่าตัวเองสามารถโหวตได้ล้านเสียงและชาวบ้านโหวตได้เสียงเดียว เพราะตัวเองฉลาดกว่า ทุกคนเสียงเดียวเท่ากัน

 

แม้หลายคำของพ.ต.ท.ทักษิณจะยืนอยู่ตรงจุดเดิม แต่ที่น่าสังเกตก็คือว่า ท่าทีในการพูดนั้นไม่แข็งกร้าวเหมือนเดิม และคำใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นก็คือ เหลือภารกิจเล็กน้อยก็จบแล้ว แก่แล้ว เหนื่อยแล้ว และ "ผมไม่ยึดติด"

 

ด้านนายวิษณุ เครืองาม ก็ออกมาตอบผู้สื่อข่าวในเวลาใกล้เคียงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกฯเป็นสิ่งที่ทำได้ ก็เป็นที่น่าจับตาเนื่องจาก ทนายหน้าหอผู้นี้ มักตอบประเด็นกฎหมายก่อนหน้าที่จะมีการปฏิบัติตามกฎหมายตามมาเสมอ ๆ

 

จึงน่าจับตาดูว่า อะไรจะเกิดก่อนกันระหว่างการ "พูดคุย" กับการ "ลาออก"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท