Skip to main content
sharethis


 


"พจนาถ พจนาพิทักษ์" กวี นักเขียน นักแต่งเพลง คนไกลบ้าน เด็กชายชาวสตูล ฯลฯ กลับมาเยือนปัตตานีเป็นครั้งแรกรอบ 8 ปี เพื่อร่วมงานอ่าน" บทกวีสำหรับปัตตานี" แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พจนาถไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่


 


วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2006 14:46น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


หลายๆ ปีผ่านไม่ได้กลับบ้านหัวใจคำนึง


คล้ายเสียงเพลงผ่านแว่วมาจากบ้านสายลมรำพึง


...


บินหลาเอย ไม่เคยบินลับบินหาย


รถไฟสายใต้ฝากใจเราไปด้วยเอย


....


 


"พจนาถ พจนาพิทักษ์" กวี นักเขียน นักแต่งเพลง คนไกลบ้าน เด็กชายชาวสตูล ฯลฯ กลับ มาเยือนปัตตานีเป็นครั้งแรกรอบ 8 ปี เพื่อร่วมงานอ่าน" บทกวีสำหรับปัตตานี" แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พจนาถไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่ ด้วยเหตุที่น้องชายและน้องสาวเรียนอยู่ที่ มอ.ปัตตานี ทำให้เขามาใช้ชีวิต กิน นอน อยู่ที่ปัตตานีติดต่อกันหลายปี


 


บทกวี "คนอื่นของที่อื่น" ซึ่งสะท้อนความรู้สึกโหยหาแผ่นดินบ้านเกิด มิใช้งานชิ้นเดียวที่พจนาถถ่ายทอดความรู้สึกความเป็นคนอื่นในแผ่นดินแปลกหน้า ก่อนหน้านี้ พจนาถ เคยถ่ายทอดความรู้สึกของคนไกลบ้าน ผ่านบทเพลงซึ่งถูกเลือกไปเป็นเพลงประกอบละครช่อง 7 "เหนือทรายใต้ฟ้า" ของบริษัทเป่าจินจง


 


พจนาถออกจากบ้านที่สตูลเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิต ตั้งแต่ปี 2528 เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ จนท้ายที่สุดไปปักหลักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ สำหรับบทเพลง "ฝากใจไปบ้าน" นี้ พจนาถบอกว่า เขาตั้งใจที่จะแต่งเพื่อสื่อถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ "บ้านของเขา"ที่เปลี่ยนไปอย่างสัมผัสได้ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบช่วง 2 ปีที่ผ่านมา


 


พจนาถ - จริงๆ แล้ว เพลงนี้ไม่ใช่เพลงละครตั้งแต่แรก แต่เป็นเพลงที่ทำเตรียมไว้สำหรับอัลบั้มใหม่ ซึ่งมีเพลงดังกล่าวอยู่ในรูปแบบเพลงเพื่อชีวิต ประกอบกับความรู้สึกที่อยู่ข้างในเริ่มโหยหารากของตัวเอง คนมุสลิมมักจะมีคำถามเรื่องในแนวนี้ว่า ในฐานะมุสลิมเราได้เอาอัตลักษณ์บางอย่างที่มีมากับสายเลือดของเรา ดีเอ็นเอเรา ออกมาร่วมกับผลงานของเราอย่างไรบ้าง ส่วนตัวคิดว่า ถ้าผมทำ ผมน่าจะมีความลึกซึ้งกับมันโดยที่ผมไม่รู้ตัว


 


ในทำนองเพลงมลายูหลายๆ เพลง ที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ จ.สตูล ก่อนจากบ้านไปเรียนที่อื่น คือ ทำนองตารีกีปัส เพราะทำนองเพลงมลายูส่วนใหญ่มีท่วงทำนองแบบหม่นๆ แต่เพลงตารีกีปัสกลับมีความสว่างในท่วงทำนอง ซึ่งตั้งใจมานานแล้วว่า อยากใช้ทำนองเพลงนี้เป็นประตูบานแรกที่เปิดตัวเองไปสู่ข้างนอก นี่เป็นที่มาของทำนอง


 


ส่วนเรื่องของเนื้อหา ยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดกรณีกรือเซะจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ตากใบ ผมรู้สึกกับเรื่องนี้สูงมาก ผมรู้สึกว่า ถึงแม้จะไม่ใช่คน 3 จังหวัด แต่ในฐานะมุสลิมในจังหวัดสตูล ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของรัฐต่อคนตรงนั้นในเวลานั้น มันเป็นสิ่งที่มากเกินไป แม้ความรุนแรงจากส่วนอื่นๆ จะมีอยู่จริง


 


โดยเฉพาะกรณีของตากใบ คนกว่าร้อยคนที่เสียชีวิตตรงนั้น เป็นมุสลิมปรกติธรรมดา นุ่งผ้าโสร่ง ไปร่วมชุมนุมในปรกติ ซึ่งไม่อาจเหมารวมว่าเป็นผู้ร้ายได้ แต่การที่รัฐไปกระทำในเวลานั้น จนเกิดเหตุเสียชีวิตมากมายขนาดนั้น ผมเห็นทั้งในภาพข่าวก่อนที่จะมาเห็นชัดๆ ในวีซีดีที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปทำให้ผมสะเทือนใจ ซึ่งผมคิดอยู่เสมอว่า จะเอาเนื้อหาตรงมาเผยแพร่อย่างไร มาบอกเล่าในฐานะที่ตนเองเป็นมุสลิมอย่างไร


 


แต่การที่จะนำเสนอออกไป ชัดๆ ตรงๆ ในฐานะที่ไม่ใช่เพลงเพื่อเคลื่อนไหวทางความคิดอะไรมากมาย ผมตั้งใจที่จะเป็นภาพรวมของความรู้สึกระลึกถึงบ้าน โดยเฉพาะบ้านในปี พ.ศ. 47-48 -49 บ้านของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงคนภาคใต้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันอย่าง สงขลา สตูล มันมีความรู้สึกบางอย่างที่เปลี่ยนไป ผมเองก็อยากจะสื่อสารตรงนี้ในฐานะคนไกล ส่งกลับความ รู้สึกและข้อมูลในจิตวิญญาณดั้งเดิม


 


สิ่งที่กระทบคือ ตัวตนของคุณซึ่งมีรากของความเป็นมุสลิม


ครับ แม้จะพบความต่างอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่า ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่นี่หรือชาวบ้านที่ไหน ที่เหนือ ที่อีสาน ผมว่า เล่ห์เหลี่ยม หรือการถูกปนเปื้อนด้วยวิธีคิดที่ซับซ้อนเพื่อจะฉกฉวยช่วงชิงหรือเพื่อที่จะทำร้ายเนี่ย ยังไม่มาก เพราะ ฉะนั้นที่รู้สึกนั้นไม่ใช่เพราะเป็นมุสลิมอย่างเดียว แต่ผมเองก็เป็นลูกชาวบ้าน มันมีอีกมิติคือ ความเป็นลูกชาวบ้าน เห็นภาพของพี่น้องมุสลิมที่ใส่ผ้าโสร่งถูกกระทำ เมื่อรวมเข้ากับวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ที่ผมมีต้นทุนอยู่บ้าง ทำให้ผมเห็นว่า เป็นการปะทะกันที่เกินเหตุและไม่เข้าใจกันเลยของเจ้าหน้าที่


 


อยากให้พูดถึงเนื้อหาของเพลง "ฝากใจไปบ้าน"


เนื้อหาเพลงโดยรวม บอกความรู้สึกตรงๆ ของผม ณ เวลานั้น คือ ผมไปอยู่เชียงใหม่ ผมห่างไกลบ้านไปหลายปี คือ ก่อนที่ผมไปอยู่เชียงใหม่ ผมไปอยู่นครศรีธรรมราช 3 ปี ไปอยู่กรุงเทพฯ 13 ปี ไปอยู่เชียงใหม่ 5 ปี คือ ผมออกจากบ้านมานานมาก ผมคิดว่า ไม่สามารถรู้ความเป็นจริงของที่บ้าน คำว่าบ้านที่หมายถึงภาคใต้ คือคำว่าบ้านของผมค่อน ข้างจะกว้าง เพราะผมเป็นคนใต้ บ้านที่หมายถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตคือ สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส คำว่าบ้านที่หมายถึง คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน ในฐานะที่ผมเป็นคนไกลจนแทบจะกลายเป็นคนอื่นไปแล้ว ผมเลยเขียนเพลงเพื่อแสดงความคิดถึงบ้านหลังฟังข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยอยากแสดงความรู้สึกออกมาในเพลงนี้


 


ในเพลงเมื่อเลือกถ้อยคำและฉากเพื่อมาสื่ออารมณ์และสื่อภาพ ผมเลยเลือกสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นภาคใต้และความเป็นมุสลิม รวบรวมไว้ให้มากที่สุด เช่น รถไฟสายใต้ถือเป็นภาพกว้างที่สุด ไม่ว่าจะไปที่ไหน นกบินหลา หมายถึง นกกางเขนดง ซึ่งอยู่เรียกกันในละแวก 5 จังหวัดทางนี้ ลงมาอีกหน่อยก็เป็นแม่น้ำปัตตานี ลึกลงมาก็คือ ตากใบ ผมพยายามแสดงภาพเหล่านี้ไว้ในเพลงๆ เดียว เพื่อให้คนใต้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาไหน จังหวัดไหนสามารถร่วมรู้สึกไปกับเพลงนี้ได้


 


ช่วงท่อนแยกของเพลงซึ่งเป็นท่วงทำนองแบบปักษ์ใต้ มีความหมายอย่างไร


โดยท่วงทำนอง ไม่ใช้ตาลีกีปัตทั้งหมด แต่เป็นส่วนที่ผมแต่งเพิ่มเข้าไป เพื่อให้มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะท่อนแยกที่เป็นภาษาปักษ์ใต้ ซึ่งผมตั้งใจอยากจะนำเสนอภาพเชิงลึก เป็นภาพเฉพาะลงมา


 


ฮารีรายอ แต่เดิม ปีนี้รื่นเริงอยู่ไหม


เสื้อสีสวยๆ เคยใส่ หนมโค หนมไข่ เคยหรอย


หรือไม่ค่อยหรอยซักเท่าใด ลูกหลานจากไปไม่กลับมา


ตากใบสายน้ำนองตา ออกบวชรายาว้าเหว่ใจ


 


ฮารีรายอ เป็นเทศกาลรื่นเริงของชาวมุสลิม ซึ่งมี 2 ครั้งใน 1 ปี เป็นเทศกาลที่มีความหมายในการรื่นเริง มีขนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานนี้ และมันก็จะขัดแย้งกับอีกภาพหนึ่ง คือ ขณะที่เรามีงานรื่นเริงในปีนั้น แต่มันเป็นงานรื่นเริงในความเศร้า ผมเลยนำเสนอภาพทั้งสองภาพในเวลาเดียวกันซ้อนกัน เป็นท่อนเฉพาะที่ตั้งใจจะสื่อสารเชิงลึก แต่เนื้อเพลงที่ผมแต่งก่อนหน้านี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบ อีกแบบ


 


หรือไม่ค่อยหรอยแล้วเท่าใด


ลูกหลานถูกใครให้คว่ำหน้า


ขึ้นรถเป็นศพกับมา


ออกบวชรายาว้าเหว่ใจ


 


ซึ่งเนื้อนี้ได้รับคำทักท้วงจากโปรดิวเซอร์ ซึ่งผมรู้แต่แรกแล้วว่าไม่ผ่าน จึงต้องแก้ไข ส่วนท่อนที่เป็นเนื้อเพลงภาษามลายู แต่งโดยคนปัตตานีซึ่งเดิมเป็นคน อ.โคกโพธิ์ แต่ปัจจุบันไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นคนไกลบ้านเหมือนกัน เขาเห็นว่า ถ้ามีเนื้อเพลงภาษามลายูประกอบเข้าไป เพลงน่าจะสมบูรณ์ ก็เลยสอบถามผู้รู้ในพื้นที่และช่วยเรียบเรียง โดยใช้ภาษามลายูที่มีความหมายใกล้เคียงกัน "บีแมบือซา บีแมบือซา อีงะอูมอ กาเซอูมอ" ความหมายคือ เป็นห่วงบ้าน และคิดถึงบ้าน


 


คนเข้าใจว่า พจนาถ เป็นคนเหนือ


(หัวเราะ) ครับ ปัจจุบันก็มีชื่ออยู่ในกลุ่มนักเขียนภาคเหนือ


 


ในฐานะที่เป็นคนไกลบ้าน อยากให้บ้านเป็นอย่างไร


อยากให้บ้านมีความสงบสุข อยากให้บ้านมีการพัฒนาที่เหมาะสมกับบ้านของเรา ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปแบบไม่เหมาะ ซึ่งหาพูดในความหมายที่กว้าง บ้านหมายถึง ประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบ้านของเราพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมทั้งที่ประเทศอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ต้นไม้และสังคมเกษตรกรรม แต่กลับพยายามพัฒนาไปในแบบตะวันตก ซึ่งจะว่าไปทุกประเทศก็พยายามจะพัฒนาไปเป็นอย่างนั้น นี่เป็นบ้านในภาพใหญ่


 


แต่ในภาพย่อย บ้านใน จ.สตูล บ้านแม่ที่ ต.เขาพระ จ.สงขลา หรือกระทั่งที่เชียงใหม่ ผมก็เห็นว่า บ้านของผู้คนมันกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เหมาะไม่สม ในทัศนะของผมไม่ได้หมายถึงว่า ชาวบ้านตรงนั้นจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมคิด แต่ถ้ามุมของผมเห็นว่า มันถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมในทางวัตถุ ในเชิงความคิด การเติบโตขึ้นของความเชื่อที่ต่างกัน มันก็ถูกพัฒนาเหมือนกัน ซึ่งในสภาพที่ต่างเติบโตกันอย่างนี้จะหาสันติสุขได้ค่อนข้างยาก กรณีที่ผมคิดว่า เราอาจต้องทำใจคือ จุดที่เปราะบางที่สุดอาจเป็นเรื่องกิเลศ และอีกจุดที่เปราะบางและอ่อนไหวมากคือ ความเชื่อ ซึ่งทั้งสองส่วนถูกนำมาพัฒนา ถูกนำมาใช้นำมาปะทะ ทั้งในลักษณะตัวตนปรกติธรรมดา และปะทะที่เป็นการต่อสู้ทำลายล้าง ซึ่งนำไปสู่สงคราม


 


ตอนนี้ถึงเวลากลับบ้านแล้ว


ใกล้แล้วครับ คิดว่าประมาณ 4-5 ปี นี้จะกลับมาอยู่ที่ จ. สตูล เพราะได้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ก็สมใจแล้ว ตอนแรกไม่ได้คิดด้วยซ้ำไปว่า จะกลับมาอยู่ที่บ้าน อาจจะเป็นความเชื่อของคนที่พยายามจะหาคำตอบอยู่ว่า ที่ไหนที่มีคน ที่ไหนที่มีธรรมชาติ ที่ไหนที่เราอยู่แล้วมีความสุข ที่นั่นก็เป็นบ้านของเรา แต่พอมาอยู่จริงๆ กลับพบว่า ไม่ใช่ ซึ่งน่าจะเหมือนกับทุกคนว่า เมื่อไปอยู่จริงๆ ก็จะรู้ว่า ที่ไหนใช่ที่ไหนไม่ใช่ ความจริงก็อยู่ได้ มีความสุขได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ว่าใช่หรือไม่ใช่เราต้องรู้ว่า มันขึ้นอยู่กับความคุ้นเคย ความไว้วางใจ ความอบอุ่นใจ ซึ่งมันอยู่ลึกเข้าไปข้างใน ซึ่งความรู้สึกมันแยกไม่ออกจากผู้คนที่เราคุ้นเคย กับที่ๆ เราเติบโตมา ญาติของเรา หรือคนที่เชื่อแบบเดียวกันกับเรา


 


.....................................................


หมายเหตุ : ชม MV เพลงฝากใจไปบ้าน : พจนาถ พจนาพิทักษ์ ได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ข่าวอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net