Skip to main content
sharethis

โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


 


ดร.รังสรรค์ อุดมศรี นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในฐานะผู้จัดการโครงการจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ (Chiangmai Transit System : CTS) เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ได้มอบหมายให้สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ โดยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ต้นปี 2549 ซึ่งมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน


 


โดยได้ผลการศึกษาในเบื้องต้นหลายด้าน อาทิ การวิเคราะห์ด้านการจราจรพบว่า ร้อยละ 55 ของปริมาณการเดินทางมีจุดหมายปลายทางอยู่ในพื้นที่ถนนวงแหวนรอบในสุด มีปริมาณยานพาหนะเข้า-ออกเขตผังเมืองรวมสูงกว่า 150,000 คันต่อวัน 


 


ส่วนการวิเคราะห์โครงข่ายเส้นทางประเมินได้ว่าระบบขนส่งมวลชนในระยะ 10 ปี ควรต้องรองรับผู้โดยสารใช้บริการได้ 300,000 เที่ยว-คนต่อวัน


 


ขณะที่ผลการศึกษาการวิเคราะห์เทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่ ควรเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่งระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาที่ถูกพิจารณาในการศึกษานี้ประกอบด้วย รถรางไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail Transit) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono-Rail) รถเมล์ราง (Street-car) และรถบัสด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit)


 


โดยผลการศึกษาเบื้องต้นนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากประชาชน และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องราวเดือนพฤษภาคม 2549


 


ทั้งนี้ผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปเส้นทางหลักที่มีความเหมาะสมมากที่สุด 4 เส้นทาง คือ สายที่ 1 สายแนวเหนือ-ใต้ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ศูนย์ราชการ - ถนนเชียงใหม่-แม่ริม - ประตูช้างเผือก - ประตูท่าแพ - ประตูเชียงใหม่ - ศูนย์วัฒนธรรม - สี่แยกแอร์พอร์ต - ถนนเชียงใหม่-หางดง - โลตัส - สำนักงานขนส่ง - สิ้นสุดที่ไนท์ซาฟารี


 


สายที่ 2 สายแนวตะวันตก-ตะวันออก ระยะทาง 15 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ - ถนนห้วยแก้ว - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - แยกรินคำ - กาดสวนแก้ว - แจ่งหัวริน - ประตูเชียงใหม่ - ประตูท่าแพ - ถนนท่าแพ - แยกอุปคุต - ข้ามแม่น้ำปิง - ถนนเจริญเมือง - แยกสันป่าข่อย - สถานีรถไฟ - แยกหนองประทีป - ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง - สิ้นสุดบริเวณบวกครก


 


สายที่ 3 สายแนวตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ สนามกีฬา 700 ปี - ศูนย์ประชุมฯ - ถนนเลียบคลองชลประทาน - แยกภูคำ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ถนนสุเทพ - ตลาดต้นพะยอม - วัดสวนดอก - โรงพยาบาลมหาราช - ประตูสวนดอก - ประตูเชียงใหม่  - ประตูท่าแพ แจ่งศรีภูมิ - ถนนรัตนโกสินทร์ - โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ - สถานีขนส่งอาเขต แล้วแตกเป็น 2 เส้นทาง เส้นหนึ่งข้ามแยกศาลเด็ก - ถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ผ่านตลาดสันทราย สิ้นสุดที่หมู่บ้านรีเจนท์ อีกเส้นแยกไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ - ถนนเชียงใหม่แม่โจ้ - ตลาดรวมโชค สิ้นสุดที่หมู่บ้านล้านนาวิว


 


สายที่ 4 สายในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินรถแบบเดินทางเดียววนรอบ เริ่มต้นที่ประตูท่าแพ - ถนนท่าแพ - โรงเรียนพระหฤทัย - ถนนช้างคลาน - แยกแสงตะวัน - ถนนศรีดอนไชย - วัดพวกช้าง - เข้ารอบคูเมืองที่แจ่งกะต้ำ และไปครบรอบที่ประตูท่าแพ


 


ทั้งนี้ เส้นทางทั้งหมดผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปได้ทุกเส้นทางด้วยการต่อรถที่สถานีบริเวณรอบคูเมือง ซึ่งจะมีความสะดวกที่ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปส่วนต่าง ๆ ของเมืองได้ด้วยการต่อรถเพียงครั้งเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net