Skip to main content
sharethis


 


วันนี้เวลาประมาณ 10.00 . ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 500 คนเดินทางมาชุมนุมที่หน้าศาลกลางจังหวัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีบริษัทเอพีพีซีแจ้งจับแกนนำชาวบ้านข้อหาร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ในวันที่บริษัทได้ทำการการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2549 ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น.กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินรณรงค์คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชตามถนนจากศาลากลางจังหวัดอุดรธานีไปยังสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี เพื่อนำแกนนำทั้ง 5 คนไปมอบตัว โดยได้มี พ.ต.ท.สมกฤษ จันทอง รองผกก. สภอ.เมืองอุดรธานีรับมอบตัว


 


ทั้งนี้ได้มีนายอภิสิทธิ์ แสนณรงค์ ทนายจากสภาทนายความจังหวัดอุดรธานีเป็นตัวแทนของประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี ใช้ตำแหน่งประทานสภาทนายความประกันตัวแกนนำทั้ง 5 คนออกมาเมื่อลงบันทึกประจำวันเสร็จแล้ว กลุ่มอนุรักษ์ได้เคลื่อนขบวนเดินรณรงค์คัดค้านเหมืองแร่โปแตช


กลับไปยังศาลากลางจังหวัด โดยจะปักหลักชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางเพื่อเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ยกเลิกขบวนการรังวัดไปก่อน


 


นายภานุสิทธิ์ บุญนาค ในนามบริษัทลาซาล จำกัด และบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภอ.เมืองอุดรธานี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 ให้ดำเนินคดีกับ 5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้แก่ 1. นางละเอียด อ่อนสะอาด 2.นายบัณฑิต อ่อนสะอาด 3.นายบุญเลิศ เหล็กเขียว 4.นายปัญญา คำลาภ และ5. นางสาวเนาวรัตน์ ดาวเรือง ในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ โดยให้การว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คนได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัทลาซาล จำกัด และได้เข้าไปทำลายหมุดของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จนได้รับความเสียหาย


 



 


นางสาวเนาวรัตน์ ดาวเรือง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่าในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2547บริษัทได้ทำการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการขอสัปทานขุดแร่ โดยไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ "ลักไก่" โดยแม้แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็ไม่รู้ ซ้ำร้ายการรังวัด ปักหมุด ในครั้งนั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน คือ "บริษัท ซีบีการสำรวจ" ทั้งที่กฎหมายแร่กำหนดว่าการรังวัด ปักหมุด ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ราษฎรกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ ให้ยุติการรังวัดและมีข้อตกลงว่าต้องทำประชุมการประชาคมให้ราษฎรในพื้นที่ทราบข้อมูลเสียก่อน แต่บริษัทเอพีพีซี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำความเข้าใจใด ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2548 ได้รังวัดอีกโดยจ้างชายฉกรรจ์ประมาณ 100 คน มาเพื่อคุ้มกันการรังวัด ปักหมุด เป็นผลให้เกิดความรุนแรง โต้เถียงกัน กับกลุ่มชาวบ้านที่มาสอบถามข้อมูล และทวงข้อตกลงเรื่องการรังวัดปักหมุด เป็นเหตุบริษัทเอพีพีซีได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ นางละเอียด อ่อนสะอาด ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ และปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นของเจ้าพนักงานอัยการ และเมื่อวันที่ 11 - 18 มีนาคม 2549 บริษัททำการรังวัดปักหมุด เขตโรงงานแต่งแร่เนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ก่อน แต่บริษัทฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ เมินเฉย อีกทั้งยังดื้อดึงทำการรังวัด ปักหมุด เขตโรงแต่งแร่ต่อไป โดยจ้างกลุ่มชายฉกรรจ์แล้ว และ อปพร.ตำบลหนองไผ่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาคุ้มกัน


 


วันนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ รวม 500 คนจึงเดินทางมามอบตัวให้จับกุมดำเนินคดีกับทุกคนที่ร่วมกันเข้าไปสอบถามข้อมูลในวันที่มีการดำเนินการรังวัด ปักหมุด ในที่ดินของบริษัทฯ ไม่ใช่เพียง 5 คน เท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีเพียง 5 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และในระหว่างนี้ขอให้ยกเลิกกระบวนการรังวัด ปักหมุดพื้นที่เหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ไปก่อนจนกว่าจะมีการดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านให้เข้าใจข้อมูลในขั้นตอนการปรึกษาหารือเบื้องต้นตามที่ พรบ.แร่ พ.ศ. 2545 กำหนดเสียก่อนจะดำเนินการใด ๆ ต่อไป ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ ฯ และชุมนุมอยู่ศาลากลางจังหวัดเพื่อเรียกร้องสำนึกเจ้าหน้าที่รัฐให้ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" เพื่อประโยชน์สุขต่อราษฎร ในกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี และเคารพต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรามชาติ มิใช่ส่งเสริมให้นายทุนมารุกล้ำทำลายทรัพยากรอย่างที่เป็นอยู่ นางสาวเนาวรัตน์ กล่าว


 



ด้านนางละเอียด อ่อนสะอาด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งขณะนี้ตั้งครรภ์ 5 เดือนแล้ว และถูกบริษัทเอพีพีซีแจ้งความดำเนินคดีเป็นครั้งที่สอง กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ กพร. ที่มาทำการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่โปแตชซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ และจะมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ตนและชาวบ้านอีกประมาณ 500 คนได้ไปด้วยกันเพื่อเรียกต้องให้บริษัททำตามข้อตกลงคือต้องประชุมประชาคมหมู่บ้านสร้างความเข้าใจกับประชนอเสียก่อน และแน่ใจว่าคนยืนอยู่บนถนน รพช. แต่ ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเป็นความผิดที่เลวร้าย บริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพยที่


 


 


นางละเอียด กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกตนเองและครอบครัวถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ การแจ้งจับข้อหาบุกรุกครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกอยู่ และยังถูกคนของบริษัทบุกรุกไปข่มขู่จะทำร้ายถึงบ้านซึ่งตนได้แจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวและศาลตัดสินว่ามีความผิดให้ระวางลงโทษจำคุกโดยรอลงอาญาสองปี ควบคุมประพฤติ 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จะเห็นได้ว่าบริษัทพยายามกลั่นแกล้งตนให้ต้องเดินทางไปศาลเป็นว่าเล่น ขู่ให้กลัวเพราะว่าตนเป็นชาวบ้านที่ออกมาคัดต้านขบวนการที่ไม่ถูกต้องบริษัท และจะยืนยันทำหน้าที่พิทักษ์ชุมชนต่อไป นางละเอียดกล่าว


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net