รายงานพิเศษ : "นิวมีเดีย" จูงมือ "พลเมืองนักข่าว" สร้างโลกยุคใหม่

 

 

ในความเป็นจริง "นิวมีเดีย" (New Media) หรือ "สื่อรูปแบบใหม่" เกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งสื่อในรูปแบบใหม่ก็คือ การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวกลาง เช่น ข้อความขนาดสั้นที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การบันทึกคลิปวิดีโอ (Video Clip) การแชต (Chat) การเขียนบล็อกหรือเวบล็อก (Blog หรือ Weblog) การบันทึกภาพเคลื่อนไหวหรือข้อมูลเอกสารอื่นๆ ลงในแผ่นซีดีรอม (CD-ROM) รวมถึงการติดตั้งเคเบิลทีวี (Cable TV) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากสื่อโทรทัศน์แบบฟรีทีวี
 
เมื่อมีนิวมีเดียเกิดขึ้น สื่อกระแสหลักที่มีอยู่ก็ตกกระป๋องกลายเป็นสื่อรูปแบบเดิม หรือ Old Media ไปทันที (หรือจะเรียกว่า "สื่อรูปแบบเก่า" ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก) วิวาทะเรื่องความน่าเชื่อถือของการเสนอข่าวผ่านสื่อรูปแบบใหม่จึงกลายเป็น ปัญหาที่ถกเถียงกันมากในแวดวงสื่อสารมวลชนแทบจะทั่วโลก
 
อย่างไร ก็ตาม การนำนิวมีเดียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการสื่อข้อมูลข่าวสารซึ่งอยู่นอก เหนือการรายงานของสื่อกระแสหลักเพิ่งจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังราว 6 -7 ปีที่ผ่านมานี้เอง
 
นิวมีเดียเกิดขึ้นเมื่อสื่อถูกบีบ
แม้ประชาชนจะถูกถาโถมโจมตีด้วยข่าวสาร แต่ในทางกลับกัน สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ ถูกมองว่าถึงครา "ตีบตัน" เสีย แล้ว เพราะเรื่องบางเรื่องที่สื่อเห็นว่าสำคัญ อาจเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่องที่ประชาชนอยากจะรู้ รวมถึงเรื่องที่ใครๆ เห็นว่ามีความสำคัญ สื่อกระแสหลักก็อาจมองข้าม หรือรายงานเพียงผิวเผิน เรื่อยไปจนถึงขั้นไม่ยอมนำเสนอข่าวนั้นเอาเสียดื้อๆ หรือไม่ก็อาจมีการเลือกนำเสนอข่าวบางประเภทโดยมีเหตุผลคลุมเครืออยู่เบื้อง หลัง
 
คำว่า "สื่อไม่เป็นกลาง" จึงกลายเป็นคำยอดนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมืองไทยในเวลานี้ ในขณะที่สื่อมวลชนอีกหลายคนก็ยืนยันว่าความเป็นกลางไม่มีจริง (จะมีก็แต่ "กลางตกขอบ" เท่านั้น) เราอาจพูดได้อีกอย่างว่าคงไม่มียุคไหนที่ผู้คนมากมายจะโหยกระหายข้อมูลข่าวสารมากเท่านี้มาก่อน
 
ปรากฏการณ์ แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในแวดวงระดับประเทศ แต่เป็นปัญหาที่ทำให้วงการสื่อสารมวลชนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า-คาย ไม่ออกจนถึงทุกวันนี้ อาจเพราะสื่อกระแสหลักในปัจจุบันได้ถูกทำให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และถูกผูกมัดให้อยู่ได้ด้วยโฆษณา สื่อบางรายจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเสนอข่าวที่อาจจะขัด นโยบายหรือผลประโยชน์ของสปอนเซอร์ (ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ-และเป็นล่ำเป็นสัน)
 
นอกจากนี้ การแทรกแซงจากรัฐบาลก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่สื่อกระแสหลักต้องรับมือกันอย่างหนัก เพราะถึงแม้ว่าแนวคิดเรื่อง "สื่อเสรี" จะเป็นที่แพร่หลายกันมากในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันแล้วเราไม่อาจนำทฤษฎีไปใช้ได้จริงในพื้นที่ของบางประเทศบนโลกใบนี้
 
ถ้า หากจะดูตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คงจะต้องหยิบยกกรณีใกล้ๆ ตัวในบ้านเรามาพิจารณากันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บริษัทชินคอร์ปฟ้องหมิ่นประมาทสุภิญญา กลางณรงค์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์โทษฐานที่ร่วมกันนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวกับผล ประโยชน์ทับซ้อนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงกรณีที่สุรพงษ์ สืบวงษ์ลีเรียกร้องให้สภาหนังสือพิมพ์ตรวจสอบการทำงานของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น และการนำกำลังตำรวจบุกเข้าตรวจสอบการพิมพ์หนังสือของสองพี่น้อง แก้วสรรค์ และ ขวัญสรวง อติโพธิ
 
ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ "เป็นอันตราย" ต่อ ผู้คนที่ประกอบอาชีพนักข่าว เพราะมักจะถูกทำร้ายและทำให้หายสาบสูญไปได้ง่ายๆ และหลายๆ ประเทศที่อยู่ในแถบทวีปแอฟริกาก็ประสบปัญหารัฐบาลผูกขาดและครอบงำสื่อเป็น ระยะเวลานานโข  
 
เหตุการณ์ เหล่านี้มีนัยยะอะไรบางอย่างซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าเสรีสื่อยังมีกลไกบางอย่าง กำกับควบคุมอยู่ และข้อเท็จจริงเช่นนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เชื่อมั่นว่าสื่อของตนมีเสรีภาพที่สุดอย่างอเมริกา ก็ตามที
 
แดน กิลเมอร์ คอลัมนิสต์ประจำ "ซานโฮเซเมอร์คิวรีนิวส์" ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักของอเมริกา หันมาเขียน บล็อกของตัวเอง และได้รับแรงบันดาลใจจากสังคมออนไลน์จนต้องเขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า The Media: Grassroots Journalism By The People, For The People โดยหนังสือเล่มนี้เปรียบดังคู่มือการเรียนรู้วิธีเสนอข่าวผ่านสื่อรูปแบบใหม่ที่นำเสนอจุดมุ่งหมายและประวัติความเป็นมาของ "สื่อเพื่อประชาชน" อย่างครบถ้วน
 
กิลเมอร์กล่าวว่าโครงสร้างของสื่อมวลชนยุคใหม่เกี่ยวพันกับธุรกิจมากเกินไป ทำให้การนำเสนอข่าวส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจทุน
 
"ผมอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมานานกว่า 25 ปี ผมตื้นตันใจในโอกาสที่ได้รับ ผมเคารพในเพื่อนร่วมงานทุกคน และเชื่อมั่นว่าสื่อได้สร้างคุณูปการหลายอย่างให้กับสังคม แต่ผมก็แน่ใจเช่นกันว่าโครงสร้างของสื่อมวลชนยุคใหม่มีระบบอุปถัมภ์ที่เป็น อันตรายแอบแฝงอยู่"
 
"เมื่อ เหตุผลทางธุรกิจเข้ามาบดบังเหตุผลทางการเมือง ถึงแม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะสามารถตรวจสอบได้และดูเหมือนจะดำเนินไปอย่าง โปร่งใส แต่ถึงที่สุดแล้ว เหตุผลทางธุรกิจก็ยังส่งผลให้สื่อต้องเปลี่ยนแปลงมุมมองบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้ดวงตาของเรามืดบอดต่อความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้"
 
"มี คนมากมายที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังสังคมแห่งธุรกิจการแข่งขัน พวกเขาคือคนที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แต่ถูกกีดกันให้อยู่นอกวงสนทนา ซ้ำยังถูกรุมกินโต๊ะด้วยโชคชะตา และสื่อมวลชนที่ควรเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาก็ไม่ได้สนใจฟังอย่างที่ควรจะทำ"
 
เมื่อ สื่อแบบเดิมๆ ถูกลิดรอนประสิทธิภาพด้วยปัจจัยทั้งใหม่และเก่า เทคโนโลยีมัลติมีเดียสารพัดรูปแบบที่พัฒนามาจนถึงยุคสหัสวรรษจึงกลายเป็น ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ที่ใครๆ คาดหวังจะให้เป็นทางเลือกในการบริโภคข่าวสารที่เปิดกว้างกว่าข้อมูลของสื่อ กระแสหลัก
 
การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของนิวมีเดีย
กรณีศึกษาที่สำคัญและชี้ให้เห็นว่าบทบาทของนิวมีเดียสามารถสั่นสะเทือนสังคมได้ในระดับปรากฏการณ์ก็คือ การประท้วงต่อต้านการประชุมขององค์การการค้าโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกาในปี 1999 หรือ พ.ศ.2542
 
วัน ที่ 30 พฤศจิกายนในปีนั้น ผู้คนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนแถบอเมริกาและยุโรป ต้องการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่ซีแอทเทิล เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ต้องการพูดถึงนโยบายสวยหรูของ WTO ที่ สื่อกระแสหลักให้รายละเอียดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว พวกเขาต้องการบอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ จากทั่วโลกซึ่งได้รับผลกระทบ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) จากนโยบายการค้าของ WTO และ คนส่วนใหญ่เหล่านั้นเป็นเพียงชาวไร่ชาวนาตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นในการต่อรองกับตลาดโลกถึงเรื่องผลผลิตต่างๆ เสียงของพวกเขาคงไม่มีทางดังเท่ากับเสียงของนักธุรกิจที่สนับสนุนนโยบายของ WTO มาโดยตลอด
 
ด้วย เหตุนี้ กลุ่มคนที่ทำงานทางด้านสื่อและพันธมิตรที่เป็นนักกิจกรรมในด้านต่างๆ จึงเคลื่อนไหวกันอย่างเงียบๆ ด้วยการส่งอีเมล์และโพสต์ข้อความลงในเวบบอร์ดของเวบไซต์ต่างๆ เพื่อเป็นการกระจายข่าวให้คนที่สนใจได้รับรู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้ และเรียกร้องให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ WTO ออก ไปรวมตัวกันเพื่อประท้วงการประชุม ผลก็คือมีผู้คนมาร่วมชุมนุมกันนับพันๆ คน และผู้ประท้วงเหล่านั้นก็ปักหลักอยู่บริเวณถนนหน้าที่ประชุม WTO จนถึง วันที่ 1 ธันวาคม 2542 ผู้นำสหรัฐและตัวแทนประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกจึงต้องยุติการประชุม โดยยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะยอมทบทวนนโยบายขององค์กรอย่าง ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง
 
สิ่ง ที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับการชุมนุมประท้วงครั้งนั้นก็คือการที่สื่อกระแส หลักต่างๆ จากทั่วโลก นำเสนอเพียงความเคลื่อนไหวในกรณีที่เป็นแก่นแกนภายนอกเท่านั้น เช่น สถานีโทรทัศน์ของสหรัฐฯ ถ่ายทอดแต่ภาพที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วยข้อหาทำลาย ทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเป้าหมายหรือ "ทรัพย์สิน" ที่ผู้ชุมนุมรายนั้นทำลายไปก็คือกระจกหน้าต่างของร้าน "แมคโดนัลด์" ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของโลกในระบอบเสรีทุนนิยม และไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเลย (นอกจากตัวผู้ชุมนุมเอง)
 
การก ระทำของผู้ชุมนุมถูกมองว่าเป็นความรุนแรงที่ไม่อาจควบคุมได้ และสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้ให้ความสนใจจะนำเสนอประเด็นที่กลุ่มต่อต้านทุนนิยม และกระบวนการโลกาภิวัฒน์ต้องการอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบของนโยบาย WTO หรือความล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นทั่วโลกที่บาดเจ็บจากการรุกรานของอำนาจทุน
 
ไม่ว่าจะมีแถลงการณ์หรือใบปลิวถูกแจกจ่ายออกไปกี่แผ่น ดูเหมือนว่าโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ในยามนั้นจะไม่สนใจใน "สาร" ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนั้นต้องการสื่อเลยแม้แต่น้อย เจตนาของผู้ชุมนุมจึงถูกมองข้ามไปอย่างไม่ไยดี เรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบจาก WTO ก็ถูกปัดกวาดไปซุกไว้ใต้พรมอีกเช่นเคย
 
ยังดีอยู่บ้างที่หลังจากนั้นไม่นาน "เวบล็อก" หรือ "บล็อก" ที่ชื่อ indymedia.org ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ โดยกลุ่มคนชุดเดียวกับที่ไปเรียกร้องจนองค์การระดับโลกอย่าง WTO ต้อง ระงับท่าทีของตัวเองไว้ บล็อกชื่ออินดี้มีเดียประกาศตัวเองว่าจะทำหน้าที่สื่อทางเลือกที่นำเสนอข่าว ออนไลน์เพื่อเปิดให้ผู้ท่องโลกไซเบอร์ได้รู้ความจริงอีกด้านซึ่งสื่อกระแส หลักอาจจะไม่ทันให้ความสนใจ และได้นำแถลงการณ์ของกลุ่มมาโพสต์ไว้ผู้ที่สนใจได้อ่านโดยทั่วกัน
 
ข่าว ที่อินดี้มีเดียพูดถึง ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาการกดขี่ด้านแรงงาน สวัสดิการ และอัตราค่าจ้างที่บรรษัทข้ามชาติพยายามเอารัดเอาเปรียบผู้คนในประเทศโลกที่ สาม รวมถึงข่าวด้านอื่นๆ ตั้งแต่ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นไปทั่วโลก จนในที่สุดเครือข่ายสื่อเสรีก็กระจายไปทั่วโลก โดยแต่ละประเทศจะทำลิงค์ไว้ในบล็อกของตนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันด้วย ซึ่งวิธีนี้ถูกเวบไซต์อิสระต่างๆ นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเวบไซต์สารานุกรมเสรีอย่าง วิกิพีเดีย และ ไวร์นิวส์ เวบไซต์ข่าวออนไลน์อันดับต้นๆ ของโลก
 
ส่วน ประเทศทางเอเชียที่นำแนวคิดแบบนิวมีเดียมาใช้เป็นรายแรกก็คือประเทศ เกาหลีใต้ โดยเวบไซต์ข่าวแห่งหนึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป (ทุกสาขาอาชีพ) ส่งข้อมูลหรือข่าวสารที่น่าสนใจมายังเวบข่าวแห่งนั้น และทีมงานซึ่งเป็นนักข่าวและบรรณาธิการก็จะตรวจสอบขัดเกลาข้อมูลอีกครั้ง ก่อนจะนำขึ้นโพสต์ในเวบของตน ผู้ก่อตั้งเวบไซต์นี้คือ โอ ยอน โฮ
 
เวบไซต์ดังกล่าวมีชื่ออันแสนจะเก๋ไก๋ว่าOhmyNews.com (เพื่อให้พ้องกับชื่อสกุลของ "โอ" ยอน โฮ) ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งก็คือเวลาหลังจากที่การชุมนุมประท้วง WTO เพิ่งจะผ่านไปได้ไม่นานเท่าไหร่ และโอมายนิวส์ก็ถือเป็นสำนักข่าวแรกที่นำแนวคิดเรื่อง พลเมืองนักข่าว หรือ Citizen Reporters มาใช้ในภูมิภาคเอเชีย จนกระทั่งกลายเป็นแนวทางการนำเสนอข่าวแบบใหม่ขึ้น
 
การดำเนินงานของโอมายนิวส์สร้างความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในแวดวงสื่อสารมวลชนของเกาหลีใต้ ด้วยคำขวัญประจำเวบไซต์ว่า "ประชาชนทุกคนคือนักข่าว" - Every Citizen is a Reporter ทำให้ ชาวเกาหลีใต้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในระดับที่มีปฏิสัมพันธ์มาก ขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นผู้รับสื่อเพียงอย่างเดียว พลเมืองนักข่าวก็กลายเป็นผู้นำเสนอประเด็นใหม่ๆ ที่สื่อกระแสหลักเองก็คาดไม่ถึง
 
นอกจาก นี้ จำนวนอาสาสมัครพลเมืองนักข่าวที่มีอยู่เป็นมากมายก็ช่วยให้การเก็บรวบรวม ข้อมูลเป็นไปอย่างละเอียดและสมบูรณ์มากขึ้น เห็นได้จากการรายงานข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2545 ชื่อชั้นของเวบไซต์โอมายนิวส์ได้กลายเป็นสำนักข่าวอันดับหนึ่งที่รายงานความ เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องและฉับไวที่สุด ถึงขนาดที่ว่าประธานาธิบดีโรห์ มู ฮุน ยินยอมให้โอมายนิวส์นำคำปราศรัยของตนที่มีขึ้นหลังการประกาศผลเลือกตั้งปธน. อย่างเป็นทางการไปลงข่าวแต่เพียงผู้เดียว กรณีนี้คงพอจะบ่งชี้ได้ดีว่าผู้นำเกาหลีใต้ไว้เนื้อเชื่อใจเวบไซต์ข่าวแห่ง นี้มากเพียงไหน
 
เมื่อหันกลับมามองที่เมืองไทย คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งหลุดจากผังของสื่อโทรทัศน์ไป "เกิดใหม่" ในรูปแบบของเมืองไทยฯ สัญจร ซึ่งตระเวณไปแทบจะทั่วประเทศ และอาศัยนิวมีเดีย เช่น ซีดีรอม เวบไซต์ และเคเบิลทีวี (ASTV) เป็นเครื่องขยายเสียง เพื่อแสดงความคิดและจุดยืนของตน ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้สื่อรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยในการตอกย้ำแนวคิดของสนธิและ เครือข่ายผู้จัดการจะประสบความสำเร็จไม่น้อยเลย เมื่อดูจากจำนวนผู้ติดตามสนับสนุนซึ่งมีอยู่อย่างเหนียวแน่น
 
การ ถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากผังสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี นำไปสู่การเสนอข้อมูลผ่านนิวมีเดีย เรื่องนี้จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดผลกระทบแต่วงการโทรทัศน์ไทยแต่ อย่างใด มิหนำซ้ำยังอาจถือได้ว่านี่เป็นการกรุยทางให้สื่อนอกกระแสอื่นๆ ได้เรียนรู้ถึงศักยภาพของนิวมีเดียด้วย
 
การแลกหมัดระหว่าง Old Media และ New Media
แม้ จะดูเหมือนว่านิวมีเดียจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในแวดวงสื่อ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย เพราะสถานภาพของนิวมีเดียที่อยู่บนบรรทัดฐานของสื่อกระแสหลักยังมีสีเทาอึม ครึมอยู่ ด้วยเหตุผลว่าการปล่อยให้การนำเสนอข่าวตกอยู่มือ "ใครก็ได้" จะทำให้มาตรฐานของข่าวตกต่ำลง
 
"ใครก็ได้" ใน ที่นี้ย่อมหมายถึง บล็อกเกอร์ นักท่องเนต และประชาชนธรรมดาๆ ที่ผ่านไปพบเห็นเหตุการณ์บางอย่าง แล้วจึงนำเหตุการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดผ่านพื้นที่ของตัวเอง หรือพลเมืองนักข่าวบางคนอาจจะอยากแสดงความคิดเห็นต่อกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นและส่งกระทบถึงมาถึงตัวเอง จึงสื่อสารผ่านนิวมีเดีย และเผยแพร่ความคิดเห็นเหล่านั้นไปสู่ผู้คนอื่นๆ ในสังคม
 
วงการ สื่อสารมวลชนบางแห่งไม่เห็นด้วย (อย่างแรง) กับความคิดเช่นนี้ และมีการอ้างถึงประเด็นจริยธรรมในการนำเสนอข่าว การเลือกข่าว และการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการนำเสนอข่าว เรื่องนี้ทำให้ผู้มีอาชีพสื่อมวลชนทั่วโลกเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของนิว มีเดียที่อยู่ในมือของ "พลเมืองนักข่าว" ด้วยสายตาระแวดระวัง (และอาจจะระแวงด้วย)
 
ตัวอย่างเช่นในประเทศเกาหลีใต้ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขกับการได้เป็นพลเมืองนักข่าว แต่ ยุน ยัง-ชุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยยนเซ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าการเสนอข่าวของพลเมืองนักข่าวมี "อคติ" สูงมาก เนื่องจากพลเมืองนักข่าวส่วนใหญ่มักจะเสนอข่าวที่ตนเองสนใจ หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่
 
ทางซีเอ็นเอ็นได้ไปสัมภาษณ์ ลี อึน วา พลเมือง นักข่าวรายหนึ่งของโอมายนิวส์ และได้รับคำบอกเล่าว่าเธอเป็นเจ้าของร้านขายชุดชั้นในสตรีซึ่งเป็นเพียง กิจการขนาดเล็ก เธอรู้ดีว่าเจ้าของกิจการแบบ SME ต้อง เจอกับปัญหาอะไรบ้าง เธอจึงเขียนบทความส่งไปลงในโอมายนิวส์ ซึ่งลี อึน วา ยืนยันว่าการรายงานข่าวจากคนที่ประสบกับปัญหาโดยตรงเช่นนี้จะทำให้ข่าวมี ความลึกในเชิงข้อมูลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันค่องข้างจะสุ่มเสี่ยงเกินไป ที่ปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องกับการได้หรือเสียผลประโยชน์ในเรื่องที่นำเสนอเป็น ผู้เสนอข่าวเสียเอง
 
นอกจาก นี้ โอ ยอน โฮ ผู้ก่อตั้งเวบไซต์โอมายนิวส์เองก็เคยเป็นนักข่าวมาก่อน เขาจึงตอบโต้กับสื่ออื่นๆ ที่ใช้การเสนอข่าวในรูปแบบเดิมว่าสื่อกระแสหลักไม่ยอมรับแนวคิดเรื่อง พลเมืองนักข่าว เพราะพลเมืองนักข่าวมีวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่และฉีกออกไปจากกรอบเดิมๆ ซึ่งเขาเห็นว่าถ้าสื่อกระแสหลักไม่ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ก็เห็นทีจะอยู่ไม่รอดในแวดวงข่าวสารที่มีการแข่งขันสูงไม่แพ้วงการอื่น
 
ทั้งนี้ การรายงานข่าวของโอมายนิวส์ไม่ได้จำกัดที่การใช้อินเตอร์เน็ตเพียงอย่าง เดียว แต่รวมไปถึงการใช้นิวมีเดียประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น การส่งข้อความขนาดสั้น หรือเอสเอ็มเอส การถ่ายคลิปวิดีโอขนาดสั้นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ รวมไปถึงการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจึงจะมีการส่งข่าวไปให้บรรณาธิการและกองบก. ช่วยกันขัดเกลาเนื้อหาก่อนจะนำไปโพสต์ขึ้นเวบไซต์ 
 
สำหรับ กรณีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รัฐบาลเกาหลีใต้ (โดยเฉพาะประธานาธิบดีโรห์ มู ฮุน) มีแนวคิดว่าภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนและพัฒนาสื่อรูปแบบใหม่อย่างเต็มที่ เพื่อประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จากสื่อรูปแบบใหม่อย่างเท่าเทียมและหลากหลาย เพราะปัจจุบันนี้ ร้อยละ 70 ของชาวเกาหลีใต้ล้วนมีอินเตอร์เนตใช้ในบ้านกันทั้งนั้น
 
แต่ ในทางกลับกัน การที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้นิวมีเดียและมักจะหยิบยกประด็นของโอมายนิวส์มา พูดถึงบ่อยๆ ก็ทำให้มีผู้เคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์กันจนเกินไปหรือ เปล่า เพราะเวบไซต์ข่าวโอมายนิวส์มีรายได้หลักๆ จากการให้เช่าพื้นที่โฆษณา (แบนเนอร์) บนเวบของตัวเอง และในปี 2548ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่างแอลจี (LG) ก็ทุ่มงบโฆษณาด้วยการซื้อพื้นที่ในโอมายนิวส์แบบผูกปิ่นโตเป็นรายปีเลยทีเดียว
 
แม้ จะไม่มีรายงานเล็ดลอดออกมาว่าการซื้อพื้นที่โฆษณาในเวบจะมีราคาเท่าไหร่ แต่ชาวเกาหลีใต้เชื่อว่ามันจะต้องเป็นจำนวนเงินที่มากโขแน่ๆ
 
บทบาทของ "พลเมืองนักข่าว" กับสื่อกระแสหลัก : เราต้องร่วมมือกัน
แม้ นิวมีเดีย หรือสื่อรูปแบบใหม่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมโลกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อกระแสหลักจะล้มหายตายจากไปในเวลาอันรวดเร็วเพราะ โดนคลื่นลูกใหม่ไล่กวด เพราะสื่อรูปแบบใหม่น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้สื่อกระแสหลัก และผู้บริโภคสื่อ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเสียใหม่มากกว่า และนิวมีเดียจะทำให้คนในสังคมตั้งคำถามว่าทางเลือกในการรับข่าวสารข้อมูลถูก จำกัดอยู่แค่สื่อกระแสหลักไม่กี่อย่างเท่านั้นหรือ
 
เมื่อ นิวมีเดียมีความหลากหลายมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลของผู้คนในสังคมก็มีทางเลือกมากขึ้น กรณีที่เป็นตัวอย่างชัดเจนในเมืองไทย เห็นจะได้แก่ การเผยแพร่วีซีดีเรื่อง "ความจริงที่ตากใบ" ซึ่งสามารถบอกเล่าข้อเท็จจริงได้โดยไม่ต้องมีคำบรรยาย และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลักในการนำเสนอด้วย
 
ในเมื่อ "สื่อ" คือ ความเกี่ยวพันโยงใยต่อการรับรู้ข้อมูล รวมไปถึงแนวคิดและกระบวนการทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของคนในสังคม การเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารมวลชนแบบ 2 ทาง หรือ 2 Way Journalism เกิด ขึ้น จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากประชาชนสามารถเรียบเรียงข่าวได้ด้วยตนเอง ก็อาจจะนำไปสู่การบริโภคข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะได้เรียนรู้ในการตั้งคำถามกับสังคมด้วยว่า เพราะ "เหตุใด" จึงทำให้เกิด "ผลลัพธ์" อย่างที่เห็น
 
ส่วน ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของพลเมืองนักข่าวในเกาหลีใต้ซึ่งเผยแพร่ข่าวและ ข้อเขียนของตนผ่านทางเวบไซต์ก็ได้รับการแก้ไขแล้วเช่นกัน โดยวิธีการที่โอมายนิวส์นำมาใช้คือการเปิดให้เนื้อหาของแต่ละข่าวเป็นข้อมูล แบบโอเพนซอร์ส ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เข้าไปอ่านข่าวและเห็นว่าข้อมูลผิดพลาดก็สามารถเข้าไป แก้ไขข้อมูลได้เลย วิธีการนี้คือสิ่งที่สารานุกรมเสรีออนไลน์วิกิพีเดียใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมให้คนในสังคมเข้ามามี ส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้อย่างกระตือรือร้นขึ้นอีกทางหนึ่ง
 
แม้ การเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้จะเป็นเรื่องที่ถูกมองว่า อันตราย เพราะอาจมีการเสนอข้อมูลผิดๆ จากผู้ที่ไม่รู้จริง (หรือผู้ที่มีอคติ) แทรกลงไปในแหล่งข้อมูลได้ แต่ในทางกลับกัน หากทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงและการแก้ไขข้อมูลได้อย่างเท่าเทียม ก็จะช่วยส่งเสริมให้กลไกการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในสังคมดำเนินไป อย่างสมดุลยิ่งขึ้น
 
อย่างไร ก็ตาม แม้ประเทศอื่นๆ จะไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเหมือนอย่างประเทศไทย แต่เราอาจจะปิดช่องโหว่นี้ได้ด้วยการสื่อสารผ่าน SMS หรือ คลิปวิดีโอ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ร่วมกันของคนในสังคมไทยที่จะต้องป้องกันไม่ให้การสื่อสารใน รูปแบบนี้ถูกผูกขาดสัมปทานโดยกลุ่มทุน
 
ไม่ เช่นนั้นสื่อรูปแบบใหม่ที่เราคิดว่าเสรีก็ไม่น่าจะอิสระเสรีสักเท่าไหร่ ถึงที่สุดแล้วเราก็จะถูกจำกัดการใช้ด้วยราคาค่าใช้บริการที่แพงกว่าปัจจัย สี่ในชีวิตประจำวัน และคนที่ไม่มีรายได้เท่าเทียมกันก็จะกลายเป็นผู้ถูกกีดกันจากข่าวสารข้อมูล อีกตามเคย
 
ส่วน สื่อกระแสหลัก ทั้งที่เป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ควรจะหันมาปรับแนวทางการนำเสนอของตัวเองให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะต้องยอมรับกลไกการตรวจสอบจากภาคประชาชนบ้าง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อรูปแบบใหม่กำลังจะ "มา" แน่ๆ
 
คงจะ ดีกว่าถ้าเรารับนวัตกรรมนี้มารวมกับจุดแข็งที่มีอยู่แต่เดิม และช่วยเพิ่มเติมเกิดการนำเสนอข้อมูลที่มีเสรีและมีความหลากหลายอย่าง แท้จริง
 
................................................................
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- หนังสือ We the Media : Grassroots Journalism By The People, For The People ของ Dan Gillmor [1st edition. July 2004] O"Reilley Media : America
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท