Skip to main content
sharethis


 


บทความชื่อเดิม :  มองความเคลื่อนไหวศิลปวัฒนธรรม-ภูมิปัญญา "ชาวไต"


จัดการความรู้ กลไกสร้าง ความเป็น "ชุมชนแห่งสุข"


 


 


โดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)


 


 


"ความสุข" ของปัจเจกบุคคลคนหากอยู่ในระดับพื้นฐาน ก็คงขอให้เพียงได้รับปัจจัย 4 ครบถ้วนทั่ว และพอเพียงก็น่าจะถึงแก่ความสุขได้ หากแต่ "ความสุข"ส่วนรวมแล้วละก็หากชุมชนใด สังคมใด ต้องการจะบรรลุถึงได้ก็ต้องมี "วัฒนธรรม" ที่หมายถึงกระบวนการจัดการระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินไปอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันแบบสมดุลและต่อเนื่องซึ่งผู้คนในวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ลักษณะเช่นนี้ได้ก็ต้อง "เรียนรู้" จนกระทั่งมี "ภูมิปัญญาที่เหมาะสม" และเมื่อใดก็ตามที่กระบวนการนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ผู้คนและชุมชนก็จะประสบกับ "ปัญหา" หรือ "ความทุกข์" จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความผิดปกติในระบบความสัมพันธ์นั้น


 


นอกเหนือจากภูมิปัญญาแล้ว ในระบบวัฒนธรรมยังมีกลไกที่เรียกว่า "ศิลปวัฒนธรรม" หรือวัฒนธรรมการแสดงออกที่ใช้ในการจัดการระบบอารมณ์และความรู้สึกของคนในการอยู่ร่วมกับคนอื่น


สัตว์อื่น และสิ่งอื่นให้อยู่ในสภาวะ "สุนทรีย์" หรือ "งดงาม" ทั้งภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้ "ชุมชนเป็นสุข" ได้


 


ทั้งนี้ โครงการวิจัยกระบวนการการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในกระบวนการสร้าง "ความสุข ความเข้มแข็ง และ ความเป็นชุมชน"


 


แต่เนื่องจากในปัจจุบันบทบาทของภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมในกระบวนการดังกล่าวหดหายไปจนแทบจับต้องไม่ได้ ค้นหาไม่เห็น ผู้คนไม่สามารถใช้ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมสร้างความสุขและความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนของตนเองได้ ซึ่งในงานวิจัยนี้คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความเคลื่อนไหวในการเรียนรู้และการจัดการความรู้ด้านภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆที่เข้าร่วมกิจกรรมใน "โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการสืบสานลายไตบ้านเปียงหลวง โครงการวิจัยเรื่องกระบวนการเรียนรู้การดูแลสุขภาพด้านสมุนไพรและการนวดไทย โครงการจัดกระบวนการเรียนรู้สร้างบ้านดินอย่างเป็นสุขเพื่อการพึ่งตนเอง และโครงการศึกษาภูมิปัญญากับการพัฒนาเครือข่ายเพื่อชีวิตของชุมชนคนพิมาย เพื่อวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการจัดการตนเองของชุมชน


 


หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่วาง จ.เชียงใหม่ ก็คือ โครงการสืบสานลายไตบ้านเปียงหลวง การเรียนรู้ผ่านการฟื้นฟูงานศิลปวัฒนธรรมในโครงการสืบสานลายไตบ้านเปียงหลวง มีครู ส่างคำ จางยอด ศิลปินชั้นสูงชาวไต (ไทยใหญ่) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับครูชนะ จันทวงศ์ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการให้ชุดความรู้ในตัวของผู้สูอายุ และผู้รู้ในชุมชนที่เรียกว่า "พ่อครู -แม่ครู" มีฐานะเป็นครูภูมิปัญญาสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลาน


 


จากการศึกษาพบว่า กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวต้องใช้ "ความไว้วางใจ" ในฐานะคนในวัฒนธรรมเดียวกัน สามารถสื่อสารภาษาเดียวกัน ใช้วิถีชีวิตแบบเดียวกัน แม้ว่า ครูส่างคำ


จะไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเปียงหลวง แต่ก็มีความเป็นคนไตอยู่เต็มเปี่ยม ค


 


รูส่างคำเลือกใช้วิถีชีวิตแบบไทยใหญ่ที่มักพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใน "วงน้ำชา" เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยมากกว่าการจัดเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการ และเมื่อสร้างความคุ้นเคยและความไว้เนื้อเชื่อใจกันในวงน้ำชาหลายครั้ง จึงจัดการพูดคุยอย่างเป็นทางการทำให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกันเพราะรู้จักกันมาบ้างแล้ว


 


ครูส่างคำยังใช้กระบวนการแบบ "มีส่วนร่วม" ให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจว่าจะจัดการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเรื่องอะไรบ้าง แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่มีคนไตสอนกันเองได้เป็นหลัก ซึ่งชุมชนเลือกที่จะเรียนร็เรื่องการฟ้อนนก การตัดกระดาษ งานใบตอง การละเล่นพื้นบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นงานที่มีความเป็นรูปธรรม มีความเป็นเอกลักษณ์และเข้าใจง่าย


การเลือกวัดและโรงเรียนเป็นสถานที่เรียนรู้ และการใช้วัดเป็นสถานที่จัดประชุม พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ และความคิดเห็นเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ก็เป็นการรื้อฟื้นบทบาทดั้งเดิมของวัดไต ที่เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมของชุมชนได้ฟื้นฟูกลับขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ


 


นอกจากนี้การเลือกโรงเรียนของรัฐ (ไทย) เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นทางการก็มีนัยสำคัญของการสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เข้าไปในระบบโรงเรียน สามารถทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไตได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และทำให้เด็กและเยาวชนไตได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไตผ่านระบบโรงเรียนของทางราชการได้อีกทางหนึ่ง


 


ที่สำคัญยังพบว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นไปอย่าง "อิสระ" ช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมเกิดความคิดสร้างสรรค์มากมาย เห็นได้จากการเรียนรู้วิธีตัดกระดาษให้เป็นลวดลายต่างๆ เมื่อครูได้แนะนำเทคนิควิธีการเบื้องต้นและสาธิตให้ดูครั้งสองครั้งแล้ว เด็กๆ ได้ทดลองปฎิบัติด้วยตนเอง และสามารถคิดค้นการตัดกระดาษลวดลายต่างๆ หลายรูปแบบนำมาเสนอแลกเปลี่ยนกัน เกิดผลงานศิลปการตัดกระดาษแบบใหม่ๆ มากมาย ถือว่าเป็นความงอกงามทางศิลปวัฒนธรรมไตที่ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไต


 


การเรียนรู้ในโครงการสืบสานลายไต ไม่เพียงมีแต่ ครูส่างคำ เท่านั้น ยังมีพ่อครู -แม่ครู ผู้มีความรู้ฝังลึกอยู่มากมาย ซึ่งแม้ว่าช่วงระยะแรกๆ ของการสืบค้นความรู้พ่อครู - แม่ครู จะไม่อยากเปิดเผยตัวเองนัก เพราะคิดว่าความรู้ภูมิปัญญาที่ตนมีอยู่นั้นไม่เข้ากับยุคสมัย แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นจากครูส่างคำ และครูชนะ ก็ยินดี ที่จะนำความรู้นั้นกลับมาฟื้นฟูและถ่ายทอดเพื่อให้ชุมชนไตปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์อีกครั้ง กระทั่งปัจจุบัน เด็กๆ ในชุมชนที่เผยเป็นเฉพาะผู้เรียนรู้อย่างเดียว ก็สามารถเป็นได้ทั้ง "ผู้สอนและผู้เรียนรู้" ในขณะเดียวกันพ่อครู - แม่ครู แต่ละคนก็ได้เรียนรู้การเป็นผู้สอน เรียนรู้กระบวนการถ่ายทอด พร้อมๆ กับการเป็นผู้แสดงและผู้ชมในคราวเดียวกัน มีกระบวนการสื่อสารสาธารณะในรูปแบบการแสดงผลงานผ่านงานบุญประเพณีต่างๆ


ของชุมชน เป็นโอกาสให้ผู้เรียนรู้แสดงออก ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นเต้นและความภาคภูมิใจ


 


การนำครูภูมิปัญญามาทดลองถ่ายทอดการเรียนรู้ในแบบที่ "เข้าใจได้ง่าย" เป็นการจัดระบบความรู้และการเผยแพร่ขยายความรู้ไปพร้อมๆ กัน เห็นได้จากการที่กลุ่มแม่บ้านตั้งวงทำกระทงร่วมกัน


ระหว่างทำมีการบันทึกวีดีโอทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนจบ ทำเสร็จแล้วก็ประเมินผลโดยการพูดคุยถึงความรู้สึก ความคิดเห็นกับสิ่งที่ทำ ค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน เกิดข้อสรุปสำหรับนำไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ต่อไป


 


ภายหลังการเรียน การสอน ยังได้มีการติดตามประเมินกับพ่อครู - แม่ครู และเด็กๆ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมทั้งการติดตามพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของทั้งผู้สอนและรู้เรียน


ทำให้ภูมิใจในตัวเองของผู้เรียนรู้ที่รู้ ที่เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิต ไม่เพียงแต่จะเป็นศิลปวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นชาวไตเท่านั้น แต่ยังทำให้คนในชุมชนมีอาชีพพึ่งตนเองได้ด้วยเช่น ศิลปฟ้อนนก -ฟ้อนโต ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ก็ได้ถูกเชิญไปแสดงในงานต่างๆ ของชุมชนและองค์กรอื่นๆ เกิดอาชีพรับจ้างสร้างตัดเย็บชุดนก ชุดโต การตัดกระดาษ ทำตุง ทำโคมออกจำหน่าย เป็นต้น


 


จึงกล่าวได้ว่าโครงการสืบสารลายไตบ้านเปียงหลวง ประสบความสำเร็จในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ที่สามารถสร้างพื้นที่ทางสังคมให้ชุมชนไตในราชอาณาจักรไทย


ได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับทั้งบริบทของวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ไต และบริบทของวัฒนธรรมไทย


 


ชาวไตในโครงการสืบสานลายไตนี้นับว่าเป็นชุมชนที่ใช้กระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในการฟื้นฟูพลังชุมชน วัฒนธรรมชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไต หรือไทยใหญ่


ผู้ซึ่งพลัดถิ่นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐ ที่แม้จะเข้ามามีรกรากในประเทศไทยหลายชั่วอายุคน แต่ก็สามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นคนไต ถ่ายทอด ดำรงอยู่ และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนคนไตได้อย่างอิสระ และมีความสุข มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net