Skip to main content
sharethis


จากบทบรรณาธิการเอฟทีเอวอทช์

http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=34&s_id=9&d_id=9


3 พฤษภาคม 2549


 


 


 


ช่วงที่ผ่านมา กระแสการปฏิรูปการเมืองแม้จะไม่หวือหวานัก แต่ก็ไม่ตกต่ำเพราะการปฏิรูปการเมืองเป็นความหวังของคนไทยหลายคนว่า จะทำให้สังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทยดีขึ้น และเมื่อพูดถึงการปฏิรูปการเมืองแล้วก็พลอยทำให้อดตั้งคำถามกับตนเองซ้ำไปซ้ำมาไม่ได้ว่า แล้วสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบไหนเล่าที่เราต้องการ


 


วันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ฟังวิทยุรายการหนึ่งพูดถึงปัญหาวิกฤตของปลาการ์ตูน หรือเรียกตามภาษาเด็กๆ ว่า


นีโม่ (เป็นชื่อภาพยนตร์ที่มีปลาการ์ตูนแสดงนำ) เนื่องจากปลาลวดลายน่ารักเป็นที่นิยม หลังจากภาพยนตร์นีโม่ฉายทำให้ที่ผ่านมามีการลักลอบจับปลาการ์ตูนอย่างหนัก จนหลายฝ่ายกลัวว่าจะสูญพันธุ์ การจับปลาสวยงามอย่างปลาการ์ตูนนี้ ผู้จับบางคนเอาไซยาไนด์ไปใส่ปะการังที่ปลาใช้เป็นที่หลบภัยทำให้ปลาสลบและลอยตามน้ำออกมา ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ปลาจำนวนมากทั้งปลาเล็กปลาน้อยต้องพลอยตายและถูกจับไปด้วย


 


ที่สำคัญ ทำให้แนวปะการังที่ใช้เวลายาวนานกว่าจะเติบโตต้องตายไปอย่างเอากลับคืนมาไม่ได้ ปรากฏการณ์การลักลอบจับปลาที่ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้ ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า  ทำไมผู้ซื้อถึงยังสามารถควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อบริโภคความสวยงามของเจ้าปลาการ์ตูนอยู่ได้โดยไม่รู้สึกอะไร และทำไมผู้จัดหาปลาจึงยังคงใช้ไซยาไนด์ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกอะไร


 


ผู้เขียนคิดว่าปัญหาเรื่องปลาการ์ตูนนี้เป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองโดยตรง ทำไมนักการเมืองถึงมักจะไว้ใจไม่ได้ ทำไมผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกส่วนมากจะขะมักเขม้นกับการเป็นผู้แทนให้กับตนเองและครอบครัวมากกว่าเป็นผู้แทนของเรา ทำไมรัฐมนตรีและนายกฯ ไม่ฟังเสียงประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและโครงการพัฒนา


 


คำตอบที่สำคัญหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของ "ระยะห่าง" ไม่ใช่ระยะทางตามมาตรวัดกิโลเมตร แต่หมายถึงความใกล้ไกลที่ผู้แทนกับประชาชนจะได้มีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันและกันต่างหาก


 


หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทที่สมาชิกรู้จักกันดีถ้วนหน้า การจะทำอะไรต้องระมัดระวังเพราะว่ามีสายตาของคนทั้งหมู่บ้านคอยจับจ้องอยู่ ในหมู่บ้าน ระยะห่างระหว่างคนมีน้อย นายแดงไปทำอะไรไม่ดีมา ไม่กี่วัน


คนในหมู่บ้านก็จะบอกเล่าปากต่อปากรู้กันไปทั่ว


 


ปัจจัยทางสังคมจะเป็นตัวควบคุมพฤติกรรม การทำผิดบรรทัดฐานของสังคมจะได้รับการลงโทษอย่าง "รู้สึกได้" แต่ในระดับประเทศที่ขนาดของสังคมขยายใหญ่ ความสัมพันธ์ของคนห่างไกลและเป็นลำดับขั้นซับซ้อน การกระทำของนายแดงซึ่งอยู่ในสภายากที่จะทำให้นางสาวนิดซึ่งขายของที่ตลาด หรือนายนพซึ่งขับขี่มอเตอร์ไซด์รู้สึกว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อพวกเขา


 


ในทำนองกลับกัน การออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านโครงการหรือนโยบายของนางสาวนิด


นายนพและคนอื่นๆ อาจจะไม่กระเทือนนายแดงที่นั่งอยู่ในสภาเลยตราบใดที่ฐานอำนาจของนายแดงไม่ถูกทำให้สั่นสะเทือน


 


เหมือนคนซื้อปลาการ์ตูนที่ไม่รู้เลยว่าการซื้อของพวกเขาเท่ากับสนับสนุนให้มีการทำร้ายสัตว์น้ำและปะการังอย่างกว้างขวาง ส่วนคนจับปลาสวยงามเองก็อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าวิธีการจับและปริมาณการจับที่เกินพอดีนั้นมันส่งผลกระทบอย่างไร และก็ยังอาจมีปัญหาต่อมาด้วยว่า ถ้ารู้แล้วแต่ยังทำ เพราะไม่มีอะไรมาทำให้เขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใช่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือประเด็นเรื่อง "ระยะห่าง" นั่นเอง


 


หลายครั้งหลายครา ปัญหาของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยในยุคโลกาภิวัฒน์มีสาเหตุพื้นฐานมาจากระยะห่างของคนในสังคมมีมากเกินไป มากเสียจนความรับรู้ในความสัมพันธ์ของกันและกันมันน้อยลงเรื่อยๆ เกิดการตัดตอนสายสัมพันธ์ คนในที่แห่งหนึ่งมองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่าการกระทำของเขาจะส่งผลกระทบต่อคนในที่อีกแห่งหนึ่งอย่างไร และถึงจะรู้ ก็อาจไม่สนใจเพราะ "ความรู้สึก" ถึงผลกระทบจากความสัมพันธ์นั้นถูกบดบังด้วยการมองแบบแยกส่วน เช่น เกษตรกรหรือธุรกิจขนาดเล็กจะสู้ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราในฐานะผู้บริโภค เป็นต้น


 


ดังนั้น ในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังมองการปฏิรูปการเมืองเป็นคำตอบนั้น เราคงจะต้องมองอะไรที่ไกลไปกว่าเครื่องมือกลไกทางกฎหมายด้วยเพื่อจะกลับมาตอบให้ได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะสร้าง "ระยะห่าง" ของคนในสังคมให้เป็นแบบไหน


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น อยากจะวกเข้างานสัมมนาเรื่อง "สู่เส้นทางตลาดสีเขียวที่เป็นจริง: วิสัยทัศน์เพื่อความอยู่รอดในอนาคตของการผลิต การตลาดและจิตสำนึกผู้บริโภค" สักเล็กน้อย


 


งานนี้ร่วมจัดโดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีปและมูลนิธิชไวสเฟิร์ท เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


ในที่ประชุมสัมมนาไม่ได้มีการนิยามตลาดสีเขียวอย่างเป็นทางการว่าหมายถึงอะไร แต่ที่ประชุมเข้าใจร่วมกันว่าอย่างน้อยที่สุดตลาดสีเขียวหมายถึงตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ บางคนเป็นผู้ส่งออกซึ่งใช้หลักการผลิตเกษตรอินทรีย์ บางคนเน้นการผลิตและการใช้ตลาดสีเขียวเพื่อการเสริมสร้างอำนาจให้ชุมชน สำหรับแต่ละคนก็จะมีหลักการปฏิบัติและจุดเน้นในการนำเสนอที่แตกต่างกันไป


 


ตลาดสีเขียวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีนัยยะต่อเรื่อง "ระยะห่าง" ที่น่าสนใจ ศ. ดร. ฟรานธีโอ ก็อตวอลด์ หัวหน้ามูลนิธิชไวสเฟิร์ท กล่าวว่า มิติหนึ่งของตลาดสีเขียวคือ การพัฒนาชนบทและนิเวศวิทยา ซึ่งต้องมี "การกระจายอำนาจ" ในเรื่องการแปรรูปอาหาร สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่สำหรับชนบท


 


ในหนังสือประกอบซึ่ง ดร. ก็อตวอลด์เป็นผู้ร่วมเขียนด้วยกล่าวว่า "ระบบนิเวศแบบบูรณาการและการหาวัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นแนวคิดสำคัญของเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพ การจัดการดูแลพืชและสัตว์แต่ละชนิดอย่างเหมาะสมในขั้นตอนการผลิตอาหารจะต้องมีระยะทางระหว่างพื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์และที่ที่ใช้เพื่อเตรียมการบริโภคของคนที่ไม่ไกลจากกัน ลดการแบ่งแยกทางกายภาพของขั้นตอนการผลิตต่างๆ"


 


"วิธีการผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยใช้สารเคมี ใช้เวลานานเกินไป แพงเกินไป ไร้ประสิทธิภาพเกินไปและไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมากสำหรับคน พืช สัตว์และสภาพแวดล้อม…ระบบนิเวศแบบบูรณาการและการหาวัตถุดิบในท้องถิ่นสร้างโอกาสให้เกิดการสนทนาวิสาสะระหว่างลูกค้าและผู้ผลิต ในการสื่อสารของพวกเขาจะช่วยให้การผลิตอาหารนั้นโปร่งใสและมีข้อมูลให้ผู้บริโภคอย่างชัดเจน หากไม่มีสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ก็จะทำให้ผู้คนหลุดออกจากกระบวนการผลิตและการบริโภคอย่างไร้ตัวตนทั้งสองฝ่าย"


 


เป็นไปได้ไหม ที่การปฏิรูปการเมืองของเราจะปรับระยะห่างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองระหว่างคนในสังคมให้น้อยลง


 


เป็นไปได้ไหมที่เราจะสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อการบริโภคในท้องถิ่นให้มากขึ้น


 


เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตมีตัวตนและไม่ถูกตัดตอนออกจากกันโดยการตลาด


 


เป็นไปได้ไหมที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดเล็กจะได้รับการสนับสนุนเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้นโดยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเติบโต


 


และเป็นไปได้ไหมที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับการควบคุมไม่ให้ใหญ่จนเกินไป เพื่อที่ว่าคนไทยในทุกส่วนของสังคมจะได้มีระยะห่างระหว่างกันอย่างเหมาะสม


 


อย่าปล่อยให้ปรากฏการณ์นีโม่ลอยนวล!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net