Skip to main content
sharethis

โดย เพ็ญศรี คีรีรอบ เครือข่ายโรงเรียนชาวบ้าน


 


 


วิกฤติด้านการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ได้นำไปสู่การสร้างความแตกแยกของคนในชาติอย่างชัดเจน ทำให้ต้องทบทวนและมองย้อนกลับไปดูโครงสร้างของระบบการบริหารบ้านเมือง และระบบการเมืองที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง โดยไม่ไปยึดติดกับแนวทางหรือข้อกฎหมายเชิงเทคนิคของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ เพื่อมองภาพรวมที่เป็นอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยทั้งระบบ


 


หากมองข้อเท็จจริงด้วยหัวใจเป็นธรรม และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในสังคม เราจะพบปัญหาสำคัญของระบบการเมืองและการจัดการบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายประการด้วยกัน


 


ประการแรก พบว่ารัฐบาลส่วนกลาง มีอำนาจมากเกินไป ทั้งอำนาจเงิน และอำนาจกฎหมายที่รวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงต่างๆ ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นมีอำอาจในการจัดการตนเองน้อยมาก และต้องพึ่งพาอำนาจส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา


 


ประการถัดมา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้ความสำคัญและให้อำนาจกับพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลมากเกินไป จนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมรัฐธรรมนูญจึงให้อำนาจกับคณะบุคคลที่มาเป็นรัฐบาลให้สามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองมากมายขนาดนั้น รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงกับต่างประเทศ โดยที่สังคมไม่รู้หรือไม่เห็นชอบด้วย


 


จากข้อเท็จจริงของรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ มีลักษณะเหมือนกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนในการประกอบกิจกรรมทางการเมืองที่หลายๆ คนตั้งชื่อว่า "ธนกิจการเมือง" อาศัยอำนาจที่มีอยู่เข้าไปครอบงำระบบต่างๆ ที่มีอยู่ให้เอื้อประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้องได้โดยง่าย ไม่มีระบบถ่วงดุลและระบบตรวจสอบทั้งจากภายในและจากสาธารณะ ระบบพรรคจึงหลุดออกไปจากสังคมส่วนใหญ่ โดยสังคมไม่มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกลไกของรัฐอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง


 


ในขณะที่ ส.ส. ระบบเขตส่วนมากไม่เป็นตัวของตัวเอง และอาจไม่สามารถแสดงคุณภาพอะไรออกมาได้ เพราะทุกคนเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่บริษัทที่ต้องทำตามมติพรรค ที่บอกให้ยกมือและทำตามคำสั่งของเจ้านาย บทบาทในการถ่วงดุลกับระบบบริหารจึงหมดไป


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส. ส.ก. ส.ท. ส.ข. ที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ผู้มีชื่อเสียงในสังคม ส่วนใหญ่อายุน้อย มีฐานะดี มักอยู่ในภาคธุรกิจ และไม่ค่อยเกี่ยวข้อง สนใจหรือรับรู้ปัญหาความต้องการของท้องถิ่นที่ตนเป็นผู้แทนเลย


 


ในส่วนของ ส.ส. ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ก็ทำให้เกิดโครงสร้างที่เหมือนกับมีชนชั้นในพรรคเป็นเสมือนผู้มีฐานะอีกชั้นหนึ่ง เป็นนายทุนของพรรค เป็นผู้มีอิทธิพล มีเงินทองและสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ทำให้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกลุ่ม ส.ส. ระบบเขต ที่ผ่านการเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำอะไรนอกจากบริหารและจ่ายเงิน


 


โครงสร้างของปาร์ตี้ลิสต์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นโครงสร้างที่เป็นปัญหาทำให้เกิดอิทธิพลครอบงำ ซ้ำซ้อนบทบาทระหว่างสองระบบ คือนิติบัญญัติและระบบบริหารจึงทำให้ ส.ส. ระบบเขตที่ผ่านการเลือกตั้งไม่ค่อยมีบทบาทและหมดความสำคัญไปโดยปริยาย


 


เมื่อ ส.ส. ระบบเขต ไม่มีบทบาทเชิงการถ่วงดุลกับระบบบริหารที่แท้จริง ทำให้ ส.ส. ระบบเขต กลายเป็นผู้มีหน้าที่หางบประมาณไปพัฒนาท้องถิ่น แย่งหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น หรือแสวงหาบทบาท เพื่อจะได้รับการยอมรับ เช่น เป็นผู้ประสานงานในกระทรวงหรือหน่วยต่าง ๆ กลายเป็นผู้ช่วยของรัฐมนตรี เลขารัฐมนตรีต่าง ๆ ทำให้บทบาทไม่ชัดเจน


 


ส่วนระบบ ส.ว. ที่มีการกล่าวหาว่า มีการซื้อขายเกิดขึ้นทั้งประจำและเฉพาะครั้ง ก็เป็นปัญหาทั้งระบบ การที่ ส.ว. ต้องผ่านการเลือกตั้ง ทำให้นักเลือกตั้งซึ่งมีหัวคะแนนคุมเสียงมาเลือกตั้ง มีโอกาสมากกว่าการจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถ


 


ดังนั้น หากต้องการวุฒิสภาที่เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริง อาจต้องใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งจากคนทั้งจังหวัด ซึ่งไม่สามารถรู้จักกันจริง ๆ ได้เลย


 


ด้านองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย เช่น กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปปง. กรรมการวิทยุกระจายเสียง ฯลฯ ภายหลัง 5 ปีผ่านไป จะพบว่าเกือบทุกองค์กรมีปัญหา สมมุติฐานที่จะสร้างองค์กรอิสระให้เป็นสถาบันอิสระของสังคมไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ การเลือกสรรกรรมการที่มีกระบวนการที่ยืดเยื้อ และมีส่วนร่วมมากเกินไปภายใต้ระเบียบ และการปฏิบัติที่ละเอียดยิบ ต้องตีความ ถึงกระนั้นก็ตามเป็นที่ชัดแจ้งว่า เกือบทุกองค์กรก็ยังสามารถถูกแทรกแซงจากรัฐบาลได้ทั้งสิ้น


 


ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของระบบการเมืองบ้านเราก็คือ คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อว่า สัญลักษณ์ที่สำคัญของระบบประชาธิปไตย คือ "การเลือกตั้ง" ดังนั้น "การเลือกตั้ง" จึงถูกนำมาใช้กับการสรรหาคนและระบบที่เกี่ยวข้อง จากประชาชนโดยตรงในเกือบทุกเรื่อง ทุกระดับ แต่วันนี้จะเห็นได้ว่า ระบบการเลือกตั้งทั้งระบบมีปัญหาอย่างร้ายแรง มีการใช้เงินซื้อเสียงทุกการเลือกตั้ง ทุกระดับ ทุกเรื่อง ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ส.ท. ส.ข. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมไปถึงกรรมการชุมชน คนที่ทำงานกับชุมชนในพื้นที่จะรับรู้ถึงโครงสร้างของการวางคน วางสาย วางหัวคะแนน ในการจัดการลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นอย่างดี หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "วางสายแล้วจ่ายเงิน" ผลของการเลือกตั้งส่วนใหญ่จึงไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจที่ถ่องแท้ได้ว่า กำลังเลือกอะไรเกี่ยวกับตน และท้องถิ่นอย่างไร เพราะมีระยะห่างระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบส่วนกลางเป็นอันมาก


 


ส่วนโครงสร้างระบบงบประมาณ การเงินของประเทศจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป ทำให้การตัดสินใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาขึ้นอยู่กับระบบงบประมาณของส่วนกลางที่ต้องทำตามระบบระเบียบ และวิธีการที่ถูกกำหนดมาทั้งหมด เพราะประชาชนเป็นผู้ขอใช้ ไม่ใช่เจ้าของ รวมทั้งต้องแบกรับภาระในการไปร่วมทำโครงการที่ตนไม่ต้องการ หรือไม่เคยคิดว่าจะทำ เนื่องจากส่วนกลางคิดว่าควรทำ และมีงบประมาณมาให้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนซ้ำซากไม่เกิดประโยชน์จริง สิ้นเปลืองงบประมาณ


 


ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้าง คำถามจึงมีว่า อะไรคือระบบที่ควรจะเป็น ซึ่งมาถึงตรงนี้จะต้องชัดเจนก่อนว่า เรากำลังมาคิดถึงการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจและการเมือง มาช่วยกันรื้อระบบทั้งหมด ไม่ใช่มาแก้รัฐธรรมนูญหรือแก้ปัญหาเพียงผิวเผิน


 


ดังนั้น ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสังคม เศรษฐกิจและการเมืองหลังการเลือกตั้ง จึงเห็นว่า ระบบที่ถูกต้องน่าจะไม่ใช่ระบบที่คิด ตัดสินใจและกำหนดจากส่วนกลาง แล้วให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานข้างล่างปฏิบัติ แต่เป็นระบบที่จะต้องให้ท้องถิ่นและชุมชนมีอำอาจ มีความรู้ ความมั่นใจ และมีบทบาทในการจัดการตนเองให้มากที่สุด โดยมีข้อเสนอสำคัญ ๆ ดังนี้


 


1. ท้องถิ่นจัดการตัวเอง ซึ่งการจะให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ต้องมีสมมุติฐานเบื้องต้นว่า "ต้องสร้างโครงสร้างทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยในทุกพื้นที่เข้มแข็ง และมั่นใจที่จะจัดการทุกเรื่องในท้องถิ่นได้" ซึ่งการจะบังเกิดผลดังกล่าวได้ คนในท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจในการสร้างแนวทางและกลไกของตนเอง เพื่อจัดการพัฒนาท้องถิ่น (ซึ่งอาจเป็นกลไกระดับตำบลหรือเทศบาลแล้วแต่กรณี) ตามแนวทางดังนี้


 


1.) สร้างองค์กรท้องถิ่นที่มาจากตัวแทนของทุกชุมชนในตำบล รวมทั้งกลุ่มที่หลากหลายในท้องถิ่น เช่น ครู กำนัน ผู้นำศาสนา หมอ ฯลฯ เพื่อทำหน้าที่เป็น "สภาท้องถิ่น" ซึ่งที่มาของตัวแทนจะต้องไม่ใช้การเลือกตั้ง แต่ควรเป็นระบบตัวแทนที่ชุมชนส่งมาโดยมีการพูดจาหารือ เพื่อให้ได้ตัวแทนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า "การเมืองสมานฉันท์" จากนั้น สภาท้องถิ่นอาจมีการเลือกผู้จัดการที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ นายก อบต. เพื่อให้สามารถดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นไปได้


            2.) ท้องถิ่นโดยสภาท้องถิ่นจะต้องมีแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเองทุกด้าน


            3.) สภาท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่า ในท้องถิ่นของตนเอง


            4.) ท้องถิ่นต้องมีระบบงบประมาณของตนเองจากฐานภาษีที่มากขึ้น เพื่อให้มีการพึ่งพาส่วนกลางน้อยที่สุด ไม่ขึ้นกับระบบงบประมาณส่วนกลางมากเกินไป


            5.) สภาท้องถิ่นควรมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ ระเบียบ จัดระบบงบประมาณ ระบบเศรษฐกิจ ระบบพัฒนาสังคมสามารถออกข้อห้ามตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติการสร้างวัฒธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม และมีพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจตามเอกลักษณ์ของตนเอง


 


เชื่อว่าแนวทางนี้จะนำไปสู่การดึงจิตวิญญาณาของการพัฒนา ให้คนในท้องถิ่นสามารถกำหนดตัวเองเกิดความมั่นใจ พัฒนาความรู้ มีอำนาจในการจัดการตนเอง ที่จะนำไปสู่การสร้างระบบท้องถิ่นเข้มแข็งในที่สุด


 


2. จังหวัดจัดการตนเอง มีเป้าหมายเพื่อเป็นร่มให้กับการพัฒนาของทุก ๆ ท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ โดยกำหนดให้มีกลไกระดับจังหวัดที่มาจากตัวแทนของ "สภาท้องถิ่น" แห่งละ 1-2 คน ประกอบเป็นสภาจังหวัด


 


สภาจังหวัดก็มีแนวคิดเช่นเดียวกับสภาท้องถิ่น กล่าวคือ นอกจากจะมีกลไกแล้วจะต้องมีแผนพัฒนาจังหวัด มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีงบประมาณของตนเอง ฯลฯ เพื่อให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างมีส่วนร่วมและมีทิศทางตามแนวทางของคนในจังหวัดและในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว


 


3. สร้างระบบส่วนกลางให้หนุนเสริมท้องถิ่น  โดยจะต้องเป็นระบบที่ไม่ซับซ้อนเพื่อให้สามารถหนุนเสริมระบบของท้องถิ่นและจังหวัดให้สามารถบริหารอำนาจของตนเองได้ ดังนี้


            1.) ระบบ ส.ว. ให้มาจากตัวแทนของสภาจังหวัด เพื่อให้เกิดระบบเชื่อมโยงและหนุนเสริมกับท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบ หรือทำให้คนที่เป็น ส.ว. เป็นผู้ที่รู้ปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง


            2.) การเลือกตั้ง ส.ส. ควรมีระบบเดียว คือ เลือกจากพื้นที่โดยจะมาจากระบบพรรคหรือผู้สมัครอิสระก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้แทนปวงชนที่หลากหลายขึ้น


            3.) ให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี จากคนในหรือนอกสภาก็ได้ แล้วให้นายกรัฐมนตรีเลือกคณะรัฐมนตรีของตนเองขึ้นมาบริหารประเทศ วิธีนี้จะทำให้นายกรัฐมนตรีมีอิสระในการจัดการเลือกสรร และจะถูกถ่วงดุลโดยสภาทั้งสองมากขึ้น


            4.) ให้รัฐบาลรายงานผลการดำเนินงานต่อทั้ง 2 สภา ประจำปี และให้สภาลงมติยอมรับหรืออาจไม่ไว้วางใจเป็นระบบปกติ


            5.) ส.ว. ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกมาจากสภาจังหวัดจะต้องลงมติในกรณีสำคัญ ๆ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี การเห็นชอบแผนงบประมาณประจำปีของรัฐบาล ซึ่งการไม่ไว้วางใจหรือไว้วางใจจะต้องมา ฯลฯ จากมติของสภาจังหวัดเท่านั้น ไม่ใช่มติหรือความเห็นของ ส.ว.


 


แนวคิดทั้งหมดคงไม่สมบูรณ์ และมีปมปัญหาอีกมาหมายที่จะต้องช่วยกันขบคิด เช่น องค์กรอิสระ จะมีอยู่อีกหรือไม่ ถ้ามีจะสรรหากันอย่างไร จึงจะแหวกปัญหาเดิม ๆ ออกมาได้ เป็นต้น ซึ่งก็หวังว่าแนวคิดนี้จะเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่ขอมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองไทยให้หลุดจากวังวลตามที่ทุกคนปรารถนา


 



คลิกที่ภาพเพื่อดูรูปขนาดใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net