Skip to main content
sharethis


ภาพจาก  www.vinegargirl.com


 


โดย ตติกานต์ อุดกันทา


 


เวลาที่มีใครสักคนพูดถึงคำว่า "แฟชั่น" ภาพที่เกิดขึ้นพร้อมกันในความคิดของคนส่วนใหญ่มักจะได้แก่เสื้อผ้าที่ดูไร้สาระ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมและให้ความสำคัญแก่แฟชั่นในฐานะงานศิลปะที่ต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์


 


ในแวดวงแฟชั่น การออกแบบเสื้อผ้าจะมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ คือ การออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง (โอต์กูตูร์: Haute Couture) ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเป็นแห่งแรก เสื้อผ้าประเภทนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ ซึ่งเสื้อผ้าประเภทนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว


 


ส่วนเสื้อผ้าอีกประเภทหนึ่งจะถูกออกแบบมาเพื่อสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมีวงจรการเกิดใหม่ทุกๆ ฤดู (ร้อน/ หนาว/ ใบไม้ร่วง/ ใบไม้ผลิ) เรียกว่า Ready to Wear ซึ่งก็คือเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เราสามารถซื้อหากันได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป


 


ในเวลาเดียวกัน แฟชั่นกูรูตามนิตยสารเทรนดีทั้งหลายก็พยายามพร่ำเตือนมิให้หนุ่มสาวของยุคสมัยต้องตกเป็นเหยื่อแฟชั่น เพราะคำว่า "เหยื่อแฟชั่น" มักจะหมายถึงคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในแวดวงแฟชั่นอย่างเกาะติดตลอดเวลา และรู้ดีว่าเสื้อผ้า ทรงผม กระเป๋า หรือรองเท้าแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม แต่เหยื่อแฟชั่นก็จะลงเอยด้วยการโหมประโคมใส่ทุกอย่างโดยไม่สนใจว่าวัตถุเหล่านั้นจะไปด้วยกันได้หรือไม่ บางครั้งเหยื่อแฟชั่นจึงไม่ต่างอะไรจากหุ่นโชว์เสื้อในตู้กระจก แต่อาจดูตลกขบขันขาดรสนิยมมากกว่าจะเป็นความทันสมัย


 


วงดนตรีพังค์ร็อคจากสหรัฐอเมริกาที่มักเขียนเพลงซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่าง "กรีนเดย์ส" เคยเสียดสีประชดประชันมนุษย์บ้ายี่ห้อผ่านบทเพลงชื่อ Fashion Victim เอาไว้อย่างเจ็บแสบ และ "เหยื่อแฟชั่น" ในทัศนะของกรีนเดย์สนั้นช่างว่างเปล่าตื้นเขินเสียจนประเมินคุณค่าของตัวเองต่ำกว่าราคาวัตถุ พวกเขาเหล่านั้นจึงต้องหาซื้อสินค้าราคาแพงมาสวมใส่เพื่อปิดบังชีวิตจริงที่แสนกลวงของตัวเอง


 


"เหยื่อแฟชั่น" ในความหมายทั่วไปจึงอาจเป็นใครก็ได้ที่ไม่รู้ว่าอะไรเหมาะ (หรือไม่เหมาะ) กับตัวเอง และมักจะถูกนักการตลาดจูงจมูกได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยรั้งรอที่จะบริโภคแฟชั่นทุกอย่างที่ถูกสร้างภาพมาแล้วว่าดูดีมีสไตล์


 


หากในอีกมิติหนึ่ง คนบางกลุ่มซึ่งไม่ได้เกี่ยวพันกับแฟชั่นในฐานะผู้บริโภค ก็ยังไม่วายตกเป็นเหยื่อของมันอย่างหนีไม่พ้น และเหตุผลบางประการที่ปิดกั้นไม่ให้คนเหล่านั้นหลุดไปจากการตกเป็นเหยื่อของแฟชั่นล้วนเกี่ยวพันกับเงื่อนไขทางการตลาดทั้งสิ้น…ต่างกันตรงที่ว่า "ตำแหน่งแห่งที่" ของคนเหล่านั้นอยู่ตรงชั้นล่างสุด และกลาย เป็นฐานให้ใครต่อใครเหยียบยืนอีกทอดหนึ่งในโลกแฟชั่น


 


เส้นใยที่ถักทอจากหยาดเหยื่อแรงงาน


ฉากหน้าของเวทีแฟชั่นที่เต็มไปด้วยสีสันของเสื้อผ้าและการตัดเย็บอันโอ่อ่าประณีต มีร่องรอยบางอย่างที่ สตีฟ แบรดชอว์ นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษตามไปขุดคุ้ยมาได้ในระหว่างที่ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มนักศึกษาแผนกออกแบบของสถาบันลอนดอนคอลเลจออฟแฟชั่น เพื่อรายงานข่าวเรื่องการเสาะหาวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในงานแสดงแฟชั่นการกุศลในเดือนมีนาคม 2548


 


ระหว่างที่ติดตามไปถึงต้นตอแหล่งผลิตเส้นใยของผ้าแต่ละผืนในแถบแอฟริกาและเอเชีย แบรดชอว์พบว่าที่มาของวัตถุดิบน่าสนใจกว่าการออกแบบของดีไซเนอร์หน้าใหม่ๆ หลายเท่าตัวนัก และกลายเป็นที่มาของสารคดีเรื่อง The Dollar A Day Dress ที่ออกฉายในรายการสารคดีพาโนรามาของสถานีโทรทัศน์บีบีซี [1]


 


ในขณะที่ดีไซเนอร์พยายามคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาทำเสื้อผ้า แบรดชอว์ได้ตามไปสัมภาษณ์ชาวเมืองในแต่ละแห่งที่ได้ไปทำข่าว จนกระทั่งเขาได้รู้ว่าเงื่อนไขทางการค้ามีส่วนทำลายระบบการผลิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นไปอย่างน่าเสียดาย และเขาก็ได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าการค้าแบบลัทธิเสรีทุนนิยมเป็นใหญ่นั้นก่อเกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไรบ้าง


 


ประเทศ มาลี ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมกันของกระบวนการผลิต ได้เป็นอย่างดี ที่นี่คือประเทศยากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่ปลูกฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง


 


ในอดีต เมืองทิมบักทูของมาลี มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าฝ้ายคุณภาพดี เพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันในหมู่ชนเผ่าต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ตามทะเลทราย ว่ากันว่าผ้าฝ้ายชนิดนี้ทนทาน สวมใส่สบายและระบายความร้อนได้ดีกว่าผ้าฝ้ายที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ แต่หลังจากที่รัฐบาลมาลีส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกฝ้ายเพื่อส่งออก ผลผลิตที่ได้เกือบทั้งหมดจะถูกป้อนเข้าสู่กลไกตลาดโลก แทนที่จะถูกนำมาใช้ในหมู่ชาวมาลีเหมือนแต่ก่อน


 


ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำลงมามากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาออกนโยบายลดอัตราการเก็บภาษีฝ้ายให้แก่เกษตรกรภายในประเทศ ทำให้สหรัฐฯ สามารถขายผลผลิตจากฝ้ายได้ในราคาต่ำกว่าที่อื่น เป็นการตัดราคาผู้ผลิตรายอื่นในตลาดโลกได้อย่างสบายๆ ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเกษตรกรฝ้ายในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ค่อยมีรัฐบาลไหนสามารถส่งเสริมเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่และมีศักยภาพเพียงพอ


 


นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพันธุ์ฝ้ายก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาฆ่าแมลง หรือการจัดสรรน้ำและระบบชลประทานที่ดี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โอกาสแข่งขันทางการตลาดของผ้าฝ้ายจากประเทศเล็กๆ อย่างมาลีไม่สามารถเทียบชั้นกับผ้าฝ้ายของเกษตรกรจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้


 


โศกนาฏกรรมธรรมดาที่เกษตรกรถูกทำให้กลายเป็นแรงงานรับจ้างเพาะปลูกฝ้ายในมาลี จึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเดาตอนจบได้ง่ายดาย แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ (อย่างมีประสิทธิภาพ) ได้อย่างไร


 


ผ้าฝ้ายและเส้นใยที่เติบโตจากผืนดินแอฟริกาถูกส่งไปขายตามเมืองแฟชั่นชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น สุดแล้วแต่ยอดในใบสั่งจะระบุมา แต่ทว่าเงินรายได้ส่วนใหญ่มักจะหายเข้าไปในกระเป๋าของนายทุน อันได้แก่บรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่เข้าไปดำเนินกิจการในมาลี ส่วนแรงงานที่หว่านหยาดเหงื่อไปพร้อมกับต้นฝ้ายกลับมีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (38 บาท)


 


เช่นเดียวกับ บราซิล ที่เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งเกษตรกรไม่อาจค้าผลิตภัณฑ์ฝ้ายในตลาดโลกด้วยราคาต่ำเท่าสหรัฐฯ ได้ เพราะต้นทุนการผลิตภายในประเทศบานปลายจนกลายเป็นภาระหนักสำหรับเกษตรกรมากพอแล้ว บราซิลจึงต่อสู้ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลองค์การการค้าโลก เพื่อเรียกร้องให้ศาลพิจารณาว่าสหรัฐอเมริกาผิดจริงหรือไม่ โทษฐานที่ละเมิดข้อตกลงในสัญญาที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าห้ามมิให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างจี 7 ลดอัตราดอกเบี้ยผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ผลผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสต่อรองทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอยู่ในกลุ่มจี 20 ประกอบด้วย ชิลี อาร์เจนตินา โบลิเวีย คิวบา อียิปต์ ไนจีเรีย จีน กัวเตมาลา อินโดนีเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน อุรุกวัย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เวเนซุเอลา ซิมบับเว บราซิล อินเดีย และไทย ได้ร่วมกันเรียกร้องกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วให้ยุติการสนับสนุนภาคเกษตรในประเทศของตนภายในเวลา 5 ปี แต่ต้องยุติการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรจากกิจการในประเทศทั้งหมดทันที


 


ยังดีที่องค์การการค้าโลกยอมรับข้อเรียกร้องที่บราซิลเป็นแกนนำ และศาลองค์การการค้าโลกตัดสินให้สหรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยแก่ประเทศที่ผลิตฝ้ายส่งออกในแถบละตินอเมริกาและแอฟริกา จึง (อาจ) ดูเหมือนว่าชัยชนะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม


 


แต่หลังจากที่การตัดสินสิ้นสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 จนถึงปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกายังไม่มีทีท่าว่าจะเจรจาตกลงเรื่องค่าชดเชยให้กับประเทศคู่กรณีแต่อย่างใด จะมีก็แต่คำอธิบายจากโฆษกรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่บอกว่า


 


สหรัฐฯ กำลังศึกษาและพิจารณาข้อตัดสินขององค์การการค้าโลกอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะร่วมมือกับวุฒิสภาและตัวแทนจากสมาพันธ์เกษตรกรแห่งชาติร่วมด้วย เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานขั้นต่อไป..."


 


ซึ่งคำพูดดังกล่าวอาจจะหมายความในทางปฏิบัติได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ยังต้องรอคอยค่าชดเชยจากสหรัฐฯ กันต่อไปนั่นเอง เพราะองค์การการค้าโลกให้เวลาสหรัฐฯ ถึง 15 เดือน เพื่อนำไปใช้ในการจัดการปัญหานี้ เรื่องของผลผลิตจากฝ้ายและค่าแรงที่ได้ไม่คุ้มเหนื่อยจึงยังคงเป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจกันเรื้อรังของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย


 


หากประเทศที่มีบาดแผลเกี่ยวกับผ้าฝ้ายมากที่สุดน่าจะได้แก่ อูกันดา เพราะผลผลิตจากผ้าฝ้ายทั้งหมดไม่อาจนำมาใช้ภายในประเทศได้เลย เสื้อผ้าที่ตัดจากฝ้ายเนื้อดีและเย็บขึ้นที่โรงงานนรกในอูกันดาจะถูกส่งตรงไปขายในตลาดอเมริกาและยุโรป ในขณะที่ชาวอูกันดาส่วนใหญ่ต้องทนใส่เสื้อผ้าซึ่งได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจของอูกันดายังคงซบเซา แม้จะผ่านพ้นยุคของรัฐบาลเผด็จการ "อีดี้ อามิน" มานานหลายปีแล้วก็ตาม


 


ตลาดเสื้อผ้าที่มีให้ชาวอูกันดาชอปปิงคือเสื้อผ้ามือสองที่ได้รับมาจากองค์กรหรือมูลนิธิระหว่างประเทศ และแม้ชาวอูกันดาจะขนานนามเสื้อผ้าเหล่านี้ว่าเป็น "เสื้อจากศพคนขาว" แต่พวกเขาก็ยังต้องเลือกซื้อเลือกหามันมาใส่ เพราะพวกเขาไม่มีตัวเลือกอะไรอย่างอื่นอีกแล้ว


 


นอกเหนือจากฝ้ายที่กลายมาเป็นผ้าคอตตอน "เนื้อดี 100 เปอร์เซ็นต์" ซึ่งขายดิบขายดีไปทั่วโลก ก็ยังมี "ผ้าวูล" ขนสัตว์เนื้อนุ่มอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแฟชั่นไม่แพ้กัน


 


ตัว "อัลพากา" สายพันธุ์แอนเดียน เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกับแกะ ขนของมันหนาและนุ่ม นำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผ้าวูลซึ่งให้ความอบอุ่นได้เป็นอย่างดี ประเทศในเมืองหนาวอย่างยุโรปและอเมริกาจึงนิยมเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของขนสัตว์ประเภทนี้


 


แรกเริ่มเดิมที ขนอัลพากาที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดนั้นมาจาก เปรู หากเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีการผสมพันธุตัวอัลพากาในเปรูก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ประเทศที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพียบพร้อมกว่าจึงคัดสรรแต่อัลพากาพันธุ์ดีไปผสมพันธุ์และตัดต่อพันธุกรรมกันเองภายในประเทศ โดยเลือกเฉพาะลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาผสมกัน เพื่อนำไปสู่การผลิตผ้าขนสัตว์คุณภาพดี ไม่ยืด ไม่ย้วย ไม่หด หรืออะไรก็ตามที่ขึ้นตรงกับความต้องการของตลาดรที่พวกเขาบรรจงออกแบบสุดฝีมือเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และก็ใช้วัตถุดิบจากประเทศ


 


ขนของตัวอัลพากาพันธุ์แท้จากเปรูยังมีข้อดี-ข้อด้อยปะปนกันตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าขนสัตว์จากเปรูจึงตกรุ่น กลายเป็นของเก่าที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าในตลาดโลกไม่สนใจใยดีเท่าที่ควร ประตูสู่ธุรกิจการค้าและการส่งออกตัว อัลพากาของเปรูเลยพลอยถูกปิดตายไปด้วย


 


ความเป็นไปเรื่อง "การเมือง" เบื้องหลังเวทีแฟชั่น


ตอนจบของสารคดี "เดอะ ดอลลาร์ อะ เดย์ เดรส" สิ้นสุดลงตรงที่นักศึกษาผู้ใฝ่ฝันจะเป็นดีไซเนอร์ของลอนดอนคอลเลจออฟแฟชั่นได้จัดงานแสดงเสื้อผ้าสุดอลังการที่พวกเขาบรรจงออกแบบสุด โดยใช้วัตถุดิบจากประเทศที่กล่าวมาแล้วในสารคดีของแบรดชอว์เป็นส่วนใหญ่!


 


สารคดีเปิดโปงการเดินทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอของแบรดชอว์เรื่องนี้มีผู้ชมจำนวนไม่น้อย หลายเสียงออกปากชมในเวบไซต์ของบีบีซีว่านี่คือการตบหน้าความฟุ้งเฟ้อในโลกแฟชั่นได้เป็นอย่างดี และเป็นสารคดีที่ตีแผ่ความเอารัดเอาเปรียบที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามหาเศษหาเลยกับประเทศด้อยพัฒนา (หรือไม่ก็กำลังพัฒนา) ผ่านเวทีแฟชั่นได้อย่างน่าสนใจ


 


ความลักลั่นของแฟชั่นในฐานะ "เครื่องนุ่งหุ่ม" ซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ที่สุดแสนจะสามัญของมนุษย์ กับแฟชั่นในฐานะของ "งานศิลปะ" ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากพลังขับเคลื่อนทางจินตนาการ จึงยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองมิลาน ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก หรือโตเกียว ซึ่งต่างก็ถูกพะยี่ห้อ "ผู้นำแฟชั่นชั้นนำของโลก" โดยถ้วนหน้า ความลักลั่นเช่นนี้คงไม่ต่างอะไรกับความเชื่อในสังคมสมัยหนึ่งซึ่งงานศิลปะถูกมองว่าเป็นเพียง "สิ่งฟุ่มเฟือย" ของชีวิต


 


ถึงกระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะไม่สนใจประเด็นความขัดแย้งอะไรประเภทนั้น หนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลทักษิณ 2 ที่เรียกว่า "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" หรือ Bangkok Fashion Week จึงเกิดขึ้นในปี 2546 และมีงานเปิดตัวหรูหราสุดอลังการในปี 2547 โดยไม่ต้องหยุดทบทวนหรือสงสัยกันเลยสักนิดว่าประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการเป็นผู้นำในตลาดแฟชั่นตามเป้าหมายที่คิดเอาไว้ [2]


 


งานกรุงเทพเมืองแฟชั่นครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-19 มีนาคม 2549 เปิดโอกาสให้นักออกแบบ ผู้ผลิตเสื้อผ้า บายเออร์ และซัพพลายเออร์จากต่างประเทศ รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่สนใจด้านการออกแบบได้เข้าไปร่วมในงานเหมือนเช่นเคย แต่งานนี้ก็ผ่านไปอย่างเงียบเชียบจนน่าใจหาย เพราะไม่ค่อยมีใครสนใจพูดถึงกันมากนัก


 


ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะข่าวกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โดนกระแสข่าวการเมืองอันร้อนระอุกลบทับไปจนหมด แต่ส่วนหนึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาให้ได้ยินว่าความเงียบเชียบนี้เกิดจากการขาดประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ไม่มีใครรู้ว่ากิจกรรมดังกล่าวถูกจัดขึ้นแล้ว (ด้วยงบประชาสัมพันธ์กว่า 42 ล้านบาท) และงานกรุงเทพเมืองแฟชั่นครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งสุดท้ายของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เพราะสิ้นเทอมงบประมาณของโครงการปี 2546 แล้ว (จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 18 เดือน มีงบประมาณกว่า 320 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)


 


มีรายงานว่าการจัดครั้งงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นครั้งแรกใช้เงินในการจัดงาน 180 ล้านบาท และงบประมาณอีก 120 ล้านบาทที่เหลือนำมาใช้เป็นค่ากิจกรรมในงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นครั้งที่สองราว 67 ล้านบาท บวกรวมกับงบประชาสัมพันธ์อีก 42 ล้านบาท และค่าเช่าสถานที่อีก 11 ล้านบาท


 


นอกจากนี้ หากมีการแถลงความเกี่ยวพันโยงใยระหว่างผู้จัดงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นกับผู้นำในรัฐบาลขึ้นมา ก็จะเห็นได้ว่าบริษัทของคนใกล้ตัวผู้นำได้รับทั้งเงินและกล่องไปจากการจัดงานครั้งนี้เต็มๆ ซึ่งก็คือบริษัทเอวี โปรเจกต์ ซึ่ง พลวัฒน์ ศุขจรัส เป็นประธานกรรมการ และผู้ชายคนนี้มีบริษัทในเครือให้บริหารอีก 8 แห่ง และหนึ่งในนั้นก็คือบริษัท ฮาวคัม เอวี จำกัด ที่มีหุ้นส่วนชื่อ พานทองแท้ ชินวัตร อยู่ด้วย


 


เสียงสะท้อนที่ได้จากการจัดงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นทุกครั้งที่ผ่านมา เต็มไปด้วยข่าวความสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถ "โกอินเตอร์" และได้ร่วมงานกับมืออาชีพในด้านแฟชั่นจากทั่วโลก [3] ในขณะที่เสียงสะท้อนถึงความขลุกขลักทั้งหลายภายในงานไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก


 


ตรงข้ามกับรายงานของสภาพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ [4] ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2548 มีอัตราการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.7 ในขณะที่อัตราการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.0 นับจากที่จัดงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นขึ้นเป็นครั้งแรก


 


รายงานฉบับดังกล่าวยังเสนอแนะอีกด้วยว่าการเปิดตลาดการค้าเสรีหลังจากที่องค์การการค้าโลกยกเลิกโควตาสิ่งทอในปี 2548 ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นแหล่งส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงถือว่าจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญยิ่งของไทยในการต่อสู้บนเวทีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นเหตุให้การส่งออกสิ่งทอไปยังยุโรปและญี่ปุ่นชะลอตัวจนถึงขั้นลดลงกว่าปีก่อนๆ รวมถึงการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรที่นำมาใช้กับสิ่งทอในไทยก็ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากกว่ารายได้ที่เราขายสินค้าให้แก่ญี่ปุ่นเสียอีก


 


ส่วนความจริงที่น่าเจ็บใจกว่านั้นก็คือสถิติส่งออกสิ่งทอประเภทที่ทำเงินให้กับประเทศไทยมากที่สุดในปี 2548 ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นผลงานออกแบบอันเลื่องชื่อจากงานกรุงเทพฯ แฟชั่นวีคเลยแม้แต่นิดเดียว (ทั้งที่รัฐบาลอุตส่าห์นำเงินภาษีไปทุ่มเป็นงบประมาณอู้ฟู่ตั้งหลายร้อยล้านบาท) แต่ใบสั่งซื้อที่สะพัดมาจากต่างชาติก็คือออเดอร์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่โรงงานผลิตจำนวนมากๆ ในครั้งเดียว หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ได้อีกอย่างว่า "เสื้อโหล" นั่นแล...


 


ถ้ามองในแง่ดี การเริ่มต้นโครงการนี้ อาจเป็นก้าวแรกบนถนนสายแฟชั่นที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้แพร่สะพัดได้อย่างง่ายดาย (ในกรณีที่จับทิศทางได้ถูก) แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าเบื้องหลังความสำเร็จของแฟชั่นนั้น เราต้องใช้วัตถุดิบชนิดไหนแลกมันมาบ้าง


 


การตั้งคำถามว่า "กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแฟชั่นได้หรือไม่" จึงอาจไม่น่าสนใจเท่ากับคำถามว่า "กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแฟชั่นไปทำไม" ถ้าหากว่าสถานการณ์สิ่งทอในเมืองไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขในทางที่เหมาะสม และยังไม่นับรวมถึงคำถามว่าการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในโครงการเมืองแฟชั่น-คุ้มค่าเพียงพอหรือยัง?


 


ถ้ารัฐบาลตอบคำถามนี้ได้ เราก็คงพอจะป้องกันไม่ให้คนไทยต้องตกเป็น "เหยื่อแฟชั่น" ได้เช่นเดียวกัน



 


 


 


 


[1] ข้อมูลภาพยนตร์สารคดีของสตีฟ แบรดชอว์ (The Dollar A Day Dress)


     http://news.bbc.co.uk/2/hi/programmes/panorama/4306219.stm


[2] ดูข้อมูลเพิ่มเติมของ "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" ที่


     http://www.mfa.go.th/business/page37.php?id=8685


     http://www.bangkokfashionweek2006.com/intro.html


     http://positioningmag.com/prnews/prnews.aspx?id=47099


     http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9490000010136


[3] ข้อมูลจาก http://www.bangkokfashioncity.com/th/home/default.aspx


[4] http://www.thaitextile.org/nstatistic/สถานการณ์สิ่งทอ-พ.ย.48.doc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net