Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพจาก The Age


นายกรัฐมนตรีจอห์น ฮาวเวิร์ด แห่งออสเตรเลีย แถลงกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในวันที่ 3 เมษายน 2549 ว่าตนและรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนในเมืองปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียจะยอมให้ผู้ลี้ภัยชาวปาปัวทั้ง 42 คนอพยพเข้าไปในออสเตรเลียได้ก็ตามที


 


ทั้งนี้ การยอมรับผู้ลี้ภัยชาวปาปัวเข้าประเทศออสเตรเลียส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียต้องหยุดชะงัก ถึงขั้นที่รัฐบาลอินโดฯ ต้องเรียกตัวทูตประจำกรุงแคนเบอร์ร่ากลับประเทศ


 


ต่อจากนั้นได้มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งตามมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อหนังสือพิมพ์ "เดอะวีคเอนด์ออสเตรเลียน" ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้นำเสนอภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนประธานาธิบดี สุสิโล บัมบัง ยุทโธโยโนแห่งอินโดนีเซีย โดยนักวาดการ์ตูนได้เปรียบเทียบผู้นำอินโดนีเซียเป็นสุนัขตัวผู้ที่หวงสุนัขตัวเมีย และเป็นการสื่อความหมายว่าประธานาธิบดียุทโธโยโนออกอาการหวงแหนพื้นที่ปาปัว เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกประเทศของชาวปาปัว


 


อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮาวเวิร์ดได้ระบุว่า การ์ตูนดังกล่าวเป็นการ์ตูนไร้รสนิยม พร้อมทั้งยืนยันว่า ประธานาธิบดียุทโธโยโนเป็นผู้นำที่ดีมากคนหนึ่ง


 


การวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนของเดอะวีคเอนด์ออสเตรเลียน เป็นการตอบโต้ต่อกรณีที่หนังสือพิมพ์รายวัน "รัคยัตเมอร์เดกา" ของอินโดนีเซียได้วาดภาพล้อเลียนนายกรัฐมนตรีจอห์น ฮาวเวิร์ด และอเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย โดยวาดภาพหมาป่าดิงโก ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองออสเตรเลียที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กัน และใบหน้าของหมาป่าทั้งสองตัวคือภาพล้อนายกฯ ฮาวเวิร์ดและรัฐมนตรีดาวเนอร์ เพื่อต้องการจะสื่อว่าออสเตรเลียก็ต้องการครอบครองดินแดนปาปัวตะวันตกเช่นกัน


 


นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้เรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับแสดงความรับผิดชอบ และรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียวิตกว่าการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวจะทำให้กระแสการต้านออสเตรเลียในหมู่ชาวอินโดนีเซียปะทุขึ้นอีกครั้ง


 


ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียุทโธโยโนได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีพิพาทดังกล่าวว่าการยอมรับผู้อพยพชาวปาปัวทั้ง 42 คนของรัฐบาลออสเตรเลียคือชนวนที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ และการวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฝ่ายก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง พร้อมกันนี้ ผู้นำอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้ประชาชนของตนอยู่ในความสงบ และไม่ควรถือสาหาความกับภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าว


ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซียตกอยู่ในภาวะตึงเครียดนับตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ.2542) เป็นต้นมา เนื่องจากนักสิทธิมนุษยชนชาวออสเตรเลียกล่าวว่ากองกำลังทหารของอินโดนีเซียละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวปาปัว และสังหารผู้ก่อจลาจลในปาปัวตะวันตกไปแล้วราว 100,000 ราย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา จึงจำเป็นที่รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก


ในทางกลับกัน ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากเชื่อว่ารัฐบาลออสเตรเลียแอบให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ เพื่อสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนปาปัวให้ได้รับเอกราชเช่นเดียวกับประเทศอีสต์ติมอร์ซึ่งแยกตัวไปจากจาร์การ์ตา และสามารถปกครองตนเองได้ในปี พ.ศ.2542


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net