Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 28 มี.ค.2549  ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนา "อักษรศาสตร์ กับระบอบทักษิณ" ขึ้นโดยมีนักวิชาการด้านอักษรศาสตร์ขึ้นเวที วิเคราะห์วาทกรรมทางการเมือง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่แสดงออกในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองหลังยุบสภาฯ และได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปอย่างคับคั่ง



 


รศ.สมฤดี วิศทเวทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา นำเสนอบทวิเคราะห์วาทกรรมของนายกรัฐมนตรีภายใต้หัวข้อ "ทักษิณกับการใช้เหตุผล"ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีความบกพร่องในการใช้เหตุผล 3 ประการ คือ 1. ความบกพร่องที่เกิดจากการใช้ภาษา เช่น คำว่า "กติกา" ที่นายกรัฐมนตรีชอบนำมากล่าว การใช้คำนี้มี 2 ความหมาย คือ กติกาประชาธิปไตย ทางหนึ่งยอมรับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าเล่นตามกติกา แต่อีกทางหนึ่งก็บอกว่าพันธมิตรฯ ไม่ทำตามกติกา เพราะเรียกร้องให้ตัวเองลาออก ปฏิเสธการเลือกตั้งที่เป็นกติกาประชาธิปไตย เมื่อความหมายของกติกามี 2 ความหมาย แต่นายกรัฐมนตรีใช้ความหมายเป็นการบกพร่องในการใช้เหตุผลของนายกฯ


 


รศ.สมฤดี กล่าวว่า ความบกพร่องที่ 2 คือ ความบกพร่องเกี่ยวกับความสมบูรณ์ด้านเนื้อหา มีการเปรียบเทียบผิด เช่น การระบุว่าการเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการ "แซงคิว" ความหมายของการแซงคิวคือ การเอาเปรียบ และเห็นแก่ตัว ในเมื่อผู้มาชุมนุมไม่ได้เอาเปรียบใคร หรือแสดงความเห็นแก่ตัว จะเรียกว่าแซงคิวได้อย่างไร จึงน่าตั้งข้อสันนิษฐานว่า การใช้คำว่าแซงคิว เป็นการแฝงความหมายบางอย่าง ที่นายกรัฐมนตรีได้ไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ


 


รศ.สมฤดี กล่าวว่า ความบกพร่องประการสุดท้าย เกิดจากการทิ้งเหตุผล ซึ่งเป็นการใช้หลักจิตวิทยาเบี่ยงเบนประเด็นแทนการใช้เหตุผล เป็นวิธีการโจมตีตัวบุคคล ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดอคติ


 


"การพูดเป็นการสะท้อนความคิดของผู้พูด การเปรียบกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นผู้ "แซงคิว" ทั้งที่ผู้ที่มาชุมนุมไม่ได้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เป็นการสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจ แต่ไม่ได้พูดถึง ชวนให้สันนิษฐานว่า การ "แซงคิว" ที่ผู้พูดหมายถึงสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งอาจหมายถึงข้อเรียกร้องตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ" รศ.สมฤดี กล่าว


 


ผศ.ดร.คารินา โชติรวี จากภาควิชาภาษาอังกฤษ ได้แนะนำให้นายกรัฐมนตรีอ่านวรรณกรรม 10 เล่ม คือ


 


1984 นวนิยายอังกฤษ ในศตวรรษที่ 20 ที่กล่าวถึงความน่าสะพรึงกลัว ของประเทศที่รัฐบาลเผด็จการควบคุมวิถีชีวิตของประชาชน ด้วยสื่อที่ถูกบิดเบือน


 


Brave New World นวนิยายที่เล่าถึงโลกที่ถูกครอบงำด้วยเผด็จการ ด้วยการขายฝันงมงาย ระงับความทุกข์ด้วยความสุขแบบผิดๆ


 


Dr.Faustus บทละครที่กล่าวถึงคนฉลาด ที่ยอมขายวิญญาณให้ปีศาจ เพื่อแลกกับอำนาจ ต่อมาใช้อำนาจผิดๆ และมีจุดจบคือนรกโลกันตร์


 


The Emperor"s New Clothes นิทานสอนใจของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน


 


All My Sons นิยายที่เล่าถึงเศรษฐีนายทุนที่ห่วงแต่หาเงิน โดยไม่คิดถึงศีลธรรมจรรยา


 


Macbecth โศกนาฏกรรมอังกฤษ ของเชคสเปียร์ ที่เล่าถึงแม่ทัพผู้เก่งกาจ แต่มีความทะเยอทะยาน ในที่สุดกรรมตามทัน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ การมีภรรยาที่ร้ายกาจขาดศีลธรรมยิ่งกว่าสามีตน


 


Ozymandias บทร้อยกรอง ที่เล่าถึงอนิจจังของอำนาจผู้นำเผด็จการ


 


A Bend in the River นวนิยายที่เล่าถึงทรราชย์โลกที่ 3 ที่ฉลาด ชอบเล่นลิ้น สร้างภาพเป็นวีรบุรุษกู้ชาติ มอมเมาประชาชน ด้วยเทคโนโลยีกับฝันลมๆ แล้งๆ


 


A Chismas Carol นิยายอังกฤษ ที่พูดถึงชายแก่ที่หมกมุ่นอยู่กับประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คิดถึงความทุกข์ของผู้อื่น และ


 


Don Quixote วรรณกรรมที่เล่าถึงการต่อสู้เพื่อความฝัน และอุดมการณ์ แม้จะถูกเย้ยหยันจากคนที่ไม่เห็นคุณค่า ก็ยังเดินหน้าต่อไป


 


ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล จากภาควิชาภาษาไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ "ทักษิณกับภาษาเล่นลิ้นทางการเมือง" ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหลักฐานชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีมิได้เพียงเจตนาโกหกซ้ำซาก แต่ยังได้อาศัยลิ้นลมคารมทางภาษาต่างๆ ในการบริหารประเทศ และเอาตัวรอดทางการเมือง โดยมีกลวิธีที่ใช้บ่อย คือ โกหกหน้าตาย, กล่าวท้าทายยั่วยุ, โพลงปะทุอารมณ์, คำคมเจ้าเล่ห์, คำเท่ห์หลอกลวง ฯลฯ และว่า เมื่อพิจารณาเพียงคุณธรรม ด้านการรักษาสัตยวาจา ก็เห็นแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรม ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป  


 


รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ดลารมภ์ จากภาควิชาปรัชญา กล่าวถึงการใช้จริยธรรมกับหลักกฎหมาย ว่า การขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปของบุตรชาย และบุตรสาวนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม เนื่องจากจริยธรรมอยู่เหนือกฎหมาย การอ้างว่าไม่ผิดกฎหมายจึงไม่มีน้ำหนัก ในสถานการณ์ที่มีการถกเถียงรุนแรงเช่นนี้ น่าจะมาทำความเข้าใจว่า เรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไร และเหตุใดการขายหุ้นจึงเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ทั้งด้านจริยธรรม และศีลธรรม เพราะการขายหุ้น ผู้ขายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง สามารถเปลี่ยนแปลง กฎกติกาในการทำธุรกิจอย่างกว้างขวาง


 


ทั้งนี้ กลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า "ชาวอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ใฝ่หาจริยธรรมทางการเมือง" ได้นัดหมายกันใส่เสื้อสีชมพู และเดินทางไปร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เวลา 15.00 น.ด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net