Skip to main content
sharethis


                                     


 


วันที่ 22 มีนาคม 49 เวลา 13.00 น. ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กลุ่มกู้คืนสื่อเสรีประกอบด้วยเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อสังคม กลุ่มคนรักบีบีซี และประชาชนจำนวนหนึ่ง จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาแนวทางปฏิบัติเพื่อกู้คืนไอทีวีขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเพื่อประกาศทวงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้กลับมาเป็นสถานีโทรทัศน์ของประชาชนที่เสนอรายการข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นอิสระเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวัตถุประสงค์เดิม


 


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่จะให้ได้ไอทีวีกลับคืนมา ต้องพิจารณาปัจจัย 3 ส่วน คือ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จะเว้นวรรคหรือไม่ เพราะไอทีวีเป็นสัมปทานจากสำนักนายกรัฐมนตรี การจะใช้อำนาจรัฐในการทำอะไรเกี่ยวกับไอทีวี รัฐบาลต้องเห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นรัฐบาลทักษิณต้องไม่เห็นด้วยแน่นอน


 


2.กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังพิจารณาว่าการซื้อขายหุ้นของชินคอร์ปกับเทมาเสกละเมิดกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าวหรือไม่ โดยประเด็นสำคัญที่พิจารณาคือ ชินคอร์ปเป็นไทยหรือสิงคโปร์ ถ้าดูตามโครงสร้างการถือหุ้นก็เป็นไทย แต่ที่คนสงสัยกันมากคือมีบริษัทนอมินีเข้าไปถือหุ้นเหนือชิน ซึ่งถ้าพบว่า เป็นร่างทรงเหมือนการพาดพิงจริง ชินคอร์ปก็จะไม่ใช่สัญชาติไทย ซึ่งจะทำให้ไอทีวีไม่ใช่ไปด้วย ส่งผลให้ขัดกับสัญญาสัมปทานจึงต้องถูกยกเลิก


 


3.จากการที่สำนักนายกรัฐมนตรีร้องต่อศาลว่าการตัดสินของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไอทีวีสามารถลดค่าสัมปทานและสามารถปรับผังรายการสาระบันเทิงจาก 50 : 50 เป็น 30 : 70 ซึ่งคำตัดสินของศาลปกครองยังไม่ออกมา ส่วนตัวเดาว่า ผลที่ได้เป็น 2 ส่วนคือ ไม่แก้เรื่องค่าสัมปทาน แต่อาจให้แก้สัดส่วนสาระบันเทิง ซึ่งก็จะทำให้หุ้นไอทีวีตกแน่ เพราะรายการข่าวสารขายได้น้อยกว่าบันเทิง


 


นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเลือกในการทวงคืนไอทีวีมี 4 ทาง คือ 1.อยู่เฉยๆ เพราะเท่าที่ทราบเทมาเสกไม่ได้ต้องการไอทีวี แต่ต้องการเอไอเอส ตอนนี้ก็มีข่าวว่า ธุรกิจบันเทิงต้องการซื้อหุ้นไอพีสตาร์ ซื้อไอทีวี แต่เพราะสถานการณ์ตอนนี้เผือกร้อนมาก ไม่มีใครอยากเอาตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้น ถ้าเราอยู่เฉยๆ เมื่อสถานการณ์สงบลง เดี๋ยวก็จะมีคนซื้อกลับมาเอง ดังนั้นวิธีนี้ไอทีวีก็จะกลับมาเป็นของคนไทย แต่อยู่ในมือธุรกิจบันเทิง


 


2.เวนคืน หมายถึงการยึดคืนโดยรัฐ โดยอ้างเหตุอันควร เช่น ตัดสินแล้วพบว่า ไอทีวีเป็นบุคคลต่างด้าว หรืออ้างเหตุไอทีวีผิดสัญญาสัมปทานที่เปลี่ยนสัดส่วนบันเทิงจาก 50 เป็น70 แต่วิธีนี้ผู้ถือหุ้นคงไม่ยอม เพราะถือว่าสามารถแก้ไขกลับได้


 


3.ทำการซื้อคืนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 6,400 - 8,100 ล้านบาท ทางเลือกนี้จะเป็นไปได้หากรัฐบาลไทยขอซื้อคืน


 


4.รัฐทำช่อง 11 ให้เป็นทีวีสาธารณะ เพราะถ้าตั้งโจทย์ว่าต้องการสื่อเสรี อาจมีทางเลือกที่ถูกกว่าการไปซื้อไอทีวีกลับมา โดยนำเงิน 6,400 - 8,100 ล้านบาทที่จะนำใช้ซื้อคืนมาเป็นเงินอุดหนุนให้ช่อง 11 เป็นสื่อสาธารณะแทน ซึ่งวิธีนี้ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด


 


ต่อข้อซักถามว่า ในกรณีที่บริหารสื่อด้วยเงินภาษีซึ่งจัดสรรโดยรัฐ ควรจะมีโครงสร้างการจัดการอย่างไรที่จะไม่ให้ถูกแทรกแซง นายสมเกียรติ แสดงความเห็นว่า การที่เงินมาจากรัฐกับการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงเป็นคนละประเด็นกัน แต่ถ้าไม่ตัดตอนมันกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ อาจเกิดกรณีว่าถ้าอยากได้งบประมาณก็ต้องทำตามใจรัฐ เพราะรัฐเป็นคนจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณ


 


จึงเสนอว่า อาจจัดเป็นกองทุนขึ้นมา หรือเขียนกฎหมายทั่วไปให้รัฐจัดสรรเงินให้พอเพียง เช่น อย่างน้อยปีละ 6,000 ล้าน ปีต่อๆ ไปปรับตามอัตราเงินเฟ้อ แปลว่ารัฐมีหน้าที่ต้องควักเงินจ่ายทุกปี และมีกติกาอย่างบีบีซีหรือดูได้จากเวบไซต์ของทีดีอาร์ไอซึ่งมีรายงานไว้แล้วว่า โครงสร้างบีบีซี เอ็นเอชเค หรือของออสเตรเลียเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น และของไทยที่ต้องมีคือ ต้องมีกลไกมอนิเตอร์จากภาคประชาชน ซึ่งก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เช่น มี มีเดียมอนิเตอร์ เกิดขึ้นมา ซึ่งแม้แต่ทีวีเชิงพานิชย์ยังต้องยอมรับฟังตามบางเรื่อง สรุปได้ว่า คงไม่มีรูปแบบไหนที่ดี 100 % แต่ต้องกลบจุดอ่อนแล้วหากลไกมาช่วย


 


ด้านนายเทพชัย หย่อง อดีตผู้บริหารไอทีวียุคแรก กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของไอทีวีจากอดีตจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก การเอาไอทีวีคืนต้องถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนในทางปฏิบัติ เพราะคิดว่า ไอทีวีได้แปรสภาพกลายเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว ซึ่งไม่ง่ายที่จะอธิบายให้ผู้ถือหุ้นฟังว่า ต่อไปจะไม่ทำเพื่อกำไรแล้ว เพราะคนที่ซื้อหุ้นก็หวังกำไรทางธุรกิจ แต่ส่วนตัวยังคิดว่า ข่าวสารยังขายได้  


 


สำหรับการทวงคืนไอทีวี  ถ้าทวงคืนด้วยเหตุผลว่าเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ประชาชนร่วมต่อสู้เพื่อให้มีทีวีที่นำเสนอความจริงก็เห็นด้วย นอกจากนี้ เสนอว่า ถ้ามองไปข้างหน้าก็ยังมีหนทางปฏิรูปสื่ออยู่ โดยประชาชนที่สนใจอาจรวมตัวกันผลิตทีวีช่องใหม่ที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยต้องไม่อาศัยเงินจากรัฐบาล เพราะทีวีที่เกิดจากเงินของรัฐจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีแรงกระตุ้นในการพัฒนารายการเพราะถือว่าได้เงินจากรัฐอยู่แล้ว


 


ส่วนหลักประกันว่าทำอย่างไร สื่อจะไม่ถูกการเมืองแทรกแซงคิดว่า คือ ประชาชนซึ่งเป็นคนดูจะออกมาปกป้องสื่อเมื่อถูกแทรกแซง น่าคิดว่า ถ้าเขาไม่ออกมาปกป้องแปลว่าทีวีช่องนั้นไม่ควรค่าแก่การปกป้องหรือเปล่า ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างกรณีที่ประชาชนไปล้อมสถานีโทรทัศน์ไว้ไม่ให้ทหารบุกยึด นอกจากนี้ หากตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายองค์กร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ชม อย่างที่สถานีบีบีซีทำก็น่าจะป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net