อนุรักษ์อุดรฯ ล้มประชุมสภาการเหมืองแร่

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น.วันนี้ (21 เม.ย.49)  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 500 คนเดินทางจากจังหวัดอุดรธานีด้วยรถบัสมาชุมนุมอยู่หน้าโรงแรมอินทรา

ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ  เพื่อประท้วงการประชุมสามัญประจำปีของสภาการเหมืองแร่ที่กำหนดหัวข้อเสวนาเรื่อง "เหมืองแร่โปแตชและการพัฒนาประเทศ"  โดยยึดลานบริเวณหน้าโรงแรมอินทรา รณรงค์แจกใบปลิวและปราศรัยคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และที่จะเกิดขึ้นทั่วภาคอีสาน

 

นายบุญเลิศ เหล็กเขียว  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเปิดเผยว่า เนื่องจากสภาการเหมืองแร่ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน  และบริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตช  คอปอร์เรชั่น จำกัด  เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และผู้ประกอบการเหมืองแร่จะได้จัดประชุมสามัญประจำปี 2549 โดยกำหนดให้มีการเสวนาเรื่อง "โปแตชกับการพัฒนาประเทศ"  มีตัวแทนจากบริษัท บริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด (เอพีพีซี) เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช  ที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี    นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 -  มีนาคม 2549 บริษัทได้ทำการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการขอสัมปทาน โดยไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ "ลักไก่" แม้แต่ชาวบ้านเจ้าของที่ดินก็ไม่รู้  ซ้ำร้ายการรังวัด  ปักหมุดยังดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าการรังวัด  ปักหมุด ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.)

 

กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร้องเรียนให้ยุติการรังวัดและมีข้อตกลงว่าต้องทำการประชุมประชาคมหมู่บ้านให้ราษฎรรู้ข้อมูลเสียก่อน แต่ก็ไม่มีการทำความเข้าใจใด ๆ อีกทั้งบริษัทได้จ้างชายฉกรรจ์มาเพื่อคุ้มกันการรังวัด ปักหมุด เป็นผลให้เกิดความรุนแรง  บริษัทเอพีพีซี ยังกลั่นแกล้งชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ  ที่เข้าไปสอบถามข้อมูลการรังวัดปักหมุด โดยแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับตน และตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ 6 ราย กล่าวหาว่าบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์  จึงได้เดินทางมาในวันนี้เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตช 

 

ต่อมาเวลาประมาณ 08.30 น.  นางอรนุช  ราชโกมุท  เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ได้ลงมาเจรจากับชาวบ้านโดยกล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นสถาบันนิติบุคคลตั้งขึ้นมาตาม พรบ.สภาการเหมืองแร่ปี 2526 และสภาฯ ก็เป็นสถาบันซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจเหมืองแร่ในภาคเอกชน ซึ่งตอนแรกได้กำหนดให้มีการเสวนาเรื่อง "โปแตชและการพัฒนาประเทศ" โดยได้เชิญรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม  นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจมาเป็นประธานและตัวแทนจากบริษัท บริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด (เอพีพีซี) เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ตัวแทนบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน  เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ  และหน่วยราชการมาร่วมเวทีเสวนา แต่ทั้งนี้  "การกำหนดหัวข้อเสวนาเรื่องโปแตชนี้ก็เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการเผยแพร่ต่อสมาชิก  และภายหลังเมื่อทราบว่ามีปัญหาขัดแย้งมากจึงได้เปลี่ยนหัวข้อเสวนา และเมื่อเกิดปัญหาการมาชุมนุมของชาวบ้านวันนี้ก็ได้แจ้งยกเลิกการประชุมในวันนี้ไปก่อน และตราบใดที่ตนยังเป็นเลขาธิการสภาอยู่จะไม่มีการประชุมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่โปแตชอีก" นางอรนุชกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังที่ได้มีการเจรจาของตัวแทนโรงแรมอินทรา  สภาการเหมืองแร่  อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  แล้วได้ยอมให้มีตัวแทนชาวบ้าน 10  ขึ้นไปดูว่าได้มีการปิดประกาศยกเลิกการประชุมจริง แต่ตัวแทนชาวบ้านได้ข่าวว่าได้มีการย้ายที่ประชุมไปบริเวณศาลาไท   สระน้ำในชั้น 4  ของโรงแรม จึงได้เจรจาให้มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสภาการเหมืองแร่และชาวบ้านว่าจะไม่มีการจัดประชุมเรื่องเหมืองแร่โปแตชอีก ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะได้เคลื่อนขบวนออกจากโรงแรมอินทรา  เดินเท้าไปตามถนนราชปรารภ ถนนอยุธยา ถนนพระราม 6 ไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  กระทรวงอุตสาหกรรม  เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตช ถึง รักษาการรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ)  โดยมีนายอนุสรณ์  เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ออกมารับหนังสือ

 

 

 

นายเดชา  คำเบ้าเมือง  ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ระบุว่ากลุ่มฯได้ยื่นหนังสือถึงนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม  เมื่อวันที่ 23  มกราคม  2549 ที่ผ่านมา แต่เวลาผ่านมากว่า 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ  วันนี้กลุ่มฯจึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือกับกระทรวงอุตสาหกรรมอีก  โดยสรุปข้อเรียกร้องลงเหลือเพียงสั้นๆว่า "จงยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเสีย" และชาวบ้านก็จะยืนยันข้อเรียกร้องข้อนี้ไปจนกว่าโครงการจะยกเลิก  แม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่ามีบริษัททุนไทยจะเข้ามาดำเนินกิจกรรมแทน บริษัทเอพีพีซี โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์นี้ แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ยังเป็นโครงการที่ไม่สามารถยอมให้เกิดได้เพราะมันจะเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออีสาน  เพราะปัจจุบันนี้ได้มีการยื่นขออาชญาบัตรสำรวจเพิ่มเติม ที่จ.นครราชสีมา  จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.สกลนคร  รวมทั้งชัยภูมิ  และอุดรธานีที่จะเกิดการพัฒนาเหมืองแร่ใต้ดินอีสานกว่า  654,145 ไร่   กลุ่มฯก็จะได้ร่วมกับเครือข่ายประชาชนในภาคอีสานเพื่อยืนยันคัดค้านการสร้างเหมืองโปแตชในภาคอีสานให้จงได้  นายเดชากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท