Skip to main content
sharethis

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะพูดถึงเรื่อง "สิทธิ" ของประชาชนไว้มากมายหลายมาตรา แต่ในสภาพความจริง คนเล็กคนน้อยในสังคมบ้านเรา นอกจากจะไม่ได้รับการเคารพสิทธิแล้ว ยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ หรือ สิทธิมนุษยชน มากบ้าง น้อยบ้าง ตลอดเวลาทั่วทุกพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการพัฒนาของรัฐนั่นเอง


 


ที่ผ่านมาเราจะพบการพยายามต่อสู้ต่อรองของชุมชนต่างๆ ทั้งกับนายทุนหรือรัฐ เพื่อปกป้องวิถีชีวิต ฐานทรัพยากร อันเป็นสิทธิของชุมชนในการดูแลจัดการ บ้างสำเร็จ บ้างล้มเหลว บ้างได้รับความสนใจแม้จะชั่วครู่ บ้างไม่เคยปรากฏชื่อต่อสาธารณะ จนกระทั่งรายชื่อแกนนำของชุมชนซึ่งถูกลอบสังหารจากการก้าวออกมาปกป้องสิทธิได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครรู้จักพวกเขา และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ปัญหาต่างๆ ก็ยังดำรงอยู่เช่นเดิม นี่อาจเป็นสิ่งสะท้อนว่า การสร้างเครือข่ายในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อไม่ให้รายชื่อนั้นต้องยืดยาวต่อไปอีก


 


โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คสม.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ถือเป็นความพยายามในการทำงานเชิงรุก เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมและอาสาสมัครสิทธิมนุษยชนขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มทำงานในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 สิ้นสุดโครงการช่วงแรกในเดือนเมษายน 2549 และเตรียมขยายผลเป็น 20 จังหวัดในช่วงต่อไป


 


บทเรียนการลงไปทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนแต่ละแห่ง จึงถูกนำเสนอในเวทีนโยบายสาธารณะ "เครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2549


 


โดยกรณีปัญหาของจังหวัดต่างๆ ถูกรวบรวมเป็นหนังสือชุด ประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน : ชีวิตริมฝั่งน้ำสาละวิน โลกไร้รัฐที่รอคอยความเท่าเทียม (ปัญหาเด็กไร้สัญชาติ) 2.บ้านควนโนรี : เรื่องของขยะ เราจะเปิดใจต่อกัน (การจัดการปัญหาขยะ ปัตตานี) 3.บ้านดอนยูง : พลังเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (อุบลราชธานี) 4.น่าน : พลังแห่งความเข้าใจผลักดันชีวิตใหม่คนไร้รัฐ 5.ที่ดินรอบหนองหาร : ส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสิทธิการอยู่อาศัย (ปัญหาถือครองที่ดิน สกลนคร) 6.บ้านคู : สิทธิชุมชนเพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน (พัทลุง) 7. ลุ่มน้ำคลองยัน : ส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (สุราษฎร์ธานี) 8.แม่เมาะ : ศูนย์เรียนรู้และพิทักษ์สิทธิชุมชน (ลำปาง) 9. บ้านป่าไม้พัฒนา : ผนึกพลังราษฎร์ รัฐ เพื่อผืนดินที่อยู่อาศัย (กาประกาศทำเลเลี้ยงสัตว์ทับที่อยู่อาศัยของชุมชน ศรีษะเกษ) 10. ท่าทรายลำน้ำมูล : การปกป้องสายน้ำด้วยพลังชุมชน (สุรินทร์)


 


บนเวทีสาธารณะได้หยิบยกกรณีตัวอย่างขึ้นอภิปราย 3 กรณี คือ สิทธิความเป็นคนไทยของชนกลุ่มน้อยในจังหวัดน่าน การจัดการปัญหาขยะของบ้านควนโนรี ปัตตานี และสิทธิในการถือครองที่ดินของชุมชนรอบหนองหาร สกลนคร


 


กรณีแรก สิทธิความเป็นคนไทยของชนกลุ่มน้อยในจังหวัดน่าน


หลายคนอาจไม่รู้ว่าประชากรกว่า 5 แสนคนในจังหวัดน่านนั้นมีชนกลุ่มน้อยรวมอยู่ถึง 1 ใน 5 ประกอบด้วยเผ่าพันธุ์เมี่ยน (หรือเย้า), ม้ง, ถิ่น (หรือลัวะ), ขมุ, มลาบารี (ชนเผ่าตองเหลือง) พวกเขาส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม่มีสัญชาติ ทั้งที่ก็เกิดและเติบโตบนแผ่นดินไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ที่กฎหมายรองรับ เช่น ไม่ได้เรียนหนังสือ, ไม่ได้รับประกันสุขภาพ, ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้, ไม่สามารถสมัครทำงานได้, ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้, ไม่มีทะเบียนบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย


 


เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และหลายฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่พยายามแก้ปมกันมากกว่า 10 ปี แต่แทบมองไม่เห็นความคืบหน้า เพราะทางราชการต้องการเอกสารหลักฐานที่หาไม่ได้ หรือการพิสูจน์สิทธิเป็นไปอย่างล่าช้า โดยตัวแทนราชการได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากข้าราชการในพื้นที่มีจำนวนน้อย ทั้งยังมีการโยกย้ายบ่อย จนไม่สามารถผลักดันปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้


 


อย่างไรก็ดี โครงการนี้ได้เข้าไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพแกนนำ สร้างเครือข่ายอาสาสมัคร ซึ่งในหลายพื้นที่นั้นมีพื้นฐานที่ดีหรือเป็นเนื้อนาดินอันอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงชุมชน เอ็นจีโอ และหน่วยงานราชการ ให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการผลักดันนโยบายระดับบน จนกระทั่งสามารถช่วยให้ชาวบ้านที่ไร้สัญชาติได้รับสัญชาติแล้วกว่า 3,000 คน


 


กรณีที่สอง การจัดการปัญหาขยะของบ้านควนโนรี ปัตตานี


"ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อก่อนไม่ได้นึกถึงความเสียหายต่อชีวิต สิ่งแวดล้อมเลย และที่เสียดายที่สุดคือ ที่ทำมาหากินของชาวบ้านต้องเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะเทศบาลไปทิ้งขยะในที่ที่สูงกว่าที่ของชาวบ้าน แล้วน้ำขยะก็ไหลลงมาที่ชาวบ้าน 10 กว่าปีแล้วที่ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง" สาการียา ดีแม โต๊ะอิหม่ามบ้านควนโนรี


 


เรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 ที่ชาวบ้านคนหนึ่งขายที่ให้กับเทศบาลนาประดู่ 11 ไร่ จากนั้นไม่นานก็เริ่มมีรถบรรทุก 4 ล้อ ขนาดเล็กวันละ 1 คัน ขนขยะมาทิ้งในที่ดินผืนนั้นจำนวนขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการคัดแยก กลบฝัง เมื่อฝนตกน้ำก็ไหลลงมาทำไร่นาชาวบ้านเสียหาย ที่สำคัญ สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์ต้องห้ามของศาสนาอิสลามก็ได้เข้ามาคุ้ยขยะเป็นจำนวนมาก


 


ชาวบ้านพยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ สื่อมวลชน ศูนย์ดำรงธรรม แต่ก็เรื่องก็เงียบหาย จนกระทั่งเวทีเสวนาที่ระดมทุกฝ่ายมาร่วมรับฟังปัญหาอย่างเปิดใจได้ก่อตัวขึ้น ทำให้ในเบื้องต้นเทศบาลร่วมมือกับรองแม่ทัพภาค 4 จัดให้มีการฉีดจุลินทรีย์ (อีเอ็ม) เพื่อกำจัดกลิ่นและทำลายวงจรชีวิตแมลงวัน และสรุปผลการนำเสนอจากทุกฝ่ายร่วมกันว่า จะต้องย้ายที่ทิ้งขยะใหม่ และสร้างเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐาน ผลจะเป็นอย่างไรยังเป็นเรื่องต้องติดตาม


 


กรณีที่สาม สิทธิในการถือครองที่ดินของชุมชนรอบหนองหาร สกลนคร


กรณีนี้เป็นปัญหาคลาสสิกเหมือนกับหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่หน่วยงานราชการได้ประกาศพื้นที่หวงห้ามรอบหนองหาร โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาปี พ..2484 ที่ให้อำนาจในการหวงกันพื้นที่ที่ชุมชนมาก่อตั้งภายหลังการประกาศ โดยไม่สนใจคำยืนยันจากชาวบ้านว่าพวกเขาอยู่มาก่อนพระราชกฤษฎีกานานนม


 


"มันกลายเป็นว่ารัฐมารุกที่ชาวบ้าน กฎหมายรุกที่ชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านรุกที่รัฐ" ผศ.ทศพล สมพงษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กล่าว


 


สถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยทำงานด้านข้อมูลเพื่อพิสูจน์สิทธิของชาวบ้าน ทั้งในด้านภาพถ่ายดาวเทียม และเชิงประวัติศาสตร์ โดยค้นพบว่า พื้นที่ที่ประกาศหวงห้ามนั้นมีวัดและโรงเรียนจำนวนมากที่ก่อตั้งก่อนปี 2484 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีวัดและโรงเรียนอยู่โดยไม่มีชุมชน จนในที่สุดสามารถต่อสู้ให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับเอกสารสิทธิแล้ว


……….


 


ท้ายที่สุด ในที่ประชุมได้มีการสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ซึ่งพอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้หน่วยงานราชการทั้งหมด ให้เข้าใจและตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน, แก้กฎหมายลูกที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนที่กำหนดรัฐธรรมนูญ, เร่งจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะส่งเสริม คุ้มครองสิทธิ เช่น องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค, สร้างพื้นที่สื่อสารเรื่องดังกล่าวในสื่อมวลชน, ส่งเสริมให้มีการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนในหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น


 


แม้หนทางจะยังอีกยาวไกลนัก แต่อย่างน้อย นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสานต่อ ……

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net