Skip to main content
sharethis

10 พฤษภาคม 2549 เป็นวันปกติธรรมดาวันหนึ่ง ที่คนใช้แรงงานในโรงงานทั้งหลายต่างก็ทำงานของตนไปเพื่อแลกกับค่าจ้างรายวันอันน้อยนิดบวกกับสวัสดิการอีกนิดหน่อย อันเป็นวิถีปกติธรรมดาของชีวิตเล็กๆ ในกระบวนการสร้างเศรษฐกิจชาติอันยิ่งใหญ่ ไม่มีใครหวนนึกไปหรอกว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จนเป็นโศกนาฏกรรมของประเทศที่ต้องสังเวยให้กับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทย


 


10 พฤษภาคม 2536 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เพลิงได้เผาคนงานบริษัทเคเดอร์ อินดัสเทรียล ไทยแลนด์ ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม เสียชีวิตทั้งเป็นในโรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท  คนหนุ่มสาวถึง 188 ราย ผู้บาดเจ็บกว่า 400 ราย และผู้ได้รับผลกระทบอีกนับพันราย ต้องสูญเสียคนรักและญาติมิตร สร้างความเศร้าสลดให้กับสังคมไทย พร้อมกันนั้นก็ประจานการจัดการดูแลและตอบแทนหยาดเหงื่อคนงานของอุตสาหกรรมไทยให้ต้องอับอายไปทั่วโลก


 


นับเนื่องถึงทศวรรษที่ 4 ของการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับการจับตามองในฐานะที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของโลก เงินลงทุนจากทั่วโลกไหลหลั่งเข้าประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านการลงทุน ด้วยสาธารณูปโภคที่พร้อม และด้วยต้นทุนแรงงานที่ถูก ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 8 ตลอดทศวรรษก่อนปี 2540


 


และหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการลงทุนให้แก่อุตสาหกรรมของเด็กเล่น ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมของเด็กเล่นก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศไทย มูลค่าการส่งออกที่มีเพียง 51.9 ล้านบาทในปี 2524 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,799.5 ล้านบาทในปี 2534 หรือเพียงช่วงเวลาแค่ 10 ปี


 


ในความรุ่งโรจน์รายสาขานี้ บริษัทเคเดอร์ฯ จากการร่วมทุนของนักธุรกิจไต้หวัน ฮ่องกง และกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ของตระกูล เจียรวนนท์ ย่อมเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อประกอบกิจการผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นขนาดใหญ่ส่งออก ด้วยแรงงานกว่า 5,000 คน เป็นชาย 3,000 คน เป็นหญิง 2,800 คน มีทั้งลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างที่มาทำงานในช่วงปิดเทอม ทำให้โรงงานแห่งนี้มีคนงานเกือบมากที่สุดในจังหวัดนครปฐม


 


จากการรายงานของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงและสาเหตุเกี่ยวกับกรณีเพลิงบริษัทเคเดอร์ฯ ที่เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2536 ได้สรุปว่า ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 บริษัทเคเดอร์ฯ มีประวัติการเกิดเพลิงไหม้มาแล้วถึง 3 ครั้ง


 


ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 โดยได้เกิดเพลิงไหม้อาคารโรงงานของบริษัทเคเดอร์ฯ  บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก เหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เกิดเพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย


 


ส่วนรายงานของกระทรวงมหาดไทย บอกถึงข้อมูลในเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งสุดท้ายว่า ในวันเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ บริษัทเคเดอร์ฯ แจ้งว่ามีคนงานมาทำงาน 3,283 คน โดยติดอยู่ในอาคารหลังที่ 1 ซึ่งเป็นต้นเพลิงจำนวน 1,431 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 188 คน เป็นคนงานชาย 17 คน คนงานหญิง 171 คน ในระยะแรกทราบชื่อ และภูมิลำเนา 178 คน ต่อมากระทรวงมหาดไทยสามารถสืบค้นชื่อผู้เสียชีวิตได้ครบทั้งหมด 188 คน


 


สาเหตุที่ทำให้มีคนงานตายมาก คือการก่อสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน ทำให้โครงสร้างพังทลายอย่างรวดเร็ว เมื่อถูกไฟไหม้ในเวลาเพียง 15 นาทีก็ยุบตัวลง ผู้รับเหมาบางคนให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่เคยไปตรวจโรงงานอย่างจริงจัง มักจะถูกพาไปนั่งคุยกันในห้องแอร์เท่านั้น


 


จากการสำรวจของคณะกรรมการศึกษายังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน


 


คำให้การของคนงานที่รอดชีวิต กล่าวถึงสาเหตุที่มีคนงานเสียชีวิตมาก เพราะขณะเกิดเพลิงไหม้ยามแต่ละชั้นได้ปิดประตูโรงงานเนื่องจากเจ้าของโรงงานเกรงว่าคนงานจะฉวยโอกาสหยิบสิ่งของออกไปจากโรงงาน


 


และเมื่อถึงวาระครบ 13 ปีในปีนี้ มูลนิธิเพื่อนหญิงได้กลับไปสำรวจชีวิตและครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรงงานเคเดอร์ไฟไหม้อีกครั้ง ก่อนจะจัดทำเป็นรายงาน "โศกนาฏกรรมชีวิตครอบครัวคนงานเคเดอร์" ที่เผยแพร่โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งทำให้เห็นถึงมิติที่ไปไกลกว่า เรื่องของวัสดุและการออกแบบโครงสร้างโรงงานราคาถูก แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนั้นกลับเป็นผลโดยตรงจากการเอาแต่พัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทย การละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และการตรวจสอบดูแลทั้งจากเจ้าของโรงงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ "เห็นตุ๊กตาสำคัญมากกว่าชีวิตคนงาน"


 


"แม้ว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นคนงานที่มีอายุไม่มาก ทว่าแต่ละคนมีภาระต้องรับผิดชอบครอบครัว โดยเป็นหัวหน้าครอบครัว 58 คน หรือเป็นผู้ที่สมรสแล้ว และมีบุตรต้องเลี้ยงดูรายละตั้งแต่ 1 ถึง 4 คน ทำให้มีเด็กกำพร้าที่สูญเสียแม่หรือพ่อไปในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนรวม 92 คน ในวันที่เกิดเหตุการณ์เด็กเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 17 ปี"


 


ในการศึกษาเชิงลึกครอบครัวคนงานที่เสียชีวิตจำนวนทั้งหมด 56 ครอบครัว ยังพบปัญหาในครอบครัวถึงประมาณ 60% เพราะคนงานสตรีที่เสียชีวิตบ้างก็เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นลูก อย่างน้อยอย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น


 


มีหลายครอบครัวที่หลังจากภรรยาเสียชีวิต สามีต้องกลายเป็นคนติดเหล้า และมี 2 รายที่ดื่มเหล้าหนักจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต, มีกรณีครอบครัวเคเดอร์ที่พิการ ทำให้พ่อมีปัญหาเรื่องจิตใจและเสียชีวิตไม่นานเมื่อรู้ว่าทราบว่าลูกสาวพิการตลอดชีวิต ฯลฯ


 


ส่วนพ่อที่แต่งงานใหม่มีทั้งหมด 36 ครอบครัว เพราะไม่สามารถอยู่กับลูกอย่างโดดเดี่ยวได้ รวมทั้งเชื่อว่าการมีภรรยาใหม่จะมีคนช่วยดูแลลูกของตนเอง เพราะผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนหรือดูแลเด็กๆ ได้ดีกว่าผู้ชาย ทว่าส่วนใหญ่แล้วลูกมักจะมีปัญหากับแม่ใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น และทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางครันไปจำนวน 17 คน จาก 14 ครอบครัวหรือประมาณร้อยละ 20 ของครอบครัวที่มีบุตรอยู่ในวัยเรียน


 


13 ปีผ่านไป เราแทบจะลืมเรื่องราวเหล่านี้ไปแล้ว แม้โศกนาฏกรรมของคนงานจะไม่ค่อยมีให้เห็นเป็นข่าวใหญ่ นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจของเราไม่ได้เติบโตรวดเร็วเหมือนก่อนเท่านั้น


 


แต่คาน โครงสร้างของโรงงานผลิตความมั่งคั่ง ไม่ได้ละลายหายไปกับพระเพลิงพร้อมกับโรงงานเคเดอร์ และชีวิตอีก 188 ในวันนั้น


 


มาตรฐานในการคุ้มครองแรงงานแทบจะไม่ได้รับการยกระดับให้คำนึงถึงชีวิตและคุณภาพชีวิตคนงานมากกว่าต้นทุนสินค้ามากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net