Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุทธิดา มะลิแก้ว


รายงานจากกรุงดิลี ประเทศติมอร์ เลสเต


 


 


สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ้างก็คงจะจำกันได้ว่า ติมอร์ ตะวันออก หรือ อีสต์ ติมอร์นั้น เพิ่งจะได้รับเอกราชมาจากอินโดนีเซีย เมื่อปี 1999 และได้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกหรือเรียกได้ว่าเป็นการตั้งประเทศอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อปี 2002 นี่เอง นับถึงวันนี้ก็อายุได้เพียง 4 ขวบเท่านั้น หากเป็นคนก็คงกำลังเพิ่งจะเริ่มโตและเห็นโลกได้เพียงไม่นาน และกำลังเป็นเด็กที่อยู่ในวัยที่น่ารักมากๆ หลายๆ ประเทศต่างเฝ้ามองดูการเติบโตติมอร์ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Timor Leste ในฐานะที่เป็นประเทศน้องใหม่ของโลก


 


ปัจจุบันประเทศติมอร์ เลสเต นั้น พึ่งพิงงบประมาณส่วนใหญ่จากเงินช่วยเหลือของต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้น ปัจจุบันยังคงติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดในอันดับต้นๆของโลก เข้าใจว่าเริ่มต้นตั้งแต่ปีนี้ที่เงินจากภาษีน้ำมันหรือ Petroleum Revenue เริ่มเข้ามาแล้ว หลายๆ คนเชื่อว่า หากมีการจัดการที่ดีและไม่มีการคอรัปชั่นกันมากมายเหมือนประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วไป ติมอร์ น่าจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จัดว่าพัฒนาได้เร็วที่สุดประเทศหนึ่ง


 


ทว่า มาถึงวันนี้กาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น ประชาชนชาวติมอร์ เพิ่งจะชื่นชมกับความสำเร็จและเฉลิมฉลองอิสรภาพที่หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่อยู่ในการปกครองของประเทศอื่นได้เพียงไม่นาน (กว่า 450 ปี ภายใต้อิทธิพลของโปรตุเกส และ กว่า 20 ปีภายใต้อินโดนีเซีย) ปรากฎว่า ความวุ่นวายก็เริ่มเกิดขึ้น โดยสถานการณ์ตึงเครียดที่สุด ในตอนเย็นวันที่ 28 และ เช้าวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ตลาดแห่งหนึ่งถูกเผา รถหลายคันถูกเผา และบ้านหลายหลังถูกทำลาย ผู้คนบางส่วนหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา ชาวต่างชาติถูกบอกให้อยู่เฉพาะในโรงแรม เพราะไม่แน่ใจว่า ใครกันบ้างจะเป็นเป้าของการจลาจลในครั้งนี้


 


สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคนได้ก่อความไม่สงบขึ้นมานั้น เริ่มต้นขึ้นจากความไม่พอใจที่มีการเลือกปฎิบัติในกองทัพแห่งชาติติมอร์ เลสเต ที่ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมแก่กำลังทหารที่มาจากภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของประเทศ


 


เหตุการณ์นี้เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อทางกองทัพได้เลื่อนตำแหน่งให้กับกำลังพลฝ่ายต่างๆ ในกองทัพ แต่ไม่มีทหารนายใดจากภาคตะวันตกได้รับการเลื่อนขั้นเลย ทั้งๆ ที่ทหารเหล่านั้นต่างก็ได้ร่วมสู้รบร่วมกันมาตั้งแต่ครั้งที่ยังถูกเรียกว่ากองโจรในการต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพจากอินโดนีเซีย


 


ในตอนแรกนั้นมีนายทหารเพียงจำนวนไม่กี่คนที่ได้ออกมาเรียกร้องทวงถามหาความเป็นธรรม ทว่า ผู้นำทหารถือว่า คนที่ออกมานี้ไม่มีวินัย จึงไล่ออก ทำให้เหล่าทหารอีก 591 นายที่มาจากภาคตะวันตกทั้งหมดออกมาประท้วงการกระทำดังกล่าว ผลสรุปก็คือ ทหารทั้ง 591 นายถูกให้ออกทั้งหมด ทั้งนี้ตัวเลข 591 นั้น หากเทียบกับจำนวนทหารของบางกองทัพแล้ว อาจจะดูว่าเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ว่า สำหรับติมอร์ ตะวันออก ที่ทหารทั้งกองทัพนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 1,200 นาย จำนวนนี้ก็เท่ากับครึ่งหนึ่งทีเดียว ซึ่งเข้าใจว่าไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่ปลดประจำการทหารถึงเกือบ 50% ของกองทัพพร้อมๆ กัน


 


ช่วงต้นเดือนเมษายน บรรดาเหล่าทหารออกมาเรียกร้องขอกลับเข้ารับราชการ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงโทษดังกล่าว ทว่าไม่มีคำตอบใดจากทางรัฐบาล เหล่าทหารจึงได้ส่งเสียงเรียกร้องไปยังประธานาธิบดี ซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) ซึ่งเป็นผู้นำในดวงใจให้เจรจากับทางรัฐบาล แม้ชานานา จะอยู่ในฐานะประธานาธิบดี แต่ก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แม้จะได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลแล้วว่าทุกคนควรจะได้รับการปฎิบัติอย่างเป็นธรรม แต่ดูเหมือนว่า พลจัตวาตัวร์ มาตาน รูอัค (Tuar Matan Ruak)  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะไม่ได้ให้ความสำคัญนัก


 


กระทั่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน ทางทหารทั้ง 591 นายพร้อมทั้งพลเรือนที่ให้การสนับสนุนที่เห็นด้วยว่าทหารเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ได้ออกมาชุมนุมประท้วงกัน โดยการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นที่หน้าที่ทำการรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปเรียกร้องยังทำเนียบประธานาธิบดี ต่อจากนั้นก็ได้ประกาศว่าจะทำการชุมนุมอย่างสงบโดยให้เวลารัฐบาล 5 วันในการออกมาให้คำตอบ โดยกำหนดเส้นตายอยู่ที่วันที่ 28 เมษายน ทว่า การเรียกร้องครั้งนี้กลับไม่ได้เป็นเรื่องการขอกลับเข้ารับตำแหน่งอีกแล้ว แต่เป็นการขอให้รัฐบาลลงโทษผู้นำกองทัพในฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


 


ทั้งนี้ ตลอดการชุมนุม รัฐบาลไม่ได้ออกมาพบหรือออกแถลงการณ์ใดๆ ที่จะสื่อสารกับผู้ชุมนุมแม้แต่น้อย รวมทั้งก่อนหน้านั้นหรือในช่วงที่มีการออกข่าวว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของ ติมอร์ เลสเต ยังได้ออกมาบอกว่า จะมีการจัดการขั้นเด็ดขาดหากมีการชุมนุมจริง เพราะรู้ดีว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมในครั้งนี้


 


ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการเรียกร้องความเป็นธรรมทั่วๆไป แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องการเมือง เพราะการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในปีหน้านี้ และสมัชชาพรรคที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ก็จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารพรรคชุดใหม่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จึงเป็นไปได้ว่า จากเรื่องของการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมทั่วไป จะกลายเป็นเรื่องของการดิสเครดิตรัฐบาลไปด้วยในตัว ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้


 


นักวิเคราะห์ในประเทศติมอร์ เลสเต ยังมองว่า รัฐบาลคงจะไม่สามารถจัดการใดๆ ได้ ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ลงโทษผู้นำทางการทหารซึ่งมีอิทธิพลและสัมพันธ์แนบแน่นอย่างยิ่งกับนายกรัฐมนตรี และนับวันประชาชนก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นในการปกครองของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นชาวเยเมนโดยกำเนิด แต่แต่งงานกับชาวติมอร์ รวมทั้งเป็นมุสลิม และในขณะที่มีการต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้น นายกรัฐมนตรีผู้นี้ก็ลี้ภัยอยู่ในโมแซมบิค ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสู้รบกับชาวติมอร์ และเมื่อเข้ามาปกครองประเทศแล้ว ก็กลายเป็นว่า ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีกลับกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความปวดร้าวให้แก่ชาวติมอร์ทั้งสิ้น


 


การจลาจลในครั้งนี้นั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในหมู่ชาวติมอร์ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเผาทำลายต่างๆ นั้น กลับไม่ใช่กลุ่มผู้ประท้วงเป็นคนกระทำ แต่เป็นประชาชนผู้เฝ้ารอให้สถานการณ์ตึงเครียด ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากความไม่พอใจในผู้นำรัฐบาลดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องจริงว่า ในทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายทหารนั้น มีการเลือกปฎิบัติและไม่เท่าเทียมอย่างยิ่งต่อคนตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเท่ากับว่าผู้นำกองทัพเป็นผู้ก่อขึ้นมาโดยแท้


 


ถึงตอนนี้รัฐบาลคงต้องเลือกว่า จะยอมเสียสละส่วนน้อย คือต้องจัดการให้นายพลจัตวารูอั๊คได้รับการลงโทษเพื่อจะรักษาส่วนใหญ่ หมายถึงประชาชนหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการรักษาฐานเสียงของตัวเองด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศน้องใหม่จากติมอร์ ที่ควรจะต้องเติบโตอย่างสง่างามแม้บนความยากจน ก็อาจจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงได้ และจะกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ความมั่นคงทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องรออีกนาน









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net