Skip to main content
sharethis

                                                                                                                                (ค. ๖)


                                                                                    คดีหมายเลขดำที่  ๖๖/๒๕๔๙


                                                                                    คดีหมายเลขแดงที่ ๓๕/๒๕๔๙


                        ศาลปกครองสูงสุด


                       


                                                วันที่ ๒๗ เดือน เมษายน  พุทธศักราช ๒๕๔๙


 


                                    นายเกรียงศักดิ์  หลิวจันทร์พัฒนา                             ผู้ฟ้องคดี


ระหว่าง


                                    คณะกรรมการเลือกตั้ง ที่ ๑


                                    ประธานกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี


 


            ข้าพเจ้า นายเกรียงศักดิ์  หลิวจันทร์พัฒนา  ผู้อุทธรณ์ ขอยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คำสั่งไม่รับคำฟ้อง ของศาลปกครองชั้นต้น สงขลา ลงวันที่ ๒๑ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙  ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ ๒๑ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีข้อความตามที่จะกล่าวต่อไปนี้


            ตามที่กระผม นายเกรียงศักดิ์  หลิวจันทร์พัฒนา  ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ ในการมีมติในการประชุมครั้งที่ ๔๔/๒๕๔๙  เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน  ๒๕๔๙ และออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ ให้กำหนดวันรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ ๕ เพิ่มเติม โดยกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม ระหว่างวันที่  ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒0 เมษายน ๒๕๔๙ เนื่องจากกรรมการการเลือกตั้งเข้าประชุมเพียง ๓ คนไม่ครบองค์ประชุม และได้มีการโทรศัพท์ไปขอมติกับกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปเข้าร่วมประชุม อันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ อ้างเหตุที่ทำให้ต้องกำหนดวันสมัครรับสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม เนื่องจากมีการปิดกั้นขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ ๘ เมษายน  ๒๕๔๙ และในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งฟังไม่ขึ้นและขัดแย้งต่อหลักฐานข้อเท็จจริง อันเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งการมีมติดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องคดีว่า ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ (ที่ถูกตามคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีระบุว่าเป็นการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา) ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ ๕ เพิ่มเติม ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ และวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙ โดยให้ผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองยื่นใบสมัครต่อผู้ซึ่งมิใช่เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง อันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตร ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑


            ผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองชั้นต้นสงขลามีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ ดังกล่าว และสั่งให้การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ ๕ เพิ่มเติม ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ และวันที่ ๒0 เมษายน  ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ


            ศาลปกครองชั้นต้นสงขลาได้ตรวจคำฟ้องลงวันที่ ๒0 เมษายน ๒๕๔๙ จำนวน 2 ฉบับ รวมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำฟ้อง และได้ตรวจพิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ ประกอบด้วยแล้ว


๑.      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


๒.      พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑


๓.      พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑


๔.     พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒


๕.     ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓


ศาลปกครองชั้นต้นสงขลาพิจารณาคำฟ้องและข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแล้วเห็นว่า


มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าศาลมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุเกี่ยวกับอำนาจศาล


พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ มีมติใน


การประชุมครั้งที่ ๔๔/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ และออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ ให้กำหนดวันรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ ๕ เพิ่มเติม โดยกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒0 เมษายน ๒๕๔๙ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตร ๑๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลได้ และกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตราใด กำหนดให้การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดและห้ามฟ้องคดีต่อศาล แต่โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓0 ธันวาคม ๒๕๔๖ ว่า การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา ๑๔๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครอง แต่เป็นลักษณะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ถือเป็นยุติ และตามมาตรา ๒๖๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้น ศาลปกครองชั้นต้นสงขลาจึงไม่อาจรับคำฟ้องในเรื่องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดได้


            นอกจากกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้วศาลปกครองชั้นต้นสงขลายังได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลาทำการเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้งยกเว้นเขตเลือกตั้งที่  ๕ เพิ่มเติม ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒0 เมษายน ๒๕๔๙ นั้น เป็นการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้ใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉะนั้น การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับการอำนวยการการเลือกตั้งที่กระทำภายในจังหวัดสงขลาและการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครองตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๒/๒๕๔๖ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศาลปกครองชั้นต้นสงขลา จึงไม่อาจรับคำฟ้องในเรื่องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดได้


            ด้วยความเคารพต่อศาลปกครองชั้นต้นสงขลา ผู้ฟ้องไม่อาจเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นสงขลาที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยอ้างหลักกฎหมายคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓0 ธันวาคม ๒๕๔๖ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ผู้ฟ้องไม่อาจเห็นด้วยกับคำสั่งและคำอ้างของศาลปกครองชั้นต้นสงขลา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


๑.      ตามรัฐธรรมนูญ ม.๒๗๖ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา


คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ.... หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาล กับ เอกชน... และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ (๒) ยังได้ให้ความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความถึง "..คณะกรรมการ หรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ ,คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล" ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจัดรวมอยู่ในคำนิยามดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลปกครองสามารถมีอำนาจพิจารณาคดีข้อพิพาทได้


๒.      รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง


(กกต.) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ผู้ร้องเห็นว่า กกต. ไม่ได้ดำเนินการโดยสุจริต และเที่ยงธรรม โดยออกคำประกาศรับสมัครเพิ่มเติมฯ ดังกล่าว ที่ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักฐานข้อเท็จจริง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕๒/๒๕๔๖ จึงไม่อาจคุ้มครองการกระทำของ กกต.ได้ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะกรณีที่ กกต. ดำเนินการโดยสุจริต และเที่ยงธรรมเท่านั้น ดังนั้นก่อนศาลปกครองชั้นต้นสงขลาจะอ้างคำวินิจฉัย ที่ ๕๒/๒๕๔๖ ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้อง ควรจะรับ


พิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องว่า กกต. ได้ดำเนินการออกประกาศคำสั่งดังกล่าวเป็นไปโดยเที่ยงธรรมแล้วหรือยัง


๓.      คำวินิจฉัยที่ ๕๒/๒๕๔๖ ของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้การใช้อำนาจ


หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ตามมาตร ๑๔๔ วรรคสองเป็นลักษณะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. ที่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นยุติ นั้นไม่ปรากฎว่า มีถ้อยคำหรือประโยคใดของทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔0 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ๒๕๔๑ ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ กกต. ในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น เป็นอันยุติ หากเป็นเช่นนี้เท่ากับ กกต. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตนเองถึงสามอำนาจ ได้แก่ ๑.  อำนาจบริหารในการสั่งการใด ๆ ๒. อำนาจนิติบัญญัติในการกฎข้อบังคับ คำประกาศ และ ๓.  อำนาจในการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้ง และยังถือเป็นข้อยุติอีกด้วย ซึ่งขัดกับหลักการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ และถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเรียบร้อย


๔.     เหตุผลอุทธรณ์ข้อสุดท้าย ผู้ฟ้องขออนุญาต (หากมิบังควรหรือไม่เหมาะสม


ผมขอกราบอภัยด้วย) น้อมนำพระราชดำรัสต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ซึ่งใจความสำคัญตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่า "...เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็ควรคิดว่าต้องดูว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองให้ดี ขอฝากอย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้... กรณีที่เกิดที่ กิ่งอำเภอนบพิตำ ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกหลัก ฉะนั้นก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านลาออกดีกว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้...."


ด้วยเหตุผลคำอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดโปรด


พิจารณาให้มีคำวินิจฉัย กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นสงขลา และให้ศาลปกครองชั้นต้นสงขลา รับคำฟ้องของผู้ฟ้องรับไว้พิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน จักเป็นพระคุณยิ่ง


 


                                                   ขอแสดงความเคารพนับถือ


 


                                                               ผู้อุทธรณ์


                                              (นายเกรียงศักดิ์  หลิวจันทร์พัฒนา)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net