Skip to main content
sharethis


เวลา 9.00 น. วันที่ 18 เม.ย.  กลุ่มนักศึกษาไทย นักศึกษาพม่าในประเทศไทย และเอ็นจีโอ กว่า 30 คน ได้มาชุมนุมบริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแดวู กลุ่มทุนจากประเทศเกาหลีใต้ ชะลอการร่วมลงทุนโครงการท่อก๊าซ "ฉ่วย" กับรัฐบาลทหารพม่า ที่จะมีขึ้นในรัฐอาราคาน ทางตะวันตกของพม่า

 


ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวันต่อต้านการสร้างท่อก๊าซสากลซึ่งระบุขึ้นโดยกลุ่ม All Arakan Students and Youth Congress (AASYC) ที่นัดเคลื่อนไหวพร้อมกันหน้าสถานทูตเกาหลีใต้ใน 20 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลีใต้ และประเทศในยุโรป


 


โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการรักษาสิทธิพื้นที่ทำกินของคนในพม่า รวมทั้งเพื่อปกป้องการทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของคนพม่าที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว


 


นายมาน อู เลขาธิการสภานักศึกษาและเยาวชนทั่วไปแห่งรัฐอาราคาน เป็นตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตส่งถึงรัฐบาลเกาหลี มีนายฮุก ซุก ฉอย เลขานุการโทสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ และรับปากว่าหนังสือดังกล่าวจะส่งไปยังเอกอัครราชทูตเพื่อส่งต่อไปยังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้



ส่วนหนังสือระบุข้อเรียกร้องว่า ขอให้เลื่อนการดำเนินการวางท่อก๊าซในโครงการนี้ จนกว่าประชาชนของรัฐอาราคานที่ได้รับผลกระทบจะมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของพวกเขา พร้อมทั้งยืนยันจะต่อต้านโครงการท่อก๊าซฉ่วยจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย และประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรและการพัฒนา



นายมาน อู กล่าวอีกว่าการร่วมลงทุนในโครงการท่อก๊าซฉ่วย เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแหล่งเงินต่างชาติที่มากที่สุด ซึ่งสามารถทำกำไรให้กับรัฐบาลของพม่าได้มากถึง 800 - 3200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี


 


แม้ว่าการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทรัพยากรธรรมชาติต้องถูกใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่ชนชั้นปกครอง อีกทั้งเงินส่วนหนึ่งที่ได้จะถูกนำไปซื้ออาวุธจากประเทศจีนและรัสเซียเพื่อปราบปรามกลุ่มที่คิดแตกต่างไม่ว่าจะเป็นประชาชน พรรคเอ็นแอลดี และชนกลุ่มน้อย


ทั้งนี้ประชาชนพม่าเคยมีบทเรียนที่เลวร้ายมาแล้วจากโครงการท่อก๊าซยานาดาที่มีขึ้นทางตอนใต้ของพม่า เมื่อปี 2540 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชน การทำลายระแบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม


 


ครั้งนั้นรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งกองกำลังทหารออกเคลียร์พื้นที่กว้างตลอด 15 กิโลเมตรตลอดเส้นทางการวางท่อก๊าซ โดยไม่สนว่าบริเวณนั้นจะเป็นพื้นที่อาศัยของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาไร้ที่อยู่ ส่วนหนึ่งถูกกดขี่ไม่ว่าจะเป็นการเกณฑ์แรงงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง การฆ่า การข่มขืน ชาวบ้านกว่า 2 ล้านคนจึงอพยพหลบหนีมายังประเทศไทย


 


ส่วนขณะนี้ในรัฐอาราคานพบว่า มีการโยกย้ายทหารแล้ว จากเดิมมี 3 กองพันใน พ.ศ.2542 เป็น 43 กองพันเพื่อรักษาความปลอดภัยในโครงการท่อก๊าซ ในขณะที่ประชากรมีเพียง 3 ล้านคน ดังนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหาศาลอาจมีขึ้นตามมา



นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ที่ปรึกษาฟอรัมเอเชีย กล่าวว่า ทุกคนที่มาชุมนุมในครั้งนี้มีความเสี่ยงมาก แต่การเรียกร้องด้วยความสันติเป็นสิ่งที่พอทำได้เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิของคนพม่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังมีสิทธิในผืนแผ่นดิน เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศตนเอง


 


ส่วนนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานการณรงค์เพื่อแรงงานไทยกล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการยืนยันสิทธิของคนพม่าซึ่งไม่ว่าอยู่ในประเทศไหนก็เป็นมนุษย์ ซึ่งหากปล่อยให้มีการสร้างท่อก๊าซโดยการลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ จะทำให้รัฐบาลทหารพม่ามีเงินทุนในการซื้ออาวุธอีกมากมาย และการยืนยันสิทธิในการเป็นมนุษย์ก็ไม่ควรถูกคุกคามตามจับจากเจ้าหน้าที่



อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จสิ้นและตัวแทนผู้รับหนังสือกลับเข้าสู่สถานทูตฯแล้ว ตำรวจสันติบาล ได้เข้าควบคุมตัวนักศึกษาพม่าทั้งหมดที่ร่วมชุมนุมไปยังสถานีตำรวจห้วยขวาง เพื่อตรวจสอบเอกสาร


 


จากการตรวจสอบพบว่าผู้ชุมนุม 4 คน มีใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวเป็นบัตรสีชมพูจึงถูกบันทึกประวัติจากนั้นมีนายจ้างมายืนยันว่าเป็นลูกจ้างภายใต้การดูแลจริงจึงปล่อยตัว ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้กับกระทรวงแรงงานพิจารณาว่า การความเคลื่อนไหวดังกล่าวขัดต่อความมั่นคงของประเทศหรือไป หากขัดอาจนำไปสู่การเบิกถอนใบอนุญาต และผลักดันออกนอกประเทศ


 


อีกจำนวน 18 คนเป็นผู้ที่มีใบอนุญาต ออกโดยข้าราชหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ซึ่งเป็นบัตรสีขาว ได้ถูกส่งตัวไปกักกันตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ภายหลังการตรวจสอบอีกครั้งพบว่า ในกลุ่มดังกล่าวมีผู้มีบัตรสีชมพู แต่ไม่กล้าแสดงบัตรในการตรวจสอบครั้งแรกอีกหลายคนจึงติดต่อให้นายจ้างมารับเช่นเดียวกัน


 


ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10 คน ถือเพียงใบอนุญาตของยูเอ็นเอชซีอาร์ ยังคงถูกกักตัวไว้ ต่อมามีเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ที่สำนักงานกรุงเทพฯ เดินทางเข้าไปเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ ตม.ให้ปล่อยตัวกลุ่ม น.ศ.กลุ่มดังกล่าว แต่ทาง ตม.จะควบคุมตัวต่อไปอีก 2 - 3 วัน แล้วจะส่งต่อไปยัง ตม. อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป ทางยูเอ็นเอชซีอาร์กรุงเทพฯจึงได้ประสานไปยังยูเอ็นเอชซีอาร์ที่แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินการตามกระบวนการของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อไม่ให้มีการส่งตัวกลับพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net