Skip to main content
sharethis

เนื้อรื่อง


แถลงการณ์บริษัทเหมืองโปแตชต่างชาติ คุกคามสิทธิคนไทย แจ้งจับชาวบ้านที่รักษาสิทธิในทรัพยากรท้องถิ่น


----------------


บริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด (เอพีพีซี) ขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วย -สามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่ ใน เขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่ ซึ่งจะทำเหมืองไม่น้อยกว่า 50 ปี


การทำเหมืองใต้ดิน คือการขุดเอาแร่ใต้ดินลึกลงไปเกิน 100 เมตรไชจากปากอุโมงค์เข้าไปใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน เจาะอุโมงค์ลงไปสกัดเอาแร่ใต้ดินออกมาเป็นโพรงกว้าง เมื่อขุดลงจะผ่านชั้นเกลือหินมหาศาลเขาก็จะขุดเกลือขึ้นมากองไว้บนดิน พอพบแร่ก็ขนขึ้นเพื่อแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมีโดยจะผลิตแร่โปแตชปีละ 2 ล้านตัน


พื้นที่ขุดแร่ใต้ดิน และโรงงานแต่งแร่อยู่ใจกลางชุมชนเกษตรกรรม ทำนาข้าวกว่า 100 ชุมชน ทั้งที่ในประเทศแคนาดาห้ามมิให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินในเขตชุมชนแล้ว และผลกระทบที่รุนแรงจากเหมืองโปแตช คือจะเกิดแผ่นดินทรุดทั่วไปเฉลี่ย 70 ซม.ใน 22 ปี และเคยมีเหตุเหมืองแร่ถล่ม ดินทรุดเกิดขึ้นเสมอในต่างประเทศที่ทำเหมืองใต้ดิน หรือเพียงสูบน้ำบาดาลทำนาเกลือยังเกิดดินทรุดได้ กองเกลือที่เค็มมาก ๆ และกากหางแร่จะกองสูง 40 เมตรกว้างนับพันเมตรกองไว้กลางลานโล่งไม่มีหลังคาปกคลุม หากฝนตกหนัก หรือเกิดน้ำท่วม เกลือกว่า 20 ล้านตันที่กองบนดินจะถูกชะไหลลงนาข้าว แหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านต้องดื่ม ต้องใช้ จะปนเปื้อนเกลือเค็ม ๆ และสารเคมีเปื้อนไปทั่ว


            ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2547บริษัทได้ทำการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการขอสัปทานขุดแร่ โดยไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ "ลักไก่" โดยแม้แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็ไม่รู้ ซ้ำร้ายการรังวัด ปักหมุด ในครั้งนั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน คือ "บริษัท ซีบีการสำรวจ" ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าการรังวัด ปักหมุด ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)


อาศัยสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ระบุว่า "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" และมาตรา 56 ระบุว่า "สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในการคุ้มครอง ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาปละประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม"


ราษฎรกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ ให้ยุติการรังวัดและมีข้อตกลงว่าต้องทำประชุมการประชาคมให้ราษฎรในพื้นที่ทราบข้อมูลเสียก่อน แต่บริษัทเอพีพีซี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำความเข้าใจใด ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2548 ได้รังวัดอีกโดยจ้างชายฉกรรจ์ประมาณ 100 คน มาเพื่อคุ้มกันการรังวัด ปักหมุด เป็นผลให้เกิดความรุนแรง โต้เถียงกัน กับกลุ่มชาวบ้านที่มาสอบถามข้อมูล และทวงข้อตกลงเรื่องการรังวัดปักหมุด เป็นเหตุบริษัทเอพีพีซีได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ นางละเอียด อ่อนสะอาด ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ และปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นของเจ้าพนักงานอัยการ และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2549 บริษัททำการรังวัดปักหมุด เขตโรงงานแต่งแร่เนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ก่อน แต่บริษัทฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ เมินเฉย อีกทั้งยังดื้อดึงทำการรังวัด ปักหมุด เขตโรงแต่งแร่ต่อไป โดยจ้างกลุ่มชายฉกรรจ์แล้ว และ อปพร.ตำบลหนองไผ่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาคุ้มกัน


            การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดที่เลวร้าย บริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ คือ 1.นางละเอียด อ่อนสะอาด 2.นายบัณฑิต อ่อนสะอาด 3.นายบุเลิศ เหล็กเขียว


4.นางสาวเนาวรัตน์ ดาวเรือง และ5.นายปัญญา คำลาภ วันนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ รวม 500 คนจึงเดินทางมามอบตัวให้จับกุมดำเนินคดีกับทุกคนที่ร่วมกันเข้าไปสอบถามข้อมูลในวันที่มีการดำเนินการรังวัด ปักหมุด ในที่ดินของบริษัทฯ ไม่ใช่เพียง 5 คน เท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีเพียง 5 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่


            ในระหว่างนี้ขอให้ยกเลิกกระบวนการรังวัด ปักหมุดพื้นที่เหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ไปก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านให้เข้าใจข้อมูลในขั้นตอนการปรึกษาหารือเบื้องต้นตามที่ พรบ.แร่ พ.ศ. 2545 กำหนดเสียก่อน และขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมกำนันในพื้นที่ 4 ตำบล (ต.หนองไผ่ , ต.โนนสูง อำเภอเมือง และต.ห้วยสามพาด,ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมไร้จรรยาบรรณขัดกับบทบัญญัติการบริหารราชการ ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สุข ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีส่วนร่วม มีกลไกการตรวจสอบ อันจะนำมาซึ่งความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและสังคมส่วนรวม แต่กลับมารับจ้างบริษัทยุยงราษฎรให้แตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายชำนาญ ภูวิลัย กำนันตำบลโนนสูง ประธานกลุ่มสนับสนุนเหมืองแร่โปแตช


กลุ่มอนุรักษ์ฯ ขอเรียกร้องสำนึกเจ้าหน้าที่รัฐให้ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" เพื่อประโยชน์สุขต่อราษฎร ในกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี และเคารพต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 79 คือ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรามชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน


ขอเรียกร้องต่อพี่น้องชาวอุดรธานีให้ออกมาแสดงตัวปกป้องสิทธิคนไทย และสิทธิในทรัพยากรแร่ของท้องถิ่นเราอย่าให้คนต่างชาติมาข่มเหงคนไทยและแย่งชิงทรัพยากรเราไป


 


29 มีนาคม 2549


กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net